ไวรัสทุบรายได้10อสังหา ครึ่งปีหลังฮึดสู้ตะลุยลงทุน

17 Aug 2020 499 0

 

          ผู้สื่อข่าว “ ส่องผลประกอบการอสังหาฯ 10 บริษัทครึ่งปีแรก 2563 มีรายได้รวม 84,387 ล้าน ลดลง -14.3% เทียบกับครึ่งปีแรก 2562 ถือว่ารับผลกระทบโควิดน้อยกว่าที่คาด เผยตลาดรวมเขต กทม.-ปริมณฑล หดตัว -36% เหลือ 1.28 แสนล้าน ครึ่งปีแรกแข่งสงครามราคาระบายสต๊อกทำให้เบาตัว เทรนด์ครึ่งปีหลังลุยลงทุนรอบใหม่หลังชะลอเปิดตัวจากผลกระทบ LTV-โควิด

          ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” สำรวจผลประกอบการธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ 10 บริษัทในช่วงครึ่งปีแรก 2563 (ณ 14 สิงหาคม 2563) ซึ่งนับเป็นผลประกอบการราย 6 เดือนที่ต้องเผชิญผลกระทบสถานการณ์โควิด-19 ในภาพรวมที่มีปัจจัยลบจากกำลังซื้อหดตัวอย่างรุนแรง ทำให้กลยุทธ์การดำเนินธุรกิจต้องปรับลดแผนลงทุนโครงการใหม่ ควบคู่กับแข่งขันสงครามราคาเพื่อระบายสต๊อกเก่า และเก็บเงินสดสำรองใช้หมุนเวียนในการประคองกิจการ (ดูตารางประกอบ)

          ตลาดรวมหดตัว 36%

          เริ่มจาก บมจ.พฤกษา โฮลดิ้ง หลังเปิดทาวน์เฮาส์ 3 โครงการ และคอนโดฯ 2 โครงการ มูลค่ารวม 5,180 ล้านบาทในไตรมาส 1/63 ส่วนไตรมาส 2/63 เน้นระบายสต๊อกสร้างเสร็จพร้อมอยู่ ณ สิ้นปี 2562 มูลค่า 25,100 ล้านบาท อัพเดตล่าสุดครึ่งปีแรกสามารถระบายได้กว่า 80% ส่งผลให้มีรายได้ไตรมาส 2/63 กว่า 6,224 ล้านบาท ลดลง -13.3% จากไตรมาสแรก แม้ไม่มีการเปิดโครงการใหม่

          ครึ่งปีแรก 2563 มีรายได้รวม 13,308 ล้านบาท ลดลง -32% เทียบกับครึ่งปีแรก 2561 ที่มีรายได้ 19,716 ล้านบาท โดยมีกำไรสุทธิครึ่งปีแรก 2563 อยู่ที่ 1,339 ล้านบาท ที่ผ่านมาสามารถระบายสต๊อก 80% ทำให้มีแคชโฟลว์ 1.5 หมื่นล้านบาทสำหรับลงทุนรอบใหม่ ก่อนหน้านี้ได้รีวิวแผนเปิดตัวใหม่จาก 30 โครงการ มูลค่ารวม 36,000 ล้านบาท เหลือ 12 โครงการ มูลค่า 13,960 ล้านบาท ล่าสุดเป็นแผนรีวิวรอบ 3 ลงทุนแนวราบเพิ่มขึ้น 30-40% ภายใต้ “ฮีโร่โปรเจ็กต์”

          นางสุพัตรา เป้าเปี่ยมทรัพย์ รองประธาน เจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บมจ.พฤกษา โฮลดิ้ง เปิดเผยว่า ครึ่งปีแรก 2563 มียอดขาย 9,576 ล้านบาท แบ่งเป็นทาวน์เฮาส์ 53% บ้านเดี่ยว 24% คอนโดมิเนียม 23% โดยรายได้ครึ่งปีแรก เกือบ 70% มาจากการโอนบ้าน-คอนโดฯ พร้อมอยู่

          แผนลงทุนครึ่งปีหลังมี “ฮีโร่โปรเจ็กต์” 26 โครงการ โดยคัด 19 โครงการบนทำเลเกรด A มูลค่ารวม 25,650 ล้านบาท นำมา remarketing ปรับรูปแบบและดีไซน์สอดรับกับวิถีชีวิตใหม่ (new normal) และเดินหน้าเปิดตัวใหม่ 7 โครงการ มูลค่ารวม 8,780 ล้านบาท แบ่งเป็นทาวน์เฮาส์ 3 โครงการ บ้านเดี่ยว 3 โครงการ และคอนโดมิเนียม 1 โครงการ

          ส่วนภาพรวมในเขต กทม.-ปริมณฑลช่วงครึ่งปีแรกมีมูลค่าตลาด 128,457 ล้านบาท ลดลง -36% ยอดโอนกรรมสิทธิ์ 5 เดือนแรกอยู่ที่ 145,969 ล้านบาท ลดลง -8% แม้ว่าสถานการณ์โควิดมีแนวโน้มดีขึ้น แต่ทิศทางตลาดอสังหาฯยังคงต้องเฝ้าระวัง

          เอพี-เอสซีฯเข้าชมรมสีเขียว

          ผลประกอบการโดดเด่นเป็นบวกหรือชาร์ตสีเขียวเป็นของ บมจ.เอพี (ไทยแลนด์) แจ้งว่ามีรายได้สูงสุดตั้งแต่เปิดบริษัท 36 ปี สถิติไตรมาส 2/63 อยู่ที่ 8,473 ล้านบาท เติบโต 70.5% เทียบกับไตรมาส 2/62 ทำให้สถานการณ์ครึ่ง ปีแรก 2563 ทำรายได้ 13,994 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7.1% เทียบกับครึ่งปีแรก 2562 ที่มีจำนวน 13,063 ล้านบาท

          สอดคล้องกับกำไรสุทธิที่เพิ่มขึ้น ไตรมาส 2/63 ทำได้ถึง 1,215 ล้านบาท ขณะที่ไตรมาส 2/62 มีกำไรสุทธิ 488 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นกว่า 60% กำไรสุทธิครึ่งปีแรก 2563 มี 1,834 ล้านบาท โต 17.1% เทียบกับครึ่งแรกปี 2562 ที่มีจำนวน 1,566 ล้านบาท ข้อสังเกต กำไรสุทธิไตรมาส 2/63 อยู่ที่ 14.3% สูงขึ้น เพราะไม่มีต้นทุนการเปิดคอนโดฯใหม่ในปีนี้

          แนวโน้มที่ดีขึ้นในช่วงเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ทำให้เอพีปรับแผนบุกตลาดแนวราบเต็มตัว โดยประกาศเลื่อนเปิดคอนโดฯ 4 โครงการ 12,100 ล้านบาทไปปี 2564 และเบ่งพอร์ตแนวราบปีนี้เป็น 40 โครงการ 41,500 ล้านบาท จากเดิมวางแผนผุดแนวราบ 33 โครงการ 35,050 ล้านบาท

          บมจ.เอสซี แอสเสท คอร์ปอเรชั่น ทำรายได้ครึ่งปีแรก 2563 จำนวน 7,888 ล้านบาท เพิ่ม 18% เทียบกับครึ่งปีแรก 2562 ซึ่งมีรายได้ 6,690 ล้านบาท โดยไตรมาส 2/63 ทำรายได้ 4,575 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 30.9% จากไตรมาส 2/62 ที่มีรายได้ 3,496 ล้านบาท ไฮไลต์แผนกลยุทธ์บริษัทเน้นขายแนวราบเซ็กเมนต์ 5 ล้านบาทขึ้นไปเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบ โควิดน้อยกว่าตลาดแมสราคาต่ำกว่า 3 ล้านบาท

          ลุ้นลูกค้าจีน-ฮ่องกงรีเทิร์น

          บมจ.ออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้ ครึ่งปีแรก 2563 รายได้ 5,901 ล้านบาท ลดลง -13.1% เทียบกับ 6,790 ล้านบาทในครึ่งปีแรก 2562 เป็นผลจากกำลังซื้อหดตัวในช่วงพีกโควิดเมื่อเดือนมีนาคม ผลงานโดดเด่นอยู่ที่กำไรสุทธิ 21.5%

          นายพีระพงศ์ จรูญเอก ประธานเจ้าหน้าที่ บริหาร บมจ.ออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้ กล่าวว่า ครึ่งปีแรก SG&A ปรับลดลง เหลือ 12.7% เทียบกับ 19.7% ในไตรมาส 1/63 ท่ามกลางตลาดที่แข่งขันด้านราคากันอย่างรุนแรง แผนลงทุนครึ่งปีหลัง 2563 เปิดตัวบ้านจัดสรร 2 แบรนด์ใหม่ ได้แก่ เบลกราเวีย (BELGRAVIA) เจาะตลาดลักเซอรี่ กับไบรตัน (BRIGHTON) เจาะตลาด Gen Y-Z รวมโครงการรอเปิดตัวใหม่ 14 โครงการ มูลค่า 16,700 ล้านบาท

          บมจ.โนเบิล ดีเวลลอปเมนท์ ครึ่งปีแรกรายได้ 4,023 ล้านบาท ลดลงเล็กน้อย -11% เทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนที่มี 4,518 ล้านบาท โดยเฉพาะไตรมาส 2/63 มียอดรับรู้รายได้จากการ โอนกรรมสิทธิ์ 1,752 ล้านบาท อาทิ โนเบิล รีโคล สุขุมวิท 19, โนเบิล บี เทอร์ตี้ทรี, โนเบิล เพลินจิต, โนเบิล รีวอลฟ์ รัชดาฯ, โนเบิล เกเบิล คันโซ วัชรพล ฯลฯ

          นายธงชัย บุศราพันธ์ ประธาน เจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.โนเบิล ดีเวลลอปเมนท์ เปิดเผยว่า ปีนี้บริษัทเปิดตัว คอนโดฯแบรนด์ใหม่ NUE 3 โครงการ โดยเปิดตัวแล้วในทำเลงามวงศ์วาน, รัชดาฯ-ลาดพร้าว รอเปิดตัวบน ทำเลไฟฉาย-วังหลัง มูลค่ารวม 5,000 ล้านบาท

          ส่วนตลาดลูกค้าต่างชาติ นาย แฟรงค์ ฟง คึ่น เหลียง รองประธาน กรรมการและประธานเจ้าหน้าที่ บริหารร่วมกล่าวว่า นับ 18 เดือน (รวม ปี 2562) มีรายได้ 4,400 ล้านบาท และ นับ 6 เดือนแรกปีนี้ทำรายได้ 900 ล้านบาท คิดเป็นส่วนแบ่ง 34% ของตลาดลูกค้าต่างชาติ โดยเริ่มมองเห็นสัญญาณบวกหลังโควิด-19 เริ่มคลี่คลายในประเทศจีนและฮ่องกงที่มีความต้องการซื้อ เป็นบ้านหลัง 2 และซื้อเพื่อการลงทุน รวมทั้งเตรียมขยายฐานเจาะลูกค้าไต้หวันและสิงคโปร์

          บมจ.ศุภาลัย ครึ่งปีแรก 2563 รายได้ 6,970 ล้านบาท ลดลง -36% เทียบกับครึ่งปีแรก 2562 ที่มีรายได้รวม 10,892 ล้านบาท กำไรสุทธิอยู่ที่ 16.8% แสดงให้เห็นว่ายอดขายและรายได้ไม่ได้แข่งสงครามราคาแบบเต็มตัว รวมถึงยังรักษาสถานะเป็นบริษัทที่ควบคุมต้นทุนค่าใช้จ่ายได้ดี

          บมจ.ควอลิตี้ เฮ้าส์ แสดงผลประกอบการ ครึ่งปีแรก 2563 รายได้ 5,083 ล้านบาท ลดลง -25% เทียบกับครึ่งปีแรก 2562 ที่มีรายได้ 6,803 ล้านบาท กำไรสุทธิครึ่งปีแรก 2563 อยู่ที่ 969 ล้านบาท ลดลง -33.8% เทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนที่มี 1,462 ล้านบาท

          บมจ.แอล.พี.เอ็น. ดีเวลลอปเมนท์ หรือ LPN ครึ่งปีแรก 2563 รายได้ 3,415 ล้านบาท ลดลง -24.7% เทียบกับครึ่งปีแรก 2562 ที่มีจำนวน 4,532 ล้านบาท กำไรสุทธิครึ่งปีแรก 2563 จำนวน 370 ล้านบาท

 

Reference:

Click icon to remove from or add to favorite list
Click to choose and click "Compare" button