ไม่หวั่นโควิด ลงทุนอีอีซีพุ่ง ไตรมาสแรก 117 โครงการ
บีโอไอเผย ยอดการยื่นขอลงทุนในอีอีซี ยังโตต่อเนื่อง ไตรมาสแรก 117 โครงการ สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน แม้เม็ดเงินลงทุนต่ำกว่า ชี้ปัจจัยนักลงทุนยังเชื่อมั่น วางแผนก่อนเกิดการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ชิงความได้เปรียบคู่แข่ง
นโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ที่รัฐบาลตั้งความหวังใช้เป็นแม่เหล็กในการดึงดูดนักลงทุนจริงจากต่างชาติรวมถึงนักลงทุนในประเทศปีละกว่า 1 แสนล้านบาท ขณะที่คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือบีโอไอ ตั้งเป้าหมายนักลงทุนเข้ามายื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนไม่ต่ำกว่า 3 แสนล้านบาท โดยในปี 2562 ที่ผ่านมามีนักลงทุนเข้ามายื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่อีอีซีกับบีโอไอราว 506 โครงการ คิดเป็นมูลค่าเงินลงทุน 4.44 แสนล้านบาท โดยเป็นโครงการยื่นขอส่งเสริมของโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน มูลค่า 1.62 แสนล้านบาทรวมอยู่ด้วย และในจำนวนโครงการดังกล่าวมีกลุ่มนักลงทุนจากจีนและญี่ปุ่น ยื่นขอลงทุนเป็นส่วนใหญ่
จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 มีการปิดประเทศ งดการเดินทางเกิดขึ้นทั่วโลก ในความน่าจะเป็นอาจมองได้ว่าจะส่งผลกระทบต่อนโยบายขับเคลื่อนการลงทุนในอีอีซี แต่เมื่อพิจารณาการยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่อีอีซี ของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนหรือบีโอไอ ในช่วงไตรมาสแรกปี 2563 นี้ กลับพบว่า มีนักลงทุนเข้ามายื่นขอส่งเสริมการลงทุนราว 117 โครงการ เงินลงทุน 4.75 หมื่นล้านบาท เมื่อเทียบกับไตรมาสแรกของปี 2562 มีจำนวน 116 โครงการ เงินลงทุน 7.50 หมื่นล้านบาท
ขณะที่ข้อมูลจากกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) รายงานว่า ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2563 นี้ มีผู้ประกอบการได้มายื่นขอประกอบกิจการใหม่และขยายกิจการในพื้นที่อีอีซี ที่อยู่นอกนิคมอุตสาหกรรม จำนวน 125 โครงการ คิดเป็นมูลค่า ลงทุน 2.57 หมื่นล้านบาท
นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผย ว่า แม้ว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่เกิดไปทั่วโลก โดยเฉพาะที่เกิดขึ้นในจีนและญี่ปุ่น ซึ่งถือเป็นกลุ่มนักลงทุนที่มีความสำคัญต่อประเทศไทย ได้ยกเลิกการเดินทางที่จะเข้ามาติดต่อ หรือการเข้ามาสำรวจลู่ทางการลงทุนในประเทศ อีกทั้ง การงดจัดกิจกรรมเชิญชวนนักลงทุนหรือโรดโชว์ทั้งในและต่างประเทศก็ตาม แต่ในภาพของภาวการณ์ลงทุนในไตรมาสแรกของปีนี้ สะท้อนให้เห็นว่านักลงทุนยังมีความเชื่อมั่นที่จะเข้ามาลงทุนในไทยอยู่
ทั้งนี้ เนื่องจากการยื่นคำขอรับการส่งเสริมในอีอีซีทั้ง 117 โครงการนี้ ส่วนใหญ่เป็นการวางแผนธุรกิจระยะยาว และได้วางแผนการลงทุนก่อนที่จะเกิดเหตุการณ์โควิด นักลงทุนกลุ่มนี้ยังเชื่อมั่นในศักยภาพของประเทศไทยและอีอีซี ในระยะยาว จึงมายื่นขอรับการส่งเสริม เพราะยังไม่จำเป็นต้องเริ่มผลิตภายใน 2-3 เดือนนี้ ยังมีเวลาและขั้นตอนอีกมาก ทั้งการอนุมัติ ออกบัตรส่งเสริม ขอใบอนุญาตต่างๆ ก่อสร้างโรงงาน ซื้อและติดตั้งเครื่องจักร กว่าจะเริ่มผลิตอาจจะใช้เวลาอีก 1-3 ปี ซึ่งถึงเวลานั้นเศรษฐกิจน่าจะเริ่มฟื้นตัว และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ในอีอีซี เป็นรูปเป็นร่างมากขึ้นด้วย และอาจจะได้เปรียบรายอื่นที่เริ่มต้น ช้ากว่า
อีกทั้ง ในช่วงเหตุการณ์โควิด บีโอไอ ยังเปิดช่องทางติดต่อใหม่ๆ โดยนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาช่วยมากขึ้น เช่น การยื่นเอกสารผ่าน e-Submission, การให้คำปรึกษาผ่านโปรแกรม Zoom, การประชุมพิจารณาโครงการผ่าน Zoom & Webex และการ update ความเคลื่อนไหวผ่านช่องทาง Social media ต่างๆ การติดต่อประสานงานระหว่างนักลงทุน ส่งผลให้บีโอไอยังทำงานได้อย่างต่อเนื่อง
”การให้บริการออนไลน์ ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาบีโอไอได้พัฒนาระบบงานต่างๆ เป็น e-Service เกือบหมดแล้ว ไม่จำเป็นต้องเดินทาง มาด้วยตัวเอง ตั้งแต่ขั้นตอนการให้ข้อมูล การยื่นขอรับการส่งเสริม การใช้สิทธิประโยชน์เครื่องจักร วัตถุดิบ ภาษีเงินได้ การนำเข้าผู้บริหารและช่างฝีมือต่างชาติ ไปจนถึงการรายงานผลการดำเนินงาน เหลือเพียงเรื่องการออกบัตรส่งเสริม งานที่ดิน และงานย่อยๆ ที่ยังเป็นกระดาษซึ่งบีโอไอ ยังต้องเร่งพัฒนาต่อไป โดยเฉพาะการยื่นคำขอ ซึ่งตั้งแต่เดือนมกราคม 2563 เป็นต้นมา บีโอไอ เปิดรับคำขอทางระบบออนไลน์ (e-Investment) เท่านั้น”
Reference: หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ