โควิด-19 ฉุดอสังหาฯอีอีซี ปี63ส่อ โอนต่ำสุด รอบ5ปี

05 Jun 2020 609 0

        ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ เผยผลสำรวจที่อยู่อาศัย 3 จังหวัดอีอีซี “ชลบุรี ระยอง ฉะเชิงเทรา” พบหน่วยเหลือขาย ปี 2562 กว่า 68,093 หน่วย อัตราดูดซับวูบ เหลือ 1.2-1.3% ฉุดคาดการณ์ยอดโอนปี 2563 ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 5 ปี สมาคมอสังหาฯชลบุรี ห่วงสินเชื่อเงินทอนเสี่ยงเจ็บระยะยาว จี้รัฐ กระตุ้นตลาดล่าง ขณะอสังหาฯระยอง ฉะเชิงเทรา แนะรัฐเปิดทางต่างชาติเพิ่มสัดส่วน ซื้อคอนโด

          นายวิชัย วิรัตกพันธ์ ผู้ตรวจการธนาคารอาคารสงเคราะห์ และรักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ เผยผลสำรวจ อุปทานและอุปสงค์ของโครงการที่อยู่อาศัยที่อยู่ระหว่างการขายในช่วงครึ่งหลังปี 2562 ในพื้นที่ภาคตะวันออก ได้แก่ ชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา หรือพื้นที่โครงการพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) นับเฉพาะโครงการที่มีหน่วยเหลือขายไม่ต่ำกว่า 6 หน่วยพบว่า

          สิ้นปี 2562 มีโครงการที่อยู่อาศัยเสนอขาย จำนวนทั้งสิ้น 78,780 หน่วย คิดเป็น 22% ของจำนวนที่อยู่อาศัยใน 26 จังหวัดหลัก ซึ่งมีจำนวนรวม 355,145 หน่วย นับว่ามีการ พัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยสูงสุดเป็น อันดับ 2 รองจากพื้นที่กรุงเทพฯ-ปริมณฑล ซึ่งมีจำนวน 209,868 หน่วย

          โดยเมื่อรวมทั้ง 3 จังหวัดอีอีซี พบว่า มีหน่วยเหลือขายสิ้นปี 2562 ทั้งสิ้น 68,093 หน่วย ชลบุรีมีจำนวนที่อยู่อาศัยเหลือขายมากที่สุดในกลุ่มจังหวัดอีอีซี คิดเป็นสัดส่วน 62.2% ระยอง 26.5% ฉะเชิงเทรา 8.3%  ส่งผลทำให้คาดการณ์หน่วยเหลือขายในครึ่งแรกของ ปี 2563 จะอยู่ที่ 68,046 หน่วย และครึ่งหลัง ปี 2563 อยู่ที่ 68,227 หน่วย เนื่องจาก อัตราการเปิดตัวลดลง ขณะที่อัตราดูดซับลดลงมากจาก 2.2% เหลือเพียง 1.2-1.3% ส่งผลคาดการณ์ยอดโอนกรรมสิทธิ์ใน ปี 2563 ลดลงทั้ง 3 จังหวัด

          คาดยอดโอนอีอีซีลดฮวบรอบ5ปี

          โดยชลบุรีคาดว่าจะมีการโอน 30,141 หน่วย  ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 5 ปีอยู่ที่ 33,812 หน่วยต่อปี ส่วนระยองคาดว่าจะมีการโอน 9,389 หน่วย ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 5 ปีอยู่ที่ 10,287 หน่วยต่อปี และฉะเชิงเทรา คาดว่าจะมีการโอน 3,648 หน่วย ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 5 ปีอยู่ที่ 3,911 หน่วยต่อปี เมื่อแยกเป็นรายจังหวัด พบว่า ในปี 2562 ชลบุรี มีจำนวนที่อยู่อาศัยที่อยู่ระหว่าง เสนอขายจำนวนทั้งสิ้น 675 โครงการ จำนวน

          50,655หน่วย มูลค่า 176,116ล้านบาท เพิ่มขึ้น จากช่วงครึ่งปีแรก 1.8% โดยแนวโน้มปี2563 จะมีที่อยู่อาศัยเหลือขายอยู่ในตลาด 44,060 หน่วย ประกอบด้วย อาคารชุด (คอนโดมิเนียม) 19,348หน่วย ทาวน์เฮ้าส์ 12,699 หน่วย บ้านเดี่ยว 5,730หน่วย บ้านแฝด 4,979หน่วย และอาคารพาณิชย์ 1,304 ขณะที่อัตราดูดซับลดลง 2.1% ในช่วง ครึ่งปีหลังของปี2562และคาดว่าในปี2563 อัตราดูดซับลดลงต่อเนื่อง ทำให้ยอดโอน อยู่ที่ 30,141 หน่วย มูลค่า 59,293 ล้านบาท ซึ่งต่ำกว่าค่ามาตรฐานซึ่งมีมูลค่า 64,095 ล้านบาท ลดลงถึง 20% ทำเลที่มีหน่วยเหลือขาย  พร้อมโอนสูงสุด 3 อันดับแรก คือ 1.หาดจอมเทียน 2.พัทยา-เขาพระตำหนัก 3.ศรีราชา-อัสสัมชัญ

          ส่วน ระยอง ในครึ่งหลังของปี 2562 มีโครงการเสนอขาย 302 โครงการ รวม 21,634 หน่วย รวมมีหน่วยเหลือขายจำนวน 18,048 หน่วย มูลค่า 45,221 ล้านบาท ทำเลที่มีที่อยู่อาศัยสร้างเสร็จเหลือขายสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ 1.นิคมอุตสาหกรรม อมตะซิตี้-อีสเทิร์น 2.ทำเลนิคมอุตสาหกรรมเหมราช และ 3.เมืองระยอง จำนวน 407 หน่วย

          ขณะที่ฉะเชิงเทรา ในปี 2562 มี หน่วยเหลือขาย 5,660 หน่วย มูลค่า 16,500 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นแนวราบทำเลที่มี ที่อยู่อาศัยสร้างเสร็จเหลือขายสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ 1.ในเมืองฉะเชิงเทรา 2.คลองหลวงแพ่ง และ 3.บ้านโพธิ์ คาดว่า อัตราดูดซับทรงตัว แต่กลุ่มที่ได้รับ ความสนใจ ส่วนใหญ่คือ ทาวน์เฮ้าส์ และบ้านแฝด

          ห่วงแคมเปญซื้อบ้านพร้อมเงินทอน

          นายมีศักดิ์ ชุณหรักษ์โชติ นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์ชลบุรี ยอมรับว่า อัตรา การดูดซับอสังหาฯลดลงต่ำกว่าที่ควรจะเป็นไปกว่าครึ่งจากที่ควรอยู่ที่ 3-3.5% มาอยู่ที่  1.2-1.3% แม้จะมีมาตรการจากภาครัฐ มาช่วยดูดซับในปลายปี 2562 และต้นปี 2563 รวมถึงการอัดโปรโมชั่นลดราคาจาก นักพัฒนาอสังหาฯ

          สิ่งที่น่าห่วงคือ “สินเชื่อเงินทอน” ที่แม้จะเป็นการกระตุ้นให้เกิดการซื้อขาย แต่จะเกิดผลกระทบในระยะยาวรวมถึงบ้านระดับล่างราคาต่ำกว่า 2 ล้านบาทกำลังซื้อหายไปอย่างชัดเจน เนื่องจากยอดการปฏิเสธสินเชื่อจากธนาคารสูง โดยเฉพาะ ในกลุ่มผู้ประกอบอาชีพ ด้านท่องเที่ยว และ โรงแรม ที่ถูกตัดออกไปที่จะส่งผลกระทบต่อยอดขาย และยอดโอนในปี2563

          ”ผู้บริโภคระดับล่างเริ่มมีปัญหารุนแรง เพราะกลุ่มแรงงานที่เกี่ยวเนื่องกับอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากโควิด หากรัฐมีมาตรการ เข้ามาสนับสนุนให้ธนาคารปล่อยสินเชื่อกระตุ้นให้คนระดับล่างมีบ้าน จะส่งผลต่อ ยอดขายในตลาดกลับมาฟื้นตัวดีขึ้น”

          ด้านนายเปรมสรณ์ ศรีวิบูลย์ชัย นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์ระยอง กล่าวว่า ผลกระทบเริ่มรุนแรงในช่วงเดือนเม.ย. และพ.ค.ทำให้ยอดจองและยอดโอนลดลง โดยเฉพาะการที่ธนาคารปฏิเสธสินเชื่อสูงมาก ในกลุ่มลูกค้าซื้อบ้านที่อยู่ในกลุ่มธุรกิจ ที่ได้รับผลกระทบ

          จี้เปิดทางต่างชาติซื้อคอนโดเพิ่ม

          อย่างไรก็ตาม เชื่อมั่นว่าวิกฤติจะเป็นเพียงระยะสั้น เพราะพื้นที่อีอีซียังเป็นโอกาส  เป็นพื้นที่เป้าหมายในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจภาครัฐจึงควรกระตุ้นให้เกิดซื้อขายที่อยู่อาศัยในกลุ่มต่างชาติเพิ่มขึ้น เช่น เพิ่มสัดส่วน การซื้อคอนโดมากกว่า 49% และการเปิดให้มีการซื้อขายบ้านพร้อมที่ดินได้ในบางทำเล

          ขณะที่นายวัชระ ปิ่นเจริญ นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์ฉะเชิงเทรา กล่าวว่า ภาครัฐ ควรสนับสนุนให้ต่างชาติซื้อบ้านแนวราบ ได้อย่างถูกกฎหมายที่จะเปิดโอกาส ให้ประเทศได้รับประโยชน์จากการเก็บภาษีได้อย่างถูกต้องแทนการใช้นอมินี

          3 จังหวัดอีอีซี มีหน่วยเหลือขายสิ้นปี 2562 ทั้งสิ้น 68,093 หน่วย อัตราดูดซับเหลือ 1.2-1.3% ส่งผลให้คาดว่ายอดโอนในปี 2563 ลดลง

Reference:

Click icon to remove from or add to favorite list
Click to choose and click "Compare" button