โควิด ดันแอปแบงก์รัฐโตพุ่ง เร่งอัพเกรดฟังก์ชั่นปล่อยกู้บนดิจิทัลปีนี้

30 Jul 2020 668 0

 

         ”โควิด-19” ดันยอดใช้งาน “โมบาย แบงกิ้ง” แบงก์รัฐพุ่ง “ธ.ก.ส.” ชี้เกษตรกรคนรุ่นใหม่เข้าใช้งาน “A-Mobile” เพิ่ม กว่า 5 แสนรายในช่วง 2-3 เดือน เฟสต่อไปเล็งขยายบริการปล่อยกู้ผ่านแอป ขณะที่ “ธอส.” เผยครึ่งปีลูกค้าสมัครใช้ “GHB ALL” พรวดกว่า 4 แสนบัญชี ทำธุรกรรมพุ่ง 35.4% เร่งต่อยอด “บริการทางด้านการเงินและสินเชื่อ” ภายในปีนี้ ฟาก “ออมสิน” มีผู้ใช้ “MyMo” แตะ 10 ล้านคนแล้ว เฉพาะครึ่งปีแรกเพิ่ม 2 ล้านราย เร่งพัฒนาบริการ “ขอเลื่อนชำระหนี้-ปล่อย สินเชื่อที่ไม่มีหลักประกัน-เปิดบัญชี”

          นายอภิรมย์ สุขประเสริฐ ผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้พบว่ามีลูกค้าที่ เป็นเกษตรกรคนรุ่นใหม่เข้ามาใช้งาน แอปพลิเคชั่น A-Mobile เพิ่มขึ้นราว 5 แสนราย ในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา ซึ่งปัจจัยหนึ่งมาจากการแพร่ระบาดของ ไวรัสโควิด-19 ทำให้ลูกค้าทำธุรกรรมผ่านแอปมากกว่าการไปใช้บริการที่สาขา เพื่อตอบโจทย์การใช้บริการของลูกค้า ให้สะดวกมากขึ้น ธ.ก.ส.มีแผนจะพัฒนาแอปให้ตอบรับคนรุ่นใหม่มากขึ้น เช่น สามารถกู้เงินผ่านแอปได้ เป็นต้น

          นายสมเกียรติ กิมาวหา รองผู้จัดการและโฆษก ธ.ก.ส. กล่าวว่า โควิด-19 ทำให้มีการใช้บริการ A-Mobile มากขึ้น โดยช่วง 2 เดือนแรกปีบัญชี 2563 (เม.ย.-พ.ค. 2563) มียอดลงทะเบียนขอใช้งานสะสมกว่า 1.8 ล้านราย มีปริมาณการทำธุรกรรม 1.95 หมื่นล้านรายการ คิดเป็นมูลค่า 6.16 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น จากปีบัญชี 2562 ที่มียอดลงทะเบียนสะสมขอใช้งานกว่า 1.4 ล้านราย ยอดการทำธุรกรรม 1.33 ล้านรายการ คิดเป็นมูลค่า 4,954 ล้านบาท

          “ช่วงที่สถานการณ์โควิด-19 แพร่ระบาด ลูกค้าเข้ามาใช้บริการ A-Mobile เพิ่มขึ้น คาดว่าภายใน สิ้นปี 2563 จะมีลูกค้าเข้ามาใช้งานกว่า 2 ล้านราย เนื่องจากระยะต่อไปก็จะมีเงิน จากนโยบายต่าง ๆ ของรัฐ ที่ส่วนใหญ่ ธนาคารจะส่งให้ลูกค้าผ่านทาง A-Mobile เป็นการทำธุรกรรมผ่านแอปมากขึ้น เพื่อรองรับวิถีชีวิตใหม่ (new normal)” นายสมเกียรติกล่าว

          นายฉัตรชัย ศิริไล กรรมการผู้จัดการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) กล่าวว่า แอป GHB ALL ของ ธอส.มีจำนวนลูกค้า ที่สมัครใช้บริการ และใช้งานถึง ณ 14 ก.ค. 2563 ที่จำนวน 6.56 แสนบัญชี เพิ่มขึ้นจาก ณ สิ้นปี 2562 ที่มีอยู่ 2.42 แสนบัญชี และปัจจุบันลูกค้ามีการ ทำธุรกรรมการโอนเงินและชำระหนี้ เงินกู้ผ่าน GHB ALL จำนวน 5.09 แสนรายการ เพิ่มขึ้นจาก ณ สิ้นปี 2562 ที่มีการทำธุรกรรม 3.75 แสนรายการ หรือเพิ่มขึ้น 35.4% แสดงให้เห็นว่า ลูกค้ามีความต้องการและเกิดความ คุ้นเคยที่จะใช้บริการผ่านช่องทาง ดิจิทัลมากขึ้น หลังจากที่ไวรัสโควิด-19 แพร่ระบาด

          โดยเพื่อเป็นการรองรับพฤติกรรมของลูกค้าและการแข่งขันของธุรกิจสถาบันการเงินที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ธนาคารจึงได้จัดทำแผน GHB New Normal Services ด้วยการนำบริการ ทางการเงินและสินเชื่อไปให้บริการผ่านช่องทางดิจิทัลเพิ่มเติมผ่าน GHB ALL และเว็บไซต์ www.ghbank.co.th ซึ่งจะแบ่งระยะเวลาดำเนินการออกเป็น 2 ระยะ

          สำหรับระยะแรก “บริการทางด้าน การเงินและสินเชื่อ” อาทิ สมัครใช้ บริการ GHB ALL ด้วยตนเอง เปิด บัญชีใหม่ ชำระเงินผ่อนดาวน์ทรัพย์ NPA (สินทรัพย์รอการขาย) ขอ statement บัญชีเงินฝาก เปลี่ยนแปลงที่อยู่จัดส่งเอกสาร/การติดต่อ ซื้อสลากออมทรัพย์ การนัดหมายเข้าทำธุรกรรม ขอยอดปิดบัญชีเงินกู้ นัดหมายขอรับโฉนด ขอหนังสือรับรองดอกเบี้ยเงินกู้ ขอใบแทนใบเสร็จ และการประมูลทรัพย์ NPA online ซึ่งจะเปิดให้บริการลูกค้าได้ภายในวันที่ 16 ก.ย. 2563 นี้

          ส่วนระยะที่ 2 จะเพิ่มบริการ อาทิ ชำระค่าธรรมเนียมต่าง ๆ เช่น ค่าธรรมเนียม การยื่นกู้ ค่าประเมินราคาหลักประกัน การรับเงินค่าธรรมเนียมคืนตามโปรโมชั่น การรับเงินของขวัญปีใหม่ที่ธนาคาร มอบให้ลูกค้าตามจำนวนที่กำหนด ขอ หนังสือรับรองดอกเบี้ยเงินฝากขอตรวจ ข้อมูลเครดิตบูโร การกู้เพิ่ม และการขอ หนังสือรับรองเพื่อเบิกค่าเช่าบ้านตามสิทธิสวัสดิการ ซึ่งจะให้บริการลูกค้าได้ภายในวันที่ 30 ธ.ค. 2563

          ด้านนายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการ ธนาคารออมสิน กล่าวว่า ขณะนี้มีลูกค้าใช้บริการแอป MyMo ของธนาคาร ทั้งสิ้น 10 ล้านราย เพิ่มขึ้น 2 ล้านราย จากสิ้นปี 2562 แสดงให้เห็นว่าในช่วงที่ ไวรัสโควิด-19 แพร่ระบาดลูกค้ามีการปรับตัวและเข้ามาใช้บริการ MyMo มากขึ้น โดยธนาคารออมสินก็มีนโยบายที่จะพัฒนา MyMo ให้เป็นศูนย์กลางของการให้บริการ สามารถทำทุกอย่าง ตั้งแต่ต้นจนจบได้ โดยสิ่งที่จะต้องเริ่มทำ ก่อนคือ การพัฒนาแอปให้สามารถแจ้ง ขอเลื่อนชำระหนี้ได้ ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย จะต้องสามารถปล่อยสินเชื่อ ที่ไม่มีหลักประกัน (unsecured loan) ได้ และท้ายที่สุดคือ สามารถเปิดบัญชีผ่านแอปได้

          “นอกจากฟังก์ชั่นการใช้งานที่จะ พัฒนาขึ้นแล้ว หน้าตาของ MyMo จะต้องเปลี่ยนให้เป็นไลฟ์สไตล์คือ จะต้องทำให้แอปของออมสินอยู่ใน ชีวิตประจำวันของลูกค้า สามารถใช้ได้ ทุกวัน มีบริการที่หลากหลายนอกจาก เรื่องของแบงก์ จะต้องมีบริการที่ครอบคลุมผ่านแอปให้ครบวงจร ซึ่ง จะทำให้ลูกค้ามีความผูกพันกับแอปและ มีความต้องการใช้แอปของออมสิน ซึ่งธนาคารจะทยอยออกฟังก์ชั่น ต่าง ๆ มาให้บริการลูกค้าได้ภายในปีนี้” นายวิทัยกล่าว

 

Reference:

Click icon to remove from or add to favorite list
Click to choose and click "Compare" button