แสนสิริ ขายที่กลางเมืองอุดร ยุติ คอนโด พันล้าน-โควิดทุบตลาดซบ

02 Dec 2021 390 0

           ”แสนสิริ” ประกาศขายที่ดินทำเลทอง 4 ไร่ ใจกลางเมืองอุดรธานี ยุติแผนผุดโครงการคอนโดมิเนียมแห่งที่ 2 “เดอะเบสไฮท์ เซ็นทรัล อุดรธานี” มูลค่า 1,500 ล้านบาท ด้านอุปนายก อสังหาฯอุดรเผยที่ดินของแสนสิริติดกฎหมายอากาศยานขึ้นสร้างได้เพียง 14 ชั้น ทำต้นทุนพุ่ง ตัดสินใจ ยุติโครงการไปลุยบ้านแนวราบ ชี้ ทิศทางอสังหาฯอุดรปีนี้ทุนส่วนกลาง-ทุนภูธรชักธงรบลุยเต็มสูบ หลังแบงก์ชาติ ผ่อน LTV เศรษฐกิจเริ่มฟื้น

          ผู้สื่อข่าวรายงานจากจังหวัดอุดรธานี ว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) หรือ SIRI ได้ติดป้ายหน้าที่ดิน ของบริษัทที่ซื้อไว้บริเวณใจกลางเมืองอุดรธานี ใกล้ศูนย์การค้าเซ็นทรัล พลาซา อุดรธานี ศูนย์การค้ายูดีทาวน์ และปัจจุบันโดยรอบมีการขึ้นโรงแรมหลายแห่ง

          โดยมีใจความระบุว่า “ขาย/ให้เช่า ที่ดินจำนวน 4 ไร่ 1 งาน 16.6 ตารางวา” จากเดิม บมจ.แสนสิริมีแผนจะพัฒนา โครงการคอนโดมิเนียมแห่งที่ 2 เดอะเบสไฮท์ เซ็นทรัล อุดรธานี ถ.ประจักษ์ศิลปากร มูลค่าโครงการ 1,500 ล้านบาท อาคาร 14 ชั้น 573 ยูนิต พื้นที่ใช้สอย 29-63 ตร.ม. ราคาเริ่มต้นที่ 2.19 ล้านบาท ก่อนหน้านี้ บมจ.แสนสิริได้เข้าไปลงทุนครั้งแรกในโครงการคอนโดมิเนียม “เดอะเบสไฮท์ อุดรธานี” ถ.วัฒนานุวงศ์ ห่างจากศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซา อุดรธานี ประมาณ 600 เมตร มูลค่าโครงการ 1,000 ล้านบาท

          ทั้งนี้ บมจ.แสนสิริยังเหลือโครงการก่อสร้างบ้านจัดสรรบริเวณถนนวงแหวนรอบนอกที่จะขึ้นอีก 40 ยูนิต ใน จ.อุดรธานี

          นายณัฐวัชร สวนสุจริต อุปนายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์จังหวัดอุดรธานี และที่ปรึกษาโครงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า แสนสิริได้ที่ดินแปลงนี้มาด้วยต้นทุนที่ค่อนข้างสูง จะพัฒนา เป็นคอนโดมิเนียมแท่งที่ 2 แต่ติดกฎหมายอากาศยาน ขึ้นได้เพียง 14 ชั้น ราคาขายจึงค่อนข้างสูง ซึ่งหากเป็นตลาดในกรุงเทพฯและปริมณฑลก็คง ไม่มีปัญหา

          ทั้งนี้ คาดว่าที่ดินผืนดังกล่าวคงขาย ในราคาต้นทุนไม่บวกเพิ่ม เพื่อนำเงิน กลับเข้าบริษัทมากกว่า ซึ่งก็คงยาก ด้วยสภาวการณ์แบบนี้ อีกทั้งโอกาส พัฒนาโครงการ ซึ่งคนที่ซื้อไปก็ต้องมองเรื่องการลงทุนพอสมควรว่าจะนำไปทำอะไรได้บ้าง

          สำหรับภาพรวมตลาดอสังหาริมทรัพย์ปลายปี 2564 ในจังหวัดอุดรธานี ยังไม่มีอะไรชัดเจนว่าจะดีขึ้นหรือลดลง เพียงแต่ปีที่ผ่านมา ตลาดบ้านเป็นของกลุ่มราคาไม่เกิน 3 ล้านกว่าบาท เพราะ 

          1.เดิมลูกค้าอสังหาฯติดปัญหาหนี้ครัวเรือนสูง กู้ยาก

          2.ติดเรื่องมาตรการ LTV ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพิ่งปลดล็อกให้ชั่วคราว 1 ปี (21 ต.ค. 64 ถึง 31 ธ.ค. 65)

          3.โควิดซึ่งเป็นสถานการณ์ที่นิ่งยาวนาน ไม่มีความต่อเนื่องในการซื้อ-ขาย คือ ลูกค้าไม่เคลื่อนไหวตั้งแต่ปลายปี 2563 จนถึงต้นปี 2564 พอคนนิ่ง ยอดขายก็ไม่ดี แต่พอหลังไตรมาส 2-3 ปีนี้เริ่มเคลื่อนไหว ซึ่งโชคดีคนที่มาดูบ้าน หรือซื้อบ้าน คือ คนที่มีความต้องการจริง สุดท้ายแล้วตลาดจึงเป็นของกลุ่มอสังหาฯ ราคาไม่เกิน 3.5 ล้านบาท

          ส่วนบ้านที่ค้างสต๊อกกลายเป็นว่า บ้านราคา 4 ล้านบาทขึ้น ซึ่งส่วนใหญ่เป็นโครงการจากทุนส่วนกลางที่จะเข้ามาลงทุนชะลอโครงการไป ตอนนี้แบรนด์ของทุนส่วนกลางกำลังปรับแบบ หรือบางโครงการที่ขยายไปเริ่มจับตลาดได้ ก็เริ่มปรับตัวตามความต้องการตลาด จากเดิมรายที่มาใหม่ ๆ คิดว่าจะขายได้ ตอนนี้บ้านที่ค้างสต๊อกส่วนใหญ่จึงเป็นแบรนด์จากทุนส่วนกลาง

          ส่วนทิศทางตลาดอสังหาฯมีแนวโน้มดีขึ้นจากปัจจัย คือ 1.กลุ่มลูกค้าเริ่มมีการเคลื่อนไหว หลัง ธปท.ผ่อนคลายมาตรการ LTV และเริ่มมีการเปิดเมือง คนเริ่มกลับมามีรายได้ เริ่มกลับมามีศักยภาพ ต้องยอมรับว่ามีบางอาชีพที่ธนาคารเว้นวรรคการให้สินเชื่อ พอสถานการณ์เศรษฐกิจเริ่มดีขึ้น ธนาคารจะเริ่มผ่อนคลายมากขึ้น 2.อานิสงส์ จากรถไฟความเร็วสูงจากคุนหมิงที่จะมาเวียงจันทน์ สปป.ลาวนั้น จ.อุดรธานีมี ระยะทางไม่ห่างจาก จ.หนองคายมากนัก และอุดรธานีมีสนามบิน มีโลจิสติกส์ อาจจะได้อานิสงส์เชิงบวกหรือไม่

          นอกจากนี้ ในปีหน้าจะเห็นการลงทุนของธุรกิจอสังหาฯจากส่วนกลาง และ ส่วนภูมิภาคเปิดโครงการใหม่ ๆ หลาย โครงการ โดยล่าสุดมีทุนส่วนกลาง แบรนด์ใหญ่บางรายขึ้นป้ายขายโครงการใหม่ในราคา 3-10 ล้านบาท บริเวณบนถนนมิตรภาพขอนแก่น-อุดรธานี

          ที่สำคัญ ช่วงไตรมาส 2-3 มีข่าวดีสำหรับผู้ประกอบการอสังหาฯ เนื่องจากทางสำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจะทบทวนปรับสีผังเมืองใหม่บริเวณถนนวงแหวนรอบนอก ซึ่งปัจจุบันเป็นพื้นที่สีเขียวให้เป็นสีเหลือง เพื่อให้สามารถก่อสร้างโครงการจัดสรรต่าง ๆ ตามการเติบโตของเมือง

          ทิศทางภาพรวมตลาดอสังหาฯในอุดรธานีมีความแปลก คือ ปี 2565 ต่างจากปี 2564 ไม่ว่าจะเป็นคอนโดฯท้องถิ่นขึ้นในราคาที่คนจับต้องได้ ในที่ดินทำเลทอง บ้านที่รอขายจากสถิติ บางปี 1,400 ยูนิต หรือ 1,500 หรือ 1,600 ยูนิต จะขยับขึ้นอีกเท่าตัว หรือ 3,000 กว่า ยูนิต เพราะส่วนหนึ่งผู้ประกอบการอั้น อีกทั้งแบรนด์ส่วนกลางหาซื้อที่ดิน ทำเลทองไว้หลายที่เพื่อรอการพัฒนา อาทิ แถวห้างดูโฮม ถนนอุดรธานีหนองคาย เป็นต้น

          ”อุดรธานีแปลกกว่าจังหวัดอื่น คือ 1.อัตราการขาย หรือจำนวนการขาย ยอดขายที่ขายดี กลายเป็นของตลาดแบรนด์ท้องถิ่นมากกว่าแบรนด์ส่วนกลาง เพราะได้เปรียบเรื่องของทำเล ถึงแบรนด์ จะไม่ใหญ่เหมือนส่วนกลาง 2.มีการพัฒนา วัสดุไม่ต่างจากแบรนด์ส่วนกลาง 3.ราคา บ้านของแบรนด์ท้องถิ่น 3 ล้านต้น ๆ เหมือนราคา 5 ล้านกว่าบาท ของแบรนด์ ส่วนกลาง

          ดังนั้น เวลาคนที่ซื้อก็ต้องมองว่ามี งบประมานซื้อบ้านได้อย่างไร ซึ่งแบรนด์ส่วนกลางจะได้ตลาดของกลุ่มลูกค้าที่ต้องการภาพลักษณ์ หรือหน้าตาที่ดี หรือสังคม เซ็กเมนต์จึงเป็นคนกระเป๋าหนักถึงจะไปอยู่ตรงนั้นได้ แต่กลุ่มของต่างจังหวัดจะคิดแบบกรุงเทพฯไม่ได้ เพราะรายได้ของอุดรต้องเป็นเซ็กเมนต์กลาง ๆ ถึงจะไปรอด” นายณัฐวัชรกล่าว

Reference:

Click icon to remove from or add to favorite list
Click to choose and click "Compare" button