แบงก์ ชูสินเชื่อดบ.ต่ำ ประคองธุรกิจ เลิกจ้าง

16 Nov 2020 615 0

           ”แบงก์” เดินหน้าปล่อย สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำพยุงธุรกิจเลิกจ้าง “กสิกรไทย”ยืดโครงการ”สินเชื่อ 0% - เถ้าแก่ใจดีเจ้าหนี้มีใจ”จนกว่าลูกค้าพ้นวิกฤติ “กรุงไทย”เติมสภาพคล่องธุรกิจ หวังเป็นกลไกดันเศรษฐกิจฟื้นตัว “ออมสิน”เพิ่มวงเงินกู้ซอฟท์โลนเป็น 100 ล้านบาทต่อราย เปิดทางรายใหญ่ขอกู้

          ในการแก้ปัญหาการว่างงาน นอกจาก จะช่วยเหลือแรงงานโดยตรงแล้ว การช่วยเหลือ ทางการเงินแก่”ผู้ประกอบการ” เพื่อให้ธุรกิจยังคงเดินต่อไปได้ ถือเป็นอีกแนวทางในการ”พยุง”การเลิกจ้างแรงงาน

          นางสาวขัตติยา อินทรวิชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย  เปิดเผยว่า  ปัจจุบันธนาคารได้มีส่วนในการช่วยพยุงการจ้างงาน ช่วยแรงงานในระบบเศรษฐกิจ ค่อนข้างมาก ซึ่งทำผ่านทั้งโครงการ “เถ้าแก่ใจดี เจ้าหนี้มีใจ”ซึ่งเริ่มเมื่อเดือนเม.ย.2563 เพื่อช่วยพนักงานที่มีรายได้น้อย ให้อยู่รอด โดยร่วมมือกับเถ้าแก่หรือบริษัทในการจ่าย เงินเดือนให้กับพนักงานเป็นเวลา 6 เดือน โดยมีวงเงินปล่อยสินเชื่อ 500 ล้านบาท ล่าสุดเดือนพ.ย.มีพนักงานที่ได้รับการช่วยเหลือ ผ่านโครงการนี้แล้ว 7,732 ราย โดยคิดเป็น การให้ส่วนลดดอกเบี้ยรวม 162 ล้านบาท

          รวมไปถึง โครงการ “สินเชื่อ 0%” เพื่อรักษา คนงานเอสเอ็มอี เพื่อให้เจ้าของเอสเอ็มอีขนาดเล็ก รักษาการจ้างงานไว้ได้ โดยให้ สินเชื่อ 0% ผ่อนนาน 10ปี ไม่มีหลักประกัน ไม่มีค่าธรรมเนียม โดยโครงการนี้ มีพนักงานที่ได้รับการช่วยเหลือโครงการนี้ 40,748 ราย วงเงินช่วยเหลือรวม 978 ล้านบาท

          ลุย”ปล่อยกู้”พยุงจ้างงาน

          นางสาวขัตติยา กล่าวว่า ทั้งสองโครงการปัจจุบันธนาคารยังคงให้สินเชื่ออย่างต่อเนื่องกระจายไปสู่ทั่วประเทศและจะยังอยู่ต่อเนื่องไปกว่าผลกระทบจากโควิด-19 จะหายไป เพราะคาดว่ากว่าเศรษฐกิจจะฟื้นจากผลกระทบ ดังกล่าว ต้องใช้เวลา 2-3 ปี ดังนั้นสิ่งที่ธนาคารทำได้คือ ใส่สภาพคล่องเพื่อให้บริษัทต่างๆใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน ในการรักษา การจ้างงาน และรักษาแรงงานให้คงอยู่ ต่อไปได้

          “ปัจจุบันมีหลายโครงการที่ช่วยเหลือในช่วงโควิด-19 ที่เราต้องช่วยไปจนกว่างบจะหมด เบื้องต้นเราตั้งงบในการช่วยเหลือการจ้างงาน ช่วยแรงงานราว 1,000 ล้านบาทปัจจุบันยังมีงบเหลือเพียงพอ โดยเฉพาะเถ้าแก่ใจดีเจ้าหนี้มีใจ ที่ปัจจุบันใช้งบไปแล้วครึ่งหนึ่งของงบที่วางไว้ แต่การช่วยเหลือจะเกาะไปกับมาตรการรัฐว่าให้ไปช่วยเหลือตรงไหนพื้นที่ไหน เพราะเราไม่สามารถช่วยในพื้นที่เดียว ดังนั้นเราก็ต้องพยายามให้เงินไปช่วยจุดที่ลำบากก่อนเหมือนภูเก็ตที่เริ่มทำเป็นที่แรกๆ”นางสาวขัตติยา กล่าว

          “กรุงไทย”ช่วยแรงงานรอบด้าน

          นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่าปัจจุบัน ธนาคาร กรุงไทยได้ช่วยเหลือแรงงาน และมีส่วนร่วมในการเป็นกลไกในการรักษาการจ้างงานตามบทบาทของธนาคารอยู่แล้ว โดยเฉพาะที่ผ่านมา ธนาคารได้รับแรงงานบ้างส่วนที่เป็นนิสิต จบใหม่ เพื่อเข้ามาทำด้านนวัตกรรม

          ขณะเดียวกันธนาคารก็ยังเป็นกลไกในการช่วยดูแลเศรษฐกิจและดูแลแรงงาน ตามบทบาทธนาคารอยู่แล้วผ่านการให้ สภาพคล่องบริษัทต่างๆ เพื่อให้เงินส่วนนี้ นำไปสู่การช่วยเหลือแรงงานรักษาการจ้างงานให้คงอยู่ได้ รวมถึงการพยายามช่วยบริษัทต่างๆปรับโครงสร้างหนี้ เพื่อให้บริษัทเหล่านี้ มีศักยภาพในการทำธุรกิจ และดูแรงงานในปัจจุบันต่อไปได้

          “ธนาคารก็พยายามช่วยบริษัทต่างๆ ให้สามารถอยู่รอดได้ทั้งการให้สภาพคล่อง และการฟื้นฟูธุรกิจ เพื่อให้บริษัทเหล่านี้ยังมีศักยภาพการจ้างงานได้ต่อในอนาคต เพราะธนาคารเป็นกลไกสำคัญในการดูแลธุรกิจ และเศรษฐกิจในระยะข้างหน้า”

          “ออมสิน”เร่งเพิ่มวงเงินซอฟท์โลน

          นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ขณะนี้กระทรวงการคลัง ได้รับมอบนโยบายจากนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ให้พิจารณาเพิ่มวงเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ(ซอฟท์โลน) ที่ปล่อยให้กับ ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมท่องเที่ยว เพื่อเป็น ส่วนหนึ่งในการเพิ่มสภาพคล่อง และรักษาการจ้างงานในระบบ

          ทั้งนี้ปัจจุบันคณะรัฐมนตรี(ครม.)ได้อนุมัติเพิ่มวงเงินกู้ซอฟท์โลนดังกล่าวจาก 20 ล้านบาทต่อราย เป็น 100 ล้านบาทต่อราย โดยให้ธนาคารออมสินเป็นผู้ปล่อยให้ธนาคารพาณิชย์ในอัตราดอกเบี้ย 0.01%ต่อปี และให้ธนาคารพาณิชย์นำไปปล่อยให้แก่ผู้ประกอบการ อุตสาหกรรมท่องเที่ยว ในอัตราดอกเบี้ยไม่เกิน 2% ต่อปี

          “เราได้มอบหมายให้สำนักงานเศรษฐกิจการคลังไปพิจารณาเรื่องการเพิ่มวงเงินกู้ ดังกล่าวว่า ควรจะเป็นวงเงินเท่าใดอที่จะเหมาะสม และรองรับปัญหาของผู้ประกอบการท่องเที่ยว ในขณะนี้”

          เขากล่าวว่า ที่ผ่านมา กระทรวงการคลังได้สนับสนุนมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศเพื่อเพิ่มกำลังซื้อและช่วยเหลือผู้ประกอบการท่องเที่ยวมาหลายมาตรการ ล่าสุด มาตรการเราเที่ยวด้วยกันยังอยู่ระหว่างการดำเนินมาตรการ ซึ่งขณะนี้ยังเหลือสิทธิ ที่ประชาชนจะเข้าไปใช้ได้ถึง 2 ล้านสิทธิจากที่เปิดให้ทั้งหมด 5 ล้านสิทธิ

          “ออมสิน”ชี้รายใหญ่ลังเลยื่นกู้

          ด้านนายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กล่าวว่า หลังจากที่ธนาคารเปิดวงเงินกู้ซอฟท์โลนวงเงิน 1 หมื่นล้านบาท เพื่อช่วยผู้ประกอบการท่องเที่ยว จนถึงขณะนี้ วงเงินกู้ที่ปล่อยให้ธนาคารพาณิชย์นั้นมีไม่มากนัก สาเหตุหนึ่งเข้าใจว่า ธนาคารพาณิชย์มีความกังวลเกี่ยวกับการปล่อยสินเชื่อให้ ผู้ประกอบการกลุ่มดังกล่าว เนื่องจากยังประสบ ปัญหาเกี่ยวกับจำนวนนักท่องเที่ยว ซึ่งอาจจะ กระทบต่อรายได้ ดังนั้นยอดการปล่อยและขอกู้ซอฟท์โลนยังมีจำนวนที่ไม่มากนัก

          เขากล่าวว่า การที่ครม.อนุมัติวงเงินซอฟท์โลนเพิ่มเติมจาก 20 ล้านบาทต่อราย เป็น 100 ล้านบาทต่อราย ก็เข้าใจว่ จะทำให้ธนาคารพาณิชย์สามารถปล่อยกู้ได้มากขึ้น เนื่องจากผู้ประกอบการที่จะเข้ามากู้จะเป็นรายใหญ่มากขึ้น ทำให้สามารถประเมินและวิเคราะห์สินเชื่อได้ง่ายขึ้น ทั้งนี้ครม.ได้ขยายระยะเวลาซอฟท์โลนดังกล่าวออกไปจากสิ้นปีนี้ เป็นสิ้นเดือนมิ.ย.ปีหน้า

          ทั้งนี้หากแยกตามขนาดธุรกิจที่ได้รับซอฟท์โลน พบว่าเป็นธุรกิจขนาดเล็กที่มีวงเงินสินเชื่อ 0-20 ล้านบาท ณ สิ้นปี 25862 อยู่ราว 76.2% หรือ คิดเป็น 54,710 ราย ขณะที่เป็นธุรกิจขนาดกลางที่มีวงเงินสินเชื่อที่ 20-100 ล้านบาท 17.3% หรือ12,454 ราย และเป็นธุรกิจขนาดใหญ่ ที่มีวงเงิน 100-500 ล้านบาท 6.4 % หรือ 4,626 ราย

          ล่าสุดธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)เปิดเผยความคืบหน้าโครงการสินเชื่อซอฟท์โลน ของธปท.วงเงิน 5 แสนล้านบาท  ณ  4 พ.ย. มียอดการปล่อยสินเชื่อแล้ว 120,203 ล้านบาท โดยผู้ที่ได้รับซอฟท์โลน 71,790 ราย วงเงินเฉลี่ย ในการอนุมัติอยู่ที่ 1.7 ล้านบาทต่อราย

Reference:

Click icon to remove from or add to favorite list
Click to choose and click "Compare" button