แบงก์เมินปล่อยกู้บ้านต่ำ3ล. รีเจ็กต์70%-จับลูกค้าแพง

28 Feb 2024 160 0

 

         ธนาคารเข้มปล่อยสินเชื่อบ้านสกัดหนี้เสีย ปรับแผนมุ่งจับกลุ่มลูกค้ารายได้เกิน 5 หมื่นบาท-ราคาบ้าน 3 ล้านบาทขึ้นไป สมาคมสินเชื่อบ้านชี้ แบงก์ปรับนโยบายหลังกลุ่มบ้านต่ำ 3 ล้านบาทผิดนัดชำระพุ่ง- หนี้เสียเพิ่ม “กสิกรไทย” คาดทุกธนาคารรุกกลุ่มรายได้สูงถูกผลกระทบเศรษฐกิจไม่มาก เผยเทรนด์ดอกเบี้ยขาลงเห็นแบงก์ชูโปรแกรมดอกเบี้ยลอยตัว “ซีไอเอ็มบี ไทย” เผยแบงก์เข้มปล่อยกู้ดันยอดรีเจ็กต์ขยับเพิ่ม โดยเฉพาะบ้านต่ำ 3 ล้านบาท ทะลุ 65-70% “ทีทีบี” รับคัดกรองลูกค้า-เน้นกลุ่มศักยภาพ เกาะติดพอร์ตลูกค้าใกล้ชิด ตั้งเป้าปล่อยกู้ 5.5 หมื่นล้านบาท

หนีปล่อยกู้บ้านต่ำ 3 ล้าน

         นายอลงกต บุญมาสุข เลขาธิการและประธานกรรมการบริหารสมาคมสินเชื่อ ที่อยู่อาศัยเปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ภาพรวมหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง 90-91% ของจีดีพี และทิศทางหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิด รายได้ (เอ็นพีแอล) รวมถึงสินเชื่อกล่าวถึงเป็นพิเศษ (SM : ค้างชำระ 31-90 วัน) ของสินเชื่อที่อยู่อาศัยจะทยอยปรับเพิ่มขึ้นตามข้อมูลของบริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ (เครดิตบูโร) อย่างไรก็ดี สถาบันการเงินยังคงให้ความสำคัญและปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัย เนื่องจากเป็นสินเชื่อที่มีหลักประกันความเสี่ยงจะน้อยกว่าสินเชื่อประเภทอื่น

       ดังนั้น นโยบายของสถาบันการเงินจะหันมาโฟกัสเรื่องของราคาบ้าน และรายได้ของลูกค้าที่จะสามารถควบคุมความเสี่ยงได้ จะมีการคัดกรองลูกค้ามากขึ้น เพื่อไม่ให้มีปัญหาในเรื่องของหนี้เสียและการผ่อนชำระในอนาคต โดยจะเน้นกลุ่มที่มีรายได้เกิน 5 หมื่นบาทต่อเดือน ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีรายได้เพียงพอ และกลุ่มราคาบ้าน 3 ล้านบาทขึ้นไป หลังจากกลุ่มราคาบ้านต่ำกว่า 3 ล้านบาท พบว่ามีปัญหาเรื่องของการผ่อนชำระ และเป็นกลุ่มที่หนี้เสียขยับเพิ่มขึ้น ขณะที่ ผู้ประกอบการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ (ดีเวลอปเปอร์) อาจต้องนำข้อมูลต่าง ๆ เช่น ข้อจำกัดในการปล่อยกู้สินเชื่อมาพิจารณาในการลงทุนโครงการขึ้น

อกเบี้ยกำลังสู่ขาลง

       นายอลงกตกล่าวว่า ขณะที่อัตราดอกเบี้ยสินเชื่อบ้านอาจต้องรอดูทิศทางอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (RP) ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แต่จะเห็นว่าดอกเบี้ยถึงจุดสูงสุด และกำลังสู่ขาลง ซึ่งในมุมของสถาบันการเงินในช่วงดอกเบี้ยขาลง อาจจะมีการทำแคมเปญอัตราดอกเบี้ยคงที่ (Fixed Rate) แต่ก็ขึ้นกับกลยุทธ์ของแต่ละแห่ง ส่วนในมุมของลูกค้าอาจต้องการอัตราดอกเบี้ยลอยตัว (Floating Rate) ซึ่งลูกค้าอาจต้องพิจารณารายได้ควบคู่กับผลของราคาบ้านด้วย

       ”ภาพตอนนี้บ้านราคาต่ำกว่า 3 ล้านบาท คือความเสี่ยงสูง เพราะมีเรื่องของหนี้ครัวเรือนที่สูง เจอผลกระทบจากโควิด-19 และดอกเบี้ยที่ปรับเพิ่มขึ้นในช่วงที่ผ่านมายังเป็นปัญหาอยู่ ทำให้นโยบายของแบงก์จะต้องหันไปโฟกัสบ้านเกิน 3 ล้านบาท และรายได้เกิน 5 หมื่นบาท เพราะน่าจะเป็นกลุ่มปลอดภัย แต่ก็ยังต้องสกรีน เนื่องจากบางคนอาจมีหนี้หลายก้อน เพื่อคอนโทรลหนี้เสีย”

ยอดปฏิเสธสินเชื่อบ้าน 50%

        นายชัยยศ ตันพิสุทธิ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ภาพรวมการปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัยในปีนี้ มองว่านโยบายจะมีการคัดกรองกลุ่มลูกค้ามากขึ้น โดยทุกธนาคารและธนาคารกสิกรไทยหันมาเจาะลูกค้ากลุ่มที่มีรายได้ 5 หมื่นบาท ต่อเดือนขึ้นไป และราคาบ้านเกิน 3 ล้านบาท เนื่องจากเป็นกลุ่มที่ยังสามารถเติบโต ได้ และความเสี่ยงจากการเป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ค่อนข้างน้อย

       อย่างไรก็ดี จากนโยบายคัดกรองลูกค้าเพิ่มมากขึ้น ทำให้อัตราการปฏิเสธสินเชื่อ (Reject Rate) ไม่ได้ปรับเพิ่มขึ้นมาก โดยเฉลี่ยจะอยู่ที่ 40-50% เนื่องจากก่อนจะเข้ากระบวนการพิจารณาปล่อยสินเชื่อ ธนาคารจะมีการคัดกรองลูกค้าเบื้องต้นก่อน หากลูกค้าคุณสมบัติไม่ผ่านเกณฑ์ เช่น ภาระหนี้ต่อรายได้ (DSR) ราคาบ้าน และความสามารถในการชำระหนี้ เป็นต้น

      ขณะที่อัตราดอกเบี้ยยังคงเห็นการแข่งขันในตลาด แต่ในภาวะที่อัตราดอกเบี้ยกำลังเข้าสู่ช่วงขาลง จะเห็นธนาคารออกโปรแกรมอัตราดอกเบี้ยคงที่ในช่วงปีแรก และปีที่ 2-3 จะเป็นอัตราดอกเบี้ยลอยตัว เพื่อรับดอกเบี้ยขาลง ทั้งนี้ เป้าหมายการเติบโตสินเชื่อที่อยู่อาศัยของเคแบงก์ในปี 2567 ตั้งเป้า ปล่อยสินเชื่อใหม่อยู่ที่ 6 หมื่นล้านบาท หรือเฉลี่ย 5,000 ล้านบาทต่อเดือน จากยอดสินเชื่อคงค้างอยู่ที่ราว 4 แสนล้านบาท

ทุกแบงก์มุ่งเจาะบ้านเกิน 3 ล้าน

       ”นโยบายปล่อยสินเชื่อ เชื่อว่าทุกคนจะหันมาเจาะกลุ่มบ้านเกิน 3 ล้านบาท เพราะบ้านราคาสูงมีผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจไม่มากนัก และยังมีกำลัง ขณะเดียวกัน เรามองว่าปีนี้ตัวเลขหนี้เสีย และตัวเลขสินเชื่อกล่าวถึงเป็นพิเศษ (SM) ของบ้านน่าจะทรงตัว ไม่วิ่งขึ้นมาก เพราะทุกธนาคารเร่งปรับโครงสร้างหนี้ช่วยเหลือลูกค้าตามนโยบายการปล่อยสินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม (Responsible Lending) ของ ธปท. อย่างไรก็ดี ในภาวะหนี้ครัวเรือนสูงยอมรับว่าหนี้เอ็นพีแอลปรับเพิ่มขึ้นเป็นปกติ” นายชัยยศกล่าว

สินเชื่อบ้านขยายตัว 3.6%

          นายเอกสิทธิ์ พฤฒิพลากร รักษาการผู้บริหารผลิตภัณฑ์สินเชื่อรายย่อย ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ภาพรวมการเติบโตของสินเชื่อที่อยู่อาศัยทั้งระบบในปี 2567 สำนักวิจัยฯ ประเมินอัตราการขยายตัวอยู่ที่ 3.6% โดยยอดสินเชื่อ คงค้างเพิ่มขึ้นจาก 2.68 ล้านล้านบาท เป็น 2.78 ล้านล้านบาท ซึ่งในส่วนของธนาคารตั้งเป้าเติบโตสอดคล้องกับอุตสาหกรรม โดยยังคงเน้นนโยบายอัตราดอกเบี้ยจูงใจเพื่อแข่งขันกับตลาด ทั้งนี้ ตั้งเป้าปล่อยสินเชื่อใหม่อยู่ที่ 3.5 หมื่นล้านบาท คาดว่ายอดสินเชื่อคงค้างภายในสิ้นปีอยู่ที่ 1.4 แสนล้านบาท จากปัจจุบันอยู่ที่ 1.2 แสนล้านบาท

         ทั้งนี้ ความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อ นั้น มองว่าตอนนี้หลายธนาคารกำลังรอดูสัญญาณเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 1/2567 หากตัวเลขออกมาหดตัวจะสะท้อนการเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย (Recession) เชิงเทคนิค อาจทำให้ธนาคารต้องเพิ่มความระมัดระวังและปรับเกณฑ์การอนุมัติสินเชื่อเข้มงวดขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ โดยอาจจะเห็นอัตราการปฏิเสธสินเชื่อเพิ่มขึ้น 5-10% จากปัจจุบันอยู่ในระดับเฉลี่ย 50-60% โดยเฉพาะกลุ่มราคาต่ำกว่า 3 ล้านบาท อาจเห็นยอดปฏิเสธสูงถึง 65-70% ส่วนกลุ่มราคาบ้าน 7-10 ล้านบาท จะเฉลี่ยอยู่ที่ 30-40%

ดอกเบี้ยผ่านจุดสูงสุด

       สำหรับอัตราดอกเบี้ยคาดว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) น่าจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงในช่วงไตรมาสที่ 2-3 นี้ ในส่วนของอัตราดอกเบี้ยบ้านคาดว่าจะทยอยปรับตามดอกเบี้ยนโยบาย อย่างไรก็ดี ในช่วงดอกเบี้ยขาลงจะเห็นการแข่งขันเพิ่มขึ้น โดยธนาคารจะเสนอโปรแกรมอัตราดอกเบี้ยลอยตัว (Floating Rate) เสนอลูกค้าใหม่ เนื่องจากภาวะดอกเบี้ยขาลงลูกค้าจะไม่นิยมอัตราดอกเบี้ยคงที่ (Fixed Rate) เพราะเทรนด์ดอกเบี้ยได้เลยจุดสูงสุดไปแล้ว

     ทุกธนาคารยังคงระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อ แต่คงไม่ได้เลิกปล่อยสินเชื่อ โดยกลุ่มราคาบ้านต่ำกว่า 3 ล้านบาทยังคงมีแบงก์รัฐรองรับกลุ่มนี้อยู่ ส่วนจะปรับเกณฑ์เข้มข้นหรือไม่ จะเริ่มเห็นในไตรมาสที่ 2/2567 เพราะทุกคนรอดูสัญญาณเศรษฐกิจ หากจีดีพี หดตัว ดิจิทัลวอลเลตไม่มาหรือเลื่อนไปอีก อาจทำให้ผู้เล่นต้องเพิ่มเกณฑ์หรือระวังมากขึ้น”

ทีทีบีเพิ่มความระมัดระวัง

     นายจเร เจียรธนะกานนท์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร หัวหน้าผลิตภัณฑ์ สินเชื่อรายย่อย ธนาคารทหารไทยธนชาต หรือ ทีทีบี เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ทิศทางการปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัยในปี 2567 สำหรับกลุ่มลูกค้าสินเชื่อรายใหม่ ธนาคารได้เพิ่มความระมัดระวังในการพิจารณาสินเชื่อและคัดกรองคุณภาพมากขึ้น เช่น กลุ่มลูกค้าที่ซื้อบ้านราคาตั้งแต่ 3 ล้านบาทขึ้นไป รวมถึงกลุ่มที่ต้องการรีไฟแนนซ์สินเชื่อบ้าน เพื่อช่วยลดภาระดอกเบี้ย และมีประวัติการผ่อนชำระที่ดี เป็นต้น ทั้งนี้ เพื่อให้แน่ใจว่าลูกค้ามีศักยภาพการผ่อนชำระไหว ไม่เกินกำลังความสามารถ ซึ่งเป็นหนึ่งในหลักเกณฑ์สำคัญของการพิจารณาสินเชื่ออย่างมีความรับผิดชอบ (Responsible Lending) โดยปีนี้ธนาคารตั้งเป้าปล่อยสินเชื่อราว 5.5 หมื่นล้านบาท

    “ปกติธนาคารจะติดตามดูแลคุณภาพพอร์ตสินเชื่อบ้านอย่างใกล้ชิด และหากลูกค้าเริ่มมีปัญหาจะเสนอความช่วยเหลือได้ทันเวลา ซึ่งปัจจุบันธนาคารมีบริการรวบ หนี้เป็นก้อนเดียวกับทีทีบี ถือเป็นโซลูชั่นสำคัญ เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาให้ลูกค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ ก่อนจะผิดนัดชำระและเป็นหนี้เสียในภายหลัง”

 

Reference:

Click icon to remove from or add to favorite list
Click to choose and click "Compare" button