แบงก์รัฐ เร่งปรับหนี้ สกัด เอ็นพีแอล ลาม

08 Sep 2020 709 0

          ”แบงก์รัฐ” เดินหน้า ปรับโครงสร้างหนี้ก่อนสิ้นสุดมาตรการ พักชำระหนี้ช่วงปลายปีนี้ หวั่นหนี้เสีย ท่วมพอร์ต ธ.ก.ส.ทยอยปรับแล้ว 1 แสนล้าน “ออมสิน”ลุยปรับช่วงไตรมาส 4 “เอสเอ็มอี แบงก์”คาดลูกหนี้ 30% ส่อจ่ายหนี้ไม่ได้ ตามปกติ ขณะ ธอส.ไร้กังวลหนี้เสียพุ่ง ประเมินล็อตแรกแสนล้านบาทสิ้น ส.ค.นี้

          นายอภิรมย์ สุขประเสริฐ ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) กล่าวว่า ช่วงที่ธนาคารพักชำระหนี้ ให้แก่ลูกหนี้สินเชื่อ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรรายย่อยและเอสเอ็มอีนั้น ธนาคารได้เริ่มดำเนินโครงการปรับโครงสร้างหนี้ก่อนกำหนดให้แก่ลูกหนี้กลุ่มดังกล่าวไปด้วย เพื่อป้องกันปัญหาการเป็นหนี้เสียภายหลังจากสิ้นสุดโครงการพักชำระหนี้

          ปัจจุบันลูกหนี้ที่เข้าสู่โครงการ พักชำระหนี้นั้น มีอยู่เกือบ 100% ของ ลูกค้าสินเชื่อทั้งหมด หรือ ประมาณ 3.28 ล้านราย คิดเป็นมูลหนี้ประมาณ 9.2 แสนล้านบาท ในจำนวนนี้ธนาคารได้ทยอยดำเนินการ ปรับโครงสร้างหนี้แล้ว 1 แสนล้านบาท สำหรับระยะเวลาสิ้นสุดการพักชำระหนี้รอบสุดท้ายนั้น คือ ต้นปี 2565

          “ช่วงที่ผ่านมา ธ.ก.ส.ในพื้นที่ จะทยอยคุยกับลูกค้า เพื่อดูสุขภาพการเงินของลูกค้า หากรายใดยังไม่ดี เราก็จะทำการ ปรับโครงสร้างหนี้ให้ ดังนั้น เมื่อสิ้นสุดโครงการพักชำระหนี้แล้ว ระดับหนี้เสีย เราจะไม่เพิ่มมากนัก”

          ทั้งนี้ ในจำนวนลูกหนี้ที่เข้าโครงการ พักชำระหนี้นั้น เป็นเอสเอ็มอีเกษตรประมาณ 2.6 แสนราย คิดเป็นมูลหนี้ 8.1 หมื่นล้านบาท ในส่วนนี้จะสิ้นสุดระยะเวลาการพักชำระหนี้ประมาณ ก.ย.นี้ แต่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ให้ผ่อนปรนขยายระยะเวลาไปจนถึงสิ้นเดือน ธ.ค.นี้

          ปัจจุบัน ระดับหนี้เสียของธนาคารอยู่ที่ 4.03% ของสินเชื่อคงค้าง 1.5 ล้านล้านบาท ลดลงจากต้นปีบัญชีเมื่อสิ้นเดือน มี.ค.2563 ซึ่งอยู่ที่ 4.3% ส่วนหนึ่งเป็นเพราะโครงการพักชำระหนี้และแม้ลูกค้าส่วนใหญ่จะเข้าสู่ โครงการพักหนี้ แต่มีลูกค้าส่วนหนึ่งที่ยังชำระหนี้ได้ตามปกติ โดยนับตั้งแต่ต้นปีบัญชี มียอดชำระหนี้เงินต้น 4 หมื่นล้านบาท แต่ต่ำกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน 30%

          สำหรับการปล่อยสินเชื่อของธนาคารนั้น ในปีบัญชี 2563 นี้ ธนาคารปรับเป้าหมายลดลงจาก 6 แสนล้านบาท เหลือ 3.7 แสนล้านบาท เพราะโควิด-19 แต่ธนาคารปล่อยสินเชื่อแล้ว 1.7 แสน ล้านบาท เชื่อว่าทั้งปีจะเป็นไปตามเป้า

          ออมสินเริ่มปรับหนี้ไตรมาส 4 ปีนี้

          นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กล่าวว่า ช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ ธนาคารมีแผนจะเข้าไปปรับโครงสร้างหนี้ให้แก่ลูกค้า หลังจากที่ ได้ประกาศขยายระยะเวลาพักชำระหนี้ แก่ลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ แพร่ระบาดไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) จากสิ้นเดือน ก.ย.นี้ เป็นสิ้นเดือน ธ.ค.นี้ ทั้งนี้ เพื่อไม่ให้ลูกหนี้กลายเป็นหนี้เสียหลังหมดระยะเวลาพักชำระหนี้

          “เรากำลังเตรียมแผนปรับโครงสร้างหนี้ให้แก่ลูกหนี้ที่พักชำระหนี้ เพราะประเมินว่า ลูกหนี้บางส่วนอาจยังได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์โควิด-19 ซึ่งอาจจะกลายเป็นหนี้เสียตั้งแต่ ต้นปีหน้า ดังนั้น ช่วงไตรมาส 4 เราจะเรียกลูกค้าเข้ามาปรับโครงสร้างหนี้”

          ทั้งนี้ ลูกหนี้ที่เข้าสู่กระบวนการพักชำระหนี้นั้น ถือเป็นกลุ่มเสี่ยงหรือกลุ่มเปราะบาง คิดเป็น 95%ของลูกค้ารายย่อยกว่า 3 ล้านราย คิดเป็นมูลหนี้รวม 1.2 ล้านล้านบาท

          เขากล่าวว่า ตั้งแต่สัปดาห์หน้าเป็นต้นไป ธนาคารจะเปิดให้ลูกหนี้ ดังกล่าวได้แจ้งความประสงค์ว่า จะเข้าสู่ กระบวนการพักชำระหนี้ หรือไม่ โดยจะมีโปรแกรมให้เลือกหลากหลาย เช่น พักเฉพาะเงินต้น จ่ายเฉพาะดอกเบี้ย

          สำหรับสถานการณ์หนี้เสียนั้นยังอยู่ ในลักษณะทรงตัวอยู่ที่ 3% นับจาก ต้นปี เนื่องจากอยู่ช่วงพักชำระหนี้

          ธอส.ไม่หวั่นหนี้เสียพุ่ง

          นายฉัตรชัย ศิริไล กรรมการ ผู้จัดการธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) กล่าวว่า ธอส.ไม่ห่วงต่อสถานการณ์หนี้เสียที่จะเกิดขึ้นหลังสิ้นสุดโครงการพักชำระหนี้ให้แก่ลูกค้า ซึ่งจะสิ้นสุดมาตรการสุดท้ายในเดือน ม.ค.2564 เนื่องจากลูกค้าสินเชื่อบ้านของธนาคารนั้น เป็นรายย่อยชำระต่อเดือนไม่สูงต่างจากสินเชื่อเพื่อการพาณิชย์รวมทั้ง ที่ผ่านมาธนาคารได้พักชำระหนี้และลดอัตราดอกเบี้ยให้

          ขณะเดียวกันสินเชื่อบ้านก็เป็นสินเชื่ออันดับแรกที่ลูกค้าต้องรักษาไว้ เมื่อสิ้นสุดโครงการลูกค้าจะชำระหนี้ได้ปกติยกเว้นลูกค้าจะถูกเลิกจ้าง

          นอกจากนี้ เรายังไม่สามารถประเมินได้ว่า ระดับหนี้เสียของธนาคารจะเป็น อย่างไร เนื่องจากยังอยู่ในช่วงของมาตรการ พักชำระหนี้ ทั้งนี้ มาตรการช่วยเหลือ ลูกค้าผ่านการพักชำระหนี้และลดดอกเบี้ย จำนวนหลายมาตรการนั้นมาตรการแรก จะสิ้นสุดสิ้นเดือน ส.ค.นี้ ซึ่งจะมีมูลหนี้ 1 แสนล้านจาก 4.1 แสนล้านบาท ที่ต้องออกจากมาตรการ ดังนั้น ในเดือนถัดไปที่เป็นรอบการชำระหนี้ เราจึง จะพอประเมินสถานการณ์หนี้เสียได้

          “เราจะมีเวลา 60 วันหลังสิ้นสุด การพักชำระหนี้ เพื่อติดต่อลูกค้า ถ้าไม่สามารถกลับมาชำระหนี้ได้ จะทำการปรับโครงสร้างหนี้ให้”

          ทั้งนี้ หลังจากสิ้นสุดมาตรการแรกในสิ้นเดือนส.ค.นี้แล้ว มาตรการที่ถัดไป จะสิ้นสุดในเดือนต.ค.นี้ ซึ่งจะมีลูกค้าในกลุ่มนี้ประมาณ 1.7 แสนล้านบาท หรือเกือบ 40%จากนั้น มาตรการทั้งหมดจะสิ้นสุดในสิ้นเดือนม.ค.2564

          ธพว.คาดลูกหนี้30%ชำระไม่ปกติ

          นางสาวนารถนารี รัฐปัตย์ กรรมการ ผู้จัดการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) กล่าวว่า ธนาคารกังวลตัวเลขหนี้เสีย ที่จะเกิดขึ้นหลังการพักชำระหนี้ จึงเร่งลงไปสำรวจสถานะของลูกหนี้ทุกราย เช่น ลูกค้าที่ค้างชำระแล้ว 1-3 งวด ซึ่งขณะนี้มีการปรับโครงสร้างหนี้ให้แล้ว

          ธนาคารประเมินว่า จากจำนวนลูกค้าที่เข้าโครงการพักชำระหนี้ทั้งหมดนั้นจะมี 30% ที่อาจจะกลับมาชำระหนี้ในจำนวนเดิมไม่ได้ ในส่วนนี้ธนาคารจะเข้าไปเสนอเงื่อนไขผ่อนปรน เพื่อให้ลูกค้าเดินต่อไปได้ และให้เงินทุนบ้างบางส่วนเพื่อประกอบธุรกิจต่อไป แต่ลูกค้าต้องพยายามรักษาเครดิต ตัวเองไว้จะได้กู้เงินเพิ่มได้ในอนาคต

          สำหรับลูกค้าที่เข้าสู่โครงการ พักชำระหนี้นั้นมีจำนวน 4.3หมื่นราย คิดเป็นมูลค่ารวม 6.6 หมื่นล้านบาท ซึ่งจะสิ้นสุดในเดือน ต.ค.นั้นอย่างไรก็ตาม ในจำนวนนี้ มีลูกค้าที่หยุดการใช้สิทธิ์พักชำระหนี้จำนวนแล้ว 30% จากจำนวนลูกค้าที่เข้าโครงการ

          ส่วนหนี้เสียในปีนี้ตั้งเป้าอยู่ที่ 18-19% ต่อปีในขณะที่ปัจจุบันเอ็นพีแอล อยู่ที่ 17% ต่อปี น้อยกว่าปีที่ผ่านมา ซึ่งมีหนี้เสียอยู่ที่ 19%

Reference:

Click icon to remove from or add to favorite list
Click to choose and click "Compare" button