แบงก์ชาติบี้ปล่อยกู้ 1 แสนล้าน

02 Jun 2021 593 0

          เอสเอ็มอีรอรับซอฟต์โลนกำลังจะหมุนไป

          สมาคมธนาคารไทยการันตี 6 เดือน แบงก์ปล่อยเงินกู้ซอฟต์โลนได้ 1 แสนล้าน เร่งประคองเอสเอ็มอีสู้โควิด-19 แบ่งเค้กจัดสรรเบ็ดเสร็จ กรุงไทยรับไป 3 หมื่นล้าน ตามด้วยไทยพาณิชย์ 2 หมื่นล้าน กรุงเทพ 1.5 หมื่นล้าน และกสิกรไทย 1.5 หมื่นล้าน ด้านแบงก์ชาติเอาจริงไล่เช็กยอดสินเชื่อรายสัปดาห์

          นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคาร กรุงไทย จำกัด(มหาชน) ในฐานะประธานสมาคมธนาคารไทย เปิดเผยว่า มาตรการสินเชื่อฟื้นฟูวงเงินรวม 250,000 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยไม่เกิน 2% ต่อปี ใน 2 ปีแรก ช่วยเหลือลูกค้าเอสเอ็มอีทั้งรายเดิม และรายใหม่ ตามนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)ขณะนี้ธนาคารสมาชิกได้เร่งเข้าไปช่วยเหลือประคับประคองกิจการเอสเอ็มอี ให้มีลมหายใจต่อไป และรักษาการจ้างงานโดย ธปท.ได้มีการตรวจสอบความคืบหน้าการปล่อยสินเชื่อฟื้นฟูเป็นรายสัปดาห์ โดยมั่นใจว่าภายใน 6 เดือน ธนาคารสมาชิกจะปล่อยสินเชื่อได้ตามเป้าหมาย 100,000 ล้านบาท

          ทั้งนี้ในส่วนของธนาคารกรุงไทยได้ออกมาตรการฟื้นฟูธุรกิจ และความช่วยเหลือรวมกว่า 30,000 ล้านบาท ดังนี้ 1.มาตรการสินเชื่อฟื้นฟู สินเชื่อสำหรับผู้ประกอบการอัตราดอกเบี้ยไม่เกิน 2% ต่อปีใน 2 ปีแรก(อัตราดอกเบี้ยเฉลี่ย 5 ปี ไม่เกิน 5% ต่อปี) ผ่อนชำระสูงสุดไม่เกิน 10 ปี ได้รับยกเว้นดอกเบี้ย 6 เดือนแรก รวมทั้งได้รับการค้ำประกันสินเชื่อจากบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม(บสย.)นานสูงสุด 10 ปี เปิดกว้างให้ลูกค้าเดิมและลูกค้าใหม่ ลูกค้าเดิมที่มีวงเงินไม่เกิน 500 ล้านบาท ณ 28 กุมภาพันธ์ 2564 ขอกู้ได้ไม่เกิน 30% ของวงเงินเดิมที่มีอยู่กับธนาคารสูงสุดไม่เกิน 150 ล้านบาท

          นายชาติศิริ โสภณพนิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด(มหาชน)กล่าวว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 คงจะอยู่ต่อไปอีกพอสมควร โจทย์สำคัญคือธุรกิจต้องเตรียมสภาพคล่องให้พร้อมรองรับกับระยะเวลาที่จะยาวนานขึ้นเพื่อประคับประคองให้สามารถก้าวผ่านสถานการณ์นี้ไปให้ได้โดยเฉพาะกับธุรกิจที่ได้รับผลกระทบรุนแรง ทั้งกลุ่มค้าปลีก ท่องเที่ยว และผู้ประกอบการ ที่เป็นเอสเอ็มอีรายย่อย ธนาคารจึงตั้งเป้าปล่อยสินเชื่อตามมาตรการสินเชื่อฟื้นฟูในวงเงิน 15,000 ล้านบาท

          ธนาคารเข้าใจถึงสถานการณ์ปัญหานี้ ซึ่งได้พยายามอย่างเต็มที่ในการดูแลและทำงานร่วมกับลูกค้าอย่างใกล้ชิด เพื่อเข้าใจสถานการณ์และความต้องการของลูกค้าแต่ละราย กระทั่งสามารถสนับสนุนลูกค้าได้อย่างถูกต้องเหมาะสมทันต่อสถานการณ์

          ทั้งนี้ ธนาคารพบว่าควรแบ่งความช่วยเหลือให้สอดคล้องกับ 3 ช่วง ดังนี้ ช่วงที่ 1 ประคองธุรกิจให้ผ่านปัญหาไปให้ได้ในช่วงนี้ สภาพคล่องระยะสั้นเป็นเรื่องสำคัญมาก ธนาคารจะเน้นสนับสนุนสภาพคล่องให้เพียงพอสำหรับประคับประคองรักษากิจการให้อยู่รอดรักษาพนักงานไว้และปรับตัวเพื่อลดต้นทุนให้สอดรับกับพฤติกรรมของลูกค้าที่เปลี่ยนไปเดินทางน้อยลงออกจากบ้านน้อยลงไม่เดินทางไปในพื้นที่เสี่ยง

          ช่วงที่ 2 การฟื้นฟูธุรกิจ เมื่อธุรกิจเริ่มปรับตัวได้และเริ่มรีสตาร์ตอีกครั้งเวลานี้ธุรกิจจะต้องการเงินทุนหมุนเวียนสำหรับผลิตสินค้าหรือบริการ เนื่องจากสภาพคล่องของธุรกิจถูกใช้ไปในช่วงแรกแล้วการมีเงินทุนหมุนเวียนเข้ามาเสริมอีกก้อนหนึ่งจะช่วยให้ธุรกิจเริ่มฟื้นตัวได้อย่างแข็งแรงขึ้น และช่วงที่ 3 ระยะยาวเมื่อธุรกิจเริ่มดำเนินไปได้ระยะหนึ่งอาจต้องปรับปรุงรูปแบบธุรกิจ(Business Model)ให้สอดคล้องกับสภาพและความต้องการของตลาดที่เปลี่ยนไปในยุคใหม่หลังสถานการณ์โรคโควิด-19 โดยเฉพาะเศรษฐกิจดิจิทัลที่จะมีความสำคัญมากขึ้น ธนาคารก็พร้อมสนับสนุนปัจจัยต่างๆเช่น ข้อมูลองค์ความรู้ ประสบการณ์แนะนำธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกัน ตลอดจนเงินทุนระยะยาวเพื่อช่วยให้ลูกค้าปรับโครงสร้างธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ

          นายอาทิตย์ นันทวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และประธานกรรมการบริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด(มหาชน) กล่าวว่า การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 สร้างความบอบช้ำให้กับเศรษฐกิจอย่างที่ประเมินค่ามิได้ผู้ประกอบการทั่วประเทศได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยเฉพาะการแพร่บาดระลอกที่ 3 ที่ขยายวงกว้างอย่างรุนแรงและมีความไม่แน่นอนสูง ธนาคารจึงตั้งเป้าปล่อยสินเชื่อซอฟต์โลน์ให้กับเอสเอ็มอีทั่วประเทศจำนวน 20,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นไปตามมาตรการทางการเงินเพื่อช่วยเหลือฟื้นฟูผู้ประกอบธุรกิจ(สินเชื่อฟื้นฟู)ตามนโยบายของ ธปท.

          หลังจากที่ธนาคารได้เริ่มเปิดให้สินเชื่อซอฟต์โลนในรอบนี้นับตั้งแต่วันที่ 27 เม.ย.64 เป็นต้นมา มีผู้ประกอบการได้รับอนุมัติสินเชื่อจากธนาคารไทยพาณิชย์ไปแล้วกว่า 5,000 รายวงเงินสินเชื่อกว่า 8,000 ล้านบาท รวมถึงการให้ความช่วยเหลือผ่านโครงการพักทรัพย์พักหนี้เพื่อร่วมกันประคับประคองผู้ประกอบการเอสเอ็มอีซึ่งเป็นเครื่องยนต์สำคัญของเศรษฐกิจให้สามารถเดินหน้าต่อไปได้

          ด้านนางสาวขัตติยา อินทรวิชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหารธนาคารกสิกรไทย จำกัด(มหาชน)กล่าวว่า ธนาคารเร่งเดินหน้าช่วยเหลือลูกค้าธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติโควิด-19  ระลอก 3 ทั่วประเทศ เตรียมวงเงินสินเชื่อภายใต้มาตรการสินเชื่อฟื้นฟูเพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้ธุรกิจกว่า 15,000 ล้านบาท หวังช่วยลูกค้าธนาคารกว่า 10,000 ราย ให้มีเงินทุนหมุนเวียนเพิ่มสภาพคล่องในการบริหารจัดการและสามารถประคับประคองธุรกิจให้ดำเนินต่อไปได้จนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย.

Reference:

Click icon to remove from or add to favorite list
Click to choose and click "Compare" button