แทรมขอนแก่น ความหวังหมู่บ้านรถไฟฟ้าสายแรกของคนต่างจังหวัด
ทีมข่าวนวัตกรรมขนส่ง
ปรับแผนการก่อสร้างมาแล้วหลายครั้งกับโครงการรถไฟฟ้ารางเบา (แทรม) จ.ขอนแก่น ข่าวคราวเงียบหายไปนาน หลังเกิดสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ล่าสุดโครงการ แทรมขอนแก่นเริ่มขยับอีกครั้ง เมื่อบริษัท ขอนแก่นทราน ซิสเต็มท์ จำกัด (KKTS) วิสาหกิจภายใต้การกำกับดูแลของ 5 เทศบาลจังหวัดขอนแก่นได้ลงนามบันทึกข้อตกลง (MOA) กับกิจการร่วมค้า CKKM-CRRC CONSORTIUM มีบริษัท ช ทวี จำกัด(มหาชน) เป็นแกนนำ และบริษัท CRRC Nanjing Puzhen จำกัด จากจีนเป็นผู้ประสานงานหลักด้านการเงิน ในโครงการขอนแก่น Smart City ระยะ (เฟส) ที่ 1
พลตรีชาติชาย ประดิษฐ์พงษ์ ประธานกรรมการบริหาร KKTS ให้สัมภาษณ์ “ทีมข่าวนวัตกรรมขนส่งเดลินิวส์” ถึงทิศทาง “โครงการแทรมขอนแก่น” นับจากนี้ว่าเพื่อร่วมกันเตรียมความพร้อมในการดำเนินโครงการฯเฟสแรกสายสีแดงช่วงสำราญ-ท่าพระ ระยะทาง 26 กม. จำนวน 20 สถานี วงเงิน 2.3 หมื่นล้านบาท
การลงนามบันทึกข้อตกลงครั้งนี้มีระยะเวลา 1 ปี กิจการ ร่วมค้า CKKM-CRRC CONSORTIUM ต้องเจรจาและทำความตกลงกับสถาบันการเงินต่าง ๆ เพื่อจัดหาเงินกู้ระยะยาวให้บริษัท KKTS ใช้ดำเนินโครงการ โดยต้องทำให้สำเร็จภายใน 6 เดือน ขณะที่บริษัท KKTS และเทศบาลต้องประสานกับส่วนราชการที่เกี่ยวข้องเรื่องที่ดิน เพื่อส่งมอบพื้นที่ก่อสร้างให้ CKKMCRRC CONSOR TIUM ผู้ชนะการประมูลงานเหมาออกแบบ และก่อสร้างงานโยธา และโครงสร้าง พร้อมผลิต ติดตั้งระบบแทรม และการพัฒนาเมืองต่อไป โดยต้องส่งมอบพื้นที่ก่อสร้างให้แล้วเสร็จภายใน 1 ปี
พลตรีชาติชาย กล่าวอีกว่า ก่อนหน้านี้ได้ขอความร่วมมือจากส่วนราชการส่งมอบพื้นที่ก่อสร้างแล้ว อาทิ กรมการข้าว กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อใช้พื้นที่ศูนย์วิจัยข้าวในการก่อสร้างศูนย์ซ่อมบำรุง (Depot) รวมถึงกรมทางหลวง (ทล.) ซึ่งต้องใช้เขตทางเกาะกลางถนนตลอดสาย หลังจากนี้ต้องรายงานความคืบหน้าเรื่องที่ดินให้ผวจ.ขอนแก่นทราบด้วย จะได้ทำหนังสือถึงกระทรวงมหาดไทย ให้ช่วยประสานกระทรวงเกษตรฯ และกระทรวงคมนาคมในระดับนโยบายอีกทางหนึ่ง เพื่อให้การส่งมอบพื้นที่แล้วเสร็จทันกรอบเวลาภายใน 1 ปี
หากทั้ง 2 ฝ่ายทำสำเร็จตามบันทึกข้อตกลง คาดว่าจะลงนามในสัญญาการก่อสร้างกับกิจการร่วมค้า CKKM-CRRC CONSORTIUM ได้ในปี 65 เพื่อเริ่มโครงการต่อไป ใช้เวลาก่อสร้างประมาณ 3 ปี แล้วเสร็จประมาณปลายปี 68 และเปิดให้บริการได้ประมาณต้นปี 69 .....ประธานกรรมการบริหาร KKTS บอกถึงไทม์ไลน์การก่อสร้างครั้งใหม่ของแทรมขอนแก่น
พลตรีชาติชาย กล่าวด้วยว่า การลงนามในบันทึกข้อตกลงครั้งนี้ เป็นขั้นตอนสำคัญของการดำเนินโครงการแทรมขอนแก่น เพราะไม่ได้ใช้งบประมาณจากรัฐบาล ทาง KKTS ต้องหาเงินกู้เอง KKTS จึงกำหนดไว้ในเงื่อนไขของการประมูลตั้งแต่ก่อนการเปิดประมูลงานเหมาออกแบบ และก่อสร้างงานโยธา และโครงสร้างฯ ว่า ผู้ชนะประมูลต้องหาแหล่งเงินกู้มาให้ KKTS ด้วย แต่สาเหตุที่เพิ่งลงนามในบันทึกข้อตกลงนั้น เนื่องจากอยู่ระหว่างเจรจารายละเอียดร่างสัญญาการก่อสร้างโครงการฯ กับกิจการร่วมค้า CKKM-CRRC CONSORTIUM
สำหรับเส้นทางแทรมขอนแก่นตามผลการศึกษาฉบับใหม่ มีระยะทาง 26 กม. จากเดิม 22.8 กม. มี 20 สถานี จากเดิม 16 สถานี โดยเป็นสถานีระดับดิน 12 สถานี และเป็นสถานียกระดับ 8 สถานี มีศูนย์ Depot อยู่ภายในศูนย์วิจัยข้าว แนวเส้นทางที่เพิ่มขึ้นจะเข้า ม.ขอนแก่น 1.8 กม. และเข้าศูนย์วิจัยข้าวขอนแก่น 1.3 กม. ใช้งบประมาณรวม 22,102-23,000 ล้านบาท จากเดิมอยู่ที่ 16,865 ล้านบาท
ค่าโดยสารเบื้องต้นผลการศึกษาระบุว่าราคาเริ่มต้นสถานีแรกที่ 15 บาท ไปจนถึง 25 บาทตลอดสาย ขณะที่คาดการณ์ปริมาณผู้ใช้บริการต่อวันอยู่ที่ 60,000 เที่ยว
โครงการใช้พื้นที่ก่อสร้างบริเวณเกาะกลางทางหลวงหมายเลข 2 (ถนนมิตรภาพและไหล่ทาง) มีแนวเส้นทางเริ่มจากตำบลสำราญถึงตำบลท่าพระ อ. เมือง จ.ขอนแก่น สำหรับ 20 สถานีเบื้องต้นประกอบด้วย สถานีสำราญ, บ้านหนองกุง, บ้านโนนม่วง, โรงเรียนสาธิต, มอดินแดง, โรงเรียนตำรวจภูธรภาค 4, สามแยกประตู มข., ศูนย์อาหารและบริการ 1, สามแยกวงเวียน มข., รพ.ศรีนครินทร์, โตโยต้า, ไทยสมุทรฯ, แยกสามเหลี่ยม, แยกประตูเมือง, ขอนแก่น แกรนด์ สเตชั่น, แยกเจริญศรี, เทสโก้โลตัส, บขส.แห่งที่ 3, กุดกว้างและสถานีท่าพระ
ก่อนหน้านี้แทรมขอนแก่นเคยถูกปักธงก่อสร้างไว้ตั้งแต่ปี 62 แต่ก็เลื่อนแผนงานมาเรื่อย ๆ เนื่องจากมีปัญหาเรื่องเงินลงทุนก่อสร้าง หากภายใน 1 ปีจากนี้ แทรมขอนแก่นสามารถหาเงินกู้มาดำเนินโครงการได้สำเร็จและเคลียร์ปัญหาพื้นที่ก่อสร้างได้จบจะเป็นโครงการรถไฟฟ้าสายแรกของต่างจังหวัดที่ดำเนินการโดยท้องถิ่น
เนื่องจากส่วนที่กระทรวงคมนาคมรับผิดชอบมอบหมายการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ก่อสร้างแทรมใน 4 จังหวัด ได้แก่ ภูเก็ต เชียงใหม่ นครราชสีมา และพิษณุโลก โดยเฉพาะ “แทรมภูเก็ต” ที่ รฟม.เคยประกาศให้เป็นรถไฟฟ้าสายแรกของ รฟท.ที่จะก่อสร้างในต่างจังหวัดนั้น นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว. คมนาคม สั่งรื้อให้ปรับรูปแบบเป็นระบบรถโดยสารอัจฉริยะไร้คนขับ (Arterial Rapid Transit, Automated Rapid Transit) หรือ เออาร์ที ซึ่งมีรูปแบบเป็นรถไฟฟ้าล้อยาง ด้วยเหตุผลเพื่อประหยัดงบประมาณ การก่อสร้าง
ขณะที่โครงการ “มโนเรลหาดใหญ่” ซึ่งเคยได้รับการ กล่าวขานว่าจะเป็นรถไฟฟ้าสายแรกในต่างจังหวัดเช่นกัน เนื่องจาก เป็นโครงการรถไฟฟ้ารางเบาลำดับแรกที่สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ได้ศึกษาแล้วเสร็จ ก่อนที่ อบจ.สงขลา จะเสนอตัวขอนำโครงการไปศึกษาทบทวนต่อจนเสร็จเรียบร้อยตั้งแต่ปี 59 เพื่อดำเนินโครงการเอง แต่จนถึงขณะนี้ “โมโนเรลหาดใหญ่” ก็ยังไม่เริ่มก่อสร้าง
แทรมขอนแก่น ดูจะเป็นความหวังของหมู่บ้านมากที่สุด ที่จะแจ้งเกิดรถไฟฟ้าให้คนต่างจังหวัด
Reference: หนังสือพิมพ์เดลินิวส์