เอฟเฟกต์! ยอดปฏิเสธสินเชื่อทาวน์เฮ้าส์พุ่ง อสังหาฯเบนเข็ม ผุดบ้านหรูรับเงินสด
บุษกร ภู่แส
กรุงเทพธุรกิจ
แม้ว่าเซกเมนต์ใหญ่ของตลาดแนวราบ จะเป็นทาวน์เฮ้าส์ แต่ผลกระทบจากโควิด-19 และภาวะเศรษฐกิจที่ผ่านมา ส่งผลให้กำลังซื้อคนกลุ่มนี้ลดลง และยอดปฏิเสธสินเชื่อพุ่งสวนทางกับบ้านหรูราคา 20 ล้านบาทขึ้นไป และที่สำคัญกลุ่มหลังลูกค้าซื้อเงินสดถึง 67%
จากข้อมูลตลาดอสังหาฯของฝ่ายวิจัยและฐานข้อมูล AREA ระบุว่า ปี 2665 บ้านเดี่ยว ราคาเฉลี่ยปรับสูงขึ้นในปีที่ผ่านมา 3% บ้าน -4% ทาวน์โฮม 0% และคอนโด -34%
”แสนผิน สุขี” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ โฮม (ประเทศไทย) จำกัด มองว่า ข้อดีของการพัฒนาโครงการในตลาดบ้านเดี่ยวคือยอดปฏิเสธสินเชื่อน้อยประมาณ 20-30% และที่สำคัญคือลูกค้าซื้อเงินสดถึง 67% โดยเฉพาะ บ้านหรูราคา 20 ล้านบาทขึ้นไป ขณะที่ ทาวน์เฮ้าส์ ยอดปฏิเสธสินเชื่อประมาณ 50-60% เมื่อรวมกับการที่ยังมีสต็อกเหลือประมาณ 50-60% จากมูลค่า 3,000 ล้านบาท ส่วนที่เหลือเป็นบ้านแฝด ดังนั้นในปีนี้บริษัทจึงไม่เน้นเปิดทาวน์เฮ้าส์
”ปีนี้บ้านเดี่ยวยังไปต่อได้ บริษัทจึงเตรียมตัวเปิดโครงการบ้านทุกระดับราคา 15-150 ล้านบาท โดยเฉพาะระดับราคา 60-120 ล้านบาทใน 3 แบรนด์หลัก ได้แก่ เดอะ โรยัล เรสซิเดนซ์ ราคา 80 ล้านบาทขึ้นไป ,อัลพีน่า ราคา 40 ล้านบาทขึ้นไป และ เดอะ แกรนด์ ราคา 20 ล้านบาทขึ้นไปเน้นเจาะกลุ่มครอบครัวคนรุ่นใหม่ที่ต้องการพื้นที่ใช้สอยที่ตอบโจทย์ความต้องการของตนเอง และสามารถปรับเปลี่ยนพื้นที่ได้ตามไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิต”
แสนผินระบุว่า แม้ว่าหลายค่ายอสังหาฯ จะโดดลงมาพัฒนาโครงการบ้านราคาแพง แต่ไม่ใช่เรื่องง่าย ไม่ว่าทีมออกแบบ ต้องอาศัย ความชำนาญ ประสบการณ์ ทีมงานที่มีคุณภาพ เพราะการพัฒนาโครงการบ้านเดี่ยว ต้องอาศัยทีมงานไม่สามารถเอ้าท์ซอร์สได้เหมือนกับการพัฒนาโครงการคอนโดมิเนียม การพัฒนาโครงการบ้านเดี่ยวมีทีมงานที่เข้าใจความต้องการลูกค้า ฟังก์ชันต้องเป็นอย่างไร ซึ่งสิ่งเหล่านี้ต้องอาศัยประสบการณ์
สอดคล้องกับ ”วัชริน กสิณฤกษ์” กรรมการผู้จัดการสายงานปฏิบัติการ โครงการบ้านจัดสรร บริษัท แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) วิเคราะห์ว่า บ้านหรูในปีนี้และปีที่ผ่านมาทั้งแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ และคู่แข่งยังขายได้ แต่เซกเมนต์ที่ลดลงคือ “ทาวน์เฮ้าส์” เพราะเป็นตลาดที่มีความอ่อนไหวง่าย (Sensitive) จากต้นทุนสินค้า และอัตราดอกเบี้ย
ขณะที่ ตลาดบ้านหรูยังไปได้จากความต้องการของผู้ซื้อที่มีกำลังซื้อและต้องการอยู่อาศัยจริง ทำให้ผู้ประกอบการอสังหาฯ หันมาทำตลาดบ้านเดี่ยวเพิ่มขึ้น ซึ่งการเปิดตัวโครงการบ้านเดี่ยวที่ผ่านมามักจะอิงไปทางตะวันออกโซนบางนา กรุงเทพกรีฑา ทำให้มีซัพพลาย่ค่อนข้างมาก การแข่งขันสูง ดังนั้น แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ จึงพยายามกระจายพื้นที่ให้ครอบคลุม ทำให้การบริหารโครงการแต่ละโซนไม่เท่ากัน
”จริงๆ แล้วมีดีมานด์ทุกที่ทุกทำเล ขึ้นอยู่ว่าเราเลือกเซ็กเมนต์ เลือกทำเลที่ทำเซกเมนต์ตอบโจทย์ลูกค้า ผู้บริโภคในทำเล นั้นๆ ได้มากน้อยขนาดไหน หลักที่ต้องมี ก็คือซัพพลายกับดีมานด์ ถึงจะไปต่อได้ แต่ต้องยอมรับคนเปลี่ยนจากซื้อคอนโดมาซื้อแนวราบ โดยเฉพาะบ้านเดี่ยวเยอะขึ้น ส่วนปีนี้จะลดจำนวนโครงการทาวน์เฮาส์เหลือ 1-2 โครงการ จากเดิมเปิดปีละ 3-4 โครงการ”
ขณะที่ ”อุเทน โลหชิตพิทักษ์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พฤกษา โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) มองว่า ภาพรวมตลาดอสังหาฯ ปีนี้ ตลาดแนวราบยังคงโดดเด่น โดยเฉพาะบ้านเดี่ยวไฮเอนด์ ซึ่งบริษัทอยู่ระหว่างการวางแผนเปิดตัวโครงการใหม่ภายใต้แบรนด์เดอะปาล์มระดับราคา 20-40 ล้านบาทที่จะเปิดโครงการในปีนี้ จะมีสัดส่วนมากกว่าเซกเมนต์อื่น ส่วนโครงการทาวน์เฮาส์ยังคงมีสินค้าพร้อมขายอยู่
ทั้งนี้เนื่องจากโครงการที่สร้างขายหมดแล้วจึงต้องพัฒนาโครงการใหม่เข้าไปเพิ่มเติม เพื่อรองรับการขยายตัวของตลาดบ้านเดี่ยว ตามไลฟ์สไตล์ผู้คนที่เปลี่ยนไปหลังโควิดผู้คนมองหาที่อยู่อาศัยที่มีพื้นที่มากขึ้น และไม่จำเป็นต้องอยู่ในอาศัยในเมือง เพื่อใกล้ที่ทำงานอีกต่อไป แต่สามารถมองหาที่อยู่อาศัยใกล้เมืองแทนโดยต้องการบ้านขนาดใหญ่สำหรับครอบครัวขยาย เพราะต้องการพื้นที่ใช้สอยภายในบ้าน มากขึ้นเพื่อการทำงานและเพื่อใช้ชีวิตตามไลฟ์สไตล์ของสมาชิกในครอบครัวซึ่ง แตกต่างกันไป
“90% ของโครงการใหม่จะอยู่ในกรุงเทพฯ-ปริมณฑล มากกว่าต่างจังหวัด เนื่องจากมองเห็นดีมานด์และศักยภาพของตลาดมากกว่าจังหวัด คงต้องรอจังหวะเวลาที่เหมาะสม คาดว่าปีนี้ตลาดอสังหาฯจะค่อยๆฟื้นตัว”
Reference: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ