เศรษฐีช้อปบ้านถูกดันสินเชื่อโต2.5ล้านล.

18 Aug 2021 304 0

          ราคาบ้านปีหน้าลงอีก

          ธปท. ชี้สินเชื่อรายย่อยกู้ซื้ออสังหาฯ ครึ่งปีแรกพุ่ง 2.57 ล้านล้านบาท โตสวนโควิดทุบเศรษฐกิจชะลอตัว วงการเผยตลาดบ้านคอนโดฯซบเซา ดีเวลอปเปอร์ เทกระจาด ดั๊มพ์ราคา แจก-แถม ดูดนักลงทุน-เศรษฐีเงินเย็นช้อป เก็บทำกำไรระยะยาว ขณะการขอสินเชื่อพัฒนาโรงงาน-ห้างแผ่ว

          สถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่รุนแรง ส่งผลต่อเศรษฐกิจไทยถดถอย สะท้อนจากหลายกิจการขาดสภาพคล่องต้องปิดกิจการลง สวนทางสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ กลับเติบโต สวนทางวิกฤติ เนื่องจากเป็นโอกาสทองเศรษฐีเงินเย็น นักลงทุนไล่ช้อปสินค้าถูก ท่ามกลางการสงครามการแข่งขันระบายสต็อกลดแลกแจกแถม บ้านและคอนโดมิเนียมของดีเวลอปเปอร์

          สินเชื่อบ้านทิ้งห่างโรงงาน

          ”ฐานเศรษฐกิจ” ตรวจสอบ ตัวเลขยอดคงค้างสินเชื่อที่อยู่อาศัย จากสถิติของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ระบุว่า ไตรมาสแรกปี 2564 มียอดยื่นกู้สินเชื่อที่อยู่อาศัยกับสถาบันการเงิน 2,536,611 ล้านบาท ไตรมาส 2 ขยับเป็น 2,575,667 ล้านบาท แยกเป็นบ้านแนวราบ ไตรมาสแรก 1,658,662 ล้านบาท ไตรมาสสอง 1,691,786 ล้านบาท ขณะคอนโดมิเนียม ไตรมาสแรก วงเงิน 601,460ล้านบาท ไตรมาสสอง 607,445 ล้านบาท เมื่อเทียบธุรกิจศูนย์การค้า ไตรมาสแรกเพียง 106,000 ล้านบาท ไตรมาสสอง 108,000 ล้านบาท โรงงาน/นิคมอุตสาหกรรมกว่า 20,000 ล้านบาท ทั้งสองไตรมาส

          ทั้งนี้ คาดว่าครึ่งปีหลังของปีนี้ สินเชื่อรายย่อยที่อยู่อาศัย น่าจะมีตัวเลขขอสินเชื่อที่เพิ่มขึ้น สะท้อนว่าที่อยู่อาศัย ยังมีความต้องการของผู้บริโภค และเป็นโอกาสทองของเศรษฐีเงินเย็น ซื้อของถูก ได้อัตราดอกเบี้ยต่ำในช่วงวิกฤติโควิด เพราะการลงทุนในอสังหาฯ จะสร้างผลตอบแทนที่สูงมีความเสี่ยงน้อยกว่าการลงทุนประเภทอื่น

          ปี 64-65 ปีทองช้อปของถูก

          นายโสภณ พรโชคชัย ประธานศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บริษัทเอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์สจำกัด ( AREA ) เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า สถานการณ์โควิดยังไม่วิกฤติเท่าต้มยำกุ้งปี 2540 เนื่องจากสถาบันการเงินยังมีความระมัดระวังปล่อยสินเชื่อ และจังหวะนี้ พบว่า สินเชื่ออสังหาฯยังเติบโตเนื่องจากกลุ่มมีเงินให้ความสนใจซื้อของถูก ขณะเดียวกัน ที่ต้องการซื้อ พร้อมโอนกรรมสิทธิ์ได้เลย จะมีต่างชาติที่ ติดต่อขอข้อมูลมายังบริษัท ได้แก่ ญี่ปุ่น จีน สิงคโปร์ ออสเตรเลีย เป็นต้น โดยราคาที่สนใจ ยังคงเป็นคอนโดมิเนียมระดับราคา 5 ล้านบาทขึ้นไป

          ขณะคนไทย ให้ความสนใจที่ ราคาไม่เกิน 4 ล้านบาท ทั้งอยู่อาศัยเองและซื้อเพื่อลงทุน นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มขายฝาก ที่กลุ่มคนรวยของไทยจะรับซื้อ ในราคาถูกหากครบ 1 ปีไม่มาไถ่ถอนเท่ากับ ถูกยึดไปโดยปริยายรวมทั้งการช้อนซื้อทรัพย์ในราคาถูกหลายช่องทาง เช่น โรงแรมบนเกาะภูเก็ต และคาดการณ์ว่าปีหน้าราคาอสังหาฯน่าจะถูกกว่าปีนี้ เนื่องจากธปท.ประเมินว่าเศรษฐกิจจะซบเซาไปอีก 3 ปี ข้างหน้า สถาบันการเงินต้องระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อ

          อัดแคมเปญเดือด

          จากการสำรวจ โครงการคอนโดมิเนียมหลายทำเล จัดโปรโมชั่นลด-แลก-แจก-แถม และมี นักลงทุนกระเป๋าหนักให้ความสนใจ ซื้อเพื่อลงทุนทำให้ช่วยให้ปิดการขายได้ในเวลาอันรวดเร็ว อย่าง บริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) จัดแคมเปญทุกโครงการคอนโดมิเนียมแนวรถไฟฟ้า “อนันดา เบรกกิ้งนิวส์ ทุบราคาห้องบิ๊กไซส์” เช่น โครงการไอโมบิรางน้ำราคาเดิมไม่ต่ำกว่า 5 ล้านบาทเหลือเพียง 3.99 ล้านบาทแถมฟรีเฟอร์นิเจอร์ กู้ได้เกิน 100% (กู้เกินสูงสุด 500,000บาท) ส่วนในเมืองขนาดใหญ่ โครงการแอซตัส สีลม ทำเลศูนย์กลางธุรกิจ ขนาด 32 ตารางเมตรราคา 9.9 ล้านบาทเหลือเพียง 7.99 ล้านบาท ขนาด 71.66 ตารางเมตร ขาย 19 ล้านบาท เหลือเพียง 14.9 ล้านบาท เป็นต้น เพียงจอง 5 หมื่นบาท และ 1 แสนบาท ตามลำดับ

          นอกจากนี้มีค่ายออริจิ้น ออกแคมเปญเล่นใหญ่ผ่อนให้ 36 เดือน ดอกเบี้ยเงินฝากต่ำสุดเป็นประวัติการ ลากกระเป๋าเข้าอยู่ได้ทันที ใน 11 โครงการ เขตกทม.แนวรถไฟฟ้า และในจังหวัดเขตพัฒนาเศรษฐกิจภาคตะวันออกหรือ อีอีซี

          ขณะเดียวกัน ค่ายใหญ่ แสนสิริได้ ส่งแคมเปญ “จ่ายน้อยได้เยอะ” จองแล้วจบทบเงินคืนสูงสุด 2 ล้าน กับ 11 คอนโดฯพร้อมอยู่เมื่อช่วงเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ช่วยให้ปิดการขายในเวลาอันรวดเร็ว ส่วนค่ายพฤกษา ออกแคมเปญมีรายได้ 20,000 บาทต่อเดือน สามารถซื้อบ้านได้ เรียกเสียฮือฮาอย่างมาก

          บ้านไม่เกิน 3 ล้านขายดี

          นายปิยะ ประยงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.พฤกษา เรียลเอสเตท ระบุว่า มีนักลงทุน เศรษฐีเงินเย็น นำเงินที่เก็บไว้ในธนาคารออกซื้อคอนโดมิเนียม ที่มีการปรับลดราคาตามแนวเส้นทางรถไฟฟ้า และทำเลสถานศึกษา เพื่อปล่อยเช่าระยะยาว เพราะดีกว่าไม่มีความเคลื่อนไหวของดอกเบี้ยแบงก์ ขณะการปล่อยเช่า เป็นการลงทุนที่มีผลตอบแทนที่ดี 6-7%

          ส่วนโครงการแนวราบ กลุ่มราคา 1.5 -3 ล้านบาท ทำเลชานเมือง เป็นกลุ่มที่ขับเคลื่อนตลาดในยุคโควิดภาพรวมการโอนกรรมสิทธิ์ 5 เดือนแรกของตลาดที่อยู่อาศัย มีมูลค่ารวมอยู่ที่ 151,367 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า โดยเฉพาะในกลุ่มโปรดักต์บ้านเดี่ยวโตขึ้น 25% สอดคล้องกับผลดำเนินงานของบริษัท ซึ่งมียอดโอนกรรมสิทธิ์ ทำรายได้รวมครึ่งปีแรก 13,222 ล้านบาท โดยมาจากการเพิ่มขึ้นของบ้านเดี่ยว 21% และทาวน์เฮ้าส์ 19.9% ส่วนคอนโดฯ ยังอยู่ในทิศทางหดตัว ลดลง 35.6%

          รีไฟแนนซ์ดันยอดโต

          นายวิชัย วิรัตกพันธ์ รักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (REIC) มองว่าข้อมูลสินเชื่อที่อยู่อาศัยรายย่อยทั่วประเทศจากกรมที่ดิน มีนัยน่าสนใจ พบแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น โดยเฉพาะช่วงไตรมาสสองที่ผ่านมา โตขึ้น 9.7% อยู่ที่ 155,573 ล้านบาท สูงกว่าไตรมาสแรกแต่ยังต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 5 ปี (157,052 ล้านบาท) คาดส่วนหนึ่งโตมาจากสินเชื่อ กลุ่มรีไฟแนนซ์ของลูกค้า ที่ทำเรื่องเปลี่ยนย้ายธนาคาร เพื่อต้องการอานิสงส์จากดอกเบี้ยที่ถูกกว่า จากข้อมูลพบมีสัดส่วน การไถ่ถอน และจดจำนองใหม่ในวันเดียวกันมากถึง 15% ของภาพรวมสินเชื่อที่เกิดขึ้นทั้งหมด

Reference:

Click icon to remove from or add to favorite list
Click to choose and click "Compare" button