เศรษฐกิจไทยฟื้น นักลงทุนหวนอสังหาฯ
ดันเบอร์ต้น ที่อยู่,วัสดุก่อสร้าง โกยกำไรงาม!
”ธุรกิจอสังหาฯล็อตแรก เผยผลงานงวด 9 เดือน เติบโตโดดเด่น ตามการฟื้นตัวเศรษฐกิจ พบ บมจ.ศุภาลัย - เอพ ทำนิวไฮ รายได้ - ผลกำไร ขึ้นเบอร์ 1 ขณะเฟรเซอร์สฯ ปิดงบปี กำไรฟื้นเกิน 2 พันล. แรงกระเพื่อม กลุ่มวัสดุก่อสร้างได้อานิสงส์ ทั้งรัฐและเอกชน ด้านคอนโดฯยอดขายโตแรง หลังนักลงทุนแห่ซื้อ รับ มูลค่าโตตามเงินเฟ้อ”
ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์มีมูลค่าตลาดคิดเป็นสัดส่วน 4.8% ของ GDP ประเทศ ย้อนไป ปี 2564 หดตัวลงมาก 8% เมื่อเทียบกับ ปี 2562 ก่อนแพร่ระบาดของ COVID-19
อย่างไรก็ดี อสังหาฯเป็นธุรกิจที่มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อน เนื่องจากกระตุ้นให้มีเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบจำนวนมาก เกิดการจ้างงานและสร้างรายได้ ทั้งยังเชื่อมโยงกับภาคธุรกิจอื่น เช่น ก่อสร้าง แรงงาน วัสดุก่อสร้าง เครื่องใช้ไฟฟ้า เฟอร์นิเจอร์/การตกแต่ง และสถาบันการเงิน ขณะเดียวกัน ทิศทางเศรษฐกิจ ก็มีผลในแง่กำลังซื้อ และการฟื้นตัวของตลาดเช่นกัน
โดยตั้งแต่ต้นปี 2565 มาตรการของภาครัฐ เช่น การผ่อนปรน ใช้ มาตรการ LTV (อัตราส่วนสินเชื่อต่อมูลค่าหลักประกัน) ชั่วคราว และสถาบันการเงิน สนับสนุนการตัดสินใจซื้อของลูกค้า ประกอบกับการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจทั้งใน กทม. และภูมิภาค ที่ดีขึ้นตามลำดับนั้น ทำให้ตลาดอสังหาฯ ฟื้นตัวขึ้นมาอย่างน่าสนใจ สะท้อนผลประกอบการในธุรกิจ ทั้งกลุ่มโครงการบ้าน - คอนโดมิเนียม - อสังหาฯเชิงพาณิชยกรรม และ วัสดุก่อสร้าง ได้อานิสงส์ สร้างผลงานโดดเด่นในหลายๆ แง่
ศุภาลัยกำไรพีค - AP รายได้
โดยเฉพาะในกลุ่มผู้พัฒนาบ้านจัดสรร ครอบคลุมหลายพื้นที่ เป็นหลัก และมีพอร์ตโครงการคอนโดฯ ก่อสร้างแล้วเสร็จในมือ เพื่อโอนกรรมสิทธิ์ หลายโครงการ อย่าง บริษัท ศุภาลัย จำกัด (มหาชน) พบ มีผลประกอบการดีเยี่ยม รั้งเบอร์ 1 ในตาราง แง่ผลกำไรสุทธิ ในงวด 9 เดือนที่ผ่านมา (ม.ค.-ก.ย.) โดยสามารถกวาดรายได้รวมสูงถึง 11,362 ล้านบาท สูงสุดเป็นประวัติการณ์ เพิ่มขึ้น 51% จากการโอนฯโครงการ ทั้งใน กทม. และต่างจังหวัด ด้านกำไรสุทธิ 6,002 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 43% เรียกว่ามากที่สุด ของธุรกิจอสังหาฯ ณ เวลานี้ ขณะยอดขายรวม ทะลุ 2.5 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 41%
ด้าน บมจ.เอพี ทุบสถิติอีกครั้ง ผ่านการทำรายได้ นิวไฮ 37,560 ล้านบาท กำไรสุทธิ 4,720 ล้านบาท ส่วนยอดขาย สิ้น ต.ค. อยู่ที่ 45,410 ล้านบาท มาจากการเปิดโครงการที่มากที่สุดในอุตสาหกรรม ตีตลาดทุกเซกเม้นต์ โดยเฉพาะโครงการจัดสรรแนวราบ บ้านเดี่ยว และทาวน์โฮมโฉมใหม่ ที่มีดีมานด์สูง รวมไปถึงการทยอยโอนฯในกลุ่มคอนโดฯ
นายวิทการ จันทวิมล รองกรรมการผู้อำนวยการ สายงานกลยุทธ์องค์กรและการสร้างสรรค์เอพี กล่าวว่า ทั้งบ้านเดี่ยว และทาวน์โฮมยังคงเป็นซูเปอร์สตาร์ของปี คีย์ไดรฟ์สร้างรายได้ให้กับบริษัทฯ ควบคู่กับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และดีมานด์คอนโดฯ ทำให้ผลงานบริษัทเติบโตโดดเด่น
”บริษัทสร้างผลงานยอดขายที่แข็งแกร่ง เป็น New Record สูงสุดที่เคยทำได้ ซึ่งสะท้อนจากดีมานด์ตลาดที่อยู่อาศัย ที่ยังคงเป็นที่ต้องการ มีการฟื้นคืนกลับของลูกค้าอย่างเห็นได้ชัด”
หนุน Noble-ASW ยอดขายดี
ขณะการฟื้นตัวของตลาดคอนโดฯ ผ่านการกลับมาให้ความสนใจโปรดักส์ใหม่ๆ และโครงการแนวรถไฟฟ้าทั้งในกลุ่มหรู และชานเมือง ทำให้ผู้เล่นเบอร์ต้น ที่มีส่วนแบ่งตลาดราว 50% ของ คอนโดฯ กทม. อย่าง บมจ.โนเบิล ก็สามารถทำยอดขายได้ดี แม้กำลังซื้อต่างชาติหลักอย่างชาวจีน จะยังไม่กลับเข้ามา แต่พลิกไปทำการตลาด กระจายไปตลาดฮ่องกง ใต้หวัน สิงคโปร์ และเมียนมา ทดแทน โดยยอดขาย ณ สิ้น ต.ค. เติบโตทะยานแตะระดับ 14,796 ล้านบาท
ทั้งนี้ นายธงชัย บุศราพันธ์ รองประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารร่วม บริษัทระบุว่ายอดขายดังกล่าวเป็นยอดขายที่เติบโตก้าวกระโดด หรือ โตเกือบ 2 เท่าตัวจากปีก่อน หลังทุกโครงการเปิดตัวใหม่ได้รับการตอบรับที่ดี ยอดขายเฉลี่ย 60%-70% ต่อโครงการ ตามตลาดโดยรวมที่ฟื้นตัวดีขึ้น ส่งผลดีต่อ Sentiment ของผู้บริโภคภายในประเทศ ทั้งลูกค้าในกลุ่มที่เป็นซื้อเพื่ออยู่อาศัยจริง และลูกค้าที่ซื้อเพื่อลงทุน
”ช่วงที่มีความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยน การลงทุนกลุ่มอสังหาฯ ถือเป็นทางออกที่ดี ซึ่งหากเงินเฟ้อสูง ปรับราคาค่าเช่าขึ้นตามได้ ขณะเดียวกันราคาต้นทุนวัสดุก่อสร้างก็ปรับตัวขึ้นตลอด ทำให้บริษัทมียอดขาย มาจากลูกค้าในกลุ่มนักลงทุนต่อเนื่อง”
เช่นเดียวกับ บมจ. แอสเซทไวส์ เผย ว่า ปี 2565 จะเป็นปีที่สร้างยอดขายได้สูงสุด ซึ่งปัจจุบันทำได้ทะลุเป้าหมายที่ 10,000 ล้านบาท เป็นที่เรียบร้อยแล้ว และมีรายได้ มีรายได้รวมกว่า 3,935 ล้านบาท กำไรสุทธิที่ 689 ล้านบาท ซึ่งเป็นผลมาจากสถานการณ์ธุรกิจอสังหาฯ ที่ฟื้นตัวดีขึ้นต่อเนื่อง
พลิกกำไรเกิน 2 พันล.
การฟื้นของอสังหาฯ และแนวโน้มเศรษฐกิจดีขึ้นตามลำดับ บวกกับ ความเชื่อมั่นนักลงทุน กลับมาขยายธุรกิจ ยังทำให้ผู้เล่นเบอร์ใหญ่ ในกลุ่ม เจ้าสัวเจริญ อย่าง บมจ.เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ ซึ่งมี 3 ธุรกิจอสังหาฯแบบครบวงจร ได้อานิสงส์ และกลับมาเติบโต ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่อุตสาหกรรม โรงงานและคลังสินค้า ภายใต้การบริหารจัดการ พื้นที่ มากถึง 3.4 ล้านตร.ม. ,การเร่งเปิดโครงการที่อยู่อาศัยใหม่ มากกว่า 2 หมื่นล้านบาท จับเซ็กเม้นท์ กลาง-บน เจาะฐานลูกค้าแข็งแกร่ง
รวมถึงการเปิดประเทศ ยังส่งผลให้กลุ่มธุรกิจโรงแรมมีรายได้โตกว่า 100% ขณะเดียวกัน การทยอยเปิดให้บริการเฟสต่างๆ ของโครงการสีลมเอจ (ช่วงก.ค.-ก.ย.65) ด้านภาพรวมธุรกิจอาคารสำนักงานให้เช่ายังคงรักษาอัตราการเช่าได้ในระดับสูงกว่า 90% ส่งผลให้ บมจ.เฟรเซอร์สฯ ปิดผลงานปีงบประมาณ 2565 (ต.ค.64-ก.ย.65 ) ด้วย รายได้รวม 16,347 ล้านบาท โตขึ้น 4% และมีกำไรสุทธิอยู่ที่ 2,465 ล้านบาท เพิ่ม ขึ้น 57.3% จากที่ปีก่อนหน้า กำไรไม่ถึง 2,000 ล้านบาท
ดันกลุ่มวัสดุก่อสร้างโต
นโยบายเปิดประเทศ สัญญาณเศรษฐกิจฟื้น และ ภาครัฐ - ภาคเอกชน พากันทยอยลงทุน ในงานโครงการเมกะโปรเจ็กต์ และโครงการที่อยู่อาศัย ยังทำให้อานิสงส์เกิดขึ้นในกลุ่มผู้ประกอบการค้าวัสดุก่อสร้าง โดย บมจ.สมาร์ทคอนกรีต เผยว่า งวด 9 เดือน ปี 2565 บริษัทมีรายได้รวม 409 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก 338 ล้านบาท ในช่วงปีก่อนหน้า
นายรังสี ทีปกรสุขเกษม กรรมการผู้จัดการบริษัท ระบุว่า มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเปิดประเทศ ผลักดันให้ผู้ประกอบการอสังหาฯ โครงการแนวราบแนวสูง เร่งก่อสร้างเพื่อเปิดโครงการใหม่ อีกทั้งโครงการภาครัฐ ได้แก่ อาคารหน่วยงานราชการ โครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง และสีชมพู เร่งดำเนินการก่อสร้างเพื่อส่งมอบให้ทันตามกำหนด ส่งผลให้ความต้องการสินค้ากลุ่มวัสดุก่อสร้าง-อิฐมวลเบา ปรับตัวดีขึ้น และราคาจำหน่ายอิฐมวลเบาปรับตัวเพิ่มขึ้น แม้กำไรสุทธิปรับตัวลดลง เนื่องจากต้นทุนเชื้อเพลิงและวัตถุดิบในการผลิตปรับตัวสูงขึ้น แต่เป็นโอกาสให้บริษัทฟื้นตัวได้ดี
เช่นเดียวกับ บมจ. ผลิตภัณฑ์ตราเพชร เผยผลการดำเนินงาน ม.ค.ก.ย. ว่า มีกำไรสุทธิกว่า 508 ล้านบาท และมีรายได้รวม 3,996 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7.08% คาดนอกจากมาจากความหลากหลายของผลิตภัณฑ์ บวกเพิ่มช่องทางจำหน่ายใหม่ๆ แล้ว ยังได้แรงหนุนจากกำลังซื้อของลูกค้าโครงการอสังหาริมทรัพย์มีอัตราขยายตัวได้มากกว่า 10%
”การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจทั้งใน กทม.และภูมิภาคที่ดีขึ้นตามลำดับนั้น ทำให้ตลาดอสังหาฯ ฟื้นตัวขึ้นมาอย่างน่าสนใจ”
Reference: หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ