เวนคืนสายสีม่วง 1.5 หมื่นล. 3 รถไฟฟ้าขอเยียวยายืดสัญญาก่อสร้าง

04 May 2020 837 0

       ไซต์รถไฟฟ้าส้ม ชมพู เหลืองป่วน บิ๊กรับเหมา “ช.การช่าง-ซิโน-ไทยฯอิตาเลียนไทยฯ-ยูนิคฯ” พร้อมใจยื่นหนังสือสงวนสิทธิ์ขอเคลม ยืดสัญญาก่อสร้าง รัฐประกาศเคอร์ฟิว เวลาทำงานหาย รฟม.รอประมวลผล เร่งบริหารจัดการ ไม่ให้ดีเลย์ ย้ำหมุด พ.ค.ขายซองประมูลสายสีส้มตะวันตก เผยรับเหมา ไทย-ต่างชาติ 24 ราย สนใจยื่นข้อเสนอ แนะร่างทีโออาร์ ครม.บิ๊กตู่อนุมัติแล้ว พ.ร.ฎ.เวนคืนที่ดินสีม่วงใต้ “เตาปูนราษฎร์บูรณะ” วงเงิน 1.5 หมื่นล้าน ปีหน้าลุยสำรวจ

          นายสุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข รองผู้ว่าการด้านวิศวกรรมและก่อสร้างการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้ผู้รับเหมาก่อสร้างรถไฟฟ้าทั้งสายสีส้มช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ-มีนบุรี สายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี และสายสีเหลืองช่วงลาดพร้าว-สำโรง ได้ทำหนังสือขอสงวนสิทธิ์การขอขยายสัญญาก่อสร้างออกไปทุกสัญญา

          รฟม.รับทราบรับเหมายื่นต่อเวลา

          หลังจากได้รับผลกระทบจากการที่รัฐบาลประกาศเคอร์ฟิวตั้งแต่เวลา 22.00-04.00 น. ต้องพิจารณาว่าเป็นเหตุสุดวิสัยจนต้องขยายสัญญาเพื่อเป็นการเยียวยาหรือไม่ เนื่องจากการขยายจะต้องจ่ายค่าชดเชยด้วย เพราะเมื่อเวลาก่อสร้างเพิ่มทางผู้รับเหมาจะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นตามไปด้วย

          ”เราก็รับทราบไว้ก่อน ต้องรอประเมินระยะเวลาเคอร์ฟิวจะสิ้นสุดเมื่อไหร่ จากนั้นถึงมาประเมินสถานการณ์อีกครั้ง ถึงจะรู้ว่าจะขยายเวลาให้เท่าไหร่ นอกจากนี้ ยังมีเรื่องแรงงานขาดด้วย ทำให้ตอนนี้ เราก็บริหารจัดการโครงการก่อสร้าง เท่าที่ทำได้ อย่างไรก็ตาม จะพยายามให้งานก่อสร้างล่าช้าน้อยที่สุด เพื่อรักษาเป้าการเปิดบริการให้เป็นไปตามแผนให้มากที่สุด”

          ชมพู-เหลืองได้แค่เวลาชดเชย

          นายสุรเชษฐ์กล่าวอีกว่า ทั้งนี้ การเยียวยาในส่วนของสายสีชมพูและสายสีเหลือง จะได้รับการเยียวยาเฉพาะการขยายเวลา และอาจจะไม่พิจารณาเรื่องค่าปรับ หากดำเนินการล่าช้า โดยเอกชนจะไม่ได้รับการชดเชยเป็นเงิน เนื่องจากเป็นการลงทุน PPP ซึ่งกลุ่มบีทีเอสเอกชนที่ลงทุนจะรับภาระความเสี่ยงโครงการทั้งหมด

          ทั้งนี้ สิ่งที่จะเยียวยาได้ คือ ให้เปิดเดินรถเป็นช่วง ๆ ให้ได้ภายในเดือน ต.ค. 2564 ตามที่กำหนดไว้ในสัญญา เพื่อให้เอกชนมีรายได้จากค่าโดยสารเป็นการชดเชย โดยสายสีชมพูแคราย- มีนบุรีทยอยเปิดจากมีนบุรี-วงเวียนหลักสี่ จะเชื่อมสายสีเขียวและสาย สีเหลืองลาดพร้าว-สำโรง จะเปิดจากปลายทางที่สถานีสำโรงเชื่อมกับสายสีเขียวแบริ่ง-สมุทรปราการไล่ลงมา ยังศรีนครินทร์ เป็นต้น ซึ่งขบวนรถ จะมาถึงปลายปีนี้ จากนั้นจะดำเนินการทดสอบระบบ ก่อนเปิดให้บริการ

          เอกชน 24 รายแนะ TOR สีส้ม

          นายสุรเชษฐ์กล่าวอีกว่า สำหรับความก้าวหน้าการประมูลโครงการสายสีส้มช่วงตะวันตกบางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมฯ จะเปิดให้เอกชนร่วม PPP net cost ทั้งก่อสร้างงานโยธาและเดินรถตลอดสายบางขุนนนท์-มีนบุรี ระยะทาง 35.9 กม. ระยะเวลาสัมปทาน 30 ปี วงเงิน 142,789 ล้านบาท

          หลังให้เอกชนที่สนใจยื่นเสนอแนะ ร่างประกาศเชิญชวน (TOR) ร่างเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชนให้ รฟม. เมื่อวันที่ 20-22 เม.ย.ที่ผ่านมา พบว่า มีเอกชนไทยและต่างชาติยื่นประมาณ 24 ราย เป็นกลุ่มผู้รับเหมาก่อสร้าง ผู้ประกอบการเดินรถ และผู้ผลิตรถไฟฟ้า ตั้งเป้าจะเปิดขายซองประมูลวันที่ 15 พ.ค. เปิดให้ยื่นข้อเสนอกลางเดือน ส.ค. และได้ผู้รับเหมาชนะประมูลในเดือน ธ.ค. 2563

          คืบหน้ารถไฟฟ้า 3 สาย 3 สี

          ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า สำหรับรถไฟฟ้าสายสีส้มแบ่งสร้าง 6 สัญญา มีความคืบหน้า 58.59% เร็วกว่าแผน 2.57% จะเปิดในปี 2567 แยกเป็นสัญญาที่ 1 อุโมงค์ใต้ดิน ช่วงศูนย์ วัฒนธรรมฯ-รามคำแหง 12 มีกิจการร่วมค้า CKST (บมจ.ช.การช่าง และ บมจ.ซิโน-ไทยฯ) เป็นผู้ก่อสร้าง 20,633 ล้านบาท คืบหน้า 70.82%

          สัญญาที่ 2 อุโมงค์ใต้ดิน ช่วงรามคำแหง 12-หัวหมาก มีกลุ่มกิจการร่วมค้า CKST ก่อสร้าง 21,057 ล้านบาท คืบหน้า 53.76%

          สัญญาที่ 3 อุโมงค์ใต้ดิน ช่วงหัวหมาก-คลองบ้านม้า มี บมจ.อิตาเลียนไทยฯเป็นผู้ก่อสร้าง  18,570 ล้านบาท คืบหน้า 55.64%

          สัญญาที่ 4 ทางยกระดับ ช่วงคลองบ้านม้า-มีนบุรี มี บมจ.ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่นเป็นผู้ก่อสร้าง 9,990 ล้านบาท คืบหน้า 46.53%

          สัญญาที่ 5 ศูนย์ซ่อมบำรุงและอาคารจอดแล้วจรของกลุ่มกิจการร่วมค้า CKST 4,831 ล้านบาท คืบหน้า 61.08% และสัญญาที่ 6 ระบบราง มี บมจ.ยูนิคฯ เป็นผู้ก่อสร้าง 3,690 ล้านบาท คืบหน้า 61.08%

          สายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง คืบหน้า 53.21% งานโยธา 55.67% งานระบบ 50.02% และสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี คืบหน้า 53.22% งานโยธา 55.62% และงานระบบ 49.95%

          ครม.อนุมัติ พ.ร.ฎ.เวนคืนม่วงใต้

          นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการรฟม. เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 28 เม.ย. 2563 มีมติอนุมัติร่างพ.ร.ฎ.กำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืน และร่าง พ.ร.ฎ.กำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่จะดำเนินการเพื่อกิจการขนส่งมวลชนในท้องที่เขตบางซื่อ ดุสิต พระนคร ป้อมปราบศัตรูพ่าย สัมพันธวงศ์ ธนบุรี คลองสาน จอมทอง ราษฎร์บูรณะ ทุ่งครุ กรุงเทพมหานคร และ อ.พระประแดง จ.สมุทรปราการ แนวเขตทางกว้าง 200 เมตร เพื่อดำเนินโครงการรถไฟฟ้าสาย สีม่วง ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ (วงแหวน กาญจนาภิเษก) ระยะทาง 23.6 กม. วงเงินลงทุนก่อสร้าง เวนคืน และจัดหาระบบกว่า 1.24 แสนล้านบาท

          หลังสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว ตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ หลังจากนี้ รอประกาศในราชกิจจานุเบกษา จากนั้นถึงจะเริ่มเข้าสำรวจพื้นที่สรุปยอดผู้ถูกเวนคืน ต่อไป จะใช้เวลาดำเนินการ 1 ปี โดยสำนักงบประมาณจะจัดสรรงบฯให้

          เวนคืน 1.5 หมื่นล้าน เริ่มปี‘64

          ”ทั้งโครงการกำหนดงบฯเวนคืน 15,913 ล้านบาท มีเวนคืนที่ดิน 500 แปลง สิ่งปลูกสร้าง 300 หลังคาเรือน เป็นข้อมูลเมื่อปี 2560 จะต้องสำรวจ อีกครั้ง รฟม.ขอตั้งงบฯปี 2564 แล้ว จะผูกพัน 4 ปี ตามอายุ พ.ร.ฎ.เวนคืน”

          โดยพื้นที่เวนคืนจะเป็นจุดขึ้น-ลง 17 สถานี จุดใหญ่อยู่ที่ด่านเก็บเงินสุขสวัสดิ์ ถนนกาญจนาภิเษก จะใช้พื้นที่สร้างที่จอดรถไฟฟ้า 50 ไร่ (เดโป้) และย่านสถานีเตาปูน

          แนวเส้นทางจุดเริ่มต้นเป็นทางวิ่ง ยกระดับจากสถานีเตาปูนเชื่อมกับสายสีน้ำเงินต่อขยาย (บางซื่อ-ท่าพระ) และสีม่วง (เตาปูน-คลองบางไผ่) ไปตาม แนวถนนตัดใหม่อยู่ในแผนของกรุงเทพ มหานคร (กทม.) แล้วลดระดับเป็นใต้ดินผ่านกรมสรรพาวุธทหารบก เลี้ยวเข้าถนนทหาร ถนนสามเสน ถนนพระสุเมรุ ถนนมหาไชย ลอดใต้แม่น้ำเจ้าพระยาเข้าสู่ถนนสมเด็จพระเจ้าตากสิน

          เมื่อลอดผ่านสี่แยกมไหสวรรย์จะเปลี่ยนเป็นทางวิ่งยกระดับไปตามถนนสุขสวัสดิ์ สิ้นสุดที่บริเวณศูนย์ซ่อมบำรุงข้างด่านเก็บค่าผ่านทางถนนวงแหวนกาญจนาภิเษก

          รูปแบบโครงการจะเป็นโครงสร้างทางวิ่งใต้ดิน 12.6 กม. และทางวิ่ง ยกระดับ 11 กม. มี 17 สถานี เป็นสถานีใต้ดิน 10 สถานี ยกระดับ 7 สถานี เชื่อมการเดินทางจังหวัดสมุทรปราการ กรุงเทพฯ และนนทบุรี คาดการณ์มี ผู้โดยสาร 477,098 เที่ยวคน/วัน

          แบ่งใต้ดิน-ลอยฟ้า 6 สัญญา

          ”งานโยธาจะใช้งบฯก่อสร้าง 85,000 ล้านบาท จะเริ่มประมูลในปี 2564 แบ่งสร้าง 5-6 สัญญา ประกอบด้วยงานใต้ดิน 4 สัญญา ทางยกระดับ 1 สัญญา และระบบราง 1 สัญญา คาดว่า จะเปิดบริการในปี 2569” นายภคพงศ์กล่าวทิ้งท้าย

Reference:

Click icon to remove from or add to favorite list
Click to choose and click "Compare" button