เมกะเทรนด์ ธุรกิจปี65 บล็อกเชน-เน็ตซีโร่ แรง
จับตาเมกะเทรนด์เรียลเซกเตอร์ พลิกโฉมโลกธุรกิจ “ทีทีบี” ชี้ “บล็อกเชน” หนุนศักยภาพ เศรษฐกิจไทย จับตา “เงินดิจิทัล” ดิสรัปชั่นระบบการเงิน “ส.อ.ท.” ชี้ธุรกิจพลังงาน มุ่งลดคาร์บอน ดันพลังงานหมุนเวียน เมกะเทรนด์”อสังหาฯ” ลุย “เทคคอมพานี-กรีนคอนเซปต์” ภาคไอที ยก “เอไอ คลาวด์ ซิเคียวริตี้” แรง นักวิชาการ ชี้ “ซีอีโอ” ต้องเปลี่ยนแนวคิดขับเคลื่อนองค์กรยุคใหม่ผ่านเทคโนโลยีดิจิทัล
เมกะเทรนด์ที่จะเกิดขึ้นกับหลายธุรกิจหลักในปีหน้า นับว่าเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของโลกธุรกิจ เศรษฐกิจ การลงทุน ยุคใหม่ มีผลต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในยุคที่มีความผันผวน เมกะเทรนด์เหล่านี้ ยังเป็นปัจจัยสำคัญสนับสนุนให้ธุรกิจที่ปรับตัวได้ยืนฝ่าความท้าทายในโลกยุคใหม่ได้อย่างดี
นายนริศ สถาผลเดชา หัวหน้าศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี (ttb analytics) เปิดเผยว่า เทรนด์โลกการเงินปี 2565 “บล็อกเชน” ยังคงมีบทบาทสำคัญสร้างการเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์ ระบบการเงินไทย การนำบล็อกเชนมาใช้จะชัดเจนมากขึ้น เช่น บริการการโอนเงินระหว่างประเทศ การออกหนังสือ ค้ำประกันแบบดิจิทัลทำให้ธุรกรรมการเงินมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น และต้นทุนถูกลง สนับสนุนเพิ่มศักยภาพธุรกิจนำเข้าส่งออกที่มีมูลค่าสูงต่อปีอยู่แล้ว ผลักดันเพิ่มประสิทธิภาพทางเศรษฐกิจไทยด้วย
รวมถึงที่สำคัญต้องจับตา เทคโนโลยีบล็อกเชน ที่ยังเป็นพื้นฐานของ Central Bank Digital Currency(CBDC) หรือสกุลเงินในรูปแบบดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลางจะเริ่มเห็นปีหน้า จะเข้ามาทรานส์ฟอร์มระบบการเงินไทยได้มากน้อยแค่ไหนและระบบการเงินไร้ตัวกลาง Decentralized Finance (DeFi) จะมาดิสรัปชั่นดึงเม็ดเงินออกจากระบบการเงินปกติได้เพียงใด
สำหรับเงินดิจิทัลเป็นสิ่งที่ระบบการเงินต้องจับตาช่วยสนับสนุนการไปสู่สังคมไร้เงินสด แต่ปัจจุบันยังไม่เห็น Use case ชัดเจนว่า ผู้ได้ประโยชน์อะไรเพิ่มขึ้นนอกจากความสะดวกสบายเพิ่ม ทำให้ยังประเมินผลกระทบทางเศรษฐกิจ หรือมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจได้ไม่ชัดเจน เช่น การปล่อยกู้ ผ่านเหรียญ ถ้าคนกู้เอาเงินไปทำในสิ่งที่เป็นประโยน์ต่อเศรษฐกิจ จะช่วยเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจได้ แต่ถ้าเอาเงินไปซื้อเหรียญลงทุนต่อ ไม่ได้สร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจที่แท้จริงแต่ถ้าระดมทุน Tokenization จะช่วยเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจได้ ในส่วนนี้ภาพน่าจะเห็นมากขึ้นในปีหน้า
เมตาเวิร์ส หนุนการเงินดิจิทัล
อีกทั้ง การเข้ามาของ เมตาเวิร์ส (Metaverse) ในอุตสาหกรรมอื่นๆ เช่นเกม บันเทิง ค้าปลีก เมื่อมีการซื้อขายเกิดขึ้นจริง จะสนับสนุนธุรกรรมการชำระเงินและโอนเงินออนไลน์เติบโตขึ้นตามไปด้วย เทรนด์โลกการเงินปีหน้าจะเป็นการนำเทคโนโลยีหุ่นยนต์ หรือระบบคอมพิวติ้งเข้ามาเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานแทนคนมากขึ้น
”เทรนด์โลกการเงินดังกล่าว โดยเฉพาะเงินดิจิทัล เชื่อว่าแต่ละธนาคารคงจะอยู่ระหว่างการศึกษา รอดูความชัดเจนว่าจะทำให้รายย่อย นอกจากได้รับความสะดวกขึ้นแล้ว จะได้ประโยชน์อะไรจาก CBDC”
ขณะที่ Use case ใหม่ที่เป็นอีโวลูชั่นของระบบการเงินไทยในปีนี้ คือ บริการยืนยันตัวตนรูปแบบดิจิทัล (National Digital ID -NDID) ซึ่งมีพื้นฐานจากเทคโนโลยีบล็อกเชน เป็นตัวเชื่อมโยงในทุกอีโคซิสเต็มของระบบการเงินไทย ได้แก่ ธนาคาร บริษัทหลักทรัพย์และบริษัท หลักทรัพย์จัดการกองทุน ผู้ใช้สามารถเปิดบัญชี โดยไม่จำเป็นต้องไปยืนยันตัวตนที่ธนาคาร
กสิกรไทย ชี้ DeFi อนาคตโลกการเงิน
นายพิพิธ เอนกนิธิ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย(KBANK) กล่าวว่า กลยุทธ์ หรือเทรนด์ของแบงก์ที่จะมุ่งในปี 2565 นั้น มีหลายด้าน การขยายธุรกิจในต่างประเทศ ถือเป็น The Future Growth เสาหลักหนึ่งที่แบงก์ต้องผลักดันให้เติบโต
ขณะที่ตลาดในประเทศ หากแบงก์สามารถไปด้วยแนวคิด ” The Metamorphosis” คือ การเติบโต ให้มากกว่าเดิม แบบไร้ขีดจำกัด ผ่านการเปลี่ยนวิธีการทำงาน ให้รวดเร็ว มีประสิทธิภาพขึ้น ก็เชื่อว่าตลาดในประเทศยังเป็นโอกาสของแบงก์อยู่
รวมถึงเทรนด์ที่จะมุ่งไป เช่น การดูแลคนที่มีสินทรัพย์สูงและกระตุ้นคนตัวเล็กรู้จักออม
ขณะเดียวกันยังมี อีก 3 เรื่องใหญ่ ที่แบงก์ใส่ไปในเป้าหมายปี 2565 เช่น การไปกับ “The Future of Finance ที่เป็นอนาคตของโลกการเงิน เช่น DeFi หรือ Decentralized Finance สร้างระบบการเงินที่ไร้ตัวกลางต่างๆ รวมถึงดิจิทัลแอสเสทต่างๆ
รวมถึงเร่งยกระดับความรู้ความสามารถ ไม่เฉพาะแบงก์ แต่ต้องคิดถึงลูกค้า ทั้งบุคคล และ ธุรกิจด้วย เป็นหน้าที่ของธนาคาร ที่เรียกว่า Banking as a Service เข้าไปช่วยเหลือลูกค้าได้
สุดท้าย เรื่อง ESG แต่ต้อง Doing well by doing good ไม่เพียงการแสวงหากำไรแต่แบงก์ต้องทำให้สังคมดีขึ้นเท่าเทียมขึ้น
กรุงศรีฯลงทุน3เทรนด์ ยกระดับแบงก์
นายแซม ตันสกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท กรุงศรี ฟินโนเวต จำกัด กล่าวว่า เพื่อให้สอดคล้องกับกลยุทธ์ หรือเทรนด์ ของธนาคารกรุงศรีอยุธยาปี 2565 กรุงศรีฟินโนเวต เน้น 3 ด้าน ด้านแรก คือ เน้นลงทุนฟินเทค ซึ่งเป็นสิ่งที่กรุงศรีฯ โฟกัส เพิ่มศักยภาพทำธุรกิจของธนาคาร เช่น บล็อกเชน ดิจิทัลแอสเสท Defi ที่เป็นอนาคตของโลกการเงิน
ถัดมาคือ อีคอมเมิร์ซเทค อีคอมเมิร์ซจะเติบโตขึ้นเร็วมากเพื่อให้ธนาคารกรุงศรีฯ ซัพพอร์ต พ่อค้าแม้ค้า คู่ค้าเอสเอ็มอี รวมถึงลูกค้ารายย่อย ที่ต้องการสินเชื่อ รวมถึงจับจ่ายใช้สอยที่คล่องตัวมากขึ้น สุดท้าย มุ่งไปสู่ด้านการลงทุนที่เกี่ยวกับ automotive ยานยนต์ เพราะแบงก์กรุงศรีฯ เป็นอันดับหนึ่งสินเชื่อรถยนต์ และเป็นโรงงานรถญี่ปุ่นอันดับหนึ่ง
ชี้ “เทรนด์ลดคาร์บอน”
นายวีระเดช เตชะไพบูลย์ รองประธานกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และประธาน RE100 Thailand Club กล่าวว่า เทรนด์ ในภาคอุตสาหกรรมพลังงานปี 2565 จะเห็นชัดเจน คือ
1.โก คาร์บอน แต่สิ่งที่กังวลคือกฎเกณฑ์ในไทยจะปรับตัวได้มากน้อยแค่ไหน เช่น ผังเมือง การขายไฟฟ้าข้ามสายส่ง ขณะที่การรับซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนเข้าระบบมากขึ้นต้องปรับตัวเรื่องเสถียรภาพและการติดตั้งแบตเตอรี่ ขณะที่ เทรนด์โลกมุ่งสู่พลังงานสะอาด รัฐบาลประกาศเรื่องนี้แต่การดำเนินการยังไม่ชัดเจนทำให้หลายฝ่ายกังวลว่าจะไปไม่ถึงเป้าหมาย
เพื่อให้ถึง Net Zero ตามที่ตั้งไว้ แต่ละปีต้องนำเข้าพลังงานหมุนเวียนเข้าระบบอย่างน้อย 3,000-4,000 เมกะวัตต์ ปัจจุบันนำพลังงานหมุนเวียนเข้าระบบเพียง 100-200 เมกะวัตต์
”และสิ่งที่ยังเป็นปัญหาและอุปสรรคคือ รัฐบาลยังติดปัญหาในเรื่องของคาร์ปาซิตี้ของโรงไฟฟ้าแก๊สและกลุ่มโรงไฟฟ้าถ่านหินที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนปริมาณสูง ส่งผลให้รัฐบาลยังไม่กล้าปรับลดบริมาณลง”
เทคโนโลยีพลังงานใหม่
2.เทคโนโลยีพลังงานรูปแบบใหม่ ซึ่งที่ผ่านมามีหลายเทคโนโลยีที่อยู่ขั้นตอนการทดลอง แต่ยังมีต้นทุนสูง เช่น ไฮโดรเจน แต่คงปฏิเสธไม่ได้ที่จะต้องมีเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามา โดยเฉพาะ ภาคขนส่งระยะไกล เช่น เครื่องบิน เรือเดินสมุทร รวมถึงเทคโนโลยีที่จะทำให้แบตเตอรี่มีน้ำหนักเบาลงเพื่อรองรับยานยนต์ไฟฟ้า (EV)
3.เตรียมออกมาตรการภาษีคาร์บอน ที่กระทรวงการคลังพยายามคิดวิธีการเก็บภาษีอยู่ว่า จะใช้สูตรไหนที่เหมาะกับไทยมากที่สุด ทั้ง Carbon Tax หรือ cap and trade ยังไม่ชัดเจน ซึ่งถ้าเกิดตลาดซื้อขายคาร์บอนเครดิตต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม (Vat) หรือไม่อย่างไร หรือต้องเสียภาษีของกำไรหรือไม่ และถ้าจะส่งเสริมกันจริงๆ ต้องคิดให้หมดเหมือนสินค้าเกษตร กฎหมายที่ออกมาจะต้องเอื้ออำนวยต่อการทำธุรกิจของกลุ่มพลังงานหมุนเวียนเพิ่มเติมด้วยหรือไม่
”กลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียนพร้อมที่จะปรับตัวเพื่อมุ่งสู่เป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ดังนั้น รัฐบาลควรออกกฎหมายที่ชัดเจน เพื่อเป็นแรงจูงใจในการมุ่งเข้าสู่ Net Zero ตามเป้าหมายของไทย”
อสังหาฯ ชี้”เทคคอมพานี-กรีนคอนเซปต์” แรง
นายอธิป พีชานนท์ รองประธานกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวถึงภาพรวมธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ว่าต้องปรับกลยุทธ์ให้สอดรับเมกะเทรนด์หลังโควิด-19 ประกอบด้วย 11 เมกะเทรนด์ ได้แก่
1.Urbanization เมืองจะขยายตัวนำมาซึ่งโอกาสและความท้าทายใหม่ๆ เพราะอนาคตจะมีเมืองใหญ่เพิ่มขึ้นในต่างจังหวัด
2.Connectivities มีการเชื่อมโยงระหว่างเมืองมากขึ้น ผ่านระบบโครงการพื้นฐานเปลี่ยนรูปแบบมาเป็นการทำงานจากที่ไหนก็ได้ (Work from Anywhere) ฉะนั้นคนไม่จำเป็นอยู่ที่เดิมสามารถไปทำงานที่ไหนก็ได้ โดยใช้รถไฟความเร็วสูง เช่นเดียวกับประเทศญี่ปุ่น สหรัฐ ทำให้เกิดเมืองธุรกิจและเมืองที่อยู่อาศัยรองรับคนกลุ่มนี้
3.Green concept ได้รับความสนใจมากขึ้น ทั้งจากดีเวลลอปเปอร์และลูกค้า ต่างให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม แนวทางการออกแบบที่พักอาศัย และอาคารต่างๆ จะคำนึงถึงการประหยัดพลังงาน และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
4.Technology oriented การใช้เทคโนโลยีมาเกี่ยวข้องกับกิจกรรมต่างๆ
5.Higher Density เมืองจะเป็นคอมแพคผสมผสานกับการกระจายตัว
6.Less Labour Intensive ใช้แรงงานน้อยลง เน้นผลิตสำเร็จรูป
7.International Standard ไทยก้าวสู่เมืองอินเตอร์เนชั่นแนล ดังนั้นต้องปรับรูปแบบ กฏระเบียบต่างๆ สู่มาตรฐานสากลรองรับชาวต่างชาติเข้ามาใช้ชีวิตในประเทศมากขึ้น
8. Regional VS Local ต้องมองประเทศไทยไม่ใช่เฉพาะประเทศไทย แต่ประเทศไทยเป็นส่วนหนึ่งของภูมิภาค การพัฒนามุ่งสู่ระดับริจินัล
9.Increasing Price Point แนวโน้มราคาที่ดิน ที่อยู่อาศัย สิ่งปลูกสร้างสูงขึ้น หากเมืองขยายตัวออกไป จะทำให้ประชากรลดภาระหรือลดแรงกดดันในการซื้อที่อยู่อาศัย หรือซื้อสิ่งปลูกสร้างในราคาสูงอย่างรวดเร็วเกินไป
10.Minimalism ใช้ชีวิตแบบมินิมอลลิสต์ในพื้นที่ ที่มีขนาดเล็กแต่ครบทุกฟังก์ชั่น มีความคุ้มค่า ออฟฟิศจะมีเล็กลง ไม่จำเป็นต้องมีห้องประชุม เพราะประชุมผ่านออนไลน์ได้ และ
11. Health &Safety อนาคตหลังโควิดผู้คนจะคำนึงถึงเรื่องสุขภาพ สุขอนามัยและความปลอดภัยเพิ่มขึ้น
เอไอ คลาวด์ ข้อมูลอัจฉริยะเทรนด์ใหญ่
นายเดวิด กรูมบริดจ์ นักวิจัยอาวุโส ของการ์ทเนอร์ กล่าวว่า แนวโน้มเทคโนโลยีที่มาจะเป็นเมกะเทรนด์เด่นปีหน้าประกอบด้วย ปัญญาประดิษฐ์แบบใหม่ (Generative Artificial Intelligence) แมชีนเลิร์นนิ่งที่เรียนรู้เกี่ยวกับคอนเทนท์ หรือ Data Object และใช้เพื่อสร้างนวัตกรรมรวมถึงผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ที่เป็นต้นฉบับและมีความเสมือนจริง
การ์ทเนอร์คาดการณ์ว่า ภายในปี 2568 เทคโนโลยี Generative AI จะมีสัดส่วนเป็น 10% ของข้อมูลทั้งหมดที่ได้รับการผลิตขึ้นมา สูงกว่าปัจจุบันที่มีปริมาณน้อยกว่า 1%
โครงข่ายข้อมูล (Data Fabric) จะเป็นอีกเทรนด์ที่สำคัญ คือ ความสามารถปรับปรุงการใช้ข้อมูลแบบไดนามิกด้วยการวิเคราะห์ภายในตัวมันเอง รวมถึงองค์กรแบบกระจาย รองรับรูปแบบการทำงานที่ไฮบริด พนักงานทำงานได้จากทั้งในออฟฟิศและนอกสถานที่
แพลตฟอร์ม Cloud-Native (CNPs) จะเป็นเมกะเทรนด์ที่องค์กรต้องเน้นเป็นเทคโนโลยีหลักเป็นรากฐานการสร้างนวัตกรรมหรือเครื่องมือดิจิทัลใหม่ ๆ มากถึง 95% รวมไปถึงการลงทุนด้านซิเคียวริตี้ที่จะกลายเป็นเม็ดเงินหลักขององค์กรยุคใหม่
นายธนชาติ นุ่มนนท์ ผู้อำนวยการสถาบันไอเอ็มซี กล่าวว่าผู้นำองค์กรธุรกิจต้องเปลี่ยนแนวคิดสร้างการเติบโตแก่องค์กรผ่านการเชื่อมต่อเทคโนโลยีดิจิทัล แม้ว่าแนวโน้มของเทคโนโลยีหลักช่วงปีที่ผ่านมา ยังวนเวียนอยู่กับเรื่องเดิมๆ คือ เอไอ บิ๊กดาต้า ไอโอที 5จี บล็อกเชน คลาวด์คอมพิวติ้ง ความปลอดภัยทางไซเบอร์ และเทคโนโลยีโลกเสมือน (VR, AR) แต่ที่เปลี่ยนแปลงไปมาก คือ เทคโนโลยีเหล่านี้เก่งขึ้นเรื่อยๆ มีค่าใช้จ่ายถูกลง และพัฒนาได้ง่ายขึ้น ดังนั้น องค์กรที่จะแข่งได้วันนี้ต้องมีแนวคิดว่า Digital-first และ Remote-first
Reference: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ