เคาะอุโมงค์ทางด่วน ถ.นราธิวาส-สำโรง

06 Apr 2020 696 0

          แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคม เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ตามที่ นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม มีนโยบายให้สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ศึกษาการก่อสร้างอุโมงค์ลอดแม่น้ำเจ้าพระยาแก้ปัญหารถติดกรุงเทพฯ ล่าสุด สนข.ร่วมกับกระทรวงที่ดิน สาธารณูปโภค ขนส่งและการท่องเที่ยวญี่ปุ่น (MLIT) เคาะรูปแบบและค่าก่อสร้างในเส้นทางนำร่องช่วง ถ.นราธิวาสราชนครินทร์สำโรง ระยะทาง 8.7 กม. เบื้องต้น ญี่ปุ่นประเมินจะใช้ค่าก่อสร้าง 84,300 ล้านบาท ซึ่งเป็นข้อมูลมาตรฐานของญี่ปุ่น ให้นำกลับไปพิจารณาเป็นมาตรฐานไทย คาดว่าจะถูกกว่านี้

          “มีข้อสรุปร่วมกับญี่ปุ่นแล้ว การก่อสร้างบริเวณ ถ.นราธิวาสราชนครินทร์ ทาง MLIT ต้องการถมคลองคูน้ำเดิม แล้วขยับออกไปทางด้านขวาของถนน เพื่อให้การขุดอุโมงค์ไม่ลึกมาก แต่ สนข.มองว่าถมคลองจะทำให้ต้องปิด ถ.นราธิวาสฯทั้งเส้น ส่งผลต่อการจราจรติดมากขึ้น จึงเห็นว่าควรขุดอุโมงค์ให้ลึกกว่าระดับคลองคูน้ำจะ ดีกว่า แม้ต้นทุนจะเพิ่มแต่มีผลกระทบน้อย ซึ่งญี่ปุ่นรับหลักการแล้ว ส่วนการก่อสร้าง ถ.บางนา-ตราดจะทำเป็นทางข้ามจาก ปากอุโมงค์แล้ววนไปลงที่ขาออกของ ถ.บางนา-ตราดแทน เพราะบริเวณนั้น ตรงไปอีก 1-2 กม.ก็ขึ้นทางด่วนบูรพาวิถีได้เช่นกัน ไม่จำเป็นต้องทำทางเชื่อม หลังจากนี้จะจัดทำเป็น final report สรุปรายงานกระทรวงคมนาคมรับทราบ ต่อไป”

          รูปแบบอุโมงค์จะคล้ายกับอุโมงค์รถไฟฟ้าสายสีส้ม มีเส้นผ่านศูนย์กลาง 13 เมตร ขนาด 4 ช่องจราจร มีทาง ขึ้นลง 2 ด้านบริเวณแยกบางนา และ ถ.นราธิวาสราชนครินทร์ อยู่ลึกจาก ท้องแม่น้ำเจ้าพระยา 13 เมตร มีระยะทางโครงการ 8.7 กม. โดยช่วง อุโมงค์ยาว 7.45 กม. มีเวนคืนบริเวณทางขึ้นลงตามผลการศึกษาเดิมของ สนข. แนวจะเริ่มจากแยกบางนา มุดลงใต้ดินผ่านบางกะเจ้า ลอดใต้แม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณกระเพาะหมู ไปสิ้นสุด ถ.นราธิวาสราชนครินทร์ ช่วงที่ต่อกับ ถ.พระราม 3

          หากผลการศึกษามีความเป็นไปได้ จะออกแบบรายละเอียด ศึกษา รูปแบบโครงการ การลงทุน รายงานวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) และประชาพิจารณ์โครงการ จะใช้เวลา 7-8 เดือนก่อนจะเสนอ คณะกรรมการจัดระบบการจราจร ทางบก (คจร.) ที่มีพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานได้ภายในปีนี้

          นายชยธรรม์ พรหมศร ผู้อำนวยการ สนข. กล่าวว่า กระทรวงคมนาคมยัง ได้เซ็นบันทึกข้อตกลง (MOU) กับประเทศเกาหลีใต้ ศึกษาสร้างอุโมงค์ทางลอดที่ใช้ประโยชน์ได้ทั้งทางด่วน รถไฟฟ้า และระบายน้ำ โดยจะนำผลการศึกษาทั้ง 2 ประเทศมาเปรียบเทียบถึงรูปแบบ พื้นที่เหมาะสม ค่าก่อสร้าง เพื่อศึกษารายละเอียดต่อไป

Reference:

Click icon to remove from or add to favorite list
Click to choose and click "Compare" button