อิงวิจัยคนซื้ออสังหาฯหวั่น โควิดยืดเยื้อ-วัคซีนผิดแผน

22 Jul 2021 463 0

           ตลาดอสังหาริมทรัพย์ในสภาวะที่มีการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่รุนแรงมากขึ้น จนระดับผู้ติดเชื้อเกิน 10,000  รายต่อวัน และมีตัวเลขผู้เสียชีวิตมาก กว่า 100 ราย ได้ก่อผลกระทบเป็นวงกว้างต่อทุกภาคธุรกิจ และกดดันให้เศรษฐกิจไทย ยิ่งไม่เห็นสัญญาณการฟืนตัวในระยะอันใกล้ ส่งผลถึงความเชื่อมั่น และความมั่นคงของรายได้ที่จะเกิดในอนาคต และ “โจทย์” ใหญ่ จากการถดถอยของเศรษฐกิจมีผลต่อระดับหนี้ครัวเรือนที่สูงขึ้น ซึ่งปัจจุบันพุ่งทะยานไปอยู่ในกรอบประมาณ 90-92% ต่อจีดีพี เพิ่มขึ้นไปอยู่ที่ 14.1 ล้านล้านบาท หรือขยายตัวที่ 4.6% และเป็นประเด็นที่ “ธนาคารพาณิชย์” ซีเรียสถึงคุณภาพของลูกค้าถึงความสามารถ ในการมีรายได้ที่จะเพียงพอสนับสนุนให้เข้าถึงการมีที่อยู่อาศัยในขณะนี้

          ล่าสุด ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ และบริษัท คอลลิเออร์ส อินเตอร์เนชั่นแนลประเทศไทย จำกัด ได้ปรับลดตัวเลขการเติบโตของภาคอสังหาฯในปี 2564 ใหม่ โดยศูนย์ข้อมูลฯ คาดปีนี้ตัวเลขเปิดขายใหม่จะหลุดไปอยู่ใกล้กรอบที่ไม่ต่ำ กว่า Worst Case (กรณีเลวร้าย) ที่หน่วยเปิดใหม่ 56,333 หน่วย (ซัปพลายหายไปจากกรณี Base Case 6,259 หน่วย) ลดลง -14.9% เป็นมูลค่า 291,242 ล้านบาท (มูลค่าหายไปจากฐานเดิม 32,358 ล้านบาท) ลดลง -12.8%

          สำหรับยอดขายลดลงจาก Base Case ที่มี จำนวน 69,996 หน่วย สมมติฐานเดิมเพิ่มขึ้น 4% ส่วนมูลค่าประมาณ 312,000 ล้านบาท ลดลง - 4.3% จะลดลงแต่ไม่เกิน Worst Case ที่มียอดขายลดลงเหลือ 62,996 หน่วย ลดลง -6.4% เป็นมูลค่า 294,500 ล้านบาทลดลง -9.1% ทั้งนี้ การติดลบเป็นผลจากยอดขายของอาคารชุดที่ลดลง

          มูลค่าการซื้อและขายอสังหาฯวูบ 40%

          ด้านนางสุพินท์ มีชูชีพ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท โจนส์ แลง ลาซาลล์ (ประเทศไทย) จำกัด ได้ ฉายภาพกว้างๆ ของตลาดอสังหาริมทรัพย์ในปี 2564 (Real Estate Market Overview) ว่า เราเห็นตลาดอาคารสำนักงาน คอนโดมิเนียม ค้าปลีก และโรงแรม อยู่ในภาวะชะลอตัว เนื่องจากโดยรวมได้รับผลกระทบจากการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19มาอย่างต่อเนื่อง โดยอาคารสำนักงาน ราคาค่าเช่า  มูลค่าของสินทรัพย์ (CAPITAL Value) เฉลี่ยปรับลดลงมาตั้งแต่ครึ่งหลังของปี 2563

          ตลาดคอนโดมิเนียม ราคายังคงปรับลดลงต่อเนื่องซึ่งการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้มาซ้ำเติมให้สถานการณ์ตลาดคอนโดฯบอบช้ำไปอีก เช่นเดียวกับตลาดศูนย์การค้า ที่มีค่าเช่าโดยเฉลี่ยลดลงเช่นกัน

          แต่ในภาวะที่เศรษฐกิจชะลอตัว กลับพบว่า อุตสาหกรรมในกลุ่มคลังสินค้าและโลจิสติกส์ มีราคาค่าเช่าและมูลค่าของสินทรัพย์ปรับตัวสูงขึ้นมาก ซึ่งเกิดจากความต้องการเช่าคลังสินค้าในการเก็บสินค้า เนื่องจากการขยายตัวของตลาดอีคอมเมิร์ซและตลาดออนไลน์ ที่เพิ่มขึ้น จากการที่ทั่วโลกต้องผจญกับการระบาดของ โควิด-19 มาตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2563 จนถึงปัจจุบัน

          ขณะที่เราพบเห็นว่า ปริมาณการซื้อขายเปลี่ยนมือ(Investment Transaction Volume) ของทุกๆ ตลาดในปี 2563 มีมูลค่าการซื้อขายประมาณ 18,000 ล้านบาทตกลงประมาณ 40% เมื่อเทียบกับปี 2562 ซึ่งได้รับผล กระทบจากการเกิดโรคระบาดโควิด-19 ตัวเลขธุรกรรมการซื้อขายดังกล่าวย้อนกลับไปใกล้เคียงช่วงเกิดวิกฤต ซับไพรม์เมื่อปี 2551-2552 ปริมาณการซื้อขายเกือบ 20,000 ล้านบาท

          ในขณะที่การซื้อขายอุตสาหกรรมในกลุ่มคลัง สินค้าและโลจิสติกส์ในปีที่ผ่านมา พบว่า มีปริมาณการซื้อขายเพิ่มขึ้นเกือบ 90% (YoY) ซึ่งเท่ากับ 50% ของปริมาณการซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ทั้งหมดในปีที่ผ่านมาที่มีปริมาณ 7,700 ล้านบาท ที่ซื้อขายเข้าไปอยู่ทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (REIT) โดยตัวเลขล่าสุดในไตรมาสแรกของปี 2564 ปริมาณซื้อขายในการลงทุน อสังหาฯอยู่ที่ 8,400 ล้านบาท ซึ่ง ณ ไตรมาสดังกล่าว สะท้อนให้เห็นว่าตลาดจะเริ่มปรับตัวดีขึ้น แต่ทั้งนี้ ต้องมาประเมินสถานการณ์ในไตรมาส 2 ของปีนี้ เนื่องจากเกิดการระบาดรอบใหม่ มีการล็อกดาวน์ใน 13 จังหวัด ซึ่งต้องมาติดตามในช่วงที่เหลือของปี64 ปริมาณซื้อขายการลงทุนอสังหาฯจะมากขึ้นหรือไม่ หากเราสามารถเอาชนะและควบคุมการระบาดของโควิด-19 ได้ดีขึ้น หรือรวดเร็วแค่ไหน

          คิดว่าสถานการณ์ตลาดอสังหาฯในปีนี้ คงไม่แตกต่างจากปี 2563 สิ่งสำคัญในตอนนี้ เศรษฐกิจไทยที่อยู่ในภาวะโรคระบาด การกระจายวัคซีนเป็นหัวใจสำคัญ ในการควบคุมโรคระบาดได้ดี และถ้าควบคุมโรคระบาดได้รวดเร็วเป็นไปตามเป้าหมายที่รัฐบาลได้ประกาศไว้ มีการฉีดวัคซีนกับประชากรได้ถึง 70 เปอร์เซ็นต์ภายในสิ้น ปี 64 ก็เชื่อว่า ไตรมาสแรกของปี 65 หรือหากเริ่มมีการเปิดประเทศได้ ดีลลงทุนอสังหาฯจะเริ่มเปลี่ยนมือซื้อขายได้มากขึ้น”

          ผู้ประกอบการยกเลิก-เลื่อนเปิดคอนโดฯใหม่ใช้เวลา 12-18 เดือน ระบายสต๊อกห้องชุด

          นางสุพินท์ กล่าวถึงสถานการณ์ตลาดคอนโดฯ ว่าได้รับผลกระทบมาก่อนเกิดโควิด-19 เนื่องจากสภาพตลาดโอเวอร์ซัปพลาย ธนาคารได้ปฏิบัติตามเกณฑ์ เรื่อง LTV ส่งผลให้เงินกู้ต่อมูลค่าของคอนโดฯปล่อยอยู่ในสัดส่วนไม่เกิน 80% ทำให้กลุ่มที่ซื้อเพื่อการลงทุน หรือเก็งกำไร ทำได้ยากขึ้นหรือแทบจะทำไม่ได้ เพราะต้องวางเงินดาวน์ก่อน แต่ในสภาวะที่ผู้ประกอบการอยู่ในสถานการณ์การระบาดของโควิด ผู้พัฒนาอสังหาฯ โดยเฉพาะตลาดคอนโดฯ ได้เลื่อนการเปิดตัวโครงการใหม่ๆออกไปอย่างไม่มีกำหนด ทำให้เราเห็นว่า โครงการพัฒนาคอนโดฯที่ไม่ดำเนินการโครงการตามแผนนับตั้งแต่ ปี 2561 ถึงสิ้นไตรมาสแรกของปี 64 รวมทั้งสิ้น 12,700 ยูนิต แยกเป็นโครงการที่มีแผนจะเปิดตัว แต่ยังไม่มี ความเคลื่อนไหวใดๆจนถึงขณะนี้ มีจำนวน 4,300 ยูนิตโครงการที่เปิดตัวแล้ว แต่พัฒนาโครงการได้ระงับการก่อสร้างไว้ จำนวน 2,500 ยูนิต และโครงการที่ถูกประกาศยกเลิกมีจำนวน 5,900 ยูนิต ทำให้เห็นว่า โครงการใหม่ที่จะเกิดขึ้นมีจำกัดอย่างมาก

          ทั้งนี้ ถ้าเราสามารถตั้งสมมุติว่า หากเศรษฐกิจไทยมีการพลิกฟืนอย่างช้าภายในไตรมาส 2 ของปี 65 คาดว่านับจากช่วงดังกล่าว อาจจะต้องใช้เวลาประมาณ 12-18 เดือนในการให้มีผู้ซื้อมาดูดซัปพลายคอนโดฯในตลาด แต่ถ้าภาครัฐมีนโยบายในการกระตุ้นภาคอสังหาฯเช่น นโยบายให้ธนาคารปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำให้กับผู้ซื้อ หรือการเปิดให้ต่างชาติซื้อคอนโดฯในหนึ่งนิติบุคคลอาคารชุด ได้เกินกว่า 49 เปอร์เซ็นต์ ขยับเป็น 75 เปอร์เซ็นต์ หรือสามารถซื้อบ้านเดี่ยวในหมู่บ้านจัดสรรได้แต่ไม่มีสิทธิ์ออกคะแนนเสียงได้เพิ่มขึ้นไม่เกิน 50 เปอร์เซ็นต์ จะเป็นตัวช่วย อุปสงค์เข้าสู่ตลาดในภาวะที่เศรษฐกิจไทยเริ่มจะฟืนตัว ซึ่งการซื้ออสังหาฯ โดยทั่วๆ ไป หากผู้ซื้อมีความมั่นใจรายได้ในอนาคต ถึงกล้าจะซื้ออสังหาฯสินค้าคงทนถาวร ซึ่งเรามองว่า อสังหาฯ น่าจะใช้เวลาพลิกฟืนประมาณ 18-24 เดือน “

          อย่างไรก็ตาม ในสถานการณ์ปัจจุบัน คอนโดฯในทุกระดับราคามีการปรับลดลงเฉลี่ยมาอยู่ที่ 101,900 บาทต่อตารางเมตร (ตร.ม.) และในทำเลศูนย์กลางธุรกิจ (ซีบีดี) ราคาคอนโดฯ เฉลี่ยอยู่ที่ 218,000 บาทต่อ ตร.ม. ซึ่งเป็นราคาที่ลดลงต่อเนื่องตั้งแต่เกิดโควิด-19 จนถึงปัจจุบัน และยังเป็นเรื่องที่ท้าทายของราคาขายคอนโดฯ เนื่องจากเป็นตลาดของผู้ซื้อเพื่ออยู่อาศัย และผู้ที่จะลงทุนที่จะถือครองอสังหาฯระยะยาวมากกว่าเก็งกำไรระยะสั้น

          ซัปพลายอาคาร สนง.เกรด A กดดันราคาค่าเช่าปรับลดลง

          สำหรับภาพรวมตลาดอาคารสำนักงาน มีแนวโน้มราคาค่าเช่าเฉลี่ยไปจนถึงปี 2569 ซึ่งช่วงปีดังกล่าว จะมีโครงการอาคารสำนักงานออกสู่ตลาดประมาณ 2,300,000 ตร.ม. และประมาณ 90% จะเป็นอาคารสำนักงานเกรด A และเราพบเห็นแนวโน้มราคาค่าเช่าจะลดลง เนื่องจากข้อมูลของ JLL พบว่า ปัจจุบันอัตราการว่างของพื้นที่สำนักงานใกล้ระดับ 12% จากช่วง 10 ปีที่ผ่านมา จะไม่ถึง 10% โดยอาคารสำนักงานทุกเกรดในพื้นที่กรุงเทพฯอัตราพื้นที่ว่างอยู่ที่11.9% แต่ถ้าเป็นอาคารสำนักงาน เกรด A ในใจกลางธุรกิจจะอยู่ที่

11.6%

          เราเห็นค่าเช่าเฉลี่ยของอาคารสำนักงานที่ต่ำลงแล้วตอนนี้เกรด A อยู่ที่ 928 บาทต่อตร.ม. แต่ถ้าเป็นอาคารสำนักงานทุกตลาดราคาอยู่ที่ 720 บาทต่อตร.ม. และมองยาวไปถึงปี 2569 ค่าเช่าของอาคารสำนักงานเกรด A จะได้รับแรงกดดันจากพื้นที่สำนักงานที่เกิดขึ้นจำนวนมหาศาล กดดันให้ราคาค่าเช่าลดลงอาจจะเหลืออยู่ใกล้ 800 บาทต่อตร.ม.”

          ราคาอสังหาฯ เทรนด์ขาลง จนกว่าสถานการณ์โควิดดีขึ้น

          นางกมลภัทร แสวงกิจ ผู้จัดการใหญ่ประจำประเทศไทย ดีดี พร็อพเพอร์ตี้ ระบุว่า จากข้อมูลของ DDproperty.com พบเห็นราคาอสังหาฯเพื่ออยู่อาศัย มีแนวโน้มจะลดลงไปถึงสิ้นปี 64 และสภาพเศรษฐกิจ ที่ชะลอตัว ซึ่งได้ส่งผลต่อการตัดสินใจของผู้บริโภค หรือจะดีขึ้น จนกว่าสถานการณ์โควิด-19 จะคลี่คลาย

          รายงานดัชนีตลาดอสังหาฯในประเทศไทยล่าสุดของ DDproperty ระบุว่า ไตรมาสที่สองของปี 64 นับได้ว่า เป็น “Attractive time” หรือเป็นช่วงเวลาเหมาะสำหรับการลงทุนสำหรับผู้บริโภคและนักลงทุน ที่เน้นลงทุนระยะยาวในประเทศไทย เนื่องจากอัตราดอกเบี้ย ที่ต่ำ และราคาอสังหาฯที่ลดลงโดยเฉพาะคอนโดฯ

          ทั้งนี้ ดัชนีราคาอสังหาฯของกรุงเทพฯ อยู่ที่ 190 จุด ในไตรมาส 2/64 ลดลง 4% จากไตรมาสก่อน และเป็นดัชนีที่ต่ำสุดนับตั้งแต่ไตรมาส 2 ปี 2561 ดัชนีราคาที่ลดลงจะหมายรวมถึง อสังหาฯเพื่อการอยู่อาศัยทุกประเภท โดยเฉพาะคอนโดฯ เนื่องจากผู้บริโภคสนใจ ซื้อหาอสังหาฯแนวราบที่มีพื้นที่ใช้สอยมากกว่า

          รายงานดัชนีนี้สอดคล้องกับรายงานความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในประเทศไทยล่าสุดของ DDproperty ซึ่งระบุว่า ผู้บริโภคมากกว่า 50% ให้ความสำคัญใน การเลือกพิจารณาขนาดของอสังหาฯเป็นอันดับแรก เมื่อต้องการซื้อหรือเช่า

          อิงผลสำรวจ พบ การตัดสินใจซื้อบ้านใช้เวลานานถึง 2 ปี

          การระบาดของโควิด-19 ส่งผลต่อการตัดสินใจซื้ออสังหาฯ ของผู้บริโภค โดยการสำรวจ Consumer Insight จำนวน 800-1,000 คน ผ่านช่องทางออนไลน์ สะท้อนว่า ช่วงก่อนโควิด-19 กระบวนการตัดสินใจซื้อใช้เวลาประมาณ 1 ปี (12 เดือน) จนมาถึงช่วงเกิดการระบาดจะใช้เวลา 2 ปี (24 เดือน) ในการตัดสินใจ และล่าสุดที่ได้รับข้อมูล อาจต้องใช้เวลา 3-5 ปีในการตัดสินใจซื้อบ้าน เนื่องจากสถานการณ์ไม่ได้เอื้อให้ผู้บริโภคสามารถตัดสินใจซื้ออสังหาฯ ในระยะเวลาที่รวดเร็วนัก”

          ทั้งนี้ ยังพบว่า ผู้บริโภค 3 ใน 5 คนไทย หรือประมาณ 60% ชะลอการตัดสินใจซื้ออสังหาฯ กังวลสถานการณ์การระบาดโควิด-19 โดยความกังวลหลักๆ มาจาก การขอสินเชื่อ และมองว่าการซื้ออสังหาฯยังไม่ใช่ความต้องการเร่งด่วนในช่วงเวลานี้

          โดยผลสำรวจชี้สาเหตุชะลอการตัดสินใจซื้อใน ขณะนี้คือ กังวลเรื่องรายได้ในภาวะที่ยังคงมีระบาดของโควิด-19 สัดส่วนถึง 71% กังวลอันดับ 2 เป็นเรื่องราคาที่อยู่อาศัยที่มีขึ้นและลงตลอด ผู้ประกอบการจัดโปรโมชันต่อเนื่อง ทำให้อาจเสียโอกาสในการได้ราคาที่ดี ส่วน อันดับ 3 และ 4 จะเป็นเรื่องสถานการณ์ทางการเมืองและโอกาสที่จะได้รับการอนุมัติสินเชื่อจากธนาคารและการวางเงินดาวน์ เป็นต้น

          นอกจากนี้ พบแนวโน้มของคนไทยตั้งแต่กลุ่ม อายุ 22 ปี ถึง 60  ปี จะเปลี่ยนจากการซื้ออสังหาฯหันมาเช่าอสังหาฯมากขึ้น ด้วยหลายปัจจัย ความกังวลต่อ รายได้ และยังไม่เร่งซื้อที่อยู่อาศัย นอกจากนี้ พบว่า การเลือกซื้อที่อยู่อาศัยหรือเช่าที่อยู่อาศัย คำนึงถึงพื้นที่ ต้องอยู่ใกล้กับสถานพยายาล ภายในโครงการมีการออกแบบที่สามารถตอบโจทย์เรื่องสุขอนามัยมากขึ้น

          อีกปัจจัยที่ต้องพิจารณาเกี่ยวกับการประกาศปิดแคมป์ก่อสร้างโครงการเป็นระยะเวลาหนึ่งเดือน ซึ่งจะส่งผลกระทบกับการโอนกรรมสิทธิ์และยอดขายของบริษัท อสังหาฯ ถ้าบริษัทไหนอยู่ในกระบวนการก่อสร้างจะประสบปัญหา ส่งมอบให้ลูกค้าล่าช้า ซึ่งลูกค้าบางส่วนอาจทำเรื่องขอคืนเงิน สถานการณ์เช่นนี้ ถือว่าเป็นเรื่องใหญ่พอสมควรสำหรับผู้ประกอบการ.

          ส่องแคมเปญกระตุ้นอสังหาฯผ่าน 3 ปท. ‘สิงคโปร์-มาเลเซีย-อินโดฯ’ ดึงเงินเข้าตลาด

          นางกมลภัทร แสวงกิจ ผู้จัดการใหญ่ประจำประเทศไทย ดีดี พร็อพเพอร์ตี้ ได้ฉายภาพตลาดอสังหาริมทรัพย์ใน 3 ประเทศท่ามกลางที่เกิดการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้แก่ สิงคโปร์ มาเลเซีย และอินโดนีเซีย พบว่า จะมีความแตกต่างกัน กล่าวคือ

          ตลาดอสังหาฯในประเทศสิงคโปร์ มีความพิเศษตรงที่เป็นตลาดของผู้ขาย เพราะซัปพลายเทียบไตรมาสต่อไตรมาส ลดลง 14% โดยสินค้าที่นิยมซื้อจะเป็น ห้องขนาดใหญ่ 3-4 ห้องนอน ซึ่งซัปพลายมีน้อย ทำให้มีการแย่งซื้อกันมาก โดย ผู้ประกอบการหันมาเน้นพัฒนาสินค้าดังกล่าวออกมาขาย จึงทำให้ราคาแพงขึ้น 4% เมื่อเทียบไตรมาสต่อไตรมาส ราคาปรับขึ้นมากที่สุดในรอบ 3 ปี

          ขณะที่ รัฐบาลสิงคโปร์ มีการออกมาตรการTต่างๆ อัดฉีดเม็ดเงิน 1 ล้านเหรียญสิงคโปร์ ช่วยลดภาระผู้ประกอบการและอื่นๆ ได้ แคมเปญนี้หมดไปเมื่อ มี.ค. ที่ผ่านมา ขณะเดียวกัน รัฐบาลก็มีการควบคุมการแพร่ระบาดโควิด-19ได้ดีและรวดเร็ว เพราะด้วยภูมิศาสตร์เป็นเกาะ แตกต่างกับประเทศไทย เข้ามาได้หลาย ช่องทาง ทำให้ควบคุมการแพร่ระบาดได้ยากกว่า



          ตลาดอสังหาฯในประเทศมาเลเซีย ภาพรวมตลาดอสังหาฯมีการชะลอตัวคล้ายกับประเทศไทย เป็นตลาดของผู้ซื้อมากกว่า เพราะนอกจากสภาพเศรษฐกิจชะลอตัวแล้ว ยังได้รับผลกระทบอย่างหนักจากโควิด-19 ส่งผลให้ดัชนีราคาลดลง 2% เมื่อเทียบไตรมาสต่อไตรมาส ส่วนซัปพลายเพิ่มขึ้น 3% เมื่อเทียบไตรมาสต่อไตรมาส ซึ่งสินค้าที่ขายได้ราคาต่ำกว่า 5 แสนริงกิต หรือประมาณ 4 ล้านบาท และเป็น กลุ่มสินค้าที่มีมาร์เกตแชร์ใหญ่สุดของมาเลเซียด้วย



          แต่รัฐบาลมาเลเซีย จะมีมาตรการช่วยกระตุ้นตลาดอสังหาฯ มี 2 แคมเปญ คือ แคมเปญ MM 2 H เป็นแคมเปญรัฐบาลสนับสนุนให้ต่างชาติเข้ามาซื้ออสังหาฯในมาเลเซีย ได้กำหนดมูลค่าการซื้อ 1 ล้านริงกิตหรือประมาณ 8 ล้านบาท เน้นเจาะลูกค้าคนซื้อ ที่ซื้อให้ลูกหลานมาเรียนหนังสือที่สิงคโปร์ เพราะมาเลเซียอยู่ใกล้สิงคโปร์ใช้เวลาเดินทางแค่ 30 นาที แคมเปญที่ 2 ช่วยกระตุ้นการซื้อบ้าน จูงใจในเรื่อง ของภาษีเพื่อให้ซื้อบ้านได้ง่ายขึ้น เช่น ลดภาษี ค่าโอน เป็นต้น

          ส่วนการพัฒนาโปรดักต์ ไม่แตกต่างกัน มีความต้องการพื้นที่ขนาดใหญ่ขึ้น ปรับไปตามพฤติกรรมผู้บริโภค ที่ต้องทำงานที่บ้านมากขึ้น WFH แง่ดีไซน์ ฟังก์ชัน ก็มีการปรับเปลี่ยนไปเช่นกัน เน้นให้มีความยืดหยุ่น ปรับเปลี่ยนได้ไม่ฟิต ส่วนการออกแบบให้มีการสัมผัสน้อยที่สุด เช่น การเปิดประตู ใช้ฝ่ามือสัมผัส เป็นต้น

          ตลาดอสังหาฯในประเทศอินโดนีเซีย คล้ายประเทศไทย และมาเลเซีย เป็นตลาดของผู้ซื้อ โดยดัชนีราคาลดลงเล็กน้อย 0.4% ขณะที่ซัปพลายเพิ่มขึ้น 8% ส่วนใหญ่เป็นคอนโดมิเนียม ที่น่าสนใจอินโดนีเซียมีมาตรการใหม่ ออมนิบัสลอว์ อนุญาตให้ต่างชาติซื้ออสังหาฯในอินโดนีเซียได้ ได้รับความสนใจค่อนข้างมาก นอกจากนี้ ยังมีมาตรการลดภาษีทางด้านอสังหาฯ เว้นการจัดเก็บ VAT อัตรา 7% รวมถึงยังมีมาตรการอสังหาฯอื่นๆ ลดภาษี ปรับลดเงินดาวน์ เป็นต้น .

Reference:

Click icon to remove from or add to favorite list
Click to choose and click "Compare" button