อสังหาฯ หวังเซฟเฮเว่น ดึงต่างชาติชงรัฐเคาะ กรีนการ์ด หนุนดีมานด์ที่อยู่อาศัย
บุษกร ภู่แส
กรุงเทพธุรกิจ
ภาคอสังหาริมทรัพย์มอง “ตัวช่วย” หรือ “โอกาส” หนุนการขับเคลื่อนธุรกิจและเศรษฐกิจไทยให้ไต่ระดับสู่ขาขึ้นได้อย่างรวดเร็วหลังเผชิญวิกฤติโควิด-19 อย่างหนักหน่วงลากยาวมากว่า 2 ปี หนึ่งในแนวทางสำคัญส่งเสียงถึงภาครัฐพิจารณาอนุมัติ “กรีนการ์ด” ให้ชาวต่างชาติหลังเปิดประเทศเต็มรูปแบบ โดยชูจุดขาย “เซฟเฮเว่น” บ้านหลังที่สองยามวิกฤติ เป็นการดึงกำลังซื้อต่างชาติฟื้นเศรษฐกิจ!
มีศักดิ์ ชุนหรักษ์โชติ นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย กล่าวว่า ตามแผนการเปิดประเทศเต็มรูปแบบที่จะมีผลตั้งแต่ วันที่ 1 มิ.ย.2565 นักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้าประเทศไทยไม่ต้องลงทะเบียนระบบไทยแลนด์พาส (Thailand Pass) ถือเป็นปัจจัยบวกที่ส่งผลดีอย่างมากต่อภาคเอกชน ประกอบกับตัวเลขสถานการณ์การติดเชื้อโควิดลดลงอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นรัฐบาลควรให้ความสำคัญกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการดึงนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาจับจ่ายใช้สอย และเปิดโอกาสให้คนต่างชาติที่มีศักยภาพมีโอกาสเข้ามาเป็น Permanent Resident(PR) หรือ กรีนการ์ด จากที่ผ่านมาเป็นการให้วีซ่าระยาวที่ต่ออายุทุก 10 ปี ไม่จูงใจเท่าที่ควร ในการได้มีสิทธิพักอาศัยในประเทศไทยได้อย่างไม่จำกัดระยะเวลา สำหรับการมาใช้ชีวิตในประเทศไทย เพื่อทำให้เกิดการจับจ่ายใช้สอย กระจายรายได้สู่ชุมชนโดยตรงและต่อเนื่องระยะยาว
”ที่ผ่านมาชาวต่างชาติอยากมีบ้านอยู่เมืองไทย อยากซื้อบ้านอยู่ในประเทศไทย ฉะนั้นรัฐบาลควรให้ความสำคัญเรื่องนี้ เพราะอนาคตต่อไปเราคงไม่สามารถจะพึ่งพิงรายได้จากการบริโภคชาวไทยเท่านั้น ต้องอาศัยกำลังซื้อจากต่างชาติ” ด้วยจุดเด่นที่เป็นเอกลักษณ์ของ “คนไทย” ที่ไม่เหมือนใครในโลก กล่าวคือ เป็นมิตรกับทุกคนซึ่งเป็นสิ่งที่ในโลกขาดหายไป! เพราะปัจจุบันในโลกมีแต่ปัญหาความขัดแย้งที่รุนแรงระหว่างประเทศที่ขยายวงกว้างไปเรื่อยๆ
”หากประเทศไทยชูประเด็นเมืองที่มีความปลอดภัย เป็นเพื่อนกับทุกคน สามารถมอบความสุข ดูแลสุขภาพให้กับทุกคนได้ เพราะเป็นประเทศที่ผลิตอาหาร มีที่อยู่อาศัยที่รองรับคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับคนต่างชาติ มีความปลอดภัย มีระบบการรักษาพยาบาลที่ดีในราคาที่ไม่แพงและอยู่อย่างมีความสุข มีสิ่งอำนวยความสะดวกสบายครบครัน จะเป็นจุดขายสำคัญของประเทศไทย
มีศักดิ์ ย้ำว่า หากไทยมีมาตรการที่ดึงดูดใจชาวต่างชาติให้เข้ามาซื้ออสังหาริมทรัพย์ในประเทศได้มากขึ้น จะเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติในการสร้างรายได้เข้าประเทศ ทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวเร็วขึ้น จากการจับจ่ายใช้สอยที่มากขึ้น!!
โดยกลุ่มคนจีนยังคงสนใจเข้ามาซื้ออสังหาริมทรัพย์ในประเทศไทย ไม่นับรวม กลุ่มลูกค้าใหม่ๆ ที่เข้ามาในตลาดอย่าง “อินเดีย” ในระหว่างที่ลูกค้าจีน และรัสเซียยังไม่สามารถเดินทางมาได้
ทางด้าน พีระพงศ์ จรูญเอก นายกสมาคมอาคารชุดไทย ระบุว่า หนึ่งในกลยุทธ์กระตุ้นตลาดอสังหาริมทรัพย์ โดยเฉพาะ “คอนโดมิเนียม” คือการดึงดูดกำลังซื้อจากต่างประเทศให้เข้ามาซื้ออสังหาริมทรัพย์ในไทย โดยการให้ Permanent Residenct Visa หรือ Green Card กับคนต่างชาติ เพื่อจะได้รับสิทธิ์การพักอาศัยระยะยาว 10 ปี เช่นเดียวกับประเทศมาเลเซีย แทนที่จะใช้อีลิทคาร์ด
”การมีมาตรการจูงใจลูกค้าชาวต่างชาติ ให้มาซื้อที่อยู่อาศัยในประเทศไทยมากขึ้น จะส่งผลดีต่อตลาดคอนโดมิเนียมสามารถกลับมาฟื้นตัวได้อีกครั้ง จาก 2 ปี ที่ผ่านมากลุ่มลูกค้าต่างชาติยังไม่กลับมาซื้ออสังหาริมทรัพย์ในไทย เพราะส่วนหนึ่ง ยังไม่สามารถเดินทางเข้ามาได้ ส่งผลให้ตลาดคอนโดมิเนียมยังขาดปัจจัยบวกที่เข้ามากระตุ้น”
อย่างไรก็ดี หลังจากการเริ่มผ่อนคลายมาตรการ Test & Go มีผลตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค.ที่ผ่านมา และเปิดประเทศอย่างเต็ม รูปแบบ 1 มิ.ย.นี้ คาดว่า จะทำให้ลูกค้าชาวต่างชาติเข้ามาซื้อคอนโดมิเนียมในประเทศไทยมากขึ้นและเห็นภาพชัดเจนในปีหน้า
ไม่ต่างจากมุมมองของ กรณ์ ณรงค์เดช ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไรมอนแลนด์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า หลังสถานการณ์ โควิด-19 คลี่คลายลงอย่างชัดเจน ภาพรวมเศรษฐกิจ ลูกค้าต่างชาติ และความมั่นใจของลูกค้าในประเทศเริ่มฟื้นกลับมา รวมถึงรัฐบาลเดินหน้าเปิดประเทศอย่างเต็มรูปแบบ ทำให้บริษัทเตรียมตัวพัฒนาโครงการเพื่อรองรับกลุ่มลูกค้าต่างชาติที่เข้ามาในรูปแบบ Branded Residence มากขึ้น
”กลุ่มลูกค้าที่มีกำลังซื้อสูงทั้งในและต่างประเทศ ต่างให้ความสำคัญกับการอยู่อาศัย ที่มีการบริการที่ครบครัน และตอบโจทย์ความต้องการในด้านต่างๆ ซึ่งกำลังซื้อของกลุ่มผู้มีความมั่งคั่งสูง (High Net Worth Individual: HNWI) ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 น้อยมาก และลูกค้ากลุ่มนี้ยังคงมองหาการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์”
การพัฒนาโครงการของไรมอนแลนด์ การใช้แบรนด์ที่เป็นที่รู้จักระดับโลก เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับลูกค้าต่อมาตรฐานของโครงการและสามารถคาดเดาการออกแบบดีไซน์ได้ในระดับหนึ่ง ทำให้การตัดสินใจซื้อง่ายขึ้น! อีกทั้งบริษัทจะได้ฐานลูกค้าของโรงแรมเหล่านั้นในการขาย เป็นปัจจัยบวกกับบริษัทที่มีพอร์ตลูกค้าไทย 61% และลูกค้าต่างชาติถึง 39%
ในช่วงวิกฤติโควิด-19 ที่ผ่านมามีดีมานด์จากกลุ่มลูกค้า “เศรษฐีประเทศเพื่อนบ้าน” ไม่ว่าจะเป็น พม่า กัมพูชา เวียดนาม และลาว ได้เข้ามาซื้อโครงการของไรมอนแลนด์อย่างต่อเนื่อง
ด้วยศักยภาพทำเลของกรุงเทพฯ ถือเป็นศูนย์กลางที่สำคัญของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ การลงหลักปักหมุด “บ้านหลังที่สอง” ในประเทศไทยจึงถือเป็นการลงทุนแห่งอนาคต
Reference: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ