อสังหาฯลุ้นฝ่าวิกฤติโลกขายใหม่3.46 แสนล.
“อสังหาฯไทย ฝ่าวิกฤติเศรษฐกิจโลก เกมขัดแย้งมหาอำนาจ ลุ้น กทม. - ปรมณฑล ปี 65 ขายใหม่ขยับ 16% ทะลุ 3.46 แสนล้าน ขณะสภาพัฒน์ รับเศรษฐกิจไทยเสี่ยง 5 ด้าน ดอกเบี้ยปรับ-สงครามยืดเยื้อ 2 ผู้พัฒนาฯ ดัง เดินหน้าขุดเรียลดีมานด์ เตือนรับมือต้นทุนพุ่ง”
ปี 2565 ถือเป็นบันไดขั้นแรก การฟื้นตัวของตลาดที่อยู่อาศัยไทย ก่อนคาดจะกลับมาเทียบเท่าสถานการณ์ปกติ ในช่วงปี 2567 อย่างไรก็ตาม ขณะนี้กำลังถูกหลายปัจจัยท้าทายจากความผันผวนของโลก และความเสี่ยงกระทบซ้ำฐานการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยอย่างน่าจับตามอง
เฝ้าระวัง 5 ปัจจัยเสี่ยง
นายวิชญายุทธ บุญชิต รองเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ยอมรับ ว่าเศรษฐกิจไทยปีนี้ มีความเปราะบางสูง จากเป้าการเติบโตทางเศรษฐกิจ หรือ จีดีพี ที่วางไว้ 3.5-4.5% และกรอบเงินเฟ้อ 1.5-2.5% เนื่องจากขณะนี้เผชิญกับปัจจัยเสี่ยงหลัก 5 เรื่อง ได้แก่ 1. ความกังวลที่โควิด-19 อาจมีการกลายพันธุ์เพิ่มเติม 2.ความผันผวนของโลก 3.ปัญหาอสังหาฯในประเทศจีน 4.ปัญหาเศรษฐกิจโลกจากประเทศอ่อนแอ และ 5.ปัญหาความขัดแย้งของรัสเซีย-ยูเครน
โดยเฉพาะประเด็นความผันผวนของโลก และสงคราม ส่งผลให้ขณะนี้ราคาน้ำมัน, ราคาสินค้า เปลี่ยนแปลงสูงสุด จนน่ากังวลต่อเศรษฐโลก สิ่งที่ท้าทายกลับเป็นพื้นฐานของเศรษฐกิจไทย ที่ยังไม่แข็งแกร่งดีพอ จากภาพการฟื้นตัว 1.6% ในปี 2564 แบบตัว K (ไม่เท่าเทียม) พบภาคท่องเที่ยวและบริการ ยังเป็นจุดอ่อน ขณะโควิด-19 ทิ้งร่องรอยทางเศรษฐกิจมากมาย ทั้งภาคธุรกิจ ครัวเรือน และภาครัฐ เกิดภาพหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นหลายประเทศ จะกดดันต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจไทยในปีนี้ ส่วนภาค อสังหาฯ ผู้ประกอบการเริ่มกังวล จากภาวะต้นทุนการพัฒนาสูงขึ้น และอัตราดอกเบี้ยมีแนวโน้มขยับ
“สิ่งที่เศรษฐกิจไทยต้องเฝ้าระวัง คือ แรงกระแทกต่อการปรับนโยบายการเงินของสหรัฐ หากดีเดย์ปรับดอกเบี้ยขึ้น แต่เงินเฟ้อไม่ลด เศรษฐกิจโลกจะหดตัวรุนแรง ซ้ำเติมการเล่มเกมใหม่ๆ ของคู่ขัดแย้ง กระทบห่วงโซ่การส่งออกของไทย ส่วนโควิดถ้าไม่จบ ภาคท่องเที่ยวไม่ฟื้น อาจฉุดจีดีพีไทยลด 0.5%”
เตือนทาวน์เฮ้าส์พุ่ง
เจาะตลาดที่อยู่อาศัย กทม.ปริมณฑล นายวิชัย วิรัตกพันธ์ รักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ (REIC) ระบุ ว่า ปีนี้ยังต้องประเมินการฟื้นตัว จากการขยายตัวของ จีดีพี , อัตราเฉลี่ยของดอกเบี้ย MRR และผลกระทบเชิงนโยบายและสถานการณ์ที่สำคัญ เช่น อัตราเงินเฟ้อทั่วไป ค่าแรง, ค่าวัสดุก่อสร้าง, รายได้ของผู้คน และอัตราดูดซับบ้านจัดสรร และคอนโดมิเนียม โดยประเมินร่วมว่ายังไม่กระทบรุนแรง แต่หากสถานการณ์เปลี่ยน ตัวเลขในแง่ต่างๆ อาจหดตัวลงราว 10%
เบื้องต้นคาดจะมีที่อยู่อาศัยขายได้ราว 77,222 หน่วย เพิ่มขึ้น 24.7% มูลค่า 346,389 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 16.1% โดยเฉพาะโครงการบ้านจัดสรร ส่วนคอนโดฯ จะเพิ่มขึ้น 40.1% แต่สิ่งที่ท้าทาย คือ จำนวนหน่วยเหลือขาย REIC คาด ณ สิ้นปี 2565 จะมีหน่วยเหลือขาย 160,472 หน่วย มูลค่า 762,810 ล้านบาท โดยเฉพาะการเร่งตัวของสต๊อกกลุ่มทาวน์เฮ้าส์ จากแผนเปิดตัวใหม่ และโครงการที่อยู่ระหว่างการพัฒนา หรือ สร้างเสร็จแล้วแต่ยังขายไม่ออก รวมถึงหากโควิค 19 ลุกลามจนต้องล็อกดาวน์ อสังหาฯคงไม่กระเตื้องเท่าที่ควร ระวังบ้านมือสองทดแทนบ้านใหม่
เสนาฯ-บริทาเนียรับมือต้นทุน
ทั้งนี้ในแง่การปรับตัวของผู้ประกอบการ นางสาวเกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เสนาดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) ยอมรับว่า ขณะนี้ผู้ประกอบการกังวลกับภาวะวิกฤติ ที่ต่างไปจากทุกครั้ง เนื่องจากในอดีต เวลาเกิดวิกฤติทางเศรษฐกิจ หรือ อื่นๆ มักทำให้ราคาของสินค้าตกลง, คนซื้อน้อยลงจากเศรษฐกิจไม่ดี ขณะเดียวกัน ต้นทุนก็จะลดลงตามไปด้วย เป็นโอกาสการซื้อตุน ไว้เพื่อรองรับการกลับมาเติบโต แต่วิกฤติโควิดครั้งนี้ ทำลายทฤษฎีข้างต้นลง ซึ่งอสังหาฯ เผชิญกับต้นทุนเพิ่มขึ้น ทั้งในแง่แรงงาน และวัสดุก่อสร้าง ที่ได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมันโลก เช่นเดียวกับปัญหาขาดแคลนแรงงาน และค่าจ้างพุ่ง ทั้งการพัฒนาบ้านและคอนโดฯ อย่างไรก็ตาม พบว่าเรียลดีมานด์ (การซื้อที่อาศัยเพื่ออยู่จริง) ยังพอมี ทำให้ผู้ประกอบการปรับตัว และขายได้ต่อ แต่แนะให้ระวังต้นทุน และกระแสเงินสดมากเป็นพิเศษ
เช่นเดียวกับ นางศุภลักษณ์ จันทร์พิทักษ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.บริทาเนีย ระบุว่า บริษัทยังสามารถเติบโตได้โดดเด่น ในกลุ่มแนวราบราคาแพง สะท้อนความต้องการของเรียลดีมานด์ โดยกุญแจความสำเร็จ คือ การปรับโปรดักส์ทั้งในและนอกบ้าน เพื่อรองรับวิถีใหม่ของผู้คน พร้อมปรับเปลี่ยนการตลาดไปสู่ออนไลน์เป็นหลัก ปี 2565 เปิดใหม่ 9 โครงการ 10,800 ล้านบาท
“โควิดถ้าไม่จบ ภาคท่องเที่ยวไม่ฟื้น อาจฉุดจีดีพีไทยลด 0.5%”
Reference: หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ