สายสีเขียว-สีแดงที่ดินพุ่ง
ปฏิเสธไม่ได้ว่าจากการพัฒนาเส้นทางรถไฟฟ้าทั้ง 2 สายทั้งสายสีแดง บางชื่อ-รังสิตและสายสีเขียวที่วิ่งถึงคูคต จังหวัดปทุมธานี ดีดีพร็อพเพอร์ตี้ วิเคราะห์ว่า ได้นำความเจริญหลากหลายด้านเข้าสู่โซนรอบนอกศูนย์กลางเมืองมากขึ้น โดยจะเห็นได้จากตลอดช่วงระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา พื้นที่ในแถบรังสิตและปทุมธานีได้รับการพัฒนาอย่างก้าวกระโดด รองรับอนาคตที่จะเชื่อมต่อการเดินทางของผู้คนที่อยู่โซนรอบนอกให้เชื่อมต่อกับตัวเมืองได้สะดวกขึ้น ช่วยแก้ปัญหาจราจรติดขัดในช่วงเวลาเร่งรีบเมื่อต้องไปทำงานในตัวเมือง
นอกจากนี้ พื้นที่รังสิตลำลูกกา ยังได้กลายเป็นที่ตั้งของบรรดาโรงงานอุตสาหกรรม บริษัท ห้างร้านต่าง ๆ และสถานที่ราชการอีกหลายแห่ง อาทิ โรงเรียน มหาวิทยาลัย โรงพยาบาล ฯลฯ เรียกได้ว่ากลายเป็นศูนย์กลางธุรกิจอุตสาหกรรมและหน่วยงานภาครัฐที่สำคัญของโซนฝั่งเหนือจากปัจจัยดังกล่าวส่งผลดีต่ออสังหาริมทรัพย์ที่อยู่ใกล้รัศมีสถานี กลายเป็นที่ต้องการจับจองของกลุ่มดีมานด์ที่กำลังมองหาที่อยู่อาศัยใหม่ เน้นการคมนาคมที่สะดวกทันใจ ใกล้รถไฟฟ้า แต่ราคาไม่สูงมากนัก
ตามข้อเท็จจริง ทำเลนี้ไม่ได้มีดีแค่รถไฟฟ้าพาดผ่านเท่านั้น ยังมีการเดินทางรูปแบบอื่นๆ ให้เลือกด้วยเช่นกัน อาทิ ทางยกระดับอุตราภิมุข หรือที่เรียกกันติดปากว่า “ทางด่วนดอนเมือง-โทลล์เวย์” ซึ่งเชื่อมต่อรังสิตเข้าสู่ใจกลางเมืองได้ง่าย รวมทั้งเชื่อมต่อกับทางพิเศษเฉลิมมหานคร ทางพิเศษศรีรัช และทางพิเศษศรีรัช-วงแหวนรอบนอกได้อย่างสะดวกเช่นกัน
รายล้อมด้วยถนนสายสำคัญหลายสาย อาทิ ถนนวิภาวดีรังสิต ถนนพหลโยธิน เชื่อมต่อกับถนนสายอื่นๆ ได้อย่างง่ายดายทั้งถนนแจ้งวัฒนะ และถนนรามอินทรา ขณะราคาประเมินที่ดินของกรมธนารักษ์ ปี 2555-2558 ปรับขึ้น 100,000 บาทต่อตารางวา ขณะราคาประเมินใหม่ปรับสูงขึ้น เกือบ 200,000 บาทต่อตารางวา
นายวสันต์ คงจันทร์ กรรมการผู้จัดการ บริษัทโมเดอร์น พร็อพเพอร์ตี้ คอนซัลแตนท์ จำกัด ระบุว่า เมื่อสายสีแดง-สายสีเขียวเชื่อมถึงจังหวัดปทุมธานี ส่งผลให้เกิดการพัฒนาขยายตามแนวเส้นทางส่งผลให้ราคาที่ดินบริเวณสถานีรังสิตประตูออกสู่จังหวัดทางภาคเหนือและอีสานขยับขึ้นติดถนนวิภาวดีรังสิตราคา 200,000 บาทต่อตารางวา ขณะทำเลฝั่งพหลโยธินสถานีคูคตสายสีเขียวราคา 300,000-400,000 บาทต่อตารางวา เทียบจากก่อนหน้านี้ไม่ถึง 1 แสนบาทต่อตารางวา พื้นที่โดยรอบพัฒนาทั้งบ้านแนวราบและคอนโดมิเนียมในราคาไม่สูงและสามารถเดินทางเข้าสู่แหล่งงานในเขตกทม. ทำเลกลางเมืองได้สะดวก
Reference: หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ