สัญญาณบวกอสังหาฯกำลังมา ครม-ไฟเขียวต่างชาติอยู่ในไทยนาน 3 เดือน ลุ้นเกณฑ์ซื้อคอนโดฯแลกถือวีซ่ายาว

21 Sep 2020 428 0

          อสังหาริมทรัพย์

          ภาวะเศรษฐกิจถดถอย ซึ่งมีผลต่อเนื่องจากเศรษฐกิจชะลอตัวตั้งแต่ปี 62 บวกกับผลกระทบการแพร่ระบาดของไวรัสโควด-19 มีผลโดยตรงต่อกำลังซื้อ และการใช้เงินของคนในประเทศ แต่ด้วยการรับมือกับวิกฤตไวรัสโควิด-19 ของประเทศไทยที่โดดเด่นในสายตาคนทั่วโลก หน่วยงานราชการ และเอกชนเห็นตรงกันว่า หากใช้ข้อได้เปรียบนี้เป็นจุดขาย จะช่วยให้ดึงชาว ต่างชาติเข้ามาในประเทศไทยมากขึ้น แม้ว่าการเดินทางระหว่างประเทศจะยังไม่ได้เปิดให้เดินทางตามปกติ แต่ด้วยความกังวลของชาวต่างชาติบางกลุ่มที่ต้องการหาที่พักในประเทศที่มั่นใจในเรื่องของการป้องกัน การแพร่ระบาดของไวรัส และความปลอดภัยในเรื่อง อื่นๆ ประกอบกับค่าครองชีพที่ไม่สูงเกินไป และเปิดรับชาวต่างชาติ ก็มีความเป็นไปได้ที่ชาวต่างชาติจะเดินทางเข้ามาในประเทศไทยมากข้น

          ขณะเดียวกันประเทศไทยก็ต้องการเงินเข้ามาหมุนในระบบทดแทนเงินที่หายไป จากการที่นักท่องเที่ยว ต่างชาติ และธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวหายไปแทบไม่เหลือ โดยเฉพาะในเมืองท่องเที่ยวต่างๆ การ ดึงคนต่างชาติเข้ามาจึงเป็นหนึ่งช่องทางในการกระตุ้นให้ เกิดการหมุนเวียนของเงินจากชาวต่างชาติให้มากขึ้น โดยพยายามให้เกิดการหมุนเวียนเงินให้มากกว่าที่ เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์จึงกลายเป็นหนึ่งในธุรกิจที่จำเป็นและเร่งด่วนในการทำให้เกิด การหมุนเวียนของเงินในระบบ เพราะธุรกิจอสังหาฯ นับว่าเป็นธุรกิจต้นน้ำที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจจำนวนมาก มาตรการในการดึงชาวต่างชาติเข้ามาในช่วงนี้จึงล้วนเกี่ยวข้องกับธุรกิจอสังหาฯ

          นายสุรเชษฐ กองชีพ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ฟินิกซ์ พร็อพเพอร์ตี้ ดีเวลลอปเม้นท์ แอนด์ คอนซัลแทนซี่ จำกัด กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ และสมาคมที่เกี่ยวกับธุรกิจอสังหาฯ มีการเข้าพบนายกรัฐมนตรีเพื่อขอให้มีมาตรการออกมา กระตุ้นกำลังซื้อ และส่วนหนึ่งของข้อเรียกร้องคือ การผ่อนปรนให้ชาวต่างชาติเข้ามาซื้ออสังหาฯ ในประเทศไทยได้มากขึ้น จากนั้นไม่กี่วันที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติให้ชาวต่างชาติสามารถอยู่ในประเทศไทยได้นาน ถึง 270 วันหรือ 9 เดือนภายใต้เงื่อนไขที่กำหนด เพียงแต่ต้องมีการกักตัวในสถานที่ที่ได้รับอนุญาต และต้องมีเอกสารยืนยันว่าเป็นเจ้าของคอนโดมิเนียมในประเทศไทยด้วย ในกรณีที่ไม่ได้พักในโรงแรม ซึ่งเรื่องนี้ก็มีส่วน กระตุ้นให้เกิดการเข้ามาของชาวต่างชาติมากขึ้น

          ล่าสุดคณะกรรมการบริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบศ.รับลูกด้วยการเห็นชอบในหลักการที่ทางคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนหรือ BOI เสนอให้ผ่อนเกณฑ์ในการพิจารณาการมี ถิ่นที่อยู่อาศัยของชาวต่างชาติในประเทศไทย ซึ่งทั้ง 3 เรื่องนั้นดูเหมือนจะเป็นไปในทิศทางเดียวกัน คือ ดึงกำลังซื้อของชาวต่างชาติเข้ามาในประเทศเพื่อชดเชย กำลังซื้อคนไทยที่ลดลง และเพื่อให้เกิดรายได้กับหลายๆ ธุรกิจของประเทศไทยที่ได้รับผลกระทบจากการหายไปของนักท่องเที่ยวต่างชาติ

          สำหรับคุณสมบัติของชาวต่างชาติตามเกณฑ์การขอมีถิ่นที่อยู่ของชาวต่างชาติในประเทศไทยตามเกณฑ์ที่ทาง BOI เสนอต่อ ศบศ.นั้น คาดว่าเป็นเกณฑ์ที่ใช้กับชาวต่างชาติในกรณีที่เข้ามาลงทุนในประเทศไทย แต่จะต้องมีการแก้ไขและปรับปรุงกันใหม่อีกครั้ง สำหรับ เกณฑ์เดิมทีที่ใช้อยู่ปัจจุบันประกอบด้วย การเป็นผู้นำเงินเข้ามาลงทุนเป็นจำนวนไม่น้อยกว่า 10 ล้านบาท โดยมีหนังสือรับรองจากธนาคารพาณิชย์ในประเทศไทย ซึ่งแสดงหลักฐานการโอนเงินจากต่างประเทศเข้ามาในประเทศไทย และการลงทุนต้องมีลักษณะที่เป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจของประเทศอย่างใดอย่างหนึ่งหรือรวมกัน ในกรณีดังต่อไปนี้ คือ 1. ลงทุนในบริษัทจำกัด หรือบริษัทมหาชนจำกัด โดยต้องมีเอกสารหลักฐานแสดงการลงทุนซึ่งรับรองโดยหน่วยงานของรัฐบาลที่เกี่ยวข้อง และกิจการนั้นจะต้องไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อย วัฒนธรรม หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือ 2. ลงทุนซื้อพันธบัตรรัฐบาล หรือพันธบัตรรัฐวิสาหกิจ ที่กระทรวงการคลังหรือธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นผู้ค้ำประกัน โดยแสดง หลักฐานเกี่ยวกับการเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ใน พันธบัตรนั้นๆ และ 3. ลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ เช่น หุ้นสามัญ หุ้นกู้ หรือหน่วยลงทุน เป็นต้น ทั้งนี้ ต้องได้รับอนุมัติ หรือรับรองจากคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาด หลักทรัพย์ พร้อมกับแสดงหลักฐานใบหลักทรัพย์ดังกล่าวข้างต้น

          ทั้งนี้ สิ่งที่สำคัญคือ ชาวต่างชาติที่จะขอเรื่องนี้ ต้องพำนักในประเทศไทยมาแล้วไม่น้อยกว่า 3 ปีและได้รับอนุญาตเป็นรายปีมาก่อนหน้านี้แล้ว จากเกณฑ์นี้จะเห็นว่ายังไม่มีเรื่องของอสังหาริมทรัพย์เลย การยื่นข้อเสนอของ BOI ชัดเจนว่าเกี่ยวข้องกับอสังหาฯ ด้วยแน่นอน เพียงแต่ไม่ได้ระบุหรือว่ากำหนดลงไปในรายละเอียดแบบชัดเจนว่าต้องลงทุนเท่าไหร่จึงจะได้สิทธิเข้ามามีถิ่นที่อยู่ในประเทศไทยได้ แต่ตามมาตรา 96 ของพระราชบัญญัติประมวลกฎหมายที่ดินระบุว่า ชาวต่างชาติสามารถเป็นเจ้าของที่ดินขนาด 1 ไร่ได้หากพวกเขาลงทุนไม่น้อยกว่า 40 ล้านบาทในพันธบัตรรัฐบาล หรือลงทุนในหุ้นสามัญของนิติบุคคลที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนภายใต้กฎหมายส่งเสริมการลงทุนที่เกี่ยวข้อง หรือลงทุนในกองทุนรวม อสังหาฯ เพื่อแก้ไขปัญหาในระบบสถาบันการเงิน หรือกองทุนรวมเพื่อแก้ไขปัญหาในระบบสถาบันการเงิน โดยชาวต่างชาติที่ได้รับอนุญาตต้องดำรงการลงทุนนั้นๆ ไว้ไม่น้อยกว่า 5 ปี ซึ่งจากข้อเสนอของ BOI ต่อ ศบศ.นั้น คาดว่าจะเกี่ยวข้องกับหลักเกณฑ์นี้เพื่อกระตุ้นให้ ชาวต่างชาติเข้ามาในประเทศไทยมากขึ้น ซึ่งจะเป็นการกระตุ้นให้เกิดการลงทุนโดยตรงจากชาวต่างชาติมากขึ้นซึ่งเกี่ยวข้องกับ BOI และธุรกิจอสังหาฯจะได้รับอานิสงส์จากกำลังซื้อชาวต่างชาติที่เพิ่มขึ้น

          มาตรการต่างๆ ถ้าสามารถนำมาพิจารณาและประกาศออกมาให้พอเหมาะกับช่วงเวลาก็อาจจะเป็นอีก 1 ช่องทางในการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศไทยได้ เพราะเงินจากต่างชาติเป็นสิ่งที่ขาดหายไปในภาวะการเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 อีกทั้งประเทศไทยเป็นประเทศที่พึ่งพาการท่องเที่ยวเป็นส่วนสำคัญของการ ขยายตัวทางเศรษฐกิจ ดังนั้น เมื่อธุรกิจท่องเที่ยวแทบไม่มีกิจกรรมใดๆ ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา และยังไม่มีทีท่าว่าจะดีขึ้น การรับชาวต่างชาติในรูปแบบของการ พักอาศัยในระยะยาวควบคู่กับการซื้ออสังหาฯ

          ทั้งนี้ การกำหนดระยะเวลาการถือครองเป็นอีก 1 ช่องทางการกระตุ้นเศรษฐกิจในภาวะปัจจุบัน ซึ่งในหลายๆ ประเทศดำเนินการอยู่ เช่น ประเทศที่ชาวต่างชาติได้ รับวีซ่าระยะยาวหรือสิทธิในการพำนักในประเทศนั้นๆ ได้นานขึ้น เมื่อลงทุนหรือซื้ออสังหาริมทรัพย์ คือ มาเลเซียซึ่งมีโปรแกรม Malaysia My Second Home (MM2H) โดยเมื่อชาวต่างชาติซื้อหรือเช่าซื้ออสังหาฯ ที่มีราคา มากกว่า 1,000,000 ริงกิตมาเลเซียภายใต้โปรแกรม MM2H  จะได้รับใบอนุญาตเดินทางแบบสังคมที่สามารถเดินทางเข้า-ออกได้หลายครั้งเป็นระยะเวลา 10 ปีโดยครอบคลุมถึงคู่สมรส และบุตรอีก 2 คน นอกจากนี้ ยังต่ออายุได้เมื่อครบ 10 ปี

          ขณะที่ออสเตรเลียก็เป็นอีกหนึ่งประเทศ ที่เปิดให้ชาวต่างชาติลงทุนขั้นต่ำ 1.5 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลียในพันธบัตรรัฐบาลโดยใช้ทุนที่ปราศจากภาระผูกพันที่ได้ มาจากธุรกิจหรือการลงทุนที่เหมาะสม และต้องถือครองอย่างน้อย 4 ปี จากวันที่ออกหนังสือในรัฐหรือเขตปกครองที่ได้ร่วมรายการ โดยผู้ที่ลงทุนจะได้วีซ่าระยะยาว 4 ปี นอกจากนี้ สิงคโปร์ คืออีกประเทศที่เปิดโอกาสให้ชาวต่างชาติลงทุนอย่างน้อย 2.5 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ในบริษัทใหม่รวมไปถึงการขยายธุรกิจของธุรกิจเดิมในอุตสาหกรรมที่ได้รับการอนุมัติ หรือลงทุนอย่างน้อย 2.5 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ในกองทุนที่ได้รับการอนุมัติที่ลงทุนในบริษัทที่อยู่ในสิงคโปร์ ผู้ลงทุนสามารถได้รับสิทธิการอยู่อาศัยแบบถาวรในสิงคโปร์ โดยการจัดตั้งธุรกิจใหม่ในสิงคโปร์หรือลงทุนในกองทุนที่ได้รับการอนุมัติซึ่งคู่สมรส และ ผู้ที่อยู่ภายใต้การปกครองที่อายุน้อยกว่า 21 ปี สามารถเข้าร่วมรายการได้ จากนั้นสามารถยื่นขอรับสิทธิพลเมืองหลังจากถือการอยู่อาศัยแบบถาวรอย่างน้อย 2 ปี นอกจากนี้ยังมีอีกหลายประเทศที่เปิดโอกาสให้ชาวต่างชาติเข้าไปลงทุนในอสังหาฯ แล้วได้รับวีซ่าระยะยาว เช่น แคนาดา ฝรั่งเศส กรีซ นิวซีแลนด์ สเปน สหรัฐอเมริกา อังกฤษ

          แนะจัดแคมเปญ 5 ปีเว้นภาษี-เพิ่มสัดส่วนต่างชาติ ถือครองคอนโดฯ ดึง ตปท.

          นายธนากร ธนวริทธิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ออลล์ อินสไปร์ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ในขณะนี้ต้องยอมรับว่ากำลังซื้อในประเทศเพียงอย่างเดียว ไม่เพียงพอจะผลักดันเศรษฐกิจให้กลับมาฟื้นตัวได้ จำเป็นที่เราจะต้องเปิดรับกำลังซื้อจากต่างชาติเข้ามาช่วย ซึ่งการกระตุ้นให้เกิดการลงทุนในภาคอสังหาฯ ของชาวต่างชาติถือเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยผลักดันให้เศรษฐกิจกลับมาฟื้นตัวได้เร็วขึ้น ทั้งนี้ การขยายอายุวีซ่าให้กับนักลงทุนหรือผู้ซื้ออสังหาฯ ในประเทศไทยนั้นเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี แต่หากมีการเพิ่มสัดส่วนการถือครองกรรมสิทธิ์ห้องชุดให้กับชาวต่างชาติเพิ่มเติมจาก 49% ไม่ว่าจะเพิ่มเป็น 60-70% หรือจะเปิดฟรี 100% ก็จะช่วยกระตุ้นให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาซื้ออสังหาฯในประเทศไทยได้มหาศาล

          สำหรับการเพิ่มสัดส่วนการถือครองกรรมสิทธิ์ ห้องชุดชาวต่างชาตินั้น ไม่จำเป็นต้องเปิดในระยะยาว แต่อาจจะจัดเป็นแคมเปญระยะสั้น 3-5 ปี เพื่อระบายสต๊อกห้องชุดในตลาดในปัจจุบัน ซึ่งในแคมเปญนี้อาจเพิ่มเติมในเรื่องการลดภาษีการโอน และจดจำนอง บวกเข้าไปด้วยเพื่อให้เกิดแรงจูงใจมากขึ้น เชื่อว่าจะช่วยระบายสต๊อกในตลาดออกไปได้ในระยะเวลาอันสั้น

          “แม้ว่าจะมีการลดภาษีต่างๆ ให้ แต่ผลตอบแทนที่ได้กลับมาจะมากกว่าแน่นอน เพราะหากบริษัทอสังหาฯ มีรายได้จากการโอนมากขึ้นรัฐก็สามารถจัดเก็บภาษี จากผู้ประกอบการได้เพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันก็จะก่อให้เกิดการใช้จ่ายในธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับอสังหาฯ หมุนเวียนเข้าสู่ระบบ ไม่ว่าจะเป็นการซื้อเฟอร์นิเจอร์ การจ้างงาน นอกจากนี้การเข้ามาพักอาศัยของชาวต่างชาติยังเป็นการนำเงินมาใช้จ่ายในประเทศจำนวนมาก”

          รอรัฐอนุมัติเกณฑ์ซื้ออสังหาฯ แลกถือวีซ่า

          ด้านนายอธิป พีชานนท์ ประธานคณะกรรมการสมาคมการค้ากลุ่มอสังหาริมทรัพย์และออกแบบก่อสร้างสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวถึงแนวทางรัฐบาลได้ขยายสิทธิประโยชน์เรื่องวีซ่าพิเศษว่า เพื่อส่งเสริม ภาคการท่องเที่ยวภายในประเทศ ดึงนักท่องเที่ยวที่มี กำลังซื้อเข้ามาจับจ่ายใช้สอย ซึ่งภาครัฐคาดหวังจะเกิดการใช้จ่ายต่อคนตามประมาณการ 10,000 บาท

          “รัฐต้องการให้นักท่องเที่ยวเข้ามาพัก แต่ก็อาจจะมีบางส่วนที่เข้ามาซื้อหรือโอนคอนโดมิเนียมก็ได้ การจะส่งเสริมให้เข้ามาซื้ออสังหาริมทรัพย์เพื่อรองรับเป็นบ้านหลังที่สองนั้น จะต้องแยกออกมาเป็นมาตรการกระตุ้นเพิ่มเติม เหมือนที่เคยเกิดขึ้นหลังเกิดวิกฤตปี 2540 ถ้าเข้ามาซื้ออสังหาฯ ในมูลค่า 10 ล้านบาท จะได้สิทธิ permanent resident visa ประมาณ 10 ปี”

          อย่างไรก็ตาม ทางผู้ประกอบการภาคอสังหาฯ ได้เคยนำเสนอต่อภาครัฐ ที่จะจูงใจนักลงทุนเข้ามาซื้อ อสังหาฯ ในมูลค่า 5 ล้านบาท กับการได้สิทธิถือวีซ่าครั้งละ 1 ปี (365 วัน) จนกว่าไม่ได้เป็นเจ้าของห้องชุดแล้ว ซึ่งจะสะดวกจากเดิมที่จะอยู่ได้เพียง 30 วันเท่านั้น

          “ข้อเสนอดังกล่าว เป็นการจูงใจหากต้องการได้สิทธิอยู่ในประเทศไทยนาน ก็ต้องเอาเงินเข้ามาซื้อคอนโดฯ ในไทยอย่างน้อยไม่น้อยกว่า 5 ล้านบาท ตรงนี้ก็จะเป็นการดี ในเรื่องป้องกันบางกลุ่มที่เข้ามาอยู่ในไทยแค่ช่วงสั้นๆ หนีโควิด และไม่ได้คิดจะจับจ่ายใช้สอย” นายอธิปกล่าว ทั้งนี้ ฐานของการนำเสนอตัวเลข 5 ล้านบาท เนื่องจากเป็นตัวเลขที่ไม่มากหรือน้อยจนเกินไป (ขณะที่ประเทศมาเลเซีย ตัวเลขอยู่ที่กว่า 4 ล้านบาทในการได้สิทธิการอยู่อาศัย) และเป็นชนชั้นกลางของนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่สามารถซื้อ ช่วยสร้างกลุ่มกำลังซื้อที่มากกว่า แทนที่จะกำหนดตัวเลข 10 ล้านบาท กลุ่มที่จะเข้ามาใช้ประโยชน์จะมีขนาดที่เล็กลง

          “จริงๆ แล้ว เรื่องการให้สิทธิการถือวีซ่าผ่านการซื้ออสังหาฯ อาจจะไม่ใช่เรื่องด่วน จะพูดก็ได้ ไม่พูดก็ได้ เพราะตอนนี้ อสังหาฯ ก็เหมือนเจอเหตุการณ์ไฟไหม้บ้าน ก็ต้องขอถังดับเพลิงมานับไฟก่อน นาทีนี้ต้องขอสิ่งที่ จำเป็นก่อน เช่น ค่าธรรมเนียมการโอนกรรมสิทธิ์และค่าจดจำนอง ปลดล็อกมาตรการ LTV เอาที่จำเป็นก่อน เพราะตอนนี้เหตุการณ์มันรุนแรงขึ้นกว่าเดิม แต่หากรัฐเปิดน่านฟ้าเมื่อไหร่ ประเด็นเรื่องการเข้ามาลงทุน 5 ล้านบาท ก็อาจจะถูกหยิบยกอีกครั้ง ในเวลานี้ เราต้องขอสิ่งที่ประชาชนได้ประโยชน์ก่อน”

          กำลังซื้อจากชาวจีน ยังไม่กลับมาดี

          นายดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยถึงผลกระทบกำลังซื้อจากต่างประเทศว่า ส่วนใหญ่ตลาดแนวสูง (คอนโดมิเนียม) จะได้รับผลมากกว่าตลาดแนวราบ ซึ่งในช่วงปี 61 ดีมานด์จากต่างชาติ มีมูลค่าสูงขึ้นมาก เฉพาะในเดือน มิ.ย. 61 มีมูลค่าเงินโอนคำนวณจากมูลค่าการขายเงินตราต่างประเทศเพื่อดาวน์หรือซื้อ อาคารชุดสูงเกินกว่า 60,000 ล้านบาท โดยมีกำลังซื้อหลักมาจากกลุ่มลูกค้าชาวจีน

          อย่างไรก็ดี ผลกระทบจากปัญหาเรื่องสงครามการค้า (เทรดวอร์) ได้ทำให้มูลค่าดีมานด์จากต่างชาติลดลง โดยเป็นผลจากกำลังซื้อของลูกค้าชาวจีนที่เจอปัญหา เรื่องเทรดวอร์ และซ้ำเติมด้วยการระบาดของเชื้อไวรัส โควิด-19 มีการปิดประเทศ (ล็อกดาวน์) ไม่สามารถ เดินทางเข้ามายังประเทศไทยได้

          ทางแบงก์ชาติ คิดว่า ต่อให้เปิดประเทศ คาดว่า กำลังซื้อจากต่างประเทศ โดยเฉพาะกลุ่มลูกค้าชาวจีน ไม่น่าจะกลับมาได้เร็ว นอกจากนี้ ในเรื่องสัญญาของอัตราดอกเบี้ยนโยบายนั้น อาจจะอยู่ในระดับต่ำต่อเนื่อง “เราคงตอบไม่ได้ว่า จะนานแค่ไหน แต่คิดว่า หลังหมดวาระของผู้ว่าฯแบงก์ชาติคนใหม่ อัตราดอกเบี้ยก็ยังไม่ขึ้น”

          ด้าน ดร.วิชัย วิรัตกพันธ์ ผู้ตรวจการธนาคาร อาคารสงเคราะห์ และรักษาการผู้อำนวยการ ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ หรือ REIC กล่าวว่า ช่วงที่ผ่านมา ยอดขายในกลุ่มลูกค้าต่างชาติลดลง ซึ่งเป็นไปตามภาวะตลาด ประกอบกับในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา การโอนกรรมสิทธิ์ของลูกค้าต่างชาติ ผู้ประกอบการทยอยโอนโครงการคอนโดฯ มาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งสัดส่วนของลูกค้าต่างชาติมีประมาณ 10% ของตลาด คิดว่าไม่ได้ส่งผลกระทบกับตลาด อสังหาฯ โดยรวมมากนัก 

Reference:

Click icon to remove from or add to favorite list
Click to choose and click "Compare" button