วิกฤตโควิดฉุดราคาที่ดินทรงตัวชี้สภาพคล่องตัวแปรดีลซื้อ-ขายรร.
”เซ็นจูรี่ 21” เผยวิกฤตโควิด-19 ฉุดราคาที่ดิน-โครงการอสังหาฯ ในพื้นที่ กทม.-ปริมณฑล และจังหวัดท่องเที่ยวในภูมิภาคทรงตัว ชี้อสังหาฯ ในธุรกิจท่องเที่ยวกระทบหนักปัญหาสภาพคล่อง จะเป็นตัวแปรสำคัญในการเจรจาซื้อ-ขายโรงแรม
นายกิติศักดิ์ จำปาทิพย์พงศ์ ประธานและผู้ก่อตั้ง บริษัท เซ็นจูรี่ 21 (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 ในปัจจุบัน ซึ่งยังไม่มีความชัดเจนว่าจะจบลงเมื่อไร แม้ว่าทุกอย่างเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น แต่ภาคอสังหาฯและการพัฒนาเพื่อการ ท่องเที่ยว ที่รองรับนักท่องเที่ยวทั้งในและต่างประเทศ ยังได้รับผลกระทบ
ทั้งนี้ ราคาที่ดินในพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑล ซึ่งเป็นตัวชี้วัดในเรื่องการหาซื้อขายที่ดิน เพราะการพัฒนาโครงการกว่า 70% กระจุกตัวในพื้นดังกล่าว ราคาไม่ได้ ลดลงเหมือนที่คาดไว้ หลังจากอุปสงค์การซื้อขายที่อยู่อาศัย โดยเฉพาะคอนโดมิเนียม รวมทั้งอุตสาหกรรมท่องเที่ยวชะลอตัวลง
ทั้งนี้ ในโซน CBD ราคาซื้อขายจริงสูงถึงตารางวาละ 2-2.5 ล้านบาท ขณะที่ราคาประเมินในทำเลเดียวกันสูงสุดอยู่ที่ 1 ล้านบาทเท่านั้น ซึ่งราคาซื้อขายจริงที่สูงขึ้น เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ราคาคอนโดฯ ในตลาดสูงขึ้นตาม โดยช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ราคาซื้อขายคอนโดฯ ได้ปรับขึ้น 15.5-18% ต่อปี ทำให้ผู้ซื้อชาวไทยเข้าถึงการซื้อได้ยากขึ้น
“แม้ว่าทางรัฐบาลจะปรับลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างในปี 2563 ลง 90% แต่อาจจะไม่ส่งผลกระทบมากนัก ในแง่ของการซื้อขายที่ดิน อีกทั้งการเปิดตัวรถไฟฟ้าในแถบชานเมืองในอนาคตอันใกล้นี้ เช่น รถไฟฟ้าสายสีชมพู (แคราย-มีนบุรี) หรือ สายสีเหลือง (ลาดพร้าว-สำโรง) แต่ด้วยสถานการณ์โรคระบาด ณ ปัจจุบัน เราอาจจะไม่ได้เห็นราคาที่ดินเปลี่ยนแปลงในปีหน้าก็เป็นได้”
ขณะเดียวกัน ผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 ทำให้กิจการประเภทโรงแรม และเซอร์วิสอพาร์ตเมนต์ นำออกมาขายในตลาด ซึ่งในบางทำเลสามารถนำที่ดินมาเปลี่ยนการพัฒนาโครงการแนวสูงได้ ขณะที่ในหัวเมืองท่องเที่ยวชั้นนำ เช่น จังหวัดภูเก็ต และสุราษฎร์ธานี (เกาะสมุย) เริ่มเห็นมีการปล่อยที่ดินหลายแปลงออกมาให้เช่าระยะยาว แทนการขายที่ดินออกไป เนื่องจากราคาอาจจะยังไม่ได้ตามที่ตั้งไว้ ขณะที่ผู้ประกอบการหลายรายชะลอการลงทุนออกไปจนถึงปลายปี 63
ราคาที่ดินในพื้นที่ภาคใต้ คาดว่าในปี 64 ปรับขึ้น คงไม่เกิน 5% อาทิ ภูเก็ต กระบี่ พังงา หรือสุราษฎร์ธานี (เกาะสมุย) ซึ่งที่มีรายได้หลักมาจากนักท่องเที่ยว ยังมีโครงการที่อยู่ระหว่างการพัฒนาก่อสร้างที่ยังไม่เสร็จ คาดว่าการซื้อขายที่ดินแปลงใหม่ๆ จะยังคงชะลอตัว และจะมีทรัพย์สินประเภทโรงแรม รีสอร์ต ออกมาเสนอขายในตลาดมากขึ้น โดยอาจมีการเข้าซื้อกิจการและทรัพย์สินประเภทโรงแรมของนักลงทุนต่างชาติ โดยเฉพาะนักลงทุนชาวจีน ฮ่องกง และสิงคโปร์
ในพื้นที่ภาคเหนือ ที่ดินที่ประเมินสูงสุดยังคงเป็นในย่านกลางเมืองจังหวัดเชียงใหม่ แต่ราคาเพิ่มขึ้นเพียง 5-6% ขณะที่ในจังหวัดอื่นๆ กลับเปลี่ยนแปลงในระดับ 30-60% โดยเฉพาะจังหวัดน่าน ราคาที่ดินปรับขึ้นกว่า 100%
ส่วนพื้นที่ภาคตะวันออก โดยเฉพาะ 3 จังหวัดใน EEC ราคาที่ดินได้ปรับขึ้นมาหลายปี โดยพื้นที่แหล่ง ท่องเที่ยวเมืองพัทยา เป็นพื้นที่ที่ได้รับการประเมินราคาสูงสุดของภาคตะวันออก คาดว่าราคาที่ดินในโซนนี้น่าจะมีการปรับตัวขึ้น แต่ด้วยนักท่องเที่ยวและผู้ซื้อชาวจีน ลดลง จะเป็นตัวแปรที่ส่งผลให้การซื้อขายที่ดินเพื่อการพัฒนาโครงการต่างๆ ลดลง ซึ่งส่งผลให้ราคาที่ดินไม่ปรับสูงขึ้นในปีหน้า ในพื้นที่ภาคตะวันออก น่าจะมีแนวโน้มราคาปรับตัวขึ้น แต่อาจไม่มากเหมือนใน 4-5 ปีที่ผ่านมา เฉลี่ย 12-15% ส่วนที่ดินที่ใกล้กับระบบโครงการสาธารณูปโภคขนาดใหญ่ ราคาที่เพิ่มขึ้นได้ถึง 30%
“แม้ว่าจะมีโครงการอสังหาฯ ในส่วนของโรงแรมหรือที่ดิน ที่ผู้ประกอบการนำออกมาเสนอขายในตลาดจำนวนมาก แต่ในเวลานี้อาจจะยังไม่ใช่จังหวะเวลาของผู้ซื้อ เนื่องจากราคาที่บอกขายยังเป็นราคาที่ผู้ประกอบการ คาดหวังกำไรที่สูงอยู่ โดยคาดว่าในไตรมาสที่ 3 อาจจะได้เห็นราคาเสนอขายโรงแรมที่ลดลงจนถึงราคาเท่าทุน และหากภาวะเศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัว ผู้ประกอบการจะยอมเสนอขายในราคาที่ขาดทุน แต่จะขาดทุนมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับการรับมือปัญหาสภาพคล่องของผู้ประกอบการแต่ละราย ซึ่งในไตรมาสที่ 4 ไปจนถึงปี 64 ถึงจะเป็นโอกาสของ ผู้ซื้อ”
Reference: ผู้จัดการรายวัน 360 องศา