ลด ค่าโอน-จดจำนอง บ้าน-คอนโด ชนวนสงครามราคา-เร่งระบายสต็อก
บุษกร ภู่แส
กรุงเทพธุรกิจ
หลังจากกระทรวงมหาดไทยออกประกาศลดค่าธรรมเนียมโอน-จดจำนอง บ้าน, คอนโด ไม่เกิน 3 ล้าน เหลือ 0.01% และได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษามี ผลบังคับใช้แล้วตั้งแต่วันที่ 3 ก.พ. 2564 ส่งผลให้สงครามราคาอสังหาฯ ระลอกใหม่ ปะทุขึ้นอีกครั้ง หลังก่อนหน้านี้เคยเกิดขึ้นช่วงการแพร่ระบาดของโควิดรอบแรกที่หั่นราคา ระบายสต็อก 15-30% เพื่อเพิ่ม สภาพคล่อง
อิสระ บุญยัง กรรมการผู้จัดการ บริษัท กานดา พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด กล่าวว่า มาตรการที่ออกมา เป็นประโยชน์ท่ามกลางสถานการณ์เศรษฐกิจที่ต้องเผชิญวิกฤติโรคระบาด ‘โควิด’ ระลอกใหม่ตั้งแต่ต้นปี เพราะเป็นตัวช่วยประคับประคองตลาดอสังหาฯ เนื่องจากมาตรการภาครัฐจะมีผลทางจิตวิทยาสูงกว่าโปรโมชั่นของผู้ประกอบการ เพราะทำให้ผู้ซื้อหรือลูกรู้สึกว่าเป็นช่วงเวลาพิเศษของการซื้อที่อยู่อาศัย
”หากคิดเป็นสัดส่วนถือเป็นแรงกระตุ้นในการตัดสินใจซื้อได้ถึง 20-30% เพราะถ้าไม่มีมาตรการรัฐแล้วผู้ประกอบการจัดแคมเปญลดราคา จะไม่สามารถกระตุ้นความรู้สึกของผู้ซื้อได้แรงเท่ากับมีมาตรการรัฐออกมาช่วยกระตุ้น เพราะ90% ของการซื้ออสังหาฯผู้ซื้อกู้แบงก์การมีมาตรการรัฐออกมาจึงตอบโจทย์ “
อิสระ ระบุว่า แม้ว่ามาตรการที่ออกมา จะไม่ครอบคลุมทุกระดับราคา แต่ถือเป็น เวลาที่ดีสำหรับผู้ซื้อในทุกระดับราคา เพราะหลายบริษัทที่มีคอนโด บ้านราคาบ้านเกิน 3 ล้านบาทก็จะจัดโปรโมชั่นออกมารับกับมาตรการนี้ด้วย เพราะต้องการขายอยู่แล้ว !!! ในภาวะแบบนี้ต้องเร่งระบาย สต็อกให้ได้มากที่สุด เพราะอารมณ์ซื้อมาแล้ว สังเกตได้จากแคมเปญโปรโมชั่นที่ออกมารับกับมาตรการดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นคอนโดที่มีสต็อกเหลืออยู่ หรือแนวราบ ที่จะได้รับประโยชน์จากมาตรการนี้
”แสนผิน สุขี” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ โฮม (ประเทศไทย) มองว่า มาตรการ ช่วยทำให้ขายได้ง่ายขึ้น เพราะมีผลในเชิงจิตวิทยาสำหรับผู้บริโภคที่ต้องการซื้อที่อยู่อาศัยรู้ว่าถ้าไม่ซื้อช่วงนี้ ถ้าสถานการณ์เศรษฐกิจดีขึ้นจะไม่มีมาตรการเหล่านี้ออกมาแน่นอน จึงเป็นเหตุผลที่ อสังหาฯต้องออกโปรโมชั่นออกมาเยอะมากเพราะสต็อกยังเหลืออยู่ ต้องรีบระบายก่อนจะเปิดตัวโครงการใหม่
”ปัญหาเวลานี้คือคนรู้สึกกังวล ไม่มั่นใจ ทำให้ทุกอย่างชะลอไปหมด ส่งผลกระทบให้เศรษฐกิจชะลอตัวตามไปด้วย เหมือนคนขาดพลังที่จะทำงาน ยิ่งคนอยู่เฉยเศรษฐกิจยิ่งแย่”
เช่นเดียวกับ “อนุพงษ์ อัศวโภคิน” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เอพี ไทยแลนด์ที่ระบุว่า ครึ่งแรกของปี 2564 ตลาดคอนโด จะมุ่งไปในเกมราคาเพื่อเคลียร์สต็อกคงค้าง ซึ่งยังไม่เหมาะกับการเปิดตัวคอนโดใหม่”
”ปิยะ ประยงค์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พฤกษา เรียลเอสเตท จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า มาตรการดังกล่าวช่วยลด ภาระค่าใช้จ่ายสำหรับผู้ซื้อได้มาก ช่วยกระตุ้นการตัดสินใจซื้อได้มาก พร้อมกันนี้บริษัทก็ได้ร่วมมือกับสถาบันการเงินที่เป็นพันธมิตร ให้อัตราดอกเบี้ยพิเศษสำหรับลูกค้าด้วย และเพื่อช่วยแบ่งเบาภาระลูกค้าให้มีที่อยู่อาศัยที่ถูกใจได้ง่ายยิ่งขึ้น โดย ไม่ต้องกังวลกับภาระค่าใช้จ่ายต่างๆ ลูกค้าจะได้รับเงื่อนไขพิเศษโดยรับสิทธิ อยู่ฟรี นานสูงสุดถึง 36 เดือน หรือ ดอกเบี้ยฟรี 0% สูงสุด 36 เดือน หรือ ฟรี ค่าส่วนกลาง สูงสุดนานถึง 36 เดือนภายใต้แคมเปญ “มหกรรมแจกฟรี” ซึ่งได้รวมที่อยู่อาศัยพร้อมอยู่จากทุกแบรนด์ในเครือพฤกษา ทั้งในกรุงเทพและต่างจังหวัด ในระดับราคาเริ่มต้นตั้งแต่ 1.2-19 ล้านบาท จำนวน 128 โครงการระหว่างวันที่ 1 ก.พ.- 31 มี.ค.
อุทัย อุทัยแสงสุข ประธานผู้บริหารสายงานปฏิบัติการ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า มาตรการที่จะสิ้นสุด วันที่ 31 ธ.ค. เป็นนโยบายที่จะช่วยสนับสนุนประชาชนให้มีที่อยู่อาศัยได้ง่ายขึ้น รวมถึงส่งผลให้ตลาดที่อยู่อาศัยมีอัตราการอัตราการเติบโตดีขึ้น ปัจจุบันแสนสิริมีโครงการที่อยู่อาศัยระดับราคาไม่เกิน 3 ล้านบาทพร้อมอยู่ครอบคลุมในทุกทำเล ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ซึ่งประกอบด้วย คอนโดมิเนียม ทาวน์โฮม และมิกซ์โปรดักส์รวม 20 โครงการ ผ่านแคมเปญ “แสนสิริผ่อนให้ 24 เดือน”
สอดคล้องกับที่ อลิวัสสา พัฒนถาบุตร กรรมการผู้จัดการ ซีบีอาร์อี ประเทศไทย ระบุไว้ว่า ช่วงการระบาดของโควิด-19 รอบแรก ผู้พัฒนาโครงการจัดแคมเปญ ลดราคา 15-30% เพื่อระบายสต็อก เพิ่มรายได้ และปีนี้รูปแบบดังกล่าวก็ยังมีให้เห็น ส่วนโครงการคอนโดใหม่ ส่วนลดเฉลี่ย 5-10% เพราะต้นทุนราคาที่ดินสูงขึ้น แต่ยังคงต้องลดราคาลงเพื่อให้เหมาะสมกับกำลังซื้อของผู้บริโภคในประเทศที่ มีอยู่จำกัด แม้ว่าจะทำให้กำไรลดลง
”ถ้าไม่มีมาตรการรัฐผู้ประกอบการจัดแคมเปญลดราคาจะไม่สามารถกระตุ้นความรู้สึกของผู้ซื้อได้แรงเท่ากับมีมาตรการรัฐออกมาช่วยกระตุ้น”
Reference: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ