ลดค่าโอน-จำนองดันอสังหาฯคึกคักข้ามปี

27 Jan 2022 410 0

          คาดบ้าน-คอนโดกทม.ระบายได้3หมื่นยูนิต

          ‘คอลลิเออร์ส’ ชี้ปีนี้ยังเสี่ยงปัจจัยลบรุมเร้า


          ‘คอลลิเออร์ส’ เผยธุรกิจอสังหาฯ ปี‘65 ยังเผชิญปัจจัยลบ เก็บภาษีที่ดิน 100% ราคาที่ดินพุ่ง กำลังซื้อต่างชาติชะลอตัว รัฐบาลลดค่าโอน-จดจำนองเหลือ 0.01% ช่วยปลุกตลาดคึกคัก ระบายสต๊อกบ้าน-คอนโดในกรุงเทพฯ 3 หมื่นยูนิต มูลค่า 6.8 หมื่นล้าน

          นายภัทรชัย ทวีวงศ์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและการสื่อสาร บริษัท คอลลิเออร์ส ประเทศไทย จำกัด เปิดเผยว่า แม้หลายฝ่ายคาดการณ์ภาพรวมตลาดอสังหาริมทรัพย์ปีนี้จะปรับตัวดีขึ้น แต่ยังต้องเผชิญกับหลายปัจจัยลบที่เข้ามากระทบ ทั้งการกลับมาเก็บภาษีที่ดิน 100% ราคาที่ดินอยู่ในช่วงขาขึ้น กำลังซื้อต่างชาติที่ชะลอตัวในช่วง 3 ปีนี้ และสถานการณ์โอมิครอน ณ สิ้นไตรมาสที่ 4 /2564 ตลาดคอนโดมิเนียมในกรุงเทพฯ ยังชะลอตัว ทั้งอุปสงค์และอุปทานลดลงกว่า 30% มีอุปทานตกค้างในตลาดกว่า 75,000 ยูนิต ทำให้ผู้พัฒนาชะลอการเปิดตัวโครงการใหม่และเร่งระบายสต๊อกคงค้าง ในส่วนโครงการพร้อมอยู่ นำบ้านและ คอนโดลดราคา กระตุ้นยอดขายและ ยอดโอนกรรมสิทธิ์

          “ล่าสุดรัฐออกมาตรการลดค่าธรรมเนียมโอนและจดจำนองเหลือ 0.01% สำหรับที่อยู่อาศัยราคาไม่เกิน 3 ล้านบาท ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2565 จะช่วยกระตุ้นกำลังซื้อภาคอสังหาฯและธุรกิจเกี่ยวเนื่องกลับมาคึกคัก ส่งผลดีต่อการซื้อขายบ้านจัดสรรและ คอนโดฯ เพราะช่วยระบายสต๊อกคงค้าง เป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภค ส่งผลดีต่อตลาดอสังหาฯในปี 2566” นายภัทรชัยกล่าว

          นายภัทรชัยกล่าวว่า จากข้อมูลของฝ่ายวิจัยบริษัท พบว่าอุปทานตลาดที่อยู่อาศัยรอขายที่ก่อสร้างแล้วเสร็จและคาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จพร้อมโอนในช่วงมาตรการดังกล่าว เฉพาะในเขตกรุงเทพฯ มีอยู่ประมาณ 30,564 ยูนิต มูลค่ากว่า 68,000 ล้านบาท แยกเป็นบ้านจัดสรร 4,694 ยูนิต มูลค่า 12,000 ล้านบาท และคอนโดมิเนียม 25,870 ยูนิต มูลค่า 56,000 ล้านบาท และมาตรการนี้ยังอาจกระตุ้น อสังหาฯรอขายในพื้นที่ปริมณฑลและต่างจังหวัด ซึ่งปัจจุบันเผชิญภาวะกำลังซื้อลดลงมากช่วงที่ผ่านมา จากเศรษฐกิจในประเทศที่ยังชะลอตัว

          นายภัทรชัยกล่าวว่า นับตั้งแต่ปี 2540 เป็นต้นมา มาตรการกระตุ้นธุรกิจอสังหาฯ มีความจำเป็นและมีแทบจะทุกรัฐบาล เพราะธุรกิจภาคอสังหาฯเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจอีกทางที่ได้ผล เพราะมูลค่าการโอนกรรมสิทธิ์ในแต่ละปีคิดเป็นเกือบ 10% ของจีดีพีในประเทศ เพราะมีส่วนเกี่ยวข้องกับธุรกิจอื่นๆ อีกจำนวนมาก

Reference:

Click icon to remove from or add to favorite list
Click to choose and click "Compare" button