รายใหญ่ ชักธงรบ ชิงดีมานด์ แนวราบ เดือด

25 Nov 2020 396 0

          รายใหญ่ จ่อแข่งเดือด ชิงเค้กตลาดแนวราบ รับโอกาส เรียลดีมานด์ ปี 2564 ยังหิน บริทาเนีย  เตรียมเปิดโครงการใหม่เพิ่ม 2 เท่าตัว เจาะโซนพื้นที่กำลังซื้อกระจุกตัว ขณะสิงห์ เอสเตท ปลดล็อกขายทิ้งหุ้น เนอวานา เตรียมพร้อมรุกทุกเซกเม้นท์ ขณะเฟรเซอร์ส-เอพี เล่นเกม ตามล่าหาที่ดินแปลงสวย รับการพัฒนาเต็มสูบ

          จากสถานการณ์ตลาดที่อยู่อาศัย ภายใต้วิกฤติโควิด-19 ซึ่งค่อนข้างชัดเจนแล้วว่า โครงการแนวราบได้กลายเป็นพระเอกสำคัญ ในการพยุงภาพติดลบของอุตสาหกรรม ที่เดิมถูกประเมินไว้ ว่าพิษเศรษฐกิจ -ล็อกดาวน์ประเทศ กินระยะเวลา 6 เดือน (มี.ค.-ก.ย.) อาจทำให้ตลาดหดตัวรุนแรงมากกว่า 20 % (อ้างอิงศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์) ในแง่การโอนกรรมสิทธิ์ทั้งปี ลงสู่ระดับติดลบเพียง 10% เท่านั้น เนื่องจาก ตัวเลขการโอนฯ ในกลุ่มแนวราบ ไตรมาส 3 ฟื้นดีขึ้น ส่งผลภาพรวมเป็นบวก 17% ทั้งยังรั้งให้ 4-5 บริษัทในตลาดหลักทรัพย์ ยังคงรักษาการเติบโตในแง่รายได้ และกำไรรวมสะสม 9 เดือน ของปี 2563 ไว้ได้ ตอกย้ำทิศทางตลาดช่วงปี 2564 ว่าธงรบสำคัญ และการแข่งขันในตลาด คงยังผูกพันธ์กับความแข็งแกร่งของตลาดเรียลดีมานด์ (การซื้อเพื่ออยู่อาศัยจริง) เป็นหลัก และสร้างความยืดหยุ่นในระดับราคาขาย และทำเลได้มากกว่ากลุ่มโครงการคอนโดฯ ที่อยู่ในภาวะหืดจับ ซัพพลายคงเหลือ และระดับราคาที่เอื้อมไม่ถึง ยังเป็นปัญหา ไม่นับรวม แนวโน้มการซื้อและการโอนกรรมสิทธิ์ ในกลุ่มนักลงทุนต่างชาติ ที่น่าจะหยุดชะงักลงในช่วง 1-2 ปี ข้างหน้า หากสถานการณ์โควิดทั่วโลก ยังไม่จบลง

          อุณหภูมิการแข่งขันในตลาดแนวราบช่วงปีหน้านั้น ร้อนแรงขึ้นเป็นลำดับ ผ่านการประกาศแผนล่วงหน้าของผู้ประกอบการแต่ละรายอย่างไม่เป็นทางการ ไล่ตั้งแต่ บริษัท เสนา ดีเวลลอปเม้นท์จำกัด (มหาชน) ซึ่งหวนกลับมาขยายโปรดักส์แนวราบ โดยจะเพิ่มสัดส่วนขึ้นเป็น 20-30% ส่ง 4 แบรนด์ใหม่ เป็นธงรบ เพื่อจับกำลังซื้อทุกเซ็กเมนต์ โดยเฉพาะแบรนด์ทาวน์โฮม “เสนา วีว่า” และ “เสนา เวล่า” ระดับราคา 1.5 -3 ล้านบาท ซึ่งเป็นการกลับมาพัฒนาทาวน์เฮาส์ครั้งแรกในรอบ 10 ปี ของบริษัท หวังตอบรับแรงซื้อที่คาดว่าจะมีข้อจำกัด โดยยังไม่ระบุจำนวนโครงการที่แน่ชัด ทั้งนี้ หญิงแกร่งแห่งวงการ นางสาว เกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์เปรยว่า จะขึ้นอยู่กับจังหวะ และโอกาสการได้มาของที่ดินที่มีความเหมาะสมเป็นหลัก

          ขณะมีความเคลื่อนไหวจากบมจ.สิงห์ เอสเตท เช่นกัน หลังเดิมที โครงสร้างการพัฒนาโครงการแนวราบ จะถูกผลักดันโดยบริษัท เนอวานา ไดอิ ผ่านการถือหุ้นใหญ่ และแบ่งปันรายได้ราว 51% เข้าบริษัท ในกลุ่มโครงการพรีเมียม เช่น โครงการ เนอวานา บียอนด์ พระราม 9-กรุงเทพกรีฑา (ราคามากกว่า 10 ล้านบาท) และอีกส่วนจะเป็นการพัฒนาเอง เช่น โครงการ สันติบุรี เดอะ เรสซิเดนเซส (ราคาเริ่ม 250 ล้านบาท) ล่าสุดมีการเปลี่ยนแปลง ผ่านการแจ้งข่าวว่า บริษัทได้ขายหุ้นบริษัท เนอวานา ไดอิ คืนให้กับผู้ถือหุ้นรายใหญ่แล้ว คิดเป็น 51.56% โดยให้เหตุผลว่า เพื่อต้องการปลดล็อก เดินเครื่องการขยายธุรกิจแนวราบในทุกรูปแบบด้วยตนเอง โดยไม่ทับซ้อน ซึ่ง นายนริศ เชยกลิ่น ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท ระบุว่า เป็นการลดความเสี่ยงจากสภาวะตลาด อีกทั้งเล็งเห็นโอกาสจากยอดขายสะสมโครงการบ้านเดี่ยว และทาว์นเฮาส์9 เดือนแรกของตลาด ที่เติบโตได้ถึง 10% ตอกย้ำแนวราบยังเติบโตได้ท่ามกลางวิกฤติ สอดคล้องกับข้อมูลก่อนหน้าจากผู้บริหารอีกราย ว่าสำหรับกลยุทธ์ในช่วงปี 2564 นั้น สิงห์เอสเตท จะปรับการลงทุน โดยเน้นพัฒนาโครงการแนวราบระดับลักชัวรีมากขึ้น ซึ่งปัจจุบันมีที่ดินที่รองรับแล้วประมาณ 2-3 แปลง เจาะทั้งกลุ่มระดับราคา 100 ล้านหรือต่ำกว่า ภายใต้การเกิดขึ้นของแบรนด์ใหม่

          เช่นเดียวกับ บมจ.ออริจิ้น ซึ่งส่งสัญญาณปีหน้า เปลี่ยนธงรบ มาสู่ตลาดแนวราบอย่างเต็มตัว ควบคู่กับการปรับกลยุทธ์การพัฒนาและขายในกลุ่มคอนโดมิเนียม ผ่านการส่งบริษัทลูก บริทาเนีย จำกัด เป็นตัวแบ่งเค้กตลาด โดย นางศุภลักษณ์ จันทร์พิทักษ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บริทาเนีย จำกัด เผยว่า ขณะนี้ บริษัทเตรียมความพร้อมในการรุกตลาดแนวราบในช่วงปี 2564 อย่างเต็มตัว หลังได้รับไฟเขียวจากบริษัทแม่ ซึ่งลดการลงทุนในกลุ่มคอนโดฯลง ทำให้มีความพร้อมทั้งที่ดินและเงินลงทุนที่ถูกโยกมา โดยปีหน้า วางแผนเปิดตัวโครงการใหม่มากถึง 10-12 โครงการ มูลค่ามากกว่า 1 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นการขยายตัวมากกว่า 2 เท่าตัว จากปกติในแต่ละปี จะเปิดตัวโครงการราว 3-4 โครงการเท่านั้น โดยเตรียมส่งแบรนด์ “ไบรตัน” ซึ่งเป็นโครงการ ทาวน์เฮาส์ -บ้านแฝด ราคา 2-5 ล้าน และแบรนด์ “บริทาเนีย” ทาวน์เฮาส์, บ้านแฝด และบ้านเดี่ยวราคา 3-7 ล้านบาทเป็นหัวหอกสำคัญในการงัดกำลังซื้อ ขณะนี้ปีนี้เปิดใหม่ 6 โครงการ มียอดขายตามเป้า คาดจบปี 2563 จะสามารถทำได้แตะ 5 พันล้านบาท

          ”ปี 2564 แนวราบ จะเป็นเรือธงของออริจิ้น เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด ขณะเดียวกัน เชื่อว่า ในพอร์ตปีหน้าของทุกบริษัท ส่วนใหญ่จะกระจุกตัวที่แนวราบเป็นหลัก ซึ่งเป็นตลาดที่ผูกพันธ์กับความแข็งแกร่งของเรียลดีมานด์ ท่ามกลางตลาดคอนโดฯ มีซัพพลายค้าง โดยกลยุทธ์สำคัญของบริษัท เน้น 3 ปัจจัย โลเกชั่น-โปรดักต์ - เซอร์วิส โดยเฉพาะการปักหมุดในโซนภาคตะวันออก อีอีซี, กรุงเทพฯตอนเหนือ และทิศตะวันตก สมุทรปราการ เป็นต้น”

          ด้านรายใหญ่ อย่างบริษัท เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ โฮม (โกลเด้นแลนด์) ซึ่งก่อนหน้าประกาศ เปิดตัวโครงการใหม่ในปีหน้า มากถึง 24 โครงการ ภายใต้เป้าหมาย Top 3 ของตลาดในทุกโปรดักต์ มูลค่าเกือบ 3 หมื่นล้านบาทนั้น พบขณะนี้ ประกาศหาซื้อที่ดิน ขนาด 10-15 ไร่ขึ้นไป ทั้งในทำเลกรุงเทพฯ ปริมณฑล และต่างจังหวัด โดยเฉพาะ จังหวัด ชลบุรี ระยอง ภูเก็ต นครศรีธรรมราช เชียงใหม่ และขอนแก่น เช่นเดียวกับ บมจ.เอพี ซึ่งประกาศถามหาซื้อที่ดินเป็นข่าวครึกโครมสวนกระแสตลาดในระยะไม่ห่างกัน นับรวม 23 ทำเล ทั่วกทม. เจาะจงขนาดใหญ่ 20 ไร่ต่อแปลงขึ้นไป เพื่อรองรับสำหรับแผนพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยแนวราบ ทาวน์เฮ้าส์ และบ้านเดี่ยว ในช่วงปีหน้า

          ทั้งนี้ ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ (REIC) คาดการณ์ว่า สำหรับซัพพลายใหม่ในปี 2564 ในกรุงเทพฯ-ปริมณฑล นั้น จำนวนจะอยู่ระหว่าง 8.8 หมื่นหน่วย ถึง 1.02 แสนหน่วย มูลค่ารวมกว่า 4.4 แสนล้านบาท ซึ่งจะเป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นมากจากฐานที่ต่ำในปีนี้ โดยเฉพาะสัดส่วนจากโครงการแนวราบจะอยู่ที่ 58% พร้อมให้จับตา การปรับรูปแบบการพัฒนาของผู้ประกอบการรายต่างๆ โดยคาดกลุ่มบ้านแฝด และทาวน์เฮาส์ จะค่อยๆเพิ่มสัดส่วนขึ้น และโดดเด่นในกลุ่มบ้านช่วงราคา 2-5 ล้านบาท ที่จะมีการแข่งขันกันอย่างคึกคัก

Reference:

Click icon to remove from or add to favorite list
Click to choose and click "Compare" button