รัฐจุดพลุโมโนเรลหาดใหญ่ จีน-มาเลย์จ้องชิงสัมปทาน

28 Oct 2021 512 0

          อบจ.สงขลาดันเต็มสูบรถไฟฟ้า โมโนเรลหาดใหญ่ 12.54 กม.12 สถานี 1.7 หมื่นล้าน แก้จราจรอัมพาต ดึงนักลงทุนไทย-เทศร่วมลงขัน สัมปทาน 30 ปี ได้สิทธิพัฒนา ที่ราชพัสดุกลางเมือง 500 ไร่ รอ สคร.พิจารณาก่อนชง ครม.เคาะ เปิดประมูลปี 66 เปิดใช้ปี‘69 เผย BTS-มาเลย์-สิงคโปร์-จีนสนใจร่วมทุนคึก

          นายไพเจน มากสุวรรณ์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา (อบจ.สงขลา) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า จากที่เมืองหาดใหญ่ จ.สงขลา ประสบปัญหาการจราจรติดขัดอย่างหนัก และมีแนวโน้มทวีความรุนแรงขึ้น โดยเฉพาะในพื้นที่ย่านเศรษฐกิจใจกลางเมือง เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว อบจ.สงขลาได้ดำเนินการศึกษาและออกแบบโครงการระบบขนส่งมวลชนตั้งแต่ปี 2557 ที่ผ่านมา และมีแผนจะพัฒนาโครงการระบบรถไฟฟ้ารางเดี่ยว (monorail) ใน อ.หาดใหญ่ ระยะทาง 12.54 กม. มูลค่าลงทุน 17,586.01 ล้านบาท

          จากนั้นได้จัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ซึ่งได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการ สิ่งแวดล้อมแห่งชาติ เมื่อวันที่ 5 มิ.ย. 63 จากนั้นวันที่ 25 พ.ค. 64 คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้รับทราบตามมติคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ แต่เนื่องจากโครงการดังกล่าวใช้เงินลงทุนสูง จึงให้จัดทำรายงานผลการศึกษาและวิเคราะห์โครงการตาม พ.ร.บ.ร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 ก่อนประกาศเชิญชวนภาคเอกชนที่สนใจเข้าร่วมลงทุน

          ไฟเขียวโมโนเรลหาดใหญ่

          ขณะเดียวกัน อบจ.สงขลาได้เสนอโครงการนี้ให้กระทรวงมหาดไทยพิจารณา และกระทรวงมหาดไทยให้ความเห็นชอบในหลักการ เมื่อวันที่ 14 ก.ย. 2563 จากนั้นได้นำเสนอสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) พิจารณา ก่อนเสนอที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ ขณะนี้อยู่ระหว่างคณะอนุกรรมการของ สคร.พิจารณารายละเอียด

          ความคืบหน้าล่าสุด คณะอนุกรรมการของ สคร.ได้ให้ อบจ.สงขลา ทำเรื่องสอบถามความคิดเห็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งประชาชนและผู้มีส่วนได้ ส่วนเสียตลอดแนวเส้นทางที่โครงการระบบโมโนเรลพาดผ่าน เพื่อขอความเห็นชอบ และการอนุญาตในหลักการในการ ขอใช้พื้นที่ดำเนินโครงการ โดย อบจ.สงขลา อยู่ระหว่างเร่งรวบรวมข้อมูล และความคิดเห็นทั้งหมดเสนอคณะอนุกรรมการจะรวบรวมข้อมูลก่อนนำเสนอให้คณะกรรมการ สคร.พิจารณา ก่อนนำเสนอ ให้ ครม.ให้ความเห็นชอบตาม พ.ร.บ.ร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนต่อไป

          ดึงไทย-เทศลงทุนสัมปทาน 30 ปี

          ตามกรอบระยะเวลาที่วางไว้ หากโครงการนี้ได้รับอนุมัติให้ดำเนินการ อบจ.สงขลาจะเปิดประมูลโดยประกาศเชิญเอกชนทั้งไทย และต่างชาติที่สนใจเข้าลงทุน จากนั้นจะคัดเลือกเอกชนเข้าดำเนินการตามสัญญา เบื้องต้นคาดว่าจะเริ่มดำเนินการก่อสร้างได้ตามแผนในปี 2566 ใช้ระยะเวลาก่อสร้างฐานรากโครงการ ทางวิ่ง ติดตั้งระบบรถ ระบบอาณัติสัญญาณ 3 ปี จะแล้วเสร็จและเปิดให้บริการได้ภายในปี 2569 โดยเอกชนที่ชนะการคัดเลือกจะได้สัมปทานในการบริหารจัดการโครงการ และการเดินรถรวม 30 ปี

          ให้สิทธิพัฒนาที่ราชพัสดุ 500 ไร่

          นายไพเจนกล่าวว่า ที่ผ่านมา อบจ.สงขลาได้นำโครงการระบบโมโนเรลเมืองหาดใหญ่สอบถามความคิดเห็นภาคเอกชนหลายราย ปรากฏว่าได้รับความสนใจจากเอกชนทั้งในประเทศ และต่างประเทศ เช่น กลุ่มบีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ ผู้ได้รับสัมปทานรถไฟฟ้าบีทีเอส ขณะที่นักลงทุนชาติที่สนใจมีทั้งนักลงทุนจากมาเลเซีย สิงคโปร์ จีน ก่อนเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 เอกชนหลายรายสอบถามรายละเอียดโครงการนี้ และสนใจ ร่วมลงทุนกับ อบจ.สงขลา ในฐานะเจ้าของโครงการ

          ส่วนหนึ่งมาจากผลการศึกษาจะให้สิทธิภาคเอกชนที่เข้าร่วมลงทุนได้สิทธิในการพัฒนาพื้นที่ราชพัสดุบริเวณคอหงส์ เนื้อประมาณ 500 ไร่ ในเชิงพาณิชย์ ซึ่งทาง อบจ.อยู่ระหว่างเตรียมหารือกรมธนารักษ์ กระทรวงการคลัง เพื่อขอใช้พื้นที่ดังกล่าว จากปัจจุบันมีการกันพื้นที่บางส่วนเป็นที่ตั้งของหน่วยงานภาครัฐ เช่น สำนักงานของการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เป็นต้น

           เปิดแนวเส้นทาง 12 กม. 12 สถานี

          “เราเริ่มโครงการมาตั้งแต่ปี 2557 โดยยื่นเรื่องผ่านหน่วยงานต่าง ๆ มาตามขั่นตอน ผ่านการพิจารณาของกระทรวงมหาดไทยเรียบร้อย เข้าสู่ขั้นตอน EIA ใช้เวลาตั้งแต่ปี 2559-2564 ขณะที่ยื่น EIA ได้ทำเรื่องการให้เอกชนร่วมทุนคู่ขนานกันมา แต่การพิจารณาค่อนข้างล่าช้า เนื่องจากก่อนหน้านี้ รัฐบาลอยู่ระหว่างการปรับปรุงแก้ไข พ.ร.บ.การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2556 เป็น พ.ร.บ.ร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 ทุกอย่างจึงต้องย้อนกลับไปทบทวนใหม่ และต้องเสนอ ครม.เห็นชอบใหม่อีกรอบ”

          สำหรับแนวเส้นทางโครงการรถไฟฟ้า รางเดี่ยว แบบคร่อมราง มีลักษณะโครงสร้างทางวิ่งเป็นแบบยกระดับ แนวเส้นทางตั้งอยู่บริเวณแนวเกาะกลางถนนกาญจนวนิช และถนนเพชรเกษม หลังโครงการแล้วเสร็จจะสามารถเชื่อมโยงการเดินทางในเส้นทางหลักระหว่างเมืองหาดใหญ่ และชุมชนตะวันตก (สถานีรถตู้ และพื้นที่ข้างเคียง) และด้านใต้ (แยกคลองหวะ)

          จุดเริ่มต้นโครงการตั้งอยู่บริเวณแยกคลองหวะ ตามแนวทางถนนกาญจนวนิช ผ่านแยกคลองเรียน เลี้ยวซ้ายเข้าถนนเพชรเกษม บริเวณแยกคอหงส์ ผ่านแยกวงเวียนน้ำพุ แยกหาดใหญ่ใน จนถึงจุดสิ้นสุดโครงการ บริเวณสถานีรถตู้ รวมระยะทางประมาณ 12.54 กม. ประกอบด้วย 12 สถานี ได้แก่ 1.สถานีคลองหวะ 2.สถานีเซ็นทรัล 3.สถานีคลองเรียน 4.สถานี มอ. 5.สถานีคอหงส์ 6.สถานีบิ๊กซี 7.สถานีหาดใหญ่วิทยาลัย 8.สถานีน้ำพุ 9.สถานีกิมหลง 10.สถานีชุมทางรถไฟหาดใหญ่ 11.สถานีหาดใหญ่ใน และ 12.สถานีรถตู้

          โมโนเรลจุดพลุเมืองหาดใหญ่

          นายไพเจนกล่าวว่า ที่ผ่านมาทาง อบจ. ได้มีการทำแผนการศึกษาเชิงพาณิชย์ โดยมีการคาดการณ์ปริมาณผู้โดยสารที่จะมาใช้บริการตามแนวเส้นทางดังกล่าว โดยทำการพัฒนาแบบจำลองด้านการจราจรและขนส่ง ทั้งในปีปัจจุบันและอนาคต รวม 30 ปี โดยใช้สมมุติฐานในการเก็บค่าโดยสาร 20 บาทตลอดสาย (ปี 2561) พบว่า ทิศทางจากสถานีรถตู้ไป สถานีคลองหวะ ช่วงระหว่างสถานีน้ำพุ กับสถานีหาดใหญ่วิทยาลัย จะมีปริมาณ ผู้โดยสารสูงสุดในชั่วโมงเร่งด่วนใน ปี 2568 ประมาณ 1,400 คน/ชั่วโมง/ทิศทาง และปี 2577 เพิ่มขึ้นเป็น 1,900 คน/ ชั่วโมง/ทิศทาง จากนั้นปี 2587 จะเพิ่มขึ้น เป็น 2,500 คน/ชั่วโมง/ทิศทาง และปี 2597 เพิ่มขึ้นเป็น 3,200 คน/ชั่วโมง/ทิศทาง

          ทิศทางสถานีคลองหวะไปสถานีรถตู้ ช่วงระหว่างสถานีน้ำพุกับสถานีชุมทาง รถไฟมีปริมาณผู้โดยสารสูงสุดในชั่วโมงเร่งด่วนเช้า ปี 2568 ประมาณ 1,200 คน/ ชั่วโมง/ทิศทาง ปี 2577 เพิ่มเป็น 1,500 คน/ ชั่วโมง/ทิศทาง ปี 2558 เพิ่มเป็น 2,100 คน/ ชั่วโมง/ทิศทาง และปี 2597 เพิ่มเป็น 2,500 คน/ชั่วโมง/ทิศทาง

          หากโครงการนี้เป็นไปตามแผน นอกจากจะช่วยแก้ไขปัญหาการจราจรที่นับวันยิ่งวิกฤตรุนแรงแล้ว จะช่วยอำนวยความสะดวกทั้งกับประชาชน ภาคธุรกิจ นักท่องเที่ยว ขณะเดียวกันจะเปิดพื้นที่ใหม่รองรับการพัฒนา และการเติบโตของเมืองในอนาคต เนื่องจาก จ.สงขลาถือเป็นเมืองการศึกษา มีมหาวิทยาลัยทั้งของรัฐและเอกชนหลายแห่งตั้งอยู่ รวมถึงมีโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่จำนวนมาก มีประชากรทั้งที่มีทะเบียนบ้านใน อ.หาดใหญ่ ประชากรแฝงอยู่อาศัย ทำงานจำนวนมาก ปริมาณการเดินทางการสัญจรต่อวันจึงค่อนข้างสูง คุ้มค่าที่เอกชนจะมาลงทุน

Reference:

Click icon to remove from or add to favorite list
Click to choose and click "Compare" button