รถไฟฟ้าสีชมพูแย้มขยายแล้ว 4.8%

21 Oct 2022 599 0


          ตอกเข็มรัวๆ เข้าเมืองทอง ต่อสีเหลืองไม่จ่ายชดเชย
          นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการบริษัท นอร์ทเทิร์น บางกอกโมโนเรล จำกัด (NBM) ผู้รับสัมปทานโครงการรถไฟฟ้ารางเดี่ยว (โมโนเรล) สายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี เปิดเผยว่า ขณะนี้ได้เริ่มงานก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ส่วนต่อขยาย ช่วงสถานีศรีรัช-เมืองทองธานี ระยะทาง 2.8 กิโลเมตร(กม.) วงเงิน 4.2 พันล้านบาทแล้ว อยู่ระหว่างรื้อย้ายสาธารณูปโภค และตอกเสาเข็ม ภาพรวมการก่อสร้างมีความคืบหน้า 4.86% โดยงานโยธาคืบหน้า 5.65% และงานระบบรถไฟฟ้า คืบหน้า 3.27% ตามแผนงานจะใช้เวลาก่อสร้าง 3 ปี แล้วเสร็จประมาณปี 68 แต่ทางบริษัทฯ จะเร่งรัดงานก่อสร้างทุกด้านให้แล้วเสร็จโดยเร็ว เพื่อให้เปิดบริการประชาชนได้ภายในปี 67

          นายสุรพงษ์ กล่าวต่อว่า งานก่อสร้างยังเดินหน้าได้อย่างต่อเนื่อง ไม่พบปัญหาอุปสรรคใด รถไฟฟ้าส่วนต่อขยายสายสีชมพู ช่วงศรีรัช-เมืองทองธานี มีทั้งหมด 2 สถานี ประกอบด้วย สถานีอิมแพ็ค เมืองทองธานี (ชาเลนเจอร์อาคาร 1) และสถานีทะเลสาบ เมืองทองธานี มีรูปแบบเป็นทางวิ่งยกระดับ มีจุดเริ่มต้นแนวเส้นทางบนถนนแจ้งวัฒนะ โดยแยกออกจากเส้นทางสายหลักที่สถานีศรีรัช ของโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูสายหลักเพื่อเข้าสู่พื้นที่เมืองทองธานี ตามถนนแจ้งวัฒนะ-ปากเกร็ด 39 ขนานไปกับทางพิเศษอุดรรัถยา ผ่านวงเวียนเมืองทองธานี ซึ่งเป็นที่ตั้งของสถานีอิมแพ็คฯ และวิ่งต่อเนื่องไปยังจุดสิ้นสุดโครงการบริเวณทะเลสาบเมืองทองธานี โดยเป็นที่ตั้งของสถานีทะเลสาบฯ

          นายสุรพงษ์ กล่าวอีกว่า โครงการเป็นส่วนหนึ่งของโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูเส้นทางหลัก ช่วงแคราย-มีนบุรี สามารถเดินทางเชื่อมต่อไปยังรถไฟฟ้าได้อีก 4 สาย ได้แก่ รถ ไฟฟ้าสายสีม่วง (ช่วงบางใหญ่-เตาปูน), รถไฟชานเมืองสายสีแดง (ช่วงบางซื่อ-รังสิต), รถไฟฟ้าสายสีเขียว (ช่วงหมอชิตสะพานใหม่-คูคต) และรถไฟฟ้าสายสีส้ม (ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย-มีนบุรี) ทั้งนี้คาดว่าในการเปิดให้บริการรถไฟฟ้าสายสีชมพูส่วนต่อขยายในปีแรก จะมีปริมาณผู้โดยสารอยู่ที่ 13,785 คน/เที่ยว/วัน จะช่วยบรรเทาปัญหาการจราจรในการ เดินทางเข้าพื้นที่เมืองทองธานีได้เป็นอย่างดี เพราะเป็นชุมชนขนาดใหญ่มีผู้เดินทางเข้า-ออกจำนวนมาก

          นายสุรพงษ์ ยังกล่าวถึงโครงการรถไฟฟ้าสีเหลืองส่วน ต่อขยาย ช่วงแยกรัชดา-ลาดพร้าว ถึงแยกรัชโยธิน ระยะทาง 2.6 กม. วงเงิน 3.7 พันล้านบาทว่า ขณะนี้ รฟม. ยังไม่ได้เจรจาเรื่องนี้กับทางบริษัทฯเพิ่มเติมอีก และยังไม่มีข้อสรุปใด ๆ แต่ก่อนหน้านี้บริษัทฯให้คำตอบยืนยันไปแล้วว่าไม่สามารถจ่ายชดเชยรายได้ให้กับเอกชน กรณีสายสีเหลืองส่วนต่อขยาย มีผลกระทบต่อปริมาณผู้โดยสารของรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินได้

          ผู้สื่อข่าวรายงานว่า โครงการรถไฟฟ้า ส่วนต่อขยายสายสีเหลืองช่วงลาดพร้าว-รัชโยธิน เป็นข้อเสนอในขั้นตอนการคัดเลือกเอกชน ร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลืองช่วงลาดพร้าว-สำโรง ของบริษัท อีสเทิร์น บางกอกโมโนเรล จำกัด (EBM) ปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนเจรจาระหว่าง รฟม. และ EBM เพื่อแก้ไขเพิ่มเติมสัญญาร่วมลงทุน เนื่องจากผลการศึกษาผลกระทบด้านรายได้ของโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ของบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM จากการเปิดให้บริการรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายสายสีเหลือง พบว่าภายในปีแรกจะกระทบรายได้ BEM 988 ล้านบาท และตลอดอายุสัญญาสัมปทาน 30 ปี ประมาณ 2.7 พันล้านบาท

Reference:

Click icon to remove from or add to favorite list
Click to choose and click "Compare" button