ม้ามืดท้าชิงที่ดินแยกไฟฉาย
บขส.ประมูลที่ดินแยกไฟฉาย 3 ไร่ มูลค่า 428 ล้านบาท ทำเลใกล้รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน พัฒนาศูนย์สุขภาพ ดูแลผู้สูงอายุ เผยมี “เอ็นพี (ไทย) คอนสตรัคชั่น” ยื่นรายเดียว เคาะผล พ.ค.นี้ คิวต่อไปสถานีขนส่งเอกมัย 7 ไร่ ดึงเอกชนร่วม PPP 50 ปี ผุดมิกซ์ยูส มูลค่า 5.9 พันล้าน กลุ่มเทมาเส็ก- อสังหาฯไทยสนใจ
นายณัฐวุฒิ อ่อนน้อม รองกรรมการ ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า วันที่ 8 พ.ค.ได้เปิดยื่นซองประมูลก่อสร้างและบริหารโครงการพัฒนาที่ดินบริเวณสามแยกไฟฉาย (สถานีขนส่งสายใต้เดิม) ตั้งอยู่บน ถ.จรัญสนิทวงศ์ ใกล้สถานีแยกไฟฉายของรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน จำนวน 2 แปลง รวมเนื้อที่ 3 ไร่เศษ ด้วยวิธีการเช่าระยะยาว 30 ปี เพื่อใช้ประโยชน์เชิงพาณิชยกรรม ซึ่งไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสังคม มูลค่าโครงการ 428 ล้านบาท ปรากฏว่าจากซื้อเอกสาร 3 ราย มียื่นรายเดียว คือ บจ.เอ็นพี (ไทย) คอนสตรัคชั่น ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับการก่อสร้าง หลังจากนี้จะใช้เวลา 2 สัปดาห์ ตรวจสอบเอกสารข้อเสนอด้านคุณสมบัติ ด้านเทคนิค และด้านผลประโยชน์ตอบแทน คาดว่าจะได้ผู้ชนะประมูลภายในเดือน พ.ค.-มิ.ย.นี้
”ผลศึกษาโครงการเหมาะจะพัฒนาเป็นศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ ศูนย์สุขภาพ เพราะใกล้โรงพยาบาลศิริราช แต่กำหนดเป็นหลักเกณฑ์กว้าง ๆ ไว้ ขึ้นอยู่กับข้อเสนอเอกชนจะพัฒนาโครงการอะไร อาจจะพัฒนารูปแบบที่หลากหลาย ไม่จำกัดเฉพาะศูนย์สุขภาพ อาจจะมีที่อยู่อาศัย หรือคอมมิวนิตี้มอลล์ก็ได้ ซึ่ง บขส.คาดว่าจะได้ผลตอบแทนตลอดอายุสัญญาไม่ต่ำกว่า 72 ล้านบาท”
นายณัฐวุฒิกล่าวว่า ความคืบหน้าที่ดินสถานีขนส่งเอกมัย ได้เสนอโครงการให้กระทรวงคมนาคมพิจารณาเพื่อนำเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติโครงการ โดยรูปแบบจะพัฒนาที่ดิน 7 ไร่ เป็นโครงการมิกซ์ยูส ประกอบด้วย สถานีขนส่งจะอยู่ด้านล่าง ส่วนด้านบนเป็นพื้นที่เชิงพาณิชย์ เช่น โรงแรม ศูนย์การค้า สำนักงาน มูลค่าโครงการ 5,921 ล้านบาท จะเปิดให้เอกชนร่วมลงทุน PPP ระยะเวลา 50 ปี จากผลศึกษา บขส.จะมีรายได้จากค่าธรรมเนียม และค่าเช่าที่ดินกว่า 3,300 ล้านบาท และผลตอบแทนตลอดอายุสัญญา 4,600 ล้านบาท ทั้งนี้ มีเงื่อนไขเอกชนที่ยื่นประมูลจะต้องหาพื้นที่รองรับการย้ายสถานีขนส่งเอกมัยเป็นการชั่วคราว ระหว่างก่อสร้าง 3 ปี โดยจะไม่มีหยุดให้บริการเดินรถ ซึ่งกระทรวงให้สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ตรวจสอบรายละเอียดโครงการ
ล่าสุด สนข.ให้ บขส.ทำข้อมูลเพิ่มเติม ด้านผลกระทบต่อการจราจรและโครงสร้างบุคลากรมาดูการพัฒนาที่ดิน จะเร่งทำข้อมูลชี้แจงต่อไป คาดว่าจะเปิดประมูล PPP ไม่ทันในปี 2563 นอกจากนี้จะต้องขอเปลี่ยนสีผังเมืองการใช้ประโยชน์ที่ดิน จากสีน้ำเงินที่ดินราชการ เป็นสีน้ำตาลหรือที่ดินอยู่อาศัยที่มีความหนาแน่นสูง
ก่อนหน้านี้ มีเอกชนด้านอสังหา ริมทรัพย์ไทยและต่างชาติสนใจเสนอโครงการที่ดินสถานีขนส่งเอกมัย คือ กลุ่ม เทมาเส็กจากประเทศสิงคโปร์ เสนอพัฒนา สมาร์ทสเตชั่น รูปแบบโครงการมิกซ์ยูส เป็นอาคารสูงทั้งอาคารเดี่ยวและอาคารคู่ มีสถานีขนส่งผู้โดยสาร ศูนย์การค้า สำนักงาน ที่พักอาศัย ส่วนอีกรายเป็นบริษัทอสังหาริมทรัพย์ของไทย
Reference: หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ