พลัสฯ ชี้โควิดรอบ 2 ฉุดกำลังซื้อปี 64 แบงก์เข้มปล่อยกู้-สงครามราคาต่อ
พลัสฯ คาด อสังหาฯ ปี 64 ที่อยู่อาศัยกลุ่มราคาเข้าถึงง่ายเปิดตัวมากขึ้นแม้ผู้ประกอบการยังต้องระมัดระวังสูง ชี้โควิดระลอก 2 ฉุดกำลังซื้อวูบ เผยปัจจัยบวกรัฐขยายเวลามาตรการลดค่าธรรมเนียมโอน-ค่าจดจำนองที่อยู่อาศัยไม่เกิน 3 ล้านบาท ดอกเบี้ยยังต่ำ ระบุดีมานด์บ้านเดี่ยวโซนตะวันตก ตะวันออก-ตะวันออกเฉียงเหนือโต ต่อเนื่อง
นางสาวสุวรรณี มหณรงค์ชัย รองกรรมการผู้จัดการสายงานพัฒนากลยุทธ์และบริหารสินทรัพย์ บริษัท พลัส พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด กล่าวว่า จากการสำรวจของฝ่ายวิจัยและพัฒนา พลัสฯ มองว่าตลาดอสังหาริมทรัพย์ในปี 64 มีความท้าทายจากปัจจัยรอบด้านทั้งเรื่องของอัตราการว่างงานที่เพิ่มสูงขึ้นจากสถานการณ์โควิด-19 และสภาพเศรษฐกิจ และยังมีเรื่องของการที่สถาบันการเงินและธนาคารพาณิชย์มีการควบคุมและจำกัดการพิจารณาปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัย ซึ่งเป็นสิ่งที่ส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อของผู้บริโภค
อย่างไรก็ตามในปี 64 ยังมีปัจจัยบวก ทั้งเรื่องของมาตรการช่วยเหลือจากภาครัฐที่มีการขยายเวลามาตรการลดค่าธรรมเนียมการโอนกรรมสิทธิ์และค่าจดจำนองสำหรับที่อยู่อาศัยราคาไม่เกิน 3 ล้านบาท เหลือ 0.01% และการลดภาษีที่ดิน 90% รวมถึงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่อยู่ในระดับต่ำ จะยังคงช่วยกระตุ้นผู้ที่มีความพร้อมซื้อที่อยู่อาศัยได้ในปีนี้
โดยคาดการณ์ว่าในปี 64 นี้ยังมีการเปิดโครงการใหม่มากขึ้น การเร่งระบายโครงการคงค้างอย่างต่อเนื่อง เน้นการเปิดโครงการที่ราคาเข้าถึงง่ายในทำเลเดินทางสะดวกให้สอดคล้องกับกำลังซื้อของผู้บริโภค และหาจุดขายใหม่ๆ ที่แตกต่างจากคู่แข่ง
ในครึ่งหลังปี 63 พบว่า คอนโดมิเนียมแม้มีซัปพลายลดลงแต่ยังคงมีสัดส่วนสูงสุดคือ 48% โดยมีจำนวน 16,582 ยูนิต อันดับสองคือทาวน์โฮมที่มีสัดส่วน 38% จำนวน 13,065 ยูนิต และอันดับสามคือบ้านเดี่ยวในสัดส่วน 14% มีโครงการเปิดตัวใหม่จำนวน 4,767 ยูนิต
สำหรับกลุ่มบ้านเดี่ยวในช่วงครึ่งปีหลัง 63 มีจำนวนซัปพลายใหม่ทั้งสิ้น 4,767 ยูนิต เพิ่มขึ้น 6% จากครึ่งปีแรก ส่งผลให้ซัปพลายเสนอขายรวมมีจำนวน 14,985 ยูนิต ในขณะที่ดีมานด์เพิ่มขึ้น 11% จากครึ่งปีแรก ซึ่งมีจำนวน 5,992 ยูนิต คิดเป็นอัตราการขายเท่ากับ 40% โดยบ้านเดี่ยวราคา 5-7 ล้านบาท เป็นระดับราคาที่เสนอขายสัดส่วนสูงที่สุด 33% จำนวน 4,902 ยูนิต เพิ่มขึ้น 6% ดีมานด์มีการปรับเพิ่มขึ้นในเกือบทุกระดับราคา ยกเว้นในระดับราคาต่ำกว่า 5 ล้านบาท โดยระดับราคาที่มีดีมานด์เพิ่มขึ้นมากที่สุด คือระดับราคา 10-20 ล้านบาท โดยเพิ่มขึ้น 53%
โซนที่มีความต้องการเติบโตคือ โซนตะวันตกในบริเวณปากเกร็ด โซนตะวันออกเฉียงเหนือในบริเวณคลองสามวา และโซนตะวันออกบริเวณบางพลีและบางบ่อ ซึ่งเป็นผลจากการขยายตัวของรถไฟฟ้าและแหล่งงานในบริเวณดังกล่าว
ขณะที่ทาวน์โฮม พบว่ามี ซัปพลายใหม่ 13,065 ยูนิต เพิ่ม 4% จากครึ่งปีแรก ส่งผลให้ซับพลายเสนอขายมีจำนวน 29,675 ยูนิต ดีมานด์มีจำนวน 13,074 ยูนิต เพิ่มขึ้น 14% จากครึ่งปีแรก อัตราการขายเท่ากับ 44% โดยผู้ซื้อมีอัตราตอบรับเพิ่มมากที่สุดในระดับราคา 5-7 ล้านบาท ทำเลที่ได้รับความสนใจจะอยู่บริเวณถนนราชพฤกษ์ ช่วงตลิ่งชัน-ทวีวัฒนา ระดับราคา 3-5 ล้านบาท
สำหรับคอนโดฯ พบว่าในครึ่งปีหลัง 63 มีซัปพลายใหม่เพิ่มขึ้นจากครึ่งปีแรกถึง 67% มีจำนวนทั้งสิ้น 16,582 ยูนิต ส่งผลให้มีจำนวนรวม 100,918 ยูนิต ดีมานด์เพิ่ม1% จากครึ่งปีแรก มีจำนวน 16,843 ยูนิต อัตราการขายที่ 17% โดยผู้ประกอบการยังคงชะลอการลงทุนโครงการใหม่ เพราะยูนิตสร้างเสร็จเหลือขายจำนวนมาก โดยผู้ซื้อหันมานิยมที่อยู่อาศัยย่านชานเมืองมากขึ้น เช่น ในพื้นที่รามคำแหง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นโครงการที่อยู่ใกล้สถานีรถไฟฟ้าในระยะไม่เกิน 300 เมตร, พื้นที่พระรามสอง เนื่องจากมีความชัดเจนของการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ เป็นต้น.
Reference: หนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวัน 360 องศา