พฤกษา ผนึกอสังหา-เฮลธ์แคร์

31 May 2021 443 0

          ดาริน โชสูงเนิน

          กรุงเทพธุรกิจ


          สถานการณ์แพร่ระบาดเชื้อไวรัสโคโรนา สายพันธุ์ใหม่ 2019 (โควิด-19) ส่งผลกระทบต่อภาพรวมอุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์ปี 2563  ”ติดลบ 30%”  โดยตลาดคอนโดมิเนียมติดลบหนักสุด ถึงระดับ 50% เนื่องจากกลุ่มลูกค้าต่างชาติ นักลงทุนหายหมด และการแข่งขันรุนแรงในแง่ลดราคาขายของผู้ประกอบการเพื่อ เร่งระบายสต็อกคงค้างเก่าให้หมด

          โดย บริษัท พฤกษา เรียลเอสเตท จำกัด (มหาชน) ในเครือของ บริษัท พฤกษา โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ PSH หนึ่งในผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ รายใหญ่ จึงได้รับผลกระทบดังกล่าว สะท้อนผ่านผลประกอบการปี 2563 ลดลงมีกำไรสุทธิ 2,770.63 ล้านบาท จากปี 2562 ที่มีกำไรสุทธิ 5,358.81 ล้านบาท ขณะที่ไตรมาส 1 ปี 2564 กำไรสุทธิ 606.14 ล้านบาท ลดลง 34.3% เทียบช่วงเดียวกันปีก่อน ที่มีกำไรสุทธิ 921.84 ล้านบาท

          เมื่อธุรกิจอสังหาฯ โอกาสเติบโต ระดับสูงคงยาก แม่ทัพใหญ่ของ PSH อย่าง “ทองมา วิจิตรพงศ์พันธุ์” ประธานกรรมการบริหาร จึงให้นโยบายมาว่า อยากเห็นสัดส่วนรายได้ 3-5 ปีข้างหน้า พอร์ตของ PSH เป็นธุรกิจสุขภาพ 20% และธุรกิจอสังหาฯ เหลือ 80%

          ปิยะ ประยงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พฤกษา เรียลเอสเตท จำกัด (มหาชน) ในเครือของ PSH  ให้สัมภาษณ์พิเศษ “หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ” ว่า ในอดีตธุรกิจอสังหาฯ ของพฤกษาเคยเติบโตถึงระดับ 30% ต่อปี ทว่าตั้งแต่เศรษฐกิจซบเซาและประเทศไทยมีตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ขยายตัวใน ระดับต่ำ ฉะนั้น โอกาสที่ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ จะกลับไปเติบโตเฉกเช่นเดิมคงเป็นเรื่องยากมาก !  ดังนั้น หากยังคงยึดติดอยู่กับ การดำเนินธุรกิจรูปแบบเดิมๆ โอกาส การเติบโตยั่งยืนย่อมยากขึ้น จึงต้อง เดินแผนรักษาฐานที่มั่นในธุรกิจอสังหาฯ ด้วยการพัฒนาสินค้าตรงตามเป้าหมาย และเน้น จับกลุ่มลูกค้าระดับกลาง-บน และเป็น กลุ่มสินค้าที่ให้มาร์จินสูงสามารถทำกำไรได้ดี

          พร้อมไปกับ “การทำงานร่วมกัน” (Synergy) ใน “ธุรกิจโรงพยาบาล” คือ โรงพยาบาลวิมุตที่เปิดเชิงพาณิชย์ ไปเมื่อเดือน พ.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นธุรกิจที่สอดรับกับเมืองไทยกำลังเข้าสู่ “สังคมผู้สูงอายุ” (Aging society) โดย ปรับพอร์ตรายได้ (Diversify) ด้วยการสร้างพอร์ต “รายได้ประจำ” หรือ Recurring Income  ที่สร้างสินทรัพย์ที่มั่นคงด้าน รายได้ต่อเนื่อง ไม่สวิงตามความผันผวนของเศรษฐกิจมากนัก

          อย่างไรก็ตาม ในระยะกลาง-ยาว คาดจะหารายได้ประจำจากการทำงานร่วมกันระหว่างธุรกิจอสังหาฯ และ ธุรกิจโรงพยาบาลมากยิ่งขึ้น เนื่องจากธุรกิจ โรงพยาบาลเป็นธุรกิจที่เป็นเทรนด์ของโลก โดยปัจจุบันเริ่มทำงานร่วมกันแล้ว ล่าสุด มอบสิทธิพิเศษให้กับลูกบ้านพฤกษา ทุกโครงการที่โอนบ้านในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา ที่อยู่ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ซึ่งมีราวๆ แสนครัวเรือน สามารถรับบริการด้านสุขภาพที่โรงพยาบาลวิมุต

          รวมทั้งในระยะยาวพฤกษายังมี แผนที่จะร่วมมือกับโรงพยาบาลวิมุต เปิดศูนย์ดูแลสุขภาพ ประกอบด้วย คลินิก ศูนย์กายภาพ ศูนย์ดูแลและบริบาล ผู้สูงอายุ รวมทั้งการให้บริการดูแลสุขภาพ ถึงบ้าน (Home Health Care) ในโครงการพฤกษาเพื่อสร้างชุมชนให้ น่าอยู่และตอบสนองการใช้ชีวิตของลูกค้า อย่างครบวงจร โดยเป็นเซอร์วิสของโครงการพฤกษาที่คิดค่าใช้จ่ายคาดว่ากลุ่มลูกค้า จะเป็นตลาดระดับกลาง-บน ขณะที่ลูกค้าระดับล่างอาจจะใช้เป็นเซอร์วิสในการใช้บริการ โรงพยาบาลมากกว่า เช่น ตรวจสุขภาพ, ส่วนลดค่าห้อง, ยา

          เขา แจกแจงต่อว่า สำหรับธุรกิจอสังหาฯ คาดปีนี้ภาพรวมตลาดโต 5% จากปีก่อน ที่ติดลบ 30% คาดผ่านพ้น “จุดต่ำสุด” ของธุรกิจแล้ว แต่ลดลงจากเป้าต้นปี ที่คาดจะโต 9% หลังเกิดสถานการณ์ การแพร่ระบาดโควิด-19 ระลอกใหม่ แต่ตลาดแนวราบโดยเฉพาะบ้านเดี่ยว โตโดดเด่นมากในปีนี้ สะท้อนผ่าน ไตรมาส 1 ปี 64 ตลาดแนวราบของพฤกษาโต 50%

          ทั้งนี้ การโตตลาดแนวราบเกิดขึ้นจากชนชั้นกลางที่มีฐานเงินเดือนประจำราว 30,000-150,000 บาทต่อเดือนขึ้นไป เป็นกลุ่มลูกค้าที่ไม่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ขณะที่การระบาดโควิด-19 ทำให้แต่ละบริษัทให้พนักงานทำงานที่บ้าน (Work Form Home) ส่งผลให้เกิดความต้องการบ้านเดี่ยวเพื่อหาพื้นที่ในการทำงาน

          ขณะที่ช่วงที่ผ่านมาบริษัทปรับพอร์ตลูกค้า โดยหันมาเน้นกลุ่มลูกค้ากลาง-บนมากขึ้น เนื่องจากเป็นกลุ่มลูกค้าที่ได้รับผลกระทบโควิด-19 น้อย และปรับลดลูกค้ากลาง-ล่าง ซึ่งเป็นกลุ่มลูกค้าหลักเหลือ 50% เดิม 80% ซึ่งช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมาเศรษฐกิจชะลอตัว และโรงงานโยกย้าย ฐานการผลิตไปยังประเทศเวียดนาม ทำให้ลูกค้าระดับกลาง-ล่างได้รับผลกระทบและถูกซ้ำเติมจากโควิด-19 ซึ่งทำให้ลูกค้าถูกปฏิเสธ สินเชื่อจากสถาบันการเงินสูงเฉลี่ย 7-8%

          ทั้งนี้ ปีนี้มีแผนเปิดโครงการใหม่ รวม 29 โครงการ มูลค่ารวม 26,630 ล้านบาท เป็นทาวน์เฮาส์ 17 โครงการ มูลค่า 14,680 ล้านบาท บ้านเดี่ยว 8 โครงการ มูลค่า 7,560 ล้านบาท คอนโดมิเนียม 4 โครงการ มูลค่า 4,390 ล้านบาท โดยโครงการใหม่ ที่เปิดในปีนี้จะเน้นกลุ่มลูกค้ากลาง-บน โดยเป้าหมาย 2 ปี (2565-2566) พอร์ตลูกค้า เปลี่ยนเป็นระดับล่าง 40% ระดับกลาง 40% และบน 20%

          สำหรับ ผลประกอบการปีนี้ คงเป้าหมายยอดขายที่ 32,000 ล้านบาท จากปีก่อนทำได้ 21,900 ล้านบาท หรือ เติบโต 45% และ ตั้งเป้ารายได้ที่ 32,000 ล้านบาท จากปีก่อนมีรายได้ 29,200 ล้านบาท หรือเติบโต 10%

          อย่างไรก็ตาม คาดในแง่ของกำไรในปี2565 มีโอกาสจะกลับมาใกล้เคียงกำไรปี 2562 ที่ระดับ 5,358.81 ล้านบาท หลังบริษัทเปิดโครงการใหม่ด้วยต้นทุนใหม่ รวมทั้งเคลียร์สต็อกเก่าหมดแล้ว นอกจากนี้บริษัทกำลังศึกษาธุรกิจใหม่ (New Business) เป็นธุรกิจเซอร์วิสบ้านหลังหมดประกัน เนื่องจากปัจจุบันความต้องการสูง และพฤกษามีจำนวนลูกบ้านมากคาดจะเห็นธุรกิจช่วงปลายปี โดยช่วงแรกอาจจะยังไม่เห็นกำไรเพราะว่า ต้องทำการตลาดกับลูกค้าก่อน อาจจะเป็นอีกช่องทางเสริมรายได้ใหม่

          สำหรับธุรกิจโรงพยาบาลวิมุต คาดปีแรก (8 เดือน)มีรายได้ 400 ล้านบาท โดยคาดว่าธุรกิจจะสร้างรายได้ต้องใช้เวลา  โดยในแผนธุรกิจบริษัทมีการขยายกลุ่มธุรกิจสุขภาพเพิ่มขึ้นโดยในระยะยาว โดยจะมีการขยายการลงทุนในธุรกิจสุขภาพ ด้วยการเพิ่มโรงพยาบาลในเครืออีก 2-3 แห่ง ซึ่งรูปแบบการเพิ่มโรงพยาบาลนั้น มีทั้งรูปแบบการลงทุนเองและการเข้าไปถือหุ้นในโรงพยาบาลพันธมิตร ซึ่งล่าสุดได้เข้าถือหุ้นใหญ่ในสัดส่วน 51% ใน โรงพยาบาลเทพธารินทร์

          “ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์โอกาสโตเช่นเดิมเป็นเรื่องยาก  จึงต้องปรับแผน เน้นกลุ่มลูกค้ากลาง-บน  รวมถึงผนึกธุรกิจโรงพยาบาล สร้างรายได้ประจำ”

Reference:

Click icon to remove from or add to favorite list
Click to choose and click "Compare" button