ผลพวงโควิดระบาดในแคมป์ก่อสร้าง อสังหาฯ-รับเหมาฯป่วนหนัก

24 May 2021 383 0

          อสังหาริมทรัพย์

          สถานการณ์การระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในประเทศไทย ที่ยังมีตัวเลขผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้นเฉลี่ย ต่อวันไม่ต่ำกว่า 2,000 คน โดยเฉพาะมีผู้ติดเชื้อหมู่มากในแคมป์แรงงานก่อสร้างภายในพื้นที่กรุงเทพ มหานคร ทำให้กลุ่มผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ต้องเตรียมแผนรับมือผลกระทบที่จะตามมา ล่าสุดสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย ได้ระดมความคิดเห็น จากทุกภาคส่วน นักวิชาการ ผู้ทรงคุณวุฒิในด้านสาธารณสุข เพื่อร่วมกันหาทางออกภายใต้การเสวนาออนไลน์   “มาตรการการจัดการแคมป์แรงงานก่อสร้างในสถานการณ์โควิด-19 อย่างมีส่วนร่วม”

          โดยนายพรนริศ ชวนไชยสิทธิ์ นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย กล่าวว่า การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในแคมป์คนงานก่อสร้างในพื้นที่กรุงเทพฯและต่างจังหวัดในขณะนี้ ทำให้เกิดกระแสเรียกร้องให้รัฐบาลดำเนินการตรวจหาเชื้อเชิงรุกในไซต์งานก่อสร้าง และแคมป์คนงาน ซึ่งเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก เนื่องจาก ไซต์งานก่อสร้างทั่วประเทศนั้นกระจายตัวอยู่ในพื้นที่ ที่แตกต่างกันเป็นจำนวนมาก บางไซต์ หรือแคมป์คนงานก่อสร้างตั้งอยู่ในพื้นที่ห้องน้ำ และมีหลายที่ที่มีสุขอนามัยต่ำกว่าชุมชนแออัดหลายๆ ที่

          ขณะที่ในปัจจุบันหน่วยงานสาธารณสุขและแพทย์ที่ทำงานอยู่ในขณะนี้ ก็มีงานล้นมือ และจำนวนบุคลากรเองก็ไม่เพียงพอ ดังนั้นหากจะให้มีการลงพื้นที่ตรวจหาเชื้อในเชิงรุก ก็จะเป็นการเพิ่มภาระให้กับบุคลากรทางการแพทย์มากขึ้นไปอีก และเชื่อว่าหน่วยงานที่รับผิดชอบจะดูแลไม่ไหว ดังนั้น เพื่อแก้ปัญหาการระบาดในครั้งต่อไปผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ บริษัทรับเหมาก่อสร้าง และหน่วยงานรัฐควรต้องมีการหารือร่วมกัน เพื่อกำหนดแนวทางการรับและมาตรการป้องกัน รวมถึงแนวทางการแก้ปัญหาเมื่อพบการติดเชื้อ

          อีกปัญหาที่น่ากังวลคือ หากพบมีการติดเชื้อใน แคมป์คนงานเกิดขึ้นจำนวนมากๆ รัฐจะรับไม่ไหว หากไม่มีการเตรียมพร้อมรับมือไว้ก่อน เพราะหากพบจำนวนการติดเชื้อมากๆ แล้วต้องนำผู้ติดเชื้อไปพักที่โรงพยาบาลสนาม ซึ่งปัจจุบันก็ยังมีเตียงรองรับผู้ป่วยไม่พอ อาจ เกิดกรณีทางการเมืองว่าทำไมรับเฉพาะแรงงานที่ป่วย ขณะที่คนไทยไม่ได้รับการรับตัวไปรักษา ซึ่งจะทำให้เกิดความวุ่นวายทำให้รัฐมีปัญหาต้องแก้ไขเพิ่มมากขึ้น

          “หากเจ้าของโครงการ ผู้รับเหมา และหน่วยงานรัฐมีความพร้อมมีการร่วมมือกันแก้ปัญหา โดยเจ้าของโครงการ และบริษัทรับเหมาก่อสร้างพร้อมสนับสนุน โดยมีหน่วยงานรัฐทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาและให้คำแนะนำ ช่วยวางมาตรการในการแก้ปัญหาให้ ก็จะทำให้แก้ปัญหาได้เร็วขึ้น และข้อมูลต่างๆ ของทั้งผู้รับเหมา เจ้าของโครงการและหน่วยงานรัฐ เมื่อนำมารวมกันประมวลออกมาเป็นฐานข้อมูลขนาดใหญ่จะช่วยอำนวยความสะดวกในการดำเนินงานได้เป็นระบบมากขึ้น หน่วยงานตรวจคัดกรองรัฐก็ทำงานได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น แต่หากหน่วยงานรัฐตรวจคัดกรองได้ไม่ครอบคลุม บริษัทเอกชนหรือผู้ประกอบการก็พร้อมจะทำหน้าที่ในการตรวจคัดกรอง และตรวจหาเชื้อร่วมกันอีกที”

          แต่หากทุกฝ่ายไม่ได้มีความพร้อมและเตรียมการร่วมกันไว้ก่อน หากมีการตรวจเจอผู้ติดเชื้อจำนวนมากในไซต์งาน จะเกิดความตระหนก และทุกฝ่ายจะหนีเพราะกลัวติดเชื้อ และหากไม่มีการบริหารจัดการที่ดีผู้ติดเชื้อไม่ได้รับการดูแลก็จะเกิดการหนีจากแคมป์คนงาน ซึ่งจะทำให้เกิดการแพร่ระบาดของเชื้อออกไปทุกที่ที่แรงงานเดินทางไป เพราะแรงงานเหล่านี้ไม่สามารถกลับบ้านได้ ปัญหาก็จะตามมา ดังนั้นในเรื่องนี้ทุกฝ่ายต้องหาทางร่วมมือร่วมกัน และช่วยกันแก้ไขในเบื้องต้น เพราะหากจะให้รัฐรับผิดชอบแก้ไขให้ทั้งหมดรัฐรับมือฝ่ายเดียวไม่ไหว เพราะฉะนั้นทุกฝ่ายต้องมานั่งหารือร่วมกันในการปัญหาเพื่อบรรเทาปัญหาให้กับรัฐบาล

          หากจะแก้ด้วยการระดมฉีดวัคซีนให้แรงงานก็ทำไม่ได้ เพราะคนไทยในประเทศเองก็ยังไม่ได้รับการฉีดอย่างทั่วถึง และในขณะนี้เองวัคซีนก็ยังไม่เพียงพอ นอกจากนี้ยังต้องดูว่าเมื่อฉีดไปแล้วแคมป์คนงานนั้นอยู่ในพื้นที่ไหนด้วย เพราะหากอยู่ในพื้นที่สีแดงก็ไม่มีประโยชน์ เพราะในพื้นที่มีแต่คนติดเชื้อ ดังนั้นเราต้องแยกคัดกรองกันก่อน เพื่อบริหารจัดการให้เป็นระบบ

          “มาก่อนมาหลังไม่สำคัญ แต่ที่สำคัญคือการบริหารจัดการอย่างเป็นระบบ เพราะเราต้องไม่ลืมว่าแรงงานต่างชาติที่เข้ามาทำงานในประเทศนั้น มีจำนวนมากที่เข้ามาทำงานแทนเรา หากขาดแรงงานกลุ่มนี้ไปจะเกิดปัญหาการขาดแรงงาน”

          นายพรนริศ กล่าวว่า สำหรับการป้องกันการระบาดในแคมป์นั้น ขณะนี้ยังไม่มีแนวทางที่เป็นรูปธรรม แต่ต้องการที่จะหารือร่วมกันเพื่อกำหนดแผนและแนวทางการดำเนินการรับมือก่อน และมาตรฐานในการรับมือ ซึ่งการรับฟังผู้ประกอบการหลายๆ รายทั้งใน กทม.และต่างจังหวัด พบว่ามีผู้ประกอบการหลายๆ รายพร้อมที่จะให้การสนับสนุนทุนในการช่วยเหลือผู้รับเหมาก่อสร้าง เพราะหากจะผลักทุกอย่างให้ผู้รับเหมา ผู้รับเหมาก็อยู่ไม่ได้เพราะกำไรไม่สูง แต่ยังต้องมาแบกรับภาระเพียงผู้เดียว จะทำให้ผู้รับเหมารับมือไม่ไหว และจะมีผลต่องานก่อสร้างล่าช้า ส่งงานไม่ตรงตามกำหนด

          ดังนั้น ต้องมีการหารือกำหนดมาตรฐานการดำเนินการร่วมกันก่อน แล้วจึงขยายไปสู่การกำหนดมาตรฐานสาธารณสุขร่วมกันอีกที เพื่อกำหนดมาตรฐานสาธารณสุขในแคมป์คนงาน เช่น การแยกกันทานอาหาร แยกบ่อน้ำอาบ หรืออ่างอาบน้ำ ฯลฯ และที่สำคัญที่สุดคือการจัดทำข้อมูลแคมป์คนงานทั่วประเทศ ว่ามีจำนวนเท่าไหร่ มีกี่แคมป์ มีกี่ครัวเรือน มีการโยกย้ายแคมป์และคนงาน หรือไม่ เพื่อนำข้อมูลมาวางแผนการแก้ปัญหาเป็นระบบ

          สำหรับภาพรวมตลาดอสังหาฯที่งานก่อสร้างอาจจะล่าช้าจากผลกระทบแคมป์คนงานติดเชื้อไวรัสโควิด-19 นั้น ตอนนี้ยังคำนวณไม่ได้ เพราะบางไซต์งานไม่มีผู้ติดเชื้อผู้รับเหมาก็ต้องเร่งก่อสร้างไม่งั้นจะถูกปรับ ขณะที่ต้นทุนที่เพิ่มขึ้น เช่น ค่าเหล็ก ค่าแรงงาน สุขภาพของคนงาน เหล่านี้อาจจะทำให้ผู้รับเหมาไปไม่ถึงตลอดรอดฝั่ง ส่งงานไม่ได้ น่าจะมีให้เห็น ตรงนี้ดีเวลลอปเปอร์ก็แก้ยาก อย่าลืม เจ้าของโครงการมีกำหนดต้องส่งมอบโครงการ ที่อยู่อาศัยให้กับลูกค้า ถ้ากรณีผู้รับเหมาขอเลื่อนเวลา ส่งมอบ แต่หากลูกค้าที่ซื้อโครงการยืนยันตามกรอบเวลาที่โครงการระบุไว้ หากไม่ได้ ก็อาจจะไปร้องต่อสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) จะส่งผลเป็นลูกโซ่ไปทั้งหมด

          “ตรงนี้ เราคิดว่า น่าจะมีมาตรการสามารถเลื่อน ส่งมอบโครงการได้ เหมือนคล้ายพักชำระหนี้ ไม่งั้น ถ้าตรึงทั้งระบบ ก็จะเดินต่อกันไม่ได้เลยแน่นอน ภาพรวมเปิดโครงการปีนี้ติดลบแน่นอน ตลาดแนวราบเติบโตอยู่ แต่การขยายตัวของแนวราบยิ่งน่าห่วง เพราะอยู่ชานเมืองทุกจังหวัด และแคมป์ของแนวราบจะแย่กว่าไซต์งานโครงการคอนโดมิเนียมมากๆ เพราะผู้รับเหมาในแนวราบอาจจะเป็นระดับเถ้าแก่ในท้องถิ่น มีลูกน้อง 20 คน ก็สามารถทำโครงการบ้านจัดสรรได้แล้ว แต่มาตรฐานสาธารณสุขไม่ได้มาตรฐาน เป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วง แคมป์คนงานก่อสร้างเล็กๆ จะแก้ไขปัญหาอย่างไร”

          นายอดิศร เกิดมงคล เครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ (MWG) กล่าวถึงภาพรวมสถานการณ์และปัญหาเร่งด่วนของแรงงานข้ามชาติในช่วงโควิด-19 ว่า แรงงานข้ามชาติในกรุงเทพฯ และปริมณฑลมีประมาณ 1.1 ล้านคน ส่วนใหญ่จะอยู่ในพื้นที่กรุงเทพฯ ประมาณ 0.5 ล้านคน และกระจายไปตามปริมณฑลประมาณ 0.6 ล้านคน กิจกรรมที่แรงงานต่างด้าวทำงานอยู่ อันดับหนึ่งจะอยู่ภาคก่อสร้าง ณ สิ้นเดือน มี.ค. 64 ลดลงมาเหลือ 346,847 คน(จากเดิมประมาณ 535,735 คน), บริการ 243,223 คน, กิจการต่อเนื่องเกษตร 237,621 คน, เกษตร 236,119 คนและผลิตและจำหน่ายอาหาร 211,775 คน ทั้งนี้ ด้วยการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้คลัสเตอร์ใหม่ที่ควรระวังในพื้นที่กรุงเทพฯ แยกเป็นกลุ่มแรงงานในตลาด เช่นคลองเตย, ดินแดง-ห้วยขวาง, ประตูน้ำ, สะพานใหม่ดอนเมือง, มหานาค-โบ๊เบ๊, พระโขนง, บางกะปิ และมีนบุรีเป็นต้น

          กลุ่มก่อสร้าง สิ่งที่ต้องเร่งทำ คือ การจัดฐานข้อมูลแคมป์ก่อสร้างใน กทม.และปริมณฑล การหารือร่วมกับนายกสมาคมก่อสร้างไทย สมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย ในการส่งเสริม ป้องกัน เฝ้าระวัง และสร้างการมีส่วนร่วมของคนงาน ตลอดจนการจัดการหลังพบผู้ติดเชื้อ ฯลฯ กลุ่มโรงงาน ถอดบทเรียนโรงงานสมุทรสาคร และตลาดพรพัฒน์มาปรับใช้ โดยข้อเสนอแนวทางการทำงานต่อไปได้แก่ ป้องกันไม่ให้เคลื่อนย้าย โดยต้องทำให้แรงงาน ข้ามชาติมั่นใจว่า จะได้รับการช่วยเหลือ, มั่นใจได้รับการช่วยเหลือ มีความมั่นคงปลอดภัย เมื่อปรากฏตัวแล้วจะไม่ถูกจับ คุ้มครองเมื่อถูกปิดงาน และความมั่นคงในการจ้างงาน ยังมีรายได้ตอนหยุดงานช่วงกักตัว ซึ่งที่ผ่านมา แรงงานข้ามชาติ เข้าไม่ถึงระบบการดูแล เข้าไม่ถึงการสื่อสาร ถูกตีตรา ขาดความหวัง ปัญหาพื้นฐานในการ ดำรงชีวิต และสถานะทางกฎหมาย เป็นต้น

          นายแพทย์เชิดศักดิ์ อัมพรสุขสกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท แสงฟ้าก่อสร้าง จำกัด กล่าวว่า ที่ผ่านมาแสงฟ้าฯ มีการเตรียมความพร้อมรับมืออยู่ตลอดเวลา และได้วางมาตรการป้องกันในแคมป์คนงานก่อสร้างไว้อย่างเคร่งครัด เพราะเราไม่สามารถทราบได้ว่าคนงาน คนไหนติดเชื้อหรือไม่ ขณะเดียวกันก็มีการให้ความรู้ การดูแลและป้องกันตนเองแก่แรงงานของบริษัท ไม่ว่าจะเป็นแรงงานไทยหรือต่างชาติ เช่น การออกมาตรการให้สวมหน้ากากอนามัย การล้างมือ ดังนั้นการดำเนินการอย่างมีระบบและเข้มงวดอยู่เป็นประจำจึงเป็นสิ่งจำเป็น

          นอกจากนี้ การกำหนดมาตรการเข้าออกที่พักอาศัยหรือแคมป์คนงานก่อสร้าง โดยกำหนดให้แรงงานอาศัยเฉพาะในแคมป์และไซต์งานก่อสร้าง โดยทางบริษัทอำนวยความสะดวกให้กับคนงาน ด้วยการหาสินค้าตามที่แรงงานต้องการ หรือนำสินค้าเข้าไปขาย และให้บริการแก่คนงานในแคมป์ เพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อจากภายนอกทำให้การกระจายของเชื้อภายในแคมป์มีโอกาสเกิด ขึ้นน้อย

          “อย่างไรก็ตาม ในเรื่องความเสี่ยงนั้นต้องยอมรับว่าภายในแคมป์ยังมีบุคคลภายนอกที่เดินทางเข้ามาทำงานตรวจงานซึ่งเป็นโอกาสที่ยังมีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อของคนงานได้อยู่ ทั้งนี้ ในการรับคนงานก่อสร้างนั้น ก่อน การรับคนงานเข้ามาทำงานได้มีการตรวจรับคนงานทุกคนก่อนเข้าแคมป์ และในการย้ายแคมป์งานก่อสร้างทุกครั้งก็มีการตรวจสุขภาพคนงาน”

          นอกจากนี้ในการแก้ปัญหาและป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อในแคมป์คนงานนั้น บริษัทยังมีมาตรการป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อ เช่น การอาบน้ำร่วมกันของคนงานในแคมป์ จากเดิมที่ใช้อ่างน้ำ หรือถังเก็บน้ำเดียวกันก็จะเปลี่ยนมาใช้ฝักบัวในการอาบน้ำแทน ซึ่งเป็นการควบคุมและป้องกันได้ในระดับหนึ่ง

          สำหรับผลกระทบของการตรวจเจอการติดเชื้อ ในแคมป์คนงาน ต้องยอมรับว่าจะส่งผลกระทบอย่างมากต่องานก่อสร้าง ซึ่งในส่วนของแสงฟ้าฯ นั้น มีมาตรการว่าหากพบมีการติดเชื้อในแคมป์คนงานก่อสร้างจริง ก็จะต้องมีการปิดแคมป์คนงานเป็นเวลา 14 วันซึ่งการ ปิดแคมป์นี้จะทำให้งานก่อสร้างไม่สามารถดำเนินการ ต่อไปได้ หรือต้องหยุดงานก่อสร้างลงไป ซึ่งจะส่งผล กระทบกับแผนการก่อสร้างของทางบริษัทก่อสร้างอย่างแน่นอน

          “วิธีการป้องกันและแก้ไขปัญหาในเรื่องนี้ก็คือการฉีดวัคซีนให้กับประชาชนและคนงานในแคมป์ก่อสร้างต่างๆ ซึ่งเรื่องดังกล่าวนี้จะต้องดำเนินการให้เร็วที่สุดเพื่อลดผลกระทบและปัญหา การก่อสร้างโครงการในไซต์งานต่างๆ ทั่วประเทศ”

          นายสุรเชษฐ กองชีพ กรรมการผู้จัดการบริษัท ฟีนิกซ์ พร็อพเพอร์ตี้ ดีเวลล็อปเม้นท์ แอนด์ คอนซัลแทนซี่ จำกัด กล่าวว่า การก่อสร้างในประเทศไทยนั้นชัดเจนมาหลายปีแล้วว่ามีการใช้แรงงานต่างด้าวเป็นส่วนใหญ่ ทั้งแรงงานที่มาจากประเทศต่างๆ ในอาเซียนรอบประเทศไทย และประเทศที่ไกลออกไป เช่น บังกลาเทศ ซึ่งการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ตั้งแต่ปลายปีที่แล้วนั้น มีผลกระทบต่อแรงงานในอุตสาหกรรมก่อสร้างเนื่องจากแรงงานต่างด้าวส่วนหนึ่งที่เดินทางกลับบ้าน หรือเดินทางออกจากประเทศไทยไปในช่วงที่การแพร่ระบาดยังไม่รุนแรง ไม่สามารถกลับเข้ามาทำงานในประเทศไทยได้ดังที่ตั้งใจ เพราะว่าการปิดด่านผ่านแดนต่างๆ ของประเทศไทย และประเทศต่างๆ โดยรอบทำให้นายจ้างของพวกเขามีปัญหาทันที เนื่องจากแรงงานขาดหายไป

          อีกทั้งการนำเข้าแรงงานต่างด้าวก็ไม่สามารถทำได้เช่นกัน การก่อสร้างต่างๆ โดยเฉพาะโครงการของภาคเอกชนมีปัญหากันพอสมควร แต่พอสถานการณ์คลี่คลาย และรัฐบาลออกมาตรการผ่อนปรนในเรื่องของการอนุญาตให้แรงงานต่างด้าวเดินทางเข้าประเทศไทยได้ตามขั้นตอน และระเบียบที่กำหนดในปีที่ผ่านมา เรื่องนี้ก็คลี่คลายไปได้ระดับหนึ่ง ดังนั้น การระบาดในระลอกที่ 1 และ 2 จึงไม่มีผลต่ออุตสาหกรรมก่อสร้าง

          การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในระลอกที่ 3 ครั้งนี้มีบางส่วนเกิดขึ้นในที่พักคนงานก่อสร้าง และแพร่ระบาดอย่างรวดเร็วภายในที่พักคนงานและพื้นที่ โดยรอบ เพราะรูปแบบการทำงานและการใช้ชีวิตของคนงานก่อสร้างที่เอื้อต่อการแพร่ระบาด นอกจากนี้ยังมีการตรวจพบการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์อินเดีย ซึ่งสันนิษฐานกันว่าอาจจะมาจากแรงงานต่างด้าวที่เข้าเมืองผิดกฎหมาย  ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรีบเข้าควบคุมที่พักคนงานและพื้นที่โดยรอบทันที มีการตรวจเชื้อไวรัสโควิด-19 เชิงรุกอย่างเร่งด่วนเพื่อกันคนที่มีเชื้อออกจากสังคมทันที เพื่อให้การแพร่ระบาดอยู่ในวงจำกัดนอกจากนี้ยังกระจายออกตรวจสอบตามที่พักคนงานต่างๆ ทันที ซึ่งแน่นอนว่าสร้างผลกระทบให้กับการก่อสร้างต่างๆ แน่นอน

          ปี 63 อาจจะไม่เห็นผลกระทบแบบชัดเจนเพราะการก่อสร้างต่างๆ ยังทำได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ ยกตัวอย่างปี 63 มีคอนโดมิเนียมสร้างเสร็จและขอจดทะเบียนอาคารชุดในประเทศไทยจำนวน 86,633 ยูนิตมากกว่า ปี 62 ประมาณ 22% ตามข้อมูลของกรมที่ดิน โครงการประเภทอื่นๆ ก็ไม่ได้ลดลงมากจนเป็นที่สนใจ แต่ปีนี้ มีความเป็นไปได้ที่จะเห็นการเปลี่ยนแปลงในเรื่องนี้ ซึ่งประมาณการเบื้องต้นมีความเป็นไปได้ที่การก่อสร้างทั่วประเทศจะชะลอตัวลงไม่น้อยกว่า 15% ซึ่งต้องดูว่า การระบาดในระลอกที่ 3 นี้จะจบลงเมื่อใด เพราะการขาดแคลนแรงงาน และการต้องหยุดการก่อสร้าง

          เนื่องจากคนงานก่อสร้างเดินทางออกนอกที่พักคนงานไม่ได้เป็นอุปสรรคสำคัญในเรื่องของการก่อสร้างโครงการต่างๆ ที่กำลังก่อสร้างอยู่ในตอนนี้ จำเป็นต้องชะลอกำหนดแล้วเสร็จออกไปหลายโครงการแน่นอน โครงการที่ยังไม่มีคนงานติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ก็ต้องระมัดระวังกันเต็มที่เพื่อที่จะได้ไม่กระทบกับงานมากนักและจำเป็นต้องมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นแน่นอนในการป้องกันการติดเชื้อ รวมไปถึงการเพิ่มขั้นตอนในการตรวจสอบต่างๆ ยังไม่รวมในเรื่องของต้นทุนค่าก่อสร้างที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เพราะผลต่อเนื่องจากมาตรการควบคุม การแพร่ระบาดต่างๆ ทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศโดยในปัจจุบันมีหลายโครงการที่กำลังก่อสร้างแจ้ง เปลี่ยนกำหนดการแล้วเสร็จใหม่บ้างแล้ว แต่หลายโครงการยังคงยืนยันกำหนดแล้วเสร็จเดิมเพราะไม่มีปัญหาใน เรื่องนี้

          ที่พักคนงานไหนที่มีคนติดเชื้อก็จำเป็นมีการควบคุมทันทีอย่างน้อย 14 วัน การก่อสร้างที่อยู่ในความรับผิดชอบของพวกเขาก็ต้องหยุดไปด้วยหรืออาจจะเดินหน้าได้ช้าลงเพราะแรงงานไม่พอ และยังไม่สามารถหาแรงงานต่างด้าวมาทดแทนได้ อีกทั้งแรงงานไทยเองก็มีไม่พอต่อความต้องการอยู่แล้ว การแข่งขันกันในเรื่องของค่าแรงรายวันจึงเกิดขึ้น มีการปรับขึ้นค่าแรงเพื่อดึงดูดแรงงานให้มาทำงานมากขึ้น เพราะนายจ้างยอมเสียค่าแรงเพิ่มขึ้นดีกว่างานเสร็จไม่ทันตามสัญญา แต่สุดท้ายแล้วการเปิดการเจรจากับเจ้าของโครงการต่างๆ เป็นทางเลือกที่ดีที่สุด

          เพราะทุกฝ่ายทั้งนายจ้าง ผู้รับเหมา ผู้ขายวัสดุก่อสร้าง ธนาคารรับรู้ถึงปัญหาในจุดนี้ การแก้ไขกำหนดแล้วเสร็จให้ยืดระยะเวลาแล้วเสร็จออกไปโดยไม่เสียค่าปรับรวมไปถึงเรื่องของกำหนดการจ่ายค่าสินค้า หรือสินเชื่อธนาคารที่จำเป็นต้องมีการเจรจาเพื่อขอทำข้อตกลงเรื่องของระยะเวลาใหม่จึงเป็นทางออกที่ดีที่สุด นอกจากนี้ยังต้องเร่งทำความเข้าใจกับผู้ซื้อในกรณีที่เป็นที่อยู่อาศัยที่มีกำหนดแล้วเสร็จชัดเจน และมีค่าปรับในกรณีที่การก่อสร้างล่าช้า เพราะผู้ซื้อเองก็รับรู้ถึงปัญหานี้เช่นกัน เพียงแต่เจ้าของโครงการต้องรีบทำความเข้าใจแต่เนิ่นๆ ไม่ใช่รอจนถึงกำหนดแล้วเสร็จค่อยแจ้งผู้ซื้อ 

 

Reference:

Click icon to remove from or add to favorite list
Click to choose and click "Compare" button