บูมภูเก็ต ฮับเวลเนสโลก

11 Oct 2023 334 0

 

          เร่งพัฒนาโครงข่ายบก-อากาศ ดึงลงทุนเทียบชั้นอีอีซี ที่ดินป่าตองพุ่ง 250 ล้านบาทต่อไร่

          ดัน7บิ๊ก โปรเจ็กต์

          ภูเก็ตเชื่อมกลุ่มอันดามัน “ฮับเวลเนสโลก” มหานครท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ดึงต่างชาติลงทุนพักอาศัยระยะยาว จุดพลุดันไฮซีซันตลอดปี “เศรษฐา” -คมนาคม เร่งพัฒนาโครงข่ายบก-อากาศ ดึงลงทุนสิทธิประโยชน์เท่าอีอีซี-ดันป่าตองราคาที่ดินกระฉูด 250 ล้านบาทต่อไร่ ด้านหอการค้าฯ เชียร์ลงทุนโครงการขนาดใหญ่แสนล้าน จีพีพีพุ่งแน่

          “ภูเก็ต” จังหวัดทางภาคใต้ เกาะขนาดใหญ่ตั้งอยู่ กลางทะเลอันดามัน ล้อมรอบไปด้วยมหาสมุทรอินเดีย ที่ถูกขนานนาม “ไข่มุกอันดามัน” แดนสวรรค์ของชาวต่างชาติ เดินทางกลับเข้ามา ใช้ชีวิต ในช่วงไฮซีชั่น หรือ ไตรมาส4 เนื่องจากเป็นช่วงหยุดยาว บางประเทศ มีอากาศที่หนาวเหน็บ หนีภัยพิบัติทางธรรมชาติ รวมถึงสถานการณ์โควิด ที่กินระยะเวลายาวนาน ด้วยทรัพยากรทางธรรมชาติอันอุดมสมบูรณ์ หลากหลายมิติ ทั้งป่าเขาน้ำตก ทะเล พื้นราบชุมชนขนาดใหญ่ ย่านการค้า ย่านเมืองเก่าแล้ว ยังมีเกาะแก่ง ที่อยู่ในอาณาเขตของภูเก็ตทางทิศใต้และตะวันออก ที่ตื่นตาตื่นใจ การเดินทางเข้าสู่ภูเก็ตนอกจากทางเรือแล้ว สามารถเดินทางโดยรถยนต์ซึ่งมีเพียงเส้นทางเดียวผ่านทาง

          จังหวัดพังงา โดยข้ามสะพานสารสินและสะพานคู่ขนาน คือสะพานท้าวเทพกระษัตรีและสะพานท้าวศรีสุนทรเข้าสู่ตัวจังหวัด อีกเส้นทางคือ ทางอากาศ มีท่าอากาศยานนานาชาติภูเก็ตรองรับท่าอากาศยานนี้ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของเกาะ

          ป่าตองกระหึ่มโลก

          ด้วยเสน่ห์ของภูเก็ต เมืองชายทะเลที่มีอัตลักษณ์ โดดเด่น หาดทรายสวยงามยาวขนานไปกับแผ่นดิน น้ำทะเลใส เม็ดทราย ละเอียดขาววาวระยับเมื่อพระอาทิตย์สาดแสง ทำให้ที่นี่เป็นจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวระดับโลกบ้านหลังที่สองทั้งยุโรป และเอชียโดยเฉพาะ “ป่าตอง” ไฮไลต์ ที่ต่างชาติพูดถึงดังกระหึ่มไปทั่วโลก ซึ่งเป็นที่มาของต่างชาติ รู้จักชื่อของป่าตอง มากกว่าภูเก็ตหลังจากมีการปลุกเร้าผ่านทางเว็บไซต์ สำหรับนักธุรกิจต่างชาติที่เข้ามามองหาที่ดินสร้างอาณาจักรลงทุนทำบ้านพักตากอากาศ รองรับพวกเดียวกันให้เข้ามาใช้ชีวิต นอกจากนักธุรกิจชาวไทยที่เข้าไปปักหมุดพัฒนาโครงการหรูพูลวิลล่ากันมาก

          แม้ภูเก็ต จะเกิดวิกกฤตถึงสองครั้งใหญ่ เหตุการณ์คลื่นยักษ์สึนามิ และสถานการณ์โควิดโรงแรมถูกสั่งปิดมากกว่า 90% ขณะการสาธารณสุขของไทยที่แข็งแกร่งเอกชนร่วมนำโรงแรมเข้าร่วมรองรับกลุ่มที่ต้องการหนีโควิดและเพื่อพักผ่อนรักษาสุขภาพ จุดประกายพลิกวิกฤตเป็นโอกาส เป็นเมืองสุขภาพนอกจากการท่องเที่ยว นับตั้งตั้งแต่ สมัย “รัฐบาล ประยุทธ์” และเปลี่ยนผ่านมาสู่”รัฐบาลเศรษฐา1” ที่ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ให้ความสำคัญเป็นลำดับต้นทุน ลงพื้นที่ ถึงสองครั้งเพื่อเร่งผลักดันโครงสร้างพื้นฐาน ขยายสนามบินภูเก็ต และ เร่งก่อสร้างสนามบินพังงา รับมาตรกา วีซ่าฟรี รวมถึง นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เพื่อยกระดับความสำคัญภูเก็ต เป็นบ้านหลังที่สองของชาวต่างชาติ ลงทุนโครงข่าย ทางบก ระบบรางและพัฒนาสนามบินใหม่ ขยายสนามบินเดิมเพิ่มขีดความสามารถรองรับนักท่องเที่ยว และธุรกิจอสังหาริมทรัพย์

          ดันอันดามันเวลเนสโลกเทียบชั้นอีอีซี

         นายเมธาพงศ์ อุปัติศฤงค์ นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์จังหวัดภูเก็ต เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า จังหวัดและเอกชนในภูเก็ตต้องการเสนอรัฐต้องการเสนอให้รัฐบาลสานต่อโครงการระเบียงเศรษฐกิจเวลเนสอันดามัน Andaman Wellness Corridor (AWC) หรือ อันดามันเวลเนสคอริดอร์ ที่จะรวมกลุ่ม จังหวัดอันดามัน ภูเก็ต พังงา กระบี่ ระนอง ฯลฯ มุ่งเน้นเป็นเขตส่งเสริมด้านสุขภาพหรือฮับสุขภาพและการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ โดยรัฐบาลให้สิทธิประโยชน์ทางด้านภาษี หรือยกเว้นภาษี เพื่อจูงใจเอกชนทั้งไทยและต่างชาติเข้ามา ไม่ว่าจะเป็นภาคบริการ โรงพยาบาล โรงแรมที่พักชั้นนำ เหมือนเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เมืองอุตสาหกรรม ที่ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี ที่ประกอบด้วย ชลบุรี ระยองและ ฉะเชิงเทรา เป็นต้น

          ที่ผ่านมาจังหวัดในแถบอันดามันเติบโตลักษณะต่างคนต่างอยู่ต่างกำหนดนโยบาย ทำให้ไม่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เพื่ออุด ช่องของ ช่วงโลว์ซีซั่น ที่ยาวนาน ผู้ประกอบการขาดรายได้ และจะมีเพียงช่วงเดียวที่เป็นโอกาสทอง นักท่องเที่ยว ต่างชาติกลับเข้ามาคือ ไฮซีชั่นช่วงปลายปีนี้ถึงต้นปีหน้าเพียงไม่กี่เดือนหากทำได้จะภูเก็ตและกลุ่มจังหวัดอันดามันจะมีแต่ช่วงไฮซีชันตลอดปีสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียนให้กับพื้นที่และประเทศได้อย่างมหาศาล

          ”อนาคตต้องการให้ภูเก็ตและกลุ่มจังหวัดอันดามัน เป็นเมืองท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ เป็นเขตส่งเสริมเหมือนอีอีซีที่สนับสนุนด้านการลงทุนอุตสาหกรรม ซึ่งเชื่อว่ารัฐบาลนี้จะดำเนินการต่ออย่างแน่นอนแม้จะพลาดเจ้าภาพเอ็กซ์โปก็ตาม”

          ตำบลไม้ขาว ศูนย์รวมลักชัวรี

          โดยพื้นที่ที่จะพัฒนานำร่องอยู่ที่ ตำบลไม้ขาวอำเภอถลาง ที่เป็นที่ดินที่ราชพัสดุ ของกรมธนารักษ์ มากกว่า 100 ไร่ ที่จะพัฒนาเป็นเมดดิคอล พลาซาของกระทรวงสาธารณสุขที่และจะดึงโครงการเอกชนเข้าพัฒนาซึ่งเป็นพื้นที่จัดเอ็กซ์โปรเดิม

          ทำเลดังกล่าว มีศักยภาพสูง เป็นลักชัวรีเงียบสงบมีความเป็นส่วนตัว เป็นศูนย์รวมของโรงแรม 5 ดาว อาทิ แมริออท เรเนซองส์ เมอริเดียน ฯลฯ ที่เป็นไพรม์แอเรียต่างชาติ ทะเลสวย เหมาะกับการพักอยู่อาศัยระยะยาว

          นอกจากนี้ยังมี โรงพบาบาลบำรุงราษฎร์ ติดถนนเทพกระษัตรี และพัฒนา โครงการบลูแคนยอนกอล์ฟแอนด์คันทรี คลับ ซึ่งมีทั้งที่อยู่อาศัยโรงแรม และสนามกอล์ฟ

          ”อันดามัน เวลเนสคอริดอร์ จะขยายพื้นที่พักผ่อน ดูแลสุขภาพ ท่องเที่ยวได้ ทั้งแอเรียโดยจุดไอเดียให้รัฐช่วยดูโครงการหรือ บริหารพื้นที่เพื่อการท่องเที่ยวและเวลเนสให้เติบโตอย่างแท้จริง”

          โดยเฉพาะรัฐบาลสนับสนุนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน อย่างการพัฒนาสนามบินพังงา ซึ่งเป็นสนามบินใหม่ ที่เรียกว่าสนามบินอันดามัน จะได้รับความสะดวกรองรับนักท่องเที่ยวเป็นบริเวณกว้าง และเชื่อมโยงกับแผนขยายสนามบินภูเก็ต ระยะที่2 รวมถึงการเชื่อมโยงโครงข่าง มายังสองสนามบิน ฯลฯ อำนวยความสะดวกของนักท่องเที่ยวที่จะมากลุ่มจังหวัดอันดามัน

          ดัน7บิ๊กโปรเจ็กต์ บูมภูเก็ต

          นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า ปัจจุบันกระทรวงคมนาคมได้เร่งผลักดันโครงการขนาดใหญ่ที่มีแผนลงทุนเร่งด่วนในจังหวัดภูเก็ตและพื้นที่ใกล้เคียง จำนวน 7 โครงการ มูลค่าการลงทุนรวมกว่า 1.48 แสนล้านบาท ซึ่งจะช่วยกระตุ้นการท่องเที่ยว เศรษฐกิจ และสอดคล้องกับนโยบายวีซ่าฟรี ซึ่งเป็นเมืองท่องเที่ยวระดับโลก เมืองศูนย์กลางการท่องเที่ยวของภูมิภาค ที่มีส่วนช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศ

          สำหรับ 7 โครงการลงทุนดังกล่าว ประกอบด้วย 1.การพัฒนาขยายขีดความสามารถ ท่าอากาศยานภูเก็ต (ระยะที่ 2) จากเดิมรองรับผู้โดยสาร 12.5 ล้านคน เพิ่มเป็น 18 ล้านคน คาดว่าจะใช้งบประมาณลงทุน 6,211 ล้านบาท 2.โครงการก่อสร้างขยายช่องจราจร ทางหลวง หมายเลข 4027 ช่วงบ.พารา-บ.เมืองใหม่ วงเงิน 510 ล้านบาท 3.โครงการก่อสร้างทางแนวใหม่ ช่วง บ.เมืองใหม่-สามแยกเข้าสนามบินภูเก็ต วงเงิน 2,468 ล้านบาท

          4.โครงการก่อสร้างทางแยกต่างระดับที่จุดตัด ทล.402 กับ ทล.4027 และ ทล.4025 (ทางลอดท่าเรือ) ที่ กม. 34+680 (ทล.402) วงเงิน 2,425 ล้านบาท 5.โครงการทางพิเศษ สายกระทู้-ป่าตอง มูลค่าลงทุน 14,670 ล้านบาท 6. โครงการทางพิเศษ สายเมืองใหม่ - เกาะแก้ว - กระทู้ วงเงิน 42,633 ล้านบาท และ 7. การพัฒนาท่าอาอากาศยานภูเก็ตแห่งที่ 2 (สนามบินอันดามัน) วงเงินลงทุน 80,000 ล้านบาท

          ”โครงการลงทุนเร่งด่วน ตนได้มอบหมายให้ทุกหน่วยงานเร่งรัดเตรียมพร้อมการลงทุน โดยขอให้จัดใช้งบประมาณประจำปี 2567 เริ่มนำร่องก่อสร้างโครงการ เบื้องต้นจึงคาดว่าโครงการเร่งด่วนเหล่านี้ จะทยอยเบิกจ่ายงบประมาณลงทุนทันทีในปี 2567 และเริ่มงานก่อสร้าง เพื่อทยอยแล้วเสร็จพร้อมเปิดให้บริการในปี 2569 โดยเฉพาะโครงการลงทุนทางบก ถนนทางหลวงต่างๆ เนื่องจากรัฐบาลต้องการให้เป็นทางเลือกในการเดินทางของประชาชนและนักท่องเที่ยว”

          นอกจากนี้ยังมีการพัฒนาโครงข่ายทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองและระบบราง (MR-MAP) สาย MR9 สุราษฎร์ธานี - ภูเก็ต ระยะทาง 236 กม. ที่จะพัฒนาในอนาคต อีกทั้ง ได้กำหนดแผนดำเนินการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนภายในเมืองภูเก็ต สายสถานีรถไฟท่านุ่น-ท่าอากาศยานภูเก็ตห้าแยกฉลอม รวมระยะทาง 58.5 กิโลเมตร ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการพิจารณารูปแบบการดำเนินโครงการ รวมถึงโครงการรถไฟทางไกลระหว่างเมืองสายท่าอากาศยานภูเก็ตท่าอากาศยานกระบี่ ระยะทาง 149 กิโลเมตร เชื่อมระหว่างภูเก็ต พังงา และกระบี่ รวมถึงสายสุราษฎร์ธานี- ท่านุ่น ระยะทาง 163 กิโลเมตรเชื่อมโยงจังหวัดภูเก็ตกับทางรถไฟสายใต้ไปยังโครงข่ายรถไฟทั่วประเทศ

          หวังโครงข่ายดันGPP โต 2 เท่าตัว

          นายจรัล ส่างสาร เลขาธิการหอการค้าจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า ภูเก็ตมีรายได้หลักจากภาคการท่องเที่ยวสัดส่วนประมาณ 90% อีก 10% จากภาคการเกษตร การค้า และอุตสาหกรรม ทั้งนี้จากที่กระทรวงคมนาคมจะเร่งผลักดันแผนลงทุนเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและบริการด้านคมนาคมของจังหวัดเร่งด่วนใน 7 โครงการ มูลค่าการลงทุนรวมกว่า 1.48 แสนล้านบาท (คาดจะทยอยเบิกจ่ายงบประมาณลงทุนในปี 2567 และเริ่มงานก่อสร้าง ทยอยแล้วเสร็จพร้อมเปิดให้บริการในปี 2569)

          ”หากทุกโครงการแล้วเสร็จคาดจะช่วยให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัด หรือ GPP ของภูเก็ตจะขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปัจจุบันกว่าเท่าตัวถึง2 เท่าตัว โดย GPP จะขยายตัวเพิ่มขึ้นในแต่ละปีตามโครงการที่จะทยอยแล้วเสร็จ โดยจะช่วยดึงท่องเที่ยวเข้าภูเก็ต รวมถึงท่องเที่ยวในกลุ่มอันดามันเพิ่มขึ้น ทำให้ภาคอสังหาริมทรัพย์ และภาคบริการทั้งโรงแรม รีสอร์ท เกสต์เฮ้าส์ ภัตตาคาร ร้านค้า ร้านอาหาร การศึกษานานาชาติ ส่งเสริมสุขภาพ(Wellness) ออฟฟิศทำงาน และอื่นๆ บูมเพิ่มขึ้นตามไปด้วย”

          จากข้อมูลในปี 2562 (ก่อนโควิดระบาด) ภูเก็ตมีผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัด หรือ GPP 251,813 ล้านบาท และมี GPP ต่อหัวต่อปี 428,351 บาท (เป็นอันดับ 1 ในกลุ่มอันดามัน) หลังโควิดคลี่คลาย และภูเก็ตได้เปิดรับนักเท่องเที่ยวตามโครงการแซนด์บ็อกซ์ในปี 2565 ทางจังหวัดมี GPP ในปีที่ผ่านมา 166,770 ล้านบาท และมี GPP ต่อหัว 226,158 บาท

          อนึ่ง แผนลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและบริการด้านคมนาคมของจังหวัดภูเก็ตเร่งด่วนใน 7 โครงการ ประกอบด้วย การพัฒนาขยายขีดความสามารถ ท่าอากาศยานภูเก็ต (ระยะที่ 2) ,โครงการก่อสร้างขยายช่องจราจร ทางหลวง หมายเลข 4027 ช่วง บ.พารา- บ.เมืองใหม่, โครงการก่อสร้างทางแนวใหม่ ช่วง บ.เมืองใหม่ - สามแยกเข้าสนามบินภูเก็ต,โครงการก่อสร้างทางแยกต่างระดับที่จุดตัด ทล.402 กับ ทล.4027 และ ทล.4025 (ทางลอดท่อเรือ),โครงการทางพิเศษ สายกระทู้ -ป่าตอง,โครงการทางพิเศษ สายเมืองใหม่ -เกาะแก้ว - กระทู้ และการพัฒนาท่าอาอากาศยานภูเก็ตแห่งที่ 2 (สนามบินอันดามัน)

          อสังหาฯ ภูเก็ตโต

          แหล่งข่าวจาก แวดวงอสังหาริมทรัพย์ ระบุว่า อสังหาฯในจังหวัดภูเก็ตฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว โดยได้รับอานิสงส์จากภาคท่องเที่ยว สำหรับภูเก็ต ชาวรัสเซีย กลับมาซื้อที่อยู่อาศัยสูง โดยเฉพาะในกลุ่มเซกเมนต์วิลลาระดับหรูซึ่งมียอดขายปี 2565สูงสุดในรอบ 5 ปี และเมื่อพิจารณาในช่วงต้นปี 2566 พบว่า นักลงทุนชาวรัสเซียกับสหรัฐฯ มีกำลังซื้อมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง

          ที่น่าสังเกตคือการมีชาวรัสเซียเดินทางมาเยือนประเทศไทยเพิ่มขึ้นเป็นสิบเท่าในช่วงครึ่งแรกของปี 2566ส่งผลให้ยอดขายวิลลาหรูในภูเก็ตเพิ่มขึ้นถึง 338% โดยครึ่งหนึ่งเป็นลูกค้าชาวรัสเซีย ดังนั้นแม้ว่าครั้งหนึ่งชาวจีนจะเคยเป็นนักท่องเที่ยวกลุ่มหลักของภูเก็ต แต่ในปัจจุบัน นักท่องเที่ยวชาวรัสเซียกลับมีจำนวนมากกว่าและมีการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์อย่างมีนัยสำคัญ

          ”หากทุกโครงการแล้วเสร็จคาดจะช่วยผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัด หรือ GPP ของภูเก็ตจะขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปัจจุบันกว่าเท่าตัวถึง2 เท่า”

 

Reference:

Click icon to remove from or add to favorite list
Click to choose and click "Compare" button