บีทีเอส เฮ ปิดดีลขาย 17 รร.ในยุโรป

13 Mar 2022 392 0

          บีทีเอส ปลื้ม “ยูซิตี้” ปิดดีลขายโรงแรมเวียนนา เฮ้าส์ ในยุโรป 17 แห่ง มูลค่า 13,000-14,000 ล้านบาททั้งตั้งเป้าทยอยประกาศขายโรงแรมในไทยและที่เหลืออีก 2 โรงแรมในต่างประเทศ รวมถึงอสังหาริมทรัพย์อื่นๆ ที่เหลือ ให้หมดภายใน 2-3 ปีนี้ เผยการตัดสินใจไปซื้อเจมาร์ท กับ ซิงเกอร์ ดันรายได้พุ่ง

          นายกวิน กาญจนพาสน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า บริษัท ยูซิตี้ จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นบริษัทในเครือบีทีเอส กรุ๊ป ได้ปิดดีลการขายโรงแรมเวียนนา เฮ้าส์ในยุโรปเรียบร้อยแล้ว โดยได้ขายโรงแรมภายใต้แบรนด์ “เวียนนา เฮ้าส์” ซึ่งส่วนใหญ่เป็นโรงแรมระดับ 3-4 ดาว ออกไปรวม 17 แห่ง ทั้งในสาธารณรัฐเช็ก, เยอรมนี, โรมาเนีย, สโลวาเกีย มูลค่า 13,000-14,000 ล้านบาท ซึ่งได้กำไรจากการขายราว 300-400 ล้านบาท

          แต่ทั้งนี้ก็ยังคงเหลือโรงแรมระดับ 5 ดาวจำนวน 2 แห่ง ในโปแลนด์ และกรุงปราก สาธารณรัฐเช็ก ที่ก็ต้องหาคนมาซื้อเหมือนกัน เพราะต้องการขายออกไปทั้งหมด เนื่องจากยูซิตี้ตั้งใจจะยุติการดำเนินธุรกิจโรงแรมและอสังหาริมทรัพย์ เพื่อไปขยายการลงทุนในธุรกิจที่มีศักยภาพ โดยเฉพาะธุรกิจไฟแนนเชียล เซอร์วิส อย่างเจมาร์ท และซิงเกอร์ เนื่องจากยังมองไม่เห็นโอกาสในการดำเนินธุรกิจของโรงแรมในช่วง 3-5 ปีนี้ จากการที่ไม่สามารถทำกำไรได้จากผลกระทบของโควิด-19

          ทั้งนี้ยูซิตี้ จัดเป็น 1 ใน 4 โครงสร้างการประกอบกิจการของบีทีเอส โฮลดิ้งส์ ที่สมัยก่อนโฟกัสธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และในอดีตมองว่าโรงแรมเป็นธุรกิจที่มีศักยภาพ ประกอบกับตอนนั้นเกิดสถานการณ์เบร็กซิท ทำให้เราตัดสินใจเข้าไปซื้อแบรนด์โรงแรมเวียนนา เฮ้าส์ ในยุโรปเมื่อปี 2560 และก่อนเกิดโควิดธุรกิจโรงแรมก็เริ่มมีกำไรแล้ว แต่พอเกิดโควิดเราจึงต้องถอย

          การถอยของเราคือ ต้องคิดใหม่ และมูฟให้เร็ว กล้าเปลี่ยน เพราะโควิดมันไม่ได้หายไป อสังหาริมทรัพย์ไม่ใช่คำตอบสำหรับช่วงนี้ โรงแรมขาดทุนทุกวัน การขายออกไป และนำเงินมาขยายการลงทุนในธุรกิจที่มีศักยภาพ อย่างไฟแนนซ์เชียล น่าจะดีกว่า วันหนึ่งถ้าธุรกิจโรงแรมกลับมาดีในอีก 5 ปี 10 ปีข้างหน้า ก็กลับไปทำใหม่ก็ยังได้ โดยเราประกาศขายโรงแรมมาเป็นปีแล้ว ก็ใช้เวลากว่าจะขายได้

          รวมทั้งตั้งเป้าจะทยอยประกาศขายโรงแรมในไทยและที่เหลือในต่างประเทศ รวมถึงอสังหาริมทรัพย์อื่นๆ ที่เหลือ อาทิ ที่ดินเปล่า,คอนโดมีเนียมต่างๆ, อาคารพาณิชย์ให้เช่า โรงเรียนนานาชาติ ให้หมดภายใน 2-3 ปีข้างหน้านี้ คาดว่าจะมีมูลค่าในการขายเกิดขึ้นราว 2.6 หมื่นล้านบาท

          สำหรับการลงทุนโรงแรมใหม่ที่อยู่ระหว่างดำเนินการในพื้นที่ร้อยชักสาม ซึ่งเป็นที่ดินเช่าจากกรมธนารักษ์ ได้ข้อสรุปแล้วว่าจะใช้แบรนด์แลงแฮม มารับบริหารโรงแรมนี้ ที่กำลังอยู่ระหว่างก่อสร้างภายใต้งบลงทุน 2-3 พันล้านบาท จะแล้วเสร็จในอีก 3 ปีข้างหน้า

          นายกวิน ยังกล่าวต่อว่า การตัดสินใจไปซื้อเจมาร์ท กับ ซิงเกอร์ วันนี้ก็มีกำไรทางบัญชีแล้ว อยู่ที่ราว 8,000 ล้านบาท เพราะตอนตัดสินใจลงทุนราคา 36 บาท วันนี้ราคาหุ้นอยู่ที่กว่า 50 บาทแล้ว สาเหตุที่เข้าไปลงทุนใน “กลุ่มเจมาร์ท” เพราะ “กลุ่มบีทีเอส”เราขาดคนที่รู้จักคริปโทเคอเรนซี บล็อกเชน และ NFT ซึ่งเป็นเทรนด์ของโลก ซึ่งกลุ่มเจมาร์ท เป็นบริษัทเดียวของไทยที่มีการออกเหรียญดิจิทัลโทเคน “เจฟินคอย์” โดยกลุ่มเจมาร์ทจะเข้ามาเต็มอีโคซิสเต็มของกลุ่มบีทีเอส ที่จะมาช่วยในด้านคริปโทฯ เพื่อต่อยอดธุรกิจด้วยกันได้

          ส่วนธุรกิจประกัน ซึ่ง ยูซิตี้ ได้เข้าไปซื้อหุ้น 75% ในบริษัท แอ๊ดวานซ์ไลฟ์ จำกัด (มหาชน) (A LIFE) มูลค่า 1,500 ล้านบาท ปัจจุบันอยู่ระหว่างการทดลองเอาสินค้าของ A LIFE ให้ บริษัท วีจีไอ จำกัด (มหาชน)หรือ VGI ซึ่งเป็นธุรกิจสื่อโฆษณาของบีทีเอสโฮลดิ้งส์ ให้ช่วยขายประกันผ่านออนไลน์เป็นหลัก แต่ก็จะมีตัวแทนด้วยเพราะยังมีคนอีกกลุ่มหนึ่งที่จะยังคงซื้อประกันกับตัวแทนด้วย

          สำหรับผลการดำเนินงานของยูซิตี้ในปี 2564 มีกำไรอยู่ที่ 92 ล้านบาทปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับปี 2563 ที่มีการขาดทุนอยู่ที่ 6,614 ล้านบาท ซึ่งเป็นผลมาจากมาตรการการปรับโครงสร้างการลงทุน โดยการขายโรงแรมในยุโรปบางส่วน การเพิ่มทุน และการจ่ายคืนเงินกู้ยืมบางส่วน โดยมีรายได้ 6,572 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 16.3% จากปีก่อน ปัจจัยหลักมาจากกำไรที่ยังไม่มีการรับรู้จากการลงทุนในเจมาร์ท รายได้จากธุรกิจประกันชีวิต จากการควบรวมงบการเงินของA LIFE และการฟื้นตัวของธุรกิจโรงแรมและอาคารสำนักงานให้เช่า หักลบด้วยการลดลงของรายได้จากธุรกิจโรงแรมในต่างประทศที่มีการขายออกไป

Reference:

Click icon to remove from or add to favorite list
Click to choose and click "Compare" button