บีทีเอสเบรกแผนสร้างสถานี เสนาร่วม

30 Apr 2021 543 0

           นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบีทีเอสซี ผู้ให้บริการรถไฟฟ้าบีทีเอส เปิดเผยว่า ขณะนี้บริษัทฯ อาจต้องทบทวนแผนก่อสร้างสถานีรถไฟฟ้าเสนาร่วม ซึ่งเป็นสถานีในอนาคตของโครงการรถไฟฟ้าบีทีเอส สายสุขุมวิท ระหว่างสถานีอารีย์ และสถานีสะพานควาย โดยเดิมมีแผนจะสร้างปีนี้ แต่เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 มีผู้โดยสารมาใช้บริการลดน้อยลง และการก่อสร้างใช้งบประมาณค่อนข้างมาก ซึ่งสถานีแห่งนี้ไม่มีหน่วยงานอื่นมาสนับสนุนงบประมาณ เหมือนสถานีเซนต์หลุยส์ สถานีในอนาคตของสายสีลม ที่มีบริษัท เอไอเอ จำกัด เป็นผู้สนับสนุนงบประมาณส่วนหนึ่งในการก่อสร้างด้วย

          นายสุรพงษ์ กล่าวต่อว่า สำหรับสถานีเซนต์หลุยส์ ที่เพิ่งเปิดให้บริการเป็นสถานีล่าสุดเมื่อต้นเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา ตั้งอยู่ระหว่างสถานีช่องนนทรี และสถานีสุรศักดิ์ พบว่า ก่อนเกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 รอบที่ 3 ได้รับการตอบรับดีมาก มีผู้โดยสารมาใช้บริการประมาณเกือบ 1 หมื่นคนต่อวัน โดยช่วงแรกจะมีผู้โดยสารบางส่วนที่ย้ายมาจากสถานีสุรศักดิ์ และสถานีช่องนนทรี ส่วนในระยะหลังเริ่มมีผู้โดยสารรายใหม่มาใช้บริการเพิ่มมากขึ้น แต่หลังจากเกิดโควิด-19 ในช่วงต้นเดือน เม.ย. 64 ผู้โดยสารลดลงมาก ไม่ใช่แค่สถานีเซนต์หลุยส์เท่านั้น แต่ผู้โดยสาร ทั้งระบบหายไปเกือบ 70% จากตัวเลขก่อนเกิดโควิด-19 อยู่ที่ประมาณ 8 แสนคนต่อวัน (หายไปประมาณ 560,000 คน)

          นายสุรพงษ์ กล่าวอีกว่า มั่นใจว่าหากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 คลี่คลายลง ผู้โดยสารน่าจะกลับมาเป็นปกติ ซึ่งก่อนหน้านี้เอไอเอตั้งใจว่าจะให้ตึกเอไอเอ สาทร ทาวเวอร์ ที่เชื่อมต่อกับสถานีเซนต์หลุยส์ เป็นศูนย์ฝึกอบรมบุคลากร โดยจะมีผู้มาใช้บริการเป็นจำนวนมาก แต่เกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 รอบ 3 ขึ้นก่อน ทำให้เอไอเอยังไม่ได้ดำเนินการเรื่องดังกล่าว อย่างไรก็ตามก่อนการก่อสร้างสถานีเซนต์หลุยส์ คาดการณ์ว่าจะมีผู้โดยสารมาใช้บริการประมาณ 9,500-12,000 คนต่อวัน และจะช่วยเพิ่มรายได้ค่าโดยสารประมาณ 94 ล้านบาทต่อปี

          นายสุรพงษ์ ยังกล่าวถึง ความคืบหน้าโครงการปรับปรุงสถานีรถไฟฟ้าสถานีสะพานตากสิน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวว่า ขณะนี้รายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการ สิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) แล้ว อยู่ในขั้นตอนของกรุงเทพมหานคร(กทม.) เสนอโครงการให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณา หากเห็นชอบคงต้องหารือกับ กทม. อีกครั้งว่าวิธีการจะดำเนินการอย่างไรต่อไป ใครจะเป็นผู้ลงทุน หรือช่วยกันทั้งสองฝ่าย ยืนยันว่าต้องปรับปรุงสถานีแน่นอน แต่ขอหารือวิธีการให้ชัดเจนก่อน เบื้องต้นคาดว่าจะใช้งบประมาณก่อสร้างประมาณ 1,400 ล้านบาท

          นายสุรพงษ์ กล่าวต่อว่า สำหรับแผนการปรับปรุงสถานีสะพานตากสินนั้น เนื่องจากปัจจุบันเป็นทางวิ่งเดียว รถไฟฟ้าต้องรอหลีก ทำให้การบริการไม่ได้รับความสะดวกเป็นคอขวดอยู่ จึงต้องขยายสถานีตากสิน และวางรางเพิ่มอีก 1 ราง เป็นรางคู่ ซึ่งตามแผนจะใช้เวลาก่อสร้างเร็วที่สุดประมาณ 2 ปีครึ่ง ยอมรับว่าระหว่างก่อสร้างจะเกิดผลกระทบกับผู้โดยสาร ขณะนี้มี 2 ทางเลือก คือ 1.หากไม่ปิดบริการสถานีสะพานตากสิน จะใช้เวลาก่อสร้างนานมาก และ 2. หากปิดบริการสถานีสะพานตากสิน โดยจัดรถชัตเติ้ลบัสรับ-ส่งผู้โดยสารจากสถานีสะพานตากสินไปสถานีสุรศักดิ์ จะทำให้การก่อสร้างเสร็จเร็วมากขึ้น เมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จจะเพิ่มความถี่สูงสุดในการเดินรถสายสีลมจาก 4 นาทีต่อขบวน เป็น 2 นาทีต่อขบวนได้.

Reference:

Click icon to remove from or add to favorite list
Click to choose and click "Compare" button