บิ๊กธุรกิจฝากโจทย์ เศรษฐา เร่งอีอีซี ลุยสนามบิน-ไฮสปีด อสังหา หวังไม่ซ้ำรอย รอเก้อ

06 Feb 2024 221 0

 

         ปฏิเสธไม่ได้ว่าการเข้ามาบริหารประเทศของ “รัฐบาลเศรษฐา” นับจากวันแรก จนถึงขณะนี้ เป็นระยะเวลาร่วม 5 เดือน เป็นที่คาดหวังของภาคธุรกิจ เพื่อมาขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทยให้ไปต่อ ท่ามกลางมรสุมที่เขย่าทั้งเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทย

         อีกหนึ่งความคาดหวัง นั่นคือ การเดินหน้า เมกะโปรเจ็กต์ ในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ที่จุดพลุเมื่อปี 2561 โดย “รัฐบาลประยุทธ์”

         เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมา พลันที่ “รัฐบาลประยุทธ์” ประกาศแผนลงทุนครั้งใหญ่ ทำให้ภาคธุรกิจขยายการลงทุนพัฒนาโครงการใหม่ ไปรอไว้ล่วงหน้า ทั้งศูนย์การค้า อสังหาริมทรัพย์ โรงแรม โรงพยาบาล ในพื้นที่จังหวัดฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง ที่รัฐบาลประกาศเป็นเขตพัฒนาพิเศษอีอีซี

        ขณะที่การเดินหน้าโครงการในระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา ถือว่ายังดีเลย์จากแผนงานอยู่มากโข ทำให้ภาคธุรกิจเริ่มอ่อนไหว และกำลังจับตา 4 เมกะโปรเจ็กต์ มีมูลค่าการลงทุน 654,921 ล้านบาท จะถูกขับเคลื่อนไปให้ถึงฝั่งได้มากน้อยขนาดไหน

       ไม่ว่าการพัฒนาท่าเรือมาบตาพุดเฟส 3 ท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) การพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก เนื้อที่ 6,500 ไร่ ซึ่งรัฐบาลชุดที่ผ่านมา ได้ไล่เซ็นสัญญากับบิ๊กธุรกิจที่คว้าสัมปทานโครงการ ตั้งแต่ปลายปี 2562-2564 ถึงขณะนี้มีเพียง 2 ท่าเรือที่ขยับ ขณะที่เมืองการบินและรถไฟความเร็วสูง โปรเจ็กต์ไฮไลต์ของอีอีซี ยังไม่มีไทม์ไลน์ตอกเข็มชัดเจน



      'พฤกษา' ชะลอลงทุนใหม่



      “ปิยะ ประยงค์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พฤกษา เรียลเอสเตท จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บริษัทเข้าไปพัฒนาโครงการบ้านแนวราบในอีอีซี มาร่วม 10 ปีแล้ว โดยเฉลี่ยเปิดปีละ 7-8 โครงการ แต่ปัจจุบันเริ่มลดการลงทุนโครงการใหม่ หลังมีวิกฤตโควิด เน้นขายโครงการเก่า รวมถึงแผนการพัฒนาโครงการขนาดใหญ่ในพื้นที่อีอีซี ยังมีความล่าช้าจากแผนงานไปมาก ประกอบกับภาพรวมตลาดอสังหาริมทรัพย์ กำลังซื้อไม่ค่อยดีและอ่อนแรง โดยเฉพาะทำเลนิคมอุตสาหกรรมและโรงงาน ที่ค่อนข้างเงียบ ยอดขายยังปลุกไม่ขึ้น ธนาคารเข้มงวดการปล่อยสินเชื่อในกลุ่มระดับราคาต่ำ 3 ล้านบาท ทำให้การขายของบริษัทช้าลงไปมาก

      “ที่ผ่านมาพฤกษาเข้าไปพัฒนาทาวน์เฮาส์ ระดับราคา 1-2 ล้านบาท เจาะลูกค้าโรงงาน แต่ด้วยสภาวะเศรษฐกิจ แบงก์ไม่ปล่อยกู้ ทำให้ยอดขายหายไป 40% เทียบกับช่วงก่อนเกิดโควิด แต่ยังมีบางพื้นที่ยังพอไปได้ เช่น ชลบุรี เราเปิดขายบ้านเดี่ยวและบ้านแฝด ราคา 3-5 ล้านบาท ยังขายได้ ส่วนคอนโดมิเนียมเราไม่มีการลงทุน เพราะตลาดอีอีซีกำลังซื้อยังไม่นิ่งและพึ่งดีมานด์ชาวต่างชาติเป็นหลัก ซึ่งลูกค้าเป็นกลุ่มนักลงทุนมากกว่ากลุ่มเรียลดีมานด์ ขณะที่ราคาที่ดินไม่ตกปรับขึ้น ปีละกว่า 10%” ซีอีโอพฤกษากล่าว 



      ฝาก 'เศรษฐา' ดันอีอีซีให้เกิด

       พร้อมฝากถึงรัฐบาล ต้องจัดลำดับความสำคัญของโครงการลงทุน ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศให้เดินหน้า ซึ่งการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในอีอีซี ถ้าสามารถผลักดันให้เกิดขึ้นได้จริง จะไดร์ฟเศรษฐกิจไทยได้อย่างมาก เนื่องจากชลบุรีและระยอง ถือเป็นฐานการลงทุนด้านอุตสาหกรรมที่สำคัญของประเทศ ซึ่งรัฐบาลต้องเร่งสร้างความเชื่อมั่นและเชิญชวนต่างชาติ เข้ามาลงทุนอุตสาหกรรมต่างๆ ให้มากขึ้น และนับเป็นเรื่องดีที่ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เดินหน้าโรดโชว์ไปยังประเทศต่างๆ โดยอยากให้เน้นการลงทุนในอีอีซีมากขึ้น เพราะมีบางโครงการที่ได้เริ่มไปแล้ว

       สอดคล้องกับ ”ชนินทร์ วานิชวงศ์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ฮาบิแทท กรุ๊ป จำกัด ผู้พัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์ภาคตะวันออก มองว่าโครงการอีอีซีโดยเฉพาะรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน เป็นสิ่งที่ภาคเอกชนรอมาหลายปีแล้ว เป็น สตอรี่ที่เอกชนอยากให้เกิดใน 3-5 ปีนี้ ถ้าล่าช้ามีผลหลายอย่าง ไม่ว่าความเชื่อมั่นของนักลงทุนไทยและต่างชาติ

       เนื่องจากปัจจุบันในอีอีซี มีนักลงทุนรายใหญ่จากกรุงเทพฯเข้าไปลงทุนหลายบริษัท ทั้งผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ ค้าปลีกขนาดใหญ่ ที่ลงทุนโครงการมิกซ์ยูสขนาดใหญ่ อยากให้รัฐบาลสานต่อ อย่าทิ้งโครงการ และยังคาดหวังว่ารัฐบาลจะผลักดันโครงการให้เกิด เพราะการลงทุนโครงการอินฟราสตรัคเจอร์จะช่วยฟ้นเศรษฐกิจและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องมีการขยายตัวตามไปด้วย เช่น อสังหาฯ การท่องเที่ยว แต่ที่ผ่านมาคงเป็นเพราะมีโควิดและสงครามรัสเซียกับยูเครน ทำให้การลงทุนโครงการชะลอ ซึ่งการกู้เงินมาลงทุนโครงการใหญ่ ไม่ใช่เรื่องง่าย ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจแบบนี้



      จี้ผุดท่าเรือ-สนามบินไม่ต้องรอไฮสปีด

      ด้าน ไพโรจน์ วัฒนวโรดม กรรมการผู้จัดการ บริษัท อีสเทอร์น สตาร์ เรียล เอสเตท จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า อยากให้รัฐบาลเร่งพัฒนาโครงการใหญ่ในอีอีซีที่ยังล่าช้า โดยโครงการไหนที่สามารถเดินหน้าไปได้ก็ให้เร่งจัดสรรงบประมาณดำเนินการไปก่อน เช่น สนามบินอู่ตะเภา ท่าเรือมาบตาพุดเฟส 3 ท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 ซึ่งสิ่งสำคัญในอีอีซี ไม่ได้มีแค่รถไฟความเร็วสูง ถ้าหากโครงการยังไม่สามารถเดินหน้าต่อไปได้ ทางนายกรัฐมนตรีต้องทำหน้าที่เป็นคนกลางประสานระหว่างภาครัฐและเอกชน เพื่อหารือแก้ปัญหาให้โครงการขับเคลื่อนต่อได้ โดยมองว่าเอกชนคงยังเดินหน้าโครงการต่อไป แต่ด้วยวิกฤตโควิดที่กินเวลายาวนาน ยังเจอวิกฤตสงครามอีก ยังไม่รู้ว่าเศรษฐกิจจะฟ้นตัวได้เต็มที่ปีไหน จึงทำให้โครงการล่าช้าไปบ้าง ถ้าหากโครงการเหล่านี้เดินหน้า เกิดการลงทุน เศรษฐกิจขยายตัว จะทำให้ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ขยายตัวตามไปด้วย

      “ปัจจุบันเรามีแลนด์แบงก์สะสมในอีอีซีร่วม 1,000 ไร่ มูลค่าไม่ต่ำกว่า 3,000 ล้านบาท สามารถรองรับการพัฒนาโครงการได้ถึง 10 ปีหน้า ซึ่งไม่ได้พึ่งอีอีซีเสียทีเดียว และได้ปรับพอร์ตมาทำบ้านราคา 15 ล้านบาทขึ้นไป ถ้ารถไฟความเร็วสูงล่าช้า ไม่ส่งผล กระทบมากนัก มองว่าจุดสำคัญอยู่ที่สนามบินมากกว่า ขณะที่รถไฟความเร็วสูงเป็นการขนคนจากที่อื่น เข้ามายังพื้นที่อีอีซี ส่งผลดีต่อการท่องเที่ยวเป็นหลัก” ไพโรจน์กล่าวทิ้งท้าย

 

 

Reference:

Click icon to remove from or add to favorite list
Click to choose and click "Compare" button