บิ๊กทุนยึดทำเลทองรับเปิดรถไฟฟ้า2สาย
ดันผู้โดยสารทะลุ1ล้าน
ธันวาคมนี้ คนกรุงได้นั่งรถไฟฟ้าเพิ่มอีก 2 เส้นทาง ขยายโครงข่ายการเดินทางได้ไกลขึ้น อีกทั้งยังสร้างความเจริญในพื้นที่ ที่พูดถึงกันมากที่สุด ได้แก่ สายสีทอง ช่วงกรุงธนบุรี-สำนักงานเขตคลองสาน แม้มีระยะสั้นๆ ไม่ถึง 2 กิโลเมตร แต่สร้างความมั่นใจให้กับคนฝั่งธนบุรี เชื่อมต่อ BTS สายสีลม เริ่มวันที่ 16 ธันวาคมนี้
ขณะเส้นทางที่ พร้อมที่สุด ส่วนต่อขยายสายสีเขียวเหนือ(บีทีเอส) ช่วง หมอชิต-สะพานใหม่-คูคตปัจจุบันเปิดเดินรถ ถึงสถานีวัดพระศรีมหาธาตุ และหากไม่ผิดพลาดคาดเคลื่อน วันที่ 4 ธันวาคม รถไฟฟ้าบีทีเอสจะวิ่ง ข้ามไปถึงคูคต สถานีปลายทาง จังหวัดปทุมธานี เมื่อเชื่อมโยง ทั้งระบบ ทั้งส่วนต่อขยายสายสีเขียวเหนือ ส่วนต่อขยายแบริ่งสมุทรปราการ กับบีทีเอส ที่ได้รับสัมปทานสายสุขุมวิทและสายสีลม เข้าด้วยกันอย่างไร้รอยต่อ หากไม่ผิดพลาด จะเปิดให้บริการในระยะเวลาอีกไม่ถึงเดือน หรือวันที่ 4 ธันวาคมที่จะถึงนี้
เติมผู้โดยสาร ทะลุ 1 ล้าน
ประเมินว่า ส่วนต่อขยายสายสีเขียวเหนือ กรุงเทพมหานครจ้างบริษัท ระบบขนส่งเดินรถกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (BTSC) เดินรถ จะเติมปริมาณผู้โดยสารเข้าระบบเดินรถบีทีเอสที่สัมปทาน สายสีลมและสุขุมวิท ทะลุ 1 ล้านคนต่อเที่ยววัน จากปัจจุบันมีปริมาณผู้โดยสารเฉลี่ย 7-8 แสนคน ต่อเที่ยววัน (ช่วงปกติ) แม้สถานการณ์โควิดอาจทำให้ผู้ใช้บริการลดลงบ้างแต่ในที่สุดแล้วการใช้บริการจะกลับมาเช่นเคย และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น
17พ.ย.ขยายสัมปทาน
ขณะอัตรา ค่าโดยสารกทม. ต้องการลด จากเพดานสูงสุด 158 บาทตลอดสาย เหลือ 65 บาทตลอดสาย โดยขยายสัมปทาน ให้กับบริษัทระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด(มหาชน) เพื่อแลกกับหนี้ กว่า 1 แสนล้านบาท และดึงประชาชนใช้รถไฟฟ้ามากขึ้น ล่าสุดมีกระแสข่าวกระทรวงการคลังจะนำเรื่องเข้าสู่การพิจารณาคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 17 พฤศจิกายนนี้ หลังเรียกกลุ่มบีทีเอสเข้าเจรจารับทราบข้อมูลไปแล้วหลายครั้ง เข้าใจว่าเพื่อรองรับการเดินรถ ของบีทีเอสที่จะเปิดเต็มระบบ วันที่ 4 ธันวาคมนี้ อีกทั้งยังช่วยส่งเสริมด้านการขายโครงการคอนโดมิเนียมตลอดแนว ให้ขยับได้มากขึ้นจาก ปัจจุบัน ยังมีสต็อกเหลือขายอยู่มาก เฉพาะโครงการเปิดขายใหม่ บริเวณห้าแยกลาดพร้าวกว่า 1,000 หน่วยที่เกิดขึ้นในปีนี้
บิ๊กทุนขยับ
อย่างไรก็ตามการลงทุนยังขยับต่อเนื่อง พลิกที่ดินทำเลทองแนวรถไฟฟ้า ขึ้นคอมเพล็กซ์ใหญ่ โดยเมื่อ วันที่22 ตุลาคม บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ บีทีเอส แจ้งตลาดหลักทรัพย์เข้าทำสัญญาซื้อหุ้นทั้งหมดของ บริษัท หมอชิตแลนด์ จำกัด จากบริษัทซิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STEC มูลค่ารวม 4,450 ล้านบาท พร้อมว่าจ้าง “STEC” ก่อสร้างโครงการ หมอชิต คอมเพล็กซ์ มูลค่า 9,940 ล้านบาท บนที่ดินแปลงงาม ของ บีทีเอสกรุ๊ปเนื้อที่ 11 ไร่เศษ ตั้งอยู่บริเวณด้านหลัง โครงการเดอะไลน์จตุจักร ที่ทางกลุ่มบริษัทร่วมลงทุนกลับบริษัท แสนสิริ จำกัด(มหาชน)
ทั้งนี้ นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบีทีเอสซี เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ถึงความคืบหน้าก่อสร้างโครงการหมอชิตแลนด์ตึกแฝด สูง 36 ชั้นว่าขณะนี้ซิโน-ไทยอยู่ระหว่างก่อสร้างงานฐานราก มีพื้นที่ใช้สอยรวม 1.8 แสนตร.ม.ซึ่งเป็นโครงการมิกซ์ยูสประกอบด้วย อาคารสำนักงาน พื้นที่พาณิชยกรรม สถานศึกษา ภัตตาคาร ที่จอดรถ เชื่อมโยงด้วยสกายวอล์ก ไปยังสถานีรถไฟฟ้า คาดว่าปีหน้าจะก่อสร้างแล้วเสร็จ
นอกจากนี้ทำเลใกล้กัน บริษัทสิงห์ เอสเตท จำกัด (มหาชน) อยู่ระหว่างพัฒนาโครงการมิกซ์ยูส ทั้ง ร้านค้าและอาคารสำนักงาน อีกทั้ง ที่ดินที่ ราชพัสดุ หรือที่ดินหมอชิต ของกรมธนารักษ์ เนื้อที่ 63 ไร่ เตรียมพัฒนาพื้นที่เช่นเดียวกัน โดยมีแผนนำ สถานีขนส่งหมอชิตกลับมาที่เดิม เชื่อมด้วยทางยกระดับ เชื่อม ระหว่างพหลโยธิน 18/1ไปยังฝั่งวิภาวดีซอย 5
“ทางยกระดับ ตัดผ่านบริเวณ สถานีโทรทัศน์ช่อง 7 ซึ่งมีลักษณะคล้ายเกาะ จากถนนวิภาวดีไปยังถนนพหลโยธิน สร้างความเจริญ อย่างมากนับจากนี้”
นาย สุรพงษ์มองว่า จะช่วยเปิดพื้นที่ ระหว่างวิภาวดีและพหลโยธิน ที่นักลงทุนมีแผนเปิดพื้นที่ทะลุถึงกันโดยมีเส้นทางคมนาคม รถไฟฟ้า เชื่อมโยง สอดรับกับนายนริศ เชยกลิ่น ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบมจ.สิงห์ เอสเตท ย้ำว่า ทำเลกรุงเทพตอนเหนือมีโครงการขนาดใหญ่เกิดขึ้นมาก มองว่ากำลังกลายเป็นศูนย์กลางการเดินทาง ทางตอนเหนือกทม. เพราะนอกจากมีรถไฟฟ้าสายสีเขียว สายสีน้ำเงินแล้ว ยังมีสถานีกลางบางซื่อ ที่เชื่อมต่อทุกเส้นทางและมองว่าโซนนี้กลายเป็นแหล่งงานที่อยู่อาศัยขยายต่อจากศูนย์กลางธุรกิจ อย่างสุขุมวิท เพลินจิต
บสก.ลุยศูนย์อาหาร
นาย บรรยง วิเศษมงคลชัย กรรมการและประธานบอร์ดบริหาร บริษัทบริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ จำกัด (บสก.) ระบุว่า บสก. มีแผนนำที่ดิน ติดสถานีรถไฟฟ้าสะพานใหม่ 2 แปลง เนื้อที่ 6 ไร่พัฒนาเป็นศูนย์อาหารส่วนอีกแปลง 20 ไร่ปัจจุบัน เป็นที่จอดรถ มองว่า อาจจะนำมายุบรวมหรือแยกพัฒนา ซึ่งต้องพิจารณาอีกครั้ง เนื่องจาก ทำเลแนวรถไฟฟ้าสายสีเขียวเติบโตสูงมีคอนโดมิเนียมเกิดขึ้น นอกจากนี้ บสก. ยังมองหาที่ดินทำเลศักยภาพแนวรถไฟฟ้าออกพัฒนา สร้างรายได้ นอกจากตัดขาย
ขณะการพัฒนา คอมมิวนิตีมอลยังคงเดินหน้าล่าสุด “ฐานเศรษฐกิจ” สำรวจพบเอกชนติดป้าย เปิดจองร้านค้าในพื้นที่ พบทำเล ย่านสายไหม” Minimall
ถนนสายไหม” สร้างความคึกคักให้กับพื้นที่คาดว่า เมื่อสายสีเขียวเปิดให้บริการมองว่า จะมีหลายโครงการเกิดขึ้นเพิ่มตามการขยายตัวของเมือง โดยเฉพาะสถานีคูคต ราคาที่ดินยังไม่สูงและมีพื้นที่ว่างอยู่มาก ล่าสุดการเคหะแห่งชาติ นำที่ดินกว่า 500 ไร่ พัฒนา เป็นที่อยู่อาศัย
Reference: หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ