บทบรรณาธิการ: ราคาที่ดินพุ่ง ไม่หยุด คนซื้อบ้านจำต้องแบกภาระ
วิกฤติโรคระบาดที่เกิดจากไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ หรือ “โควิด-19” ทำเอาเศรษฐกิจทั่วโลกรวมทั้งเศรษฐกิจไทยเข้าสู่ ภาวะ “ตกต่ำ” หลายธุรกิจโดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับภาคการท่องเที่ยว ซึ่งรอบนี้ถือว่าอยู่ “ใจกลาง” มหาพายุ โดยซัดกระหน่ำจนต้องปิดกิจการไปหลายแห่งเพราะขาดสภาพคล่อง ทั้งที่ธุรกิจเหล่านี้ เคยค้าขายดี มีกำไรมาตลอด การปิดกิจการของธุรกิจเหล่านี้ ยังส่งผลต่อเนื่องถึงแรงงานลูกจ้างจำนวนมากที่ต้องตกงาน ตามไปด้วย กิจกรรมทางเศรษฐกิจหลายๆ ภาคส่วนจึงหยุดชะงัก กำลังซื้อของผู้คนหายไปจำนวนมาก กระทบต่อเนื่องไปยัง ธุรกิจอื่นๆ โดยหนึ่งในธุรกิจที่โดน “หางเลข” จากวิกฤติคราวนี้ด้วย คือ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์
ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ประเมินว่า ผลกระทบจากโควิด-19 จะทำให้ “ยอดโอนกรรมสิทธิ์” ทั่วประเทศในปีนี้ชะลอตัวลง เนื่องจากคนส่วนใหญ่กังวลว่า “รายได้” ในอนาคตอาจปรับลดลง ส่งผลต่อความเชื่อมั่นในการ ซื้อสินค้า โดยเฉพาะสินค้าที่มูลค่าสูง เช่น “ที่อยู่อาศัย” หรือ “บ้าน” ทำให้ยอดโอนกรรมสิทธิ์มีแนวโน้มลดลงตามไปด้วย โดย ศูนย์ข้อมูลอสังหาฯ ประเมินว่า การโอนกรรมสิทธิ์ในปีนี้ อาจ “หดตัว” ถึง 16.7% ถือเป็นระดับต่ำกว่าค่าเฉลี่ยย้อนหลังในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา
อย่างไรก็ตามมีข้อน่าแปลกใจตรงที่ แม้แนวโน้มการซื้อ ที่อยู่อาศัยจะลดลง ซึ่งก็น่าจะส่งผลต่อเนื่องถึง “ราคาที่ดิน” ที่ควร ปรับลดลงตามไปด้วย แต่กลายเป็นว่า ราคาที่ดินยังคงพุ่งขึ้น ต่อเนื่อง สวนทางกับวิกฤติที่เกิดขึ้น โดย ศูนย์ข้อมูลอสังหาฯ รายงานว่า ราคาที่ดินเปล่าก่อนการพัฒนา ในช่วงไตรมาสแรกปี 2563 มีค่าเท่ากับ 293.3 จุด เพิ่มขึ้น 3% จากไตรมาสก่อนหน้า และเพิ่มขึ้น ถึง 27.7% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
โดย “ที่ดิน” ซึ่งมีราคาปรับขึ้นสูงสุด 5 อันดับแรก ล้วนอยู่ใน แนวรถไฟฟ้าทั้งหมด โซนที่เพิ่มขึ้นสูงสุด คือ รถไฟฟ้าสายสีเขียวเหนือ (คูคต-ลำลูกกา) ราคาที่ดินเพิ่มขึ้น 61.3% รองลงมา คือ โซนรถไฟฟ้าสายสีชมพู(แคราย-มีนบุรี) ราคาที่ดินโซนนี้เพิ่มขึ้น 45.1% ถัดมา คือ โซนรถไฟฟ้าสายสีแดงอ่อน(ตลิ่งชัน-ศาลายา) เพิ่มขึ้น 20% โซนรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน(บางแค-พุทธมณฑลสาย4) เพิ่มขึ้น 15.3% และ โซนรถไฟฟ้าสายสีเขียวใต้(สมุทรปราการ-บางปู และ แบริ่ง-สมุทรปราการ) เพิ่มขึ้น 11.7%
ราคาที่ดินที่เพิ่มขึ้นนี้ นับเป็นโจทย์ท้าทายผู้พัฒนา อสังหาริมทรัพย์อย่างมาก เพราะท่ามกลางกำลังซื้อที่ลดลง แต่ต้นทุนหลัก คือ “ราคาที่ดิน” กลับเพิ่มขึ้น จึงส่งผลต่อราคาขาย ตามไปด้วย สุดท้ายคนที่ต้องแบกรับภาระคือ “ประชาชน” ผู้ที่ต้องการมีบ้านเป็นของตัวเอง และภาระเหล่านี้สะท้อนผ่านมายังสินเชื่อ บ้านที่กลายเป็น “หนี้เสีย” จำนวนมาก เพราะผู้ซื้อบ้านหลายคน จำต้องจ่ายในราคาเกินเอื้อม ...คนในแวดวงอสังหาริมทรัพย์ เคยเล่าให้ “ทีมข่าวกรุงเทพธุรกิจ” ฟังว่า สาเหตุที่ราคาที่ดินพุ่งไม่หยุด เพราะที่ดินส่วนใหญ่อยู่ในมือ “นายทุน” หรือ “เจ้าสัว” ซึ่งไม่ได้เดือดร้อน เรื่องเงิน ดังนั้นเมื่อมีคนมาขอซื้อที่ดิน หากไม่ได้ราคาก็จะไม่ขาย ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ราคาที่ดินพุ่งต่อเนื่อง ฟังแบบนี้ประชาชนตาดำๆ คงต้องก้มหน้ารับสภาพกันไป
Reference: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ