ธุรกิจร้อนเงินเร่ขายกิจการ ทุนใหญ่-ต่างชาติไล่ช็อปของถูก
ธุรกิจทนพิษไวรัสโควิด-19 ไม่ไหว เทกระจาดขายกิจการ “ทุนใหญ่- เงินหนา” สบช่องไล่ช็อป “ของถูก” ในภาวะวิกฤตขาดสภาพคล่อง เผย ครึ่งปีหลังสัญญาณชัดดีลซื้อขายกิจการพุ่ง กลุ่มธุรกิจโรงแรม-ท่องเที่ยว โดนก่อน ที่ปรึกษาการเงินชี้ภาคเอกชนเร่งปัดกวาดกิจการ ตัดขายธุรกิจ ไม่ทำกำไร หาเงินตุนสภาพคล่องประคองตัว จับตากองทุนต่างประเทศ ซุ่มเจรจาซื้อทรัพย์สินราคาถูก โบรกเกอร์อสังหาฯเผยผู้ประกอบการ รายกลาง-เล็กแห่จำนอง-ขายฝากทั้งโรงแรม-โรงงาน-ที่ดินเปล่า ยันคฤหาสน์
เร่งปัดกวาด-ตัดขายธุรกิจ
นายพรชัย ปัทมินทร รองกรรมการ ผู้จัดการใหญ่ บรรษัทธุรกิจและวาณิช ธนกิจธุรกิจขนาดใหญ่ ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของ ไวรัสโควิด-19 จะพบว่าลูกค้าธุรกิจขนาดใหญ่จะมีการวางแผนการเงินจัดการด้านสภาพคล่องในรูปแบบต่าง ๆ ขณะเดียวกันก็พบว่าลูกค้าธุรกิจใหญ่ขณะนี้มีการทยอยปัดกวาดธุรกิจ ตัดขายธุรกิจที่เป็น non-core หรือที่ไม่ใช่ธุรกิจหลัก หรือธุรกิจที่ ไปไม่รอดทิ้ง
ขณะเดียวกันก็มีลูกค้ารายใหญ่บางกลุ่มที่มีสถานะการเงินที่เข้มแข็งมองหาโอกาสในการซื้อสินทรัพย์จากธุรกิจที่ไม่สามารถอยู่รอดได้ในช่วง โควิด-19 โดยเฉพาะเซ็กเตอร์โรงแรมจะเห็นชัด ทยอยออกมาปิดกิจการ (ถาวร) ซึ่งเป็นสิ่งที่กลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ เริ่มหันมาให้ความสนใจและมองหาโอกาสจากวิกฤตครั้งนี้ โดยจะเริ่มเห็นโอกาสซื้อ-ขายกิจการชัดขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปีนี้
”จังหวะนี้ทุกคนเห็นโอกาสเหมือนกัน คือปัดกวาดบ้าน ธุรกิจที่ไม่จำเป็นขายทิ้ง และมองหาโอกาสจากธุรกิจที่ตายแล้ว แต่อาจจะเริ่มเห็นภาพชัดครึ่งปีหลังเป็นต้นไป เพราะทุกคนต้องเตรียมตัว กลับมาแข็งแรงหลังโควิด-19 ผ่านการ กักตุนสภาพคล่องเงินล่วงหน้าไว้”
นายพรชัยกล่าวว่า แนวโน้มการปล่อย สินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ไตรมาสที่ 1 ของธนาคารถือว่าเติบโตค่อนข้างดี โดยยังเห็นการเบิกใช้วงเงิน อย่างไรก็ดี อาจจะต้องรอดูไตรมาส 2 อาจจะเห็นผลกระทบชัดเจนขึ้น หากลูกค้าได้รับผลกระทบธนาคารก็มีมาตรการช่วยเหลือ ลูกค้า เช่น พักชำระหนี้ 3-6 เดือน โดยจะพิจารณาเป็นรายกรณี ขณะที่ลูกค้ารายใหญ่ที่มีสถานะการเงินแข็งแรง ที่มีแผนขยายธุรกิจไปต่างประเทศ แม้ว่าช่วงนี้จะพักไปบ้าง ซึ่งเป็นผลมาจากสถานการณ์ของไวรัสโควิด-19 แต่แผนธุรกิจและเป้าหมายการลงทุนในต่างประเทศยังคงเหมือนเดิม
ทุนใหญ่รอซื้อของถูก
นายเสนธิป ศรีไพพรรณ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารลูกค้าธุรกิจ ธนาคารทหารไทย (ทีเอ็มบี) กล่าวว่า ในช่วงที่เกิดวิกฤตถือเป็นเหตุการณ์ปกติที่จะมีดีลการซื้อขายหรือควบรวมกิจการ (M&A) เกิดขึ้น โดยมีอยู่ 2 ประเภท คือ 1.กิจการที่ดำเนินต่อไม่ไหว จะเห็นเทขายออกมา น่าจะได้เห็นในเร็ว ๆ นี้ และ 2.ผู้ประกอบการผิดนัดชำระหนี้ และโดนยึดหลักทรัพย์ค้ำประกัน ซึ่งเป็นทรัพย์รอการขาย (NPA) ซึ่งดีลประเภทนี้จะเกิดขึ้นช้ากว่าประเภทแรกที่ธุรกิจล้มและมีการซื้อขาย
ตอนนี้ธุรกิจขนาดใหญ่ที่การเงิน แข็งแรงและมีสภาพคล่องเหลือ จับตาดูสถานการณ์เพื่อรอซื้อทรัพย์สินหรือกิจการที่ได้ราคาถูกลงกว่านี้อีก ซึ่งตอนนี้ เริ่มเห็นสัญญาณกิจการอ่อนแอลงและใกล้ล้ม เนื่องจากผลกระทบครั้งนี้ค่อนข้าง หนักและกระทบเป็นวงกว้าง โดยเฉพาะ กลุ่มโรงแรมที่น่าจะเห็นการซื้อขายกิจการก่อนธุรกิจอื่น เพราะช่วงที่ผ่านมา นักท่องเที่ยวหายไปและโรงแรมส่วนใหญ่ ปิดเกือบหมด ซึ่งเหลือเฉพาะเครือใหญ่ที่ยังพอไปได้เท่านั้น
”ตอนนี้เหตุการณ์ยังไม่ชัดเจนและฝุ่นตลบอยู่ หากรออีกสักพักจะได้ของราคาที่ถูกลงกว่าเดิม ซึ่งเป็นปกติที่เมื่อเกิดวิกฤตก็จะเกิดดีลซื้อขายกิจการตามมา ซึ่งหลากหลายประเภทธุรกิจ แต่คราวนี้น่าจะเห็นโรงแรมบอกขายก่อน เพราะได้รับผลกระทบหนัก”
กองทุนต่างชาติจ้องซื้อ
แหล่งข่าวสถาบันการเงินกล่าวว่า ภายใต้วิกฤตย่อมมีโอกาสสำหรับคนที่มีฐานะการเงินแข็งแกร่ง โดยคนที่ไม่มีสภาพคล่องและได้รับผลกระทบก็จำเป็นต้องตัดขาย และคนที่มีกำลังก็ซื้อของถูก ซึ่งในไทยจะเห็นว่ามีคนที่พร้อมซื้อของถูกอยู่พอสมควร และธนาคารพาณิชย์ก็พร้อมจะอำนวยสินเชื่อ และแหล่งเงินทุนให้กับคนเหล่านี้ทำให้ดีล M&A มักจะมาในช่วงที่มีวิกฤต
”ช่วงต้มยำกุ้งจะเห็นว่าองค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน หรือ ปรส. ที่ตัดขายพอร์ตกิจการให้ต่างชาติในราคาที่มีการ hair cut มากกว่า 50% ซึ่งครั้งนี้ แม้ว่าจะไม่เหมือนต้มยำกุ้ง แต่ในวิกฤตย่อมมีโอกาสสำหรับคนมีเงินที่จะได้ซื้อของถูกหรือเปลี่ยนมือเจ้าของกิจการ”
แหล่งข่าวกล่าวว่า ในครั้งนี้ก็เช่นกัน นอกจากกลุ่มทุนแข็งแรงในประเทศแล้ว ก็ยังมีพวกทุนต่างชาติที่สนใจเข้ามาซื้อทรัพย์สินราคาถูกในช่วงวิกฤต ซึ่งบรรดา กองทุนต่างชาติเหล่านี้จะมีประสบการณ์ในการลงทุนซื้อทรัพย์สินหรือกิจการในช่วงวิกฤตเพื่อสร้างผลตอบแทนที่ดี
เร่ขายกิจการราคาถูก
นายรัฐชัย ธีระธนาวัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารร่วม สายงานวาณิชธนกิจ-ด้านตลาดทุน บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เคทีบี (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า สถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ถือเป็นปัจจัยหนึ่งที่เร่งให้เกิดดีล M&A มากขึ้น เนื่องจากมูลค่าของธุรกิจที่ทำการซื้อขายกิจการมีการปรับลดลงมาค่อนข้างถูกกว่าในภาวะปกติ ซึ่งเป็นแรงจูงใจในการทำ M&A เพื่อการลงทุนระยะยาว ซึ่งขณะนี้บริษัทก็อยู่ระหว่างทำดีลหลายราย ซึ่งส่วนใหญ่กระจายอยู่ในธุรกิจอาหาร โลจิสติกส์ และการแพทย์
”ของอยู่ดี ๆ ราคาอาจจะไม่น่าสนใจ แต่พอในสถานการณ์ไม่ปกติแบบนี้ ส่งผลกระทบต่อธุรกิจที่สายป่านยาวไม่พอ หรือธุรกิจที่มีกระแสเงินสดไม่พอ ก็อาจจะต้องขายกิจการทิ้งดีกว่า ส่วนคนที่มีกระแสเงินสดพอ มองการทำธุรกิจระยะยาว และมีฝีมือที่จะนำธุรกิจฝ่าวิกฤตกลับมาได้ ราคาที่ลดหรือจูงใจพอ บวกกับกำลังพร้อมซื้อก็ส่งผลให้มีดีลซื้อขายกิจการเพิ่มขึ้น” นายรัฐชัยกล่าว
SMEs แห่ขายฝากเคลียร์หนี้
นพ.สมศักดิ์ มุนีพีระกุล ประธานกรรมการ บริษัท ฟอร์เบสท์ พร็อพเพอร์ตี้ส์ จำกัด บริษัทนายหน้าอสังหาริมทรัพย์รายแรก ๆ ของไทยเปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า สถานการณ์เศรษฐกิจและวิกฤตโควิด-19 ส่งผลกระทบภาคธุรกิจรุนแรง แนวโน้มที่เห็นชัดคือช่วงเดือนเศษ ที่ผ่านมามีผู้ประกอบธุรกิจรายย่อย เอสเอ็มอี ประกาศขายอสังหาริมทรัพย์ผ่านบริษัทนายหน้ามากขึ้น ในจำนวนนี้มีทั้งการประกาศขายขาด ขายฝาก และจำนอง สาเหตุที่การขายฝาก จำนองเกิดขึ้นมากในช่วงนี้เป็นเพราะเจ้าของทรัพย์สินซึ่งมีทั้งเอสเอ็มอี และรายย่อย ที่ทำธุรกิจและมีปัญหาเรื่องรายได้ หนี้สิน ไม่อยากให้ทรัพย์สินหลุดมือ ต้องการไถ่ถอนการขายฝาก หรือไถ่จำนองคืน
ปรากฏการณ์นี้สะท้อนให้เห็นว่า ผู้ต้องการขายฝาก จำนองทรัพย์สิน ไม่ว่าจะเป็นบ้าน ที่ดิน อพาร์ตเมนต์ ออฟฟิศ โรงแรม ฯลฯ ส่วนใหญ่มีมูลค่าระดับ 10 ล้านบาท จนถึง 200-300 ล้านบาท เป็นผู้ประกอบการรายเล็ก รายกลางที่ไม่ได้มีทรัพย์สินมาก และยังจำเป็นต้องใช้ทรัพย์สินดังกล่าว เพียงแต่มีปัญหาด้านการเงินจึงไม่มีทางเลือก อาจช่วยบรรเทาความเดือดร้อนด้านการเงินได้ภายในเวลาที่มีจำกัด
อย่างไรก็ตาม ลูกค้าไม่ว่าจะเป็น กลุ่มทุน นักลงทุน ส่วนใหญ่ต้องการซื้อทรัพย์สินแบบขายฝากมากกว่าจำนอง เนื่องจากกรณีขายฝากนั้นเมื่อถึงกำหนดเวลาไถ่ถอนการขายฝากหากไม่นำเงินมาไถ่ถอนผู้ซื้อฝากจะได้ทรัพย์สินไปถือครองทันที ต่างจาก การจดจำนองที่เมื่อสิ้นสุดระยะเวลาจำนอง ผู้รับจำนองต้องไปฟ้องร้องยึดหลักทรัพย์ค้ำประกันอีกทอดหนึ่ง ขณะที่การฝากขายแบบขายขาดก็ยังมีเข้ามาเรื่อย ๆ แต่การขายฝาก จำนอง ที่ต้องการเงินเร่งด่วนช่วงนี้มีเข้ามามากกว่าปกติ
มีทั้งที่ดินเปล่า-ยันคฤหาสน์
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า จากการสำรวจพบว่ามีอสังหาฯทั้งในกรุงเทพฯ ต่างจังหวัด ประกาศขาย ขายฝาก จำนอง ผ่านบริษัทโบรกเกอร์ อาทิ โรงแรมขนาด 152 ห้อง ย่าน นวมินทร์ 111 ราคาขาย 145 ล้านบาท ขายฝากโครงการทาวน์โฮม ใกล้ตลาดสด เขาขยาย บ่อวิน ศรีราชา ราคา 35% ของราคาขาย 50 ล้านบาท ขายอพาร์ตเมนต์ สุขุมวิท 107 ราคา 95 ล้านบาท ขายอาคารสำนักงาน 4 ชั้น ย่านทาวน์อินทาวน์ เนื้อที่ 139 ตร.ว. ราคา 75 ล้านบาท ขายโฮสเทล ถนนนราธิวาสราชนครินทร์ 108 ตร.ว. ราคา 170 ล้านบาท ขายฝากบ้านที่ดิน ย่านลาดพร้าว 107 เนื้อที่ 174 ตร.ว. 12 ล้านบาท ขายฝากที่ดินบางนา-ตราด กม. 29 เนื้อที่ 10 ไร่ 35 ล้านบาท จำนองคฤหาสน์หลังเดอะมอลล์ รามคำแหง 507 ตร.ว. 70 ล้านบาท
Reference: หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ