ธุรกิจปิดตัวกระทบ ออฟฟิศ คอนโดฯ ยอดตกกว่า40%

18 May 2020 711 0

         

          ชี้แนวโน้มตลาดอสังหาฯ ทั้งระบบยอดขายติดลบกว่า 25 % คอนโดฯ หนักสุด ยอดขายลดลงกว่า 40% ยอดโอนกรรมสิทธิ์ชะลอตัวตาม อาคารสำนักงานในเมืองโดนผลกระทบหนัก เหตุหลายบริษัทปิดกิจการ ธุรกิจส่วนใหญ่มีรายได้ลดลง ผู้ประกอบการอสังหาฯ เร่งปรับตัวเพื่อความอยู่รอดในยุค New Normal

          จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้หลายภาคธุรกิจต้องมีการปรับตัว รวมถึงภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่ต้องมีการพัฒนาที่อยู่อาศัยให้สอดรับต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ซึ่งถือเป็นปรากฏการณ์ยุคใหม่ที่เรียกว่า New Normal ผู้บริโภคมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการเลือกซื้อที่อยู่อาศัย ขณะที่ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ก็ต้องมีการปรับตัวให้เข้าสู่สถานการณ์อย่างรวดเร็ว

          นายอธิป พีชานนท์ ประธานคณะกรรมการสมาคมการค้ากลุ่มอสังหาริมทรัพย์ออกแบบและก่อสร้าง สภาหอการค้าแห่งประเทศไทยวิเคราะห์ว่า แนวโน้มปี 2563 ตลาดอสังหาฯ ยอดขายติดลบมากกว่า 25%โดยยอดขายใหม่คอนโดมิเนียมชะลอตัวชัดเจนเมื่อเทียบกับแนวราบ ปัจจุบันยอดขายคอนโดมิเนียมลดลงกว่า 40% ทั้งจากผู้ซื้อเพื่ออยู่อาศัยและกลุ่มซื้อเพื่อปล่อยเช่า จากเดิมพึ่งพากลุ่มลูกค้าจีนและต่างชาติ 10 %แต่ดีมานด์ส่วนนี้หายไปจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19

          ขณะที่ตลาดแนวราบ บ้านจัดสรร ทาวน์เฮาส์ บ้านเดี่ยว โดยเฉพาะโครงการบ้านที่สร้างเสร็จกลับเริ่มมีคนสนใจซื้อมากขึ้นซึ่งสวนทางกับภาวะเศรษฐกิจ โดยพบยอดขายบ้านจัดสรรในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล และภูมิภาคบางพื้นที่ตัวเลขสูงขึ้น แต่ที่สุดแล้วคาดว่าปีนี้ตลาดแนวราบติดลบ 5-10%

          “คนที่ต้องการซื้อบ้านเพื่ออยู่อาศัยจริงยังมีอยู่ ยิ่งพอเกิดโควิดทำให้คนต้องทำงานที่บ้าน หลายเจเนอเรชันต้องอยู่ร่วมกัน ทำให้เกิดความต้องการมีที่อยู่อาศัยเพื่อแยกเป็นครอบครัวเดี่ยวมากขึ้นจากเดิมที่อาจไม่เคยรู้สึกมาก่อน เพราะทุกคนต้องการความเป็นส่วนตัว การอยู่คอนโดจึงอาจไม่ตอบโจทย์การทำงานที่บ้านของคนบางคน”

          นายอธิป กล่าวอีกว่า ยอดโอนกรรมสิทธิ์มีการชะลอตัวในช่วงนี้ เนื่องจากประชาชนไม่มั่นใจในภาวะเศรษฐกิจปัจจุบัน จึงผลกระทบต่อการตัดสินใจโอนกรรมสิทธิ์ ประกอบกับธนาคารพาณิชย์เข้มงวดในการพิจารณาสินเชื่อมากกว่าปกติ และปฏิเสธสินเชื่อในอัตราที่สูงขึ้น โดยปัจจุบันอัตราปฏิเสธสินเชื่อเพิ่มขึ้นสูงถึง 40% ซึ่งเป็นระดับที่สูงมาก ทั้งนี้ ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี รวมถึงผู้ที่ทำอาชีพอิสระ เป็นกลุ่มแรกที่ธนาคารพาณิชย์จะปฏิเสธการให้สินเชื่อและพิจารณาเข้มงวดมาก

          “แนะนำว่าเจ้าของโครงการต้องพยายามรักษาลูกค้า ไม่ควรริบเงินดาวน์ เพื่อให้การโอนกรรมสิทธิ์ต่อเนื่อง โดยวิธีการโอนให้มีการผ่อนปรนกับลูกค้ามากขึ้นเช่น ย้ายการจองไปโครงการที่สร้างไม่เสร็จแทนเพื่อยืดเวลาให้กับลูกค้าได้ด้วย หรือให้โอนกรรมสิทธิ์ในขนาดและมูลค่าที่เล็กลง เช่น เดิมต้องโอนมากกว่า 1 ยูนิต ก็ให้ลดขนาดมาเท่ากับ 1 ยูนิต หรือให้มีการพักเงินดาวน์ไป 6 เดือน-1 ปี โดยหลังโควิดผ่านไปค่อยมาคุยกัน เวลานี้ต้องเป็นห่วงเนื้อในปากมากกว่าเนื้อในน้ำ เพราะบางคนตอนนี้มัวแต่คิดเรื่องขายของใหม่ ซึ่งเป็นเรื่องที่ยาก สู้มาดูแลลูกค้าที่ซื้อเราไปแล้ว เปรียบเสมือนเนื้อในปาก อย่าทำให้มันหลุดออกไปจะดีกว่าไปหาลูกค้าใหม่ ซึ่งเป็นเนื้อในน้ำไม่ใช่เนื้อในปาก”

          อาคารสนง.ในเมืองมีปัญหา

          ผู้เช่าปิดกิจการเพียบ

          นายสุรเชษฐ กองชีพ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ฟีนิกซ์ พร็อพเพอร์ตี้ ดีเวลล็อปเม้นท์ แอนด์ คอนซัลแทนซี่ จำกัด กล่าวว่า หากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ยังอยู่ยาว และไม่มีวัคซีนหรือยาออกมาสู่สาธารณะ นอกจากตลาดอสังหาริมทรัพย์ประเภทที่อยู่อาศัยจะได้รับผลกระทบแล้ว ตลาดอาคารสำนักงานจะมีปัญหาตามไปด้วย เนื่องจากการปิดตัวลงของกิจการต่างๆ

          “นับว่าเป็นเรื่องยากที่ชีวิตของคนทั้งโลกจะกลับไปแบบเดิม ธุรกิจส่วนใหญ่คงยังไม่ฟื้นตัว ในขณะที่บางธุรกิจมีรายได้ลดลงหรืออาจจะไม่มีรายได้เลยก็เป็นไปได้จนกว่าจะมีวัคซีนหรือยาออกมา อาจมีการเลิกจ้างพนักงานหรือปรับไปทำงานที่บ้านมากขึ้น การเช่าพื้นที่สำนักงานจะกลายเป็นสิ่งไม่จำเป็น เจ้าของอาคารอาจจะเผชิญกับปัญหาการมีพื้นที่ว่างในอาคารสำนักงานมากขึ้น แต่อาคารสำนักงานสัญญาเช่าอยู่ที่ 3 ปี จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะมีการขอยกเลิกหรือลดพื้นที่เช่าลงทันที อีกทั้งเจ้าของอาคารสำนักงานก็คงไม่ยินยอม เพราะเขาเองก็เดือดร้อนเช่นกัน ยกเว้นกลุ่มของผู้เช่าที่สัญญาใกล้ครบกำหนดจึงอาจมีการทบทวนการต่อสัญญาเช่าหรือการชะลอการย้ายไปอาคารสำนักงานอื่นที่ค่าเช่าถูกกว่า”

          BAM ปรับแผนการขาย

          จัดมหกรรมออนไลน์

          นายสมพร มูลศรีแก้ว กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทบริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ BAM กล่าวว่า จากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้บริษัทต้องปรับกลยุทธ์ด้านส่งเสริมการขาย เพื่อรองรับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น เนื่องจากการออกบูทแสดงสินค้าในงานมหกรรมต่าง ๆ หรือในศูนย์การค้าถูกยกเลิกทั้งหมดในช่วงเวลาดังกล่าว บริษัทจึงได้ปรับแผนการตลาด โดยเตรียมจัดมหกรรมที่อยู่อาศัยออนไลน์ By BAM ภายใต้แนวคิด “อยู่ที่ไหน ก็ไปชมงาน ผ่านหน้าจอได้”

          นอกจากนี้ยังได้นำทรัพย์สินรอการขายประเภทคอนโดมิเนียม บ้านเดี่ยว บ้านแฝด ทาวน์เฮาส์ อาคารพาณิชย์ ที่ดินเปล่า มานำเสนอให้กับลูกค้าที่สนใจได้เลือกซื้อผ่าน BAM Virtual Booth หรือบูทออนไลน์ โดย BAM จะสร้าง Microsite บนหน้าเว็บไซต์ BAM จำลองงานออกบูทมหกรรมที่อยู่อาศัย ซึ่งลูกค้าสามารถ click เพื่อเข้าชมรายการทรัพย์จากบอร์ดแสดงทรัพย์เด่น ทรัพย์ราคาพิเศษ บอร์ดโปรโมชันต่างๆ และโครงการพิเศษสำหรับลูกค้าปรับโครงสร้างหนี้เสมือนไปชมที่บูทจริง โดยลูกค้าจะได้รับประสบการณ์การเยี่ยมชมทรัพย์ที่เข้าถึงทุกมิติรอบทิศทางด้วยภาพทรัพย์แบบ 360 องศา หรือทรัพย์ที่เก็บทุกรายละเอียดในรูปแบบ VDO Tour รวมทั้งได้จัดทรัพย์สภาพสวยพร้อมอยู่ให้จองซื้อผ่านช่องทางออนไลน์ได้ตลอด 24 ชั่วโมงอีกด้วย

          SCG เดินหน้าพลิกกลยุทธ์

          “รุก-รวดเร็ว” ฝ่าวิกฤตโควิด

          นายรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี กล่าวว่า ในสถานการณ์ที่เศรษฐกิจทั่วโลกได้รับผลกระทบจากวิกฤตการแพร่ระบาดของโควิด-19 เอสซีจีก็เป็นหนึ่งองค์กรที่ใช้ความพยายามอย่างมากที่จะรักษาผลประกอบการในไตรมาสที่ 1 ปี 2563 ให้ใกล้เคียงไตรมาสก่อน เพื่อให้สังคม คู่ค้า พนักงาน และธุรกิจ ร่วมก้าวผ่านสถานการณ์อันยากลำบากนี้ไปด้วยกัน ด้วยความทุ่มเทเชิงรุกและรวดเร็วในการบริหารจัดการความต่อเนื่องในการดำเนินธุรกิจ เสริมกับการเตรียมความพร้อมด้วยการปรับกลยุทธ์สู้ศึกดิสรัปชันในช่วงที่ผ่านมาอย่างเข้มข้น ภายใต้การขานรับมาตรการภาครัฐเพื่อรักษาสุขอนามัยอย่างเคร่งครัด โดยนำศักยภาพด้านเทคโนโลยีดิจิทัลมาช่วยให้พนักงานที่สำนักงานกว่าร้อยละ 90 สามารถทำงานได้จากที่บ้าน (Work from Home)

          ขณะเดียวกันก็ช่วยให้การบริหารห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) ตั้งแต่การผลิตจนถึงการส่งมอบโซลูชันสินค้าและบริการต่าง ๆ ไปยังลูกค้าทุกกลุ่มมีความสะดวกและปลอดภัย ควบคู่กับการมองหาโอกาสใหม่ ๆ ให้ตอบโจทย์ความต้องการของตลาดที่เปลี่ยนไปได้ เช่น การขายสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ หรือการผลักดันการใช้ Blockchain ในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง-วางบิล-ชำระเงินกับคู่ธุรกิจได้เพิ่มขึ้นอย่างมาก ขณะที่ยังรักษาสถานะทางการเงินให้แข็งแกร่งพร้อมเตรียมปรับตัวอย่างเต็มที่ในการรับความท้าทายหากสถานการณ์ยาวนานต่อไป

          AWC เครือเจ้าสัวเจริญได้รับผลกระทบ

          บริหารสภาพคล่องเข้มค่าใช้จ่าย

          นางวัลลภา ไตรโสรัส ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท แอสเสท เวิรด์ คอร์ป จำกัด (มหาชน) หรือ AWCให้ความเห็นว่า ไตรมาส 1/2563 เป็นช่วงเวลาที่ท้าทายของทุกภาคส่วนจากผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้ AWC มีกำไรสุทธิ 108.2 ล้านบาท ลดลง 55.6% จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน ด้วยจำนวนนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศที่มีแนวโน้มลดลงกว่า 80% และมาตรการเข้มงวดจากทางภาครัฐในการปิดสถานประกอบการ ซึ่งรวมถึงโครงการศูนย์การค้า เพื่อป้องกันและลดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้ AWC ต้องประกาศปิดให้บริการโรงแรมและอสังหาริมทรัพย์เพื่อประกอบกิจการการค้าต่างๆ ชั่วคราว รวมถึงมีมาตรการอื่นๆ เพื่อดูแลช่วยเหลือผู้เช่า อย่างไรก็ตาม AWC ยังคงได้รับประโยชน์จากกลยุทธ์การลงทุนที่หลากหลายและสมดุลเชิงธุรกิจ (Balanced and Diversified Portfolio) ที่ช่วยกระจายความเสี่ยงซึ่งเห็นได้ชัดจากธุรกิจอาคารสำนักงาน ที่ไม่ได้รับผลกระทบโดยตรงทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสัดส่วนกำไรจากการดำเนินงานของสินทรัพย์ดำเนินงาน โดยในไตรมาส 1/2563 AWC ยังคงมีกำไรจากการดำเนินงานของสินทรัพย์อยู่ที่ 1,184.9 ล้านบาท ซึ่งแบ่งสัดส่วนเป็นธุรกิจโรงแรมและการบริการ 38.8% ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เพื่อการประกอบกิจการการค้า 21.8% และธุรกิจอาคารสำนักงาน 39.4%

          “สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ยังไม่มีความแน่นอน AWC จะยังคงดำเนินมาตรการควบคุมและเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารค่าใช้จ่ายอย่างเข้มงวด ควบคู่ไปกับการปรับโครงสร้างองค์กรเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพกระบวนการทำงาน และเพิ่มประสิทธิผลให้สอดคล้องไปกับแผนกลยุทธ์หลักทางธุรกิจขององค์กร รวมทั้งการพัฒนากลยุทธ์การตลาดให้ตอบสนองความต้องการที่เปลี่ยนแปลงไปของลูกค้า เพื่อสร้างอนาคตที่ดีกว่าให้กับบริษัท พนักงาน นักลงทุน และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องสู่เป้าหมายการเป็นกลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่ก้าวหน้าและเติบโตต่อเนื่องอย่างยั่งยืน และผ่านพ้นวิกฤตโควิด-19 นี้ไปด้วยกันได้อย่างดีที่สุด” นางวัลลภา กล่าว

          ชาญอิสสระอัดแคมเปญ

          ISSARA FLEXI FOR YOU

          นายดิฐวัฒน์ อิสสระ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการสายงานสร้างสรรค์สื่อและเทคโนโลยี สารสนเทศ บริษัท ชาญอิสสระ ดีเวล็อปเมนท์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้หลายภาคธุรกิจต้องมีการปรับตัว รวมถึงภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่ต้องมีการพัฒนาที่อยู่อาศัยให้สอดรับต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ซึ่งถือเป็นปรากฏการณ์ใหม่ New Normal ผู้บริโภคมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการเลือกซื้อที่อยู่อาศัย ขณะที่ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ก็ต้องมีการปรับตัวให้เข้าสู่สถานการณ์อย่างรวดเร็ว

          ทั้งนี้ ในช่วงที่เกิดเหตุการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ยอมรับว่าตลาดอสังหาริมทรัพย์ได้รับผลกระทบพอสมควร ซึ่งที่ผ่านมาบริษัทได้ดำเนินมาตรการต่างๆ เพื่อให้ความช่วยเหลือ และสร้างความอุ่นใจให้แก่ลูกค้า ทั้งในด้านของการสร้างมาตรการการดูแลความปลอดภัย การให้ความช่วยเหลือ ช่วยแก้ปัญหาให้แก่ลูกค้าที่อยู่ในช่วงระหว่างผ่อนดาวน์ การให้ความอุ่นใจ สะดวก ปลอดภัยเมื่อลูกค้ามาเยี่ยมชมโครงการ มาตรการการคัดกรองอย่างเข้มงวด รวมถึงการรักษาระยะห่างทางสังคมอย่างจริงจัง และการทำความสะอาด ดูแลความปลอดภัยอย่างรัดกุม ซึ่งถือเป็นมาตรฐานที่บริษัทจะยึดและดำเนินการพัฒนาที่อยู่อาศัยให้ตอบโจทย์พฤติกรรมของลูกค้า ซึ่งถือเป็นโจทย์การพัฒนาสินค้าที่ชาญอิสสระได้ให้ความสำคัญมาอย่างต่อเนื่องในการพัฒนาทุกๆ โครงการ

          นายดิฐวัฒน์ กล่าวด้วยว่าสถานการณ์โควิด-19 มีผลให้พฤติกรรมการเลือกซื้อที่อยู่อาศัยของลูกค้าจะเปลี่ยนไป ซึ่งจะเข้าสู่ยุค New Normal สังคมจากนี้ต่อไปจะกลายเป็น ‘Individual Society’ ลูกค้าจะคำนึงการเลือกซื้อที่อยู่อาศัยโดยให้ความสำคัญต่อพื้นที่ส่วนบุคคล ต้องการที่อยู่อาศัยที่ Low Density ใส่ใจเรื่องความปลอดภัยของสุขภาพมากขึ้น ดังนั้นดีเวลอปเปอร์ต้องหันมาปรับเปลี่ยนรูปแบบการพัฒนาที่อยู่อาศัยให้สามารถตอบโจทย์สังคมที่จะเปลี่ยนไปให้รวดเร็ว ล่าสุด ชาญอิสสระ ได้จัดแคมเปญ Issara Flexi for You เพื่อเป็นการปรับตัวในการดำเนินธุรกิจ สร้างความยืดหยุ่นการให้บริการแก่ลูกค้าได้อย่างรวดเร็ว

          เจ้าของโครงการสู้ยิบตา

          ให้อยู่ฟรี 2 ปี ปลอดทั้งต้นทั้งดอก

          กลยุทธ์หนึ่งที่มาแรง เหมือนนัดกันมาของผู้ประกอบการอสังหาฯ เพื่อรับมือวิกฤตโควิด-19 คือแคมเปญ “อยู่ก่อน ผ่อนทีหลัง” โดยหลังผ่านขั้นตอนการจอง การทำสัญญาเงินกู้กับสถาบันการเงิน ทางผู้ซื้อสามารถย้ายเข้ามาอยู่ในบ้านได้เลย โดยไม่ต้องกังวลกับการผ่อนเงินต้น-ดอกเบี้ย เพราะเจ้าของโครงการพร้อมใจกันผ่อนทั้งต้นและดอกแทนผู้ซื้อ ตามระยะเวลาที่ตกลงกัน

          ส่วนอีกแคมเปญทางการตลาดคือฟรีค่าธรรมเนียมต่างๆ เช่น ฟรีค่าโอน ค่าจดจำนอง ฟรีค่าส่วนกลาง ฟรีค่ามิเตอร์ไฟฟ้า-น้ำประปา ฯลฯ รวมไปถึงพักชำระค่างวดผ่อนดาวน์

          สำหรับกลยุทธ์สารพัดฟรีและพักชำระค่างวดผ่อนดาวน์นี้ มีผู้ประกอบการทั้งรายใหญ่ กลาง เล็ก ร่วมจัดเต็มให้ลูกค้า ที่เด่นสุดคือค่ายแสนสิริที่ใช้แคมเปญฟรี ฟรี ฟรี สำหรับลูกค้าที่ซื้อบ้านเดี่ยว ทาวน์โฮม คอนโดฯ ตั้งแต่ 3 เมษายน-30 มิถุนายน 2563 โดยเสนอเงื่อนไข ฟรีทุกค่าใช้จ่ายวันโอน ทั้งค่าโอน ค่าจดจำนอง ฟรีค่าส่วนกลาง 2 ปี พร้อมส่วนลดสูงสุด 1 ล้านบาท และ Gift Voucher ศูนย์การค้าเซ็นทรัล 1 แสนบาท ที่เด็ดสุดคืออยู่ฟรี 24 เดือน หรือ 2 ปี หลังทำสัญญาเงินกู้กับสถาบันการเงินแล้วเสร็จ โดยค่ายแสนสิริจะรับภาระผ่อนทั้งต้นและดอกเบี้ยให้ตลอดเวลา 2 ปีแรก (แต่คาดว่าที่สุดแล้วผู้ซื้อจะต้องผ่อนต้น-ดอกในช่วง 2 ปีแรกให้ค่ายแสนสิริ หลังผ่อนกับสถาบันการเงินครบแล้ว)

Reference:

Click icon to remove from or add to favorite list
Click to choose and click "Compare" button