ธปท.คุมเข้มแบงก์ ห้ามลงทุนธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลเกิน3%

25 Mar 2022 833 0

         ธปท.คุมเข้มแบงก์ ห้ามลงทุนธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลเกิน3%

         ธปท. ปรับแนวทางกำกับดูแลกลุ่มธนาคารพาณิชย์ ผ่อนคลายธุรกิจที่มีความเสี่ยงต่ำ และเข้มงวดธุรกิจที่มีความเสี่ยง ยกเลิกเพดานการลงทุนในธุรกิจ FinTech พร้อมตั้งเพดานลงทุนในกิจการที่ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลไม่เกิน 3% ของเงินกองทุน พร้อมเปิดรับฟังความคิดเห็น-ร่างเกณฑ์ คาดใช้ได้ครึ่งแรกของปีนี้ ขณะที่สำนักงาน ก.ล.ต. ออกเกณฑ์กำกับ การให้บริการของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ไม่สนับสนุนการใช้สินทรัพย์ดิจิทัลเป็นสื่อกลางชำระค่าสินค้าหรือบริการ

         นางรุ่ง มัลลิกะมาส ผู้ช่วย ผู้ว่าการ สายนโยบายสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ภายใต้แนวนโยบายภูมิทัศน์ใหม่ภาคการเงินไทยเพื่อเศรษฐกิจดิจิทัลและการเติบโตอย่างยั่งยืนที่มุ่งเน้นการสร้างสมดุลระหว่างการส่งเสริมนวัตกรรมและการบริหารความเสี่ยง ธปท.ได้ปรับปรุงเกณฑ์ให้กลุ่มธพ. มีความยืดหยุ่นมากขึ้น โดยพิจารณาทั้งประโยชน์ต่อประชาชนและความเสี่ยงต่อเสถียรภาพของระบบการเงินโดยรวม ซึ่งมีสาระสำคัญดังนี้

          โดยให้ยกเลิกเพดานการลงทุนในธุรกิจ FinTech จากเดิมที่เคยกำหนดไว้ที่ 3% ของเงินกองทุน เพื่อให้กลุ่ม ธพ. ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีทางการเงิน (FinTech) ได้มากขึ้น เนื่องจากเห็นประโยชน์ ที่ชัดเจน อีกทั้งกลุ่ม ธพ. มีประสบการณ์การลงทุนในธุรกิจ FinTech มากขึ้น และหน่วยงานกำกับดูแลมีแนวทางดูแลความเสี่ยงในระดับหนึ่งแล้ว

          และให้บริษัทในกลุ่ม ธพ. สามารถลงทุนในกิจการที่ประกอบธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล (DA) ภายใต้เพดานที่ 3% ของเงินกองทุน เพื่อให้การขยายตัวเป็นไปอย่างค่อยเป็นค่อยไป ช่วยจำกัดความเสี่ยงใหม่ๆ ที่อาจกระทบความเชื่อมั่นต่อ ธพ. โดยเมื่อมีมาตรฐานการกำกับดูแลที่เป็นสากลหรือมีแนวทางการบริหารความเสี่ยงที่ชัดเจนเพียงพอ ก็สามารถปรับเพิ่มหรือยกเลิกเพดานการลงทุนที่กำหนดได้เป็นการทั่วไป เช่นเดียวกับเพดานการลงทุนในธุรกิจ FinTech

          อย่างไรก็ตาม หาก ธพ. สามารถยกระดับมาตรฐานของกิจการ DA ใดให้เป็นไปตามที่กำหนดได้ เช่น เรื่องธรรมาภิบาล การดูแลความเสี่ยงระบบงาน และการคุ้มครองผู้ใช้บริการ อนุญาตให้ไม่นับเงินลงทุนของกิจการนั้นในเพดานการลงทุน และยังไม่อนุญาตให้ ธพ. ประกอบธุรกิจ DA ได้โดยตรง รวมทั้งให้กลุ่ม ธพ. มีโครงสร้างกรรมการที่ไม่มีการขัดกันของผลประโยชน์ มีเงินกองทุนเพียงพอรองรับความเสี่ยงใหม่ๆ และ ธพ. มีระบบงานต่างๆ แยกออกจากธุรกิจที่มีความเสี่ยง

          นอกจากนี้  การแนะนำผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ โดยเฉพาะ DA ที่มีความเสี่ยงสูงจึงต้องทำอย่างระมัดระวัง พิจารณาถึงความรู้ทางการลงทุนและความสามารถในการรับความเสี่ยงของลูกค้าด้วย ทั้งนี้ ธปท. จะออกร่างหลักเกณฑ์เพื่อรับฟังความเห็นบน BOT website ก่อนที่จะออกประกาศหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องภายในครึ่งแรกของปี 2565

          ก.ล.ต.ห้ามใช้สินทรัพย์ดิจิทัลซื้อขายสินค้า

          สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดเผยว่า ตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และ สำนักงาน ก.ล.ต. ได้หารือร่วมกันถึงประโยชน์และความเสี่ยงของสินทรัพย์ดิจิทัล และเห็นความจำเป็นในการกำกับดูแลและควบคุมการนำสินทรัพย์ดิจิทัลมาใช้เป็นสื่อกลางชำระค่าสินค้าและบริการ เนื่องจากอาจส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพระบบการเงินและระบบเศรษฐกิจโดยรวมรวมถึงความเสี่ยงต่อประชาชนและธุรกิจ อาทิ ความเสี่ยงจากการสูญมูลค่าที่เกิดจากความผันผวนของราคา ความเสี่ยงจากการถูกโจรกรรมทางไซเบอร์ ความเสี่ยงข้อมูลส่วนบุคคลรั่วไหล หรือการถูกใช้เป็นเครื่องมือของการฟอกเงิน

          ทั้งนี้ คณะกรรมการ ก.ล.ต. ในการประชุมครั้งที่ 3/2565 เมื่อ วันที่ 3 มี.ค. 65 ได้มีมติเห็นชอบ หลักการกำกับดูแลผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลในการจำกัดการให้บริการนำสินทรัพย์ดิจิทัลมาใช้เป็นสื่อกลางชำระค่าสินค้าและบริการ ซึ่งปรับปรุงตามข้อเสนอแนะที่ได้ จากการรับฟังความคิดเห็นจากผู้ที่เกี่ยวข้อง ให้มีความเหมาะสมยิ่งขึ้น และออกประกาศเพื่อกำหนดหลักเกณฑ์การให้บริการของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล สรุปสาระสำคัญดังนี้

          1. ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลทุกประเภท ต้องไม่ให้บริการหรือกระทำการอันมีลักษณะที่เป็นการสนับสนุนหรือส่งเสริมการชำระค่าสินค้าและบริการด้วยสินทรัพย์ดิจิทัล เช่น การโฆษณา การชักชวนหรือแสดงตนว่าพร้อมให้บริการชำระค่าสินค้าหรือบริการแก่ร้านค้า หรือการจัดทำระบบหรือเครื่องมืออำนวยความสะดวกในการชำระค่าสินค้าและบริการ การเปิดกระเป๋าสินทรัพย์ดิจิทัลเพื่อวัตถุประสงค์ในการนำสินทรัพย์ดิจิทัลมาใช้เป็นสื่อกลางชำระค่าสินค้าและบริการ เป็นต้น

          2. กรณีที่ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลพบว่า ลูกค้าใช้บัญชีที่เปิดไว้เพื่อการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลไปใช้ประโยชน์ในการชำระค่าสินค้าและบริการ ผู้ประกอบธุรกิจต้องแจ้งเตือนเกี่ยวกับการใช้บัญชีผิดวัตถุประสงค์และไม่ตรงกับเงื่อนไขการให้บริการ และดำเนินการแก่ลูกค้าที่ไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขการให้บริการ ซึ่งรวมถึงระงับการให้บริการชั่วคราว ยกเลิกการให้บริการหรือดำเนินการอื่นใดในทำนองเดียวกัน

          ทั้งนี้ ประกาศดังกล่าวมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. 65 และสำหรับผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลให้บริการตาม (1) และ (2) อยู่ก่อนแล้ว ให้ผู้ประกอบธุรกิจปฏิบัติให้เป็นไปตามที่หลักเกณฑ์กำหนดภายใน 30 วันนับแต่วันที่ประกาศมีผลใช้บังคับ

          ธปท.แจงคริปโตฯ ยังไม่เหมาะใช้ซื้อขายสินค้า

          ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กถึงเหตุผลที่ Cryptocurrency ยังไม่เหมาะกับการนำมาใช้เป็นสื่อกลาง ในการชำระค่าสินค้าและบริการ เนื่องจากมีค่าธรรมเนียมการแปลงสินทรัพย์ดิจิทัลเป็นเงินและค่าธรรมเนียมการโอน, ใช้เวลาการโอน 0.4 วินาที-10 นาที, ใช้ได้ไม่ทั่วถึง ขึ้นกับการยอมรับของร้านค้า, การคงมูลค่ามีความผันผวนสูง, เสี่ยงต่อภัยไซเบอร์และการรั่วไหลของข้อมูลส่วนบุคคล

          ในขณะที่ระบบการชำระเงินของไทยในปัจจุบัน การชำระเงินผ่านพร้อมเพย์สำหรับประชาชน ไม่มีค่าธรรมเนียม, พร้อมเพย์ใช้เวลา การโอนน้อยกว่า 1 วินาที, ใช้ได้ ทั่วประเทศ โดย QR Code รองรับทุกธนาคาร และมีมากกว่า 7 ล้านจุดทั่วประเทศ, มูลค่าไม่ผันผวน และมีความปลอดภัยสูงภายใต้มาตรฐานการกำกับดูแล

          พร้อมกันนั้น ธปท.ได้โพสต์ คำกล่าวของนายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการ ธปท.ที่ระบุว่า สิ่งที่เป็นแก่นของธนาคารกลางและจะไม่เปลี่ยน คือ การมีภาครัฐเป็นผู้รักษามูลค่าของเงินและเสถียรภาพระบบการเงิน ซึ่งที่ผ่านมาระบบนี้ได้ ถูกพิสูจน์แล้วว่า มั่นคงและตอบโจทย์ มีประสิทธิภาพสูง เทียบกับ Cryptocurrency ที่แม้เป็นนวัตกรรม แต่จัดเป็นกระแส ที่ไม่ตอบโจทย์การเป็นสื่อกลางชำระค่าสินค้าและบริการ

Reference:

Click icon to remove from or add to favorite list
Click to choose and click "Compare" button