ธปท. ปฏิวัติธุรกิจการเงิน ขับเคลื่อนแบงก์สู่ ดิจิทัล-กรีนโลน-เสรีแข่งขัน

02 Feb 2022 390 0

           จับตาอนาคตไร้สาขา - จ่อเพิ่มค่าธรรมเนียม บีบลูกค้าเข้าสู่สังคมไร้เงินสด

          ธปท.เปิดประชาพิจารณ์ แผนปฏิวัติธุรกิจการเงิน รับเศรษฐกิจดิจิทัล ขับเคลื่อน  3 ทิศทางสำคัญ “ดิจิทัล สิ่งแวดล้อม และการแข่งขันเสรี” เอื้อแบงก์-นอนแบงก์ขยายขอบเขตการทำธุรกิจ ไฟเขียวแบงก์ลุยฟินเทค-เวอร์ชวลแบงก์ ไม่ต้องมีสาขารองรับ จ่อเก็บค่าธรรมเนียมธุรกรรมเงินสด-เช็ค บีบลูกค้าเข้าสู่โลกไร้เงินสดเร็วขึ้น

          จากกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลก ทั้งเรื่องดิจิทัลและความยั่งยืน โดยเฉพาะด้านสิ่งแวดล้อม เกิดขึ้นเร็วและรุนแรงขึ้น ส่งผลต่อทุกภาคส่วนรวมถึงภาคการเงินด้วย ซึ่งเป็นทั้งโอกาสในการพัฒนาบริการทางการเงิน และความเสี่ยงที่จะกระทบเสถียรภาพระบบการเงินรวมทั้งอาจซ้ำเติมปัญหาความเหลื่อมล้ำให้รุนแรงขึ้นได้ หากผู้ที่เกี่ยวข้องไม่สามารถปรับตัวรองรับกับการเปลี่ยนแปลงได้อย่างทันกาล

          นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ธปท.มีแผนจัดทำแนวนโยบายภูมิทัศน์ใหม่ภาคการเงินไทย เพื่อเศรษฐกิจดิจิทัลและการเติบโตอย่างยั่งยืน (consultation paper ) เพื่อสื่อสารหลักการทิศทางที่ธปท.ต้องการเห็นบนพื้นฐานของความสมดุลระหว่างการสนับสนุนนวัตกรรมกับการบริหารความเสี่ยงได้อย่างเหมาะสม รวมทั้งให้มีความยืดหยุ่นเพื่อให้สามารถปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมกับสถานการณ์ที่อาจเปลี่ยนแปลงเร็ว

          ทั้งนี้ ธปท.จะเปิดรับฟังความเห็นครั้งนี้ มี 3 ทิศทางสำคัญที่ธปท.ให้ความสำคัญ ด้านแรก กระแสของดิจิทัล การเติบโตของดิจิทัลในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา จำนวนบัญชีบนดิจิทัล ทั้งอินเทอร์เน็ตแบงกิ้ง และโมบายแบงกิ้ง ปัจจุบันเติบโตขึ้น 3 เท่า เป็น 121 ล้านบัญชี จาก 36 ล้านบัญชี

          ขณะที่ปริมาณการโอนเงินเติบโตขึ้น 18 เท่า และจาก 5 ปีที่ผ่านมา ที่เห็นแบงก์แข่งขันเปิดสาขาแบงก์ แต่ปัจจุบันสาขาแบงก์ปิดไปแล้ว 1.4 พันแห่ง เหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึงโลกใหม่ที่เติบโต ในขณะที่การทำธุรกรรมผ่านโลกเก่าหดตัวลง

          ด้านที่ 2 กระแสการเปลี่ยนแปลงด้านสิ่งแวดล้อม ที่กระทบต่อภาคการเงินไทย โดยปัจจุบันมีเงินไหลเข้าลงทุนในด้าน สิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ทำให้สินทรัพย์ภายใต้การบริหาร( AUM) เพิ่มขึ้น 10 เท่า ของ ESG-Funds ทั่วโลกที่เพิ่มขึ้นในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ขณะที่กว่า 50% ของ Global Aum ที่นักลงทุนเข้าไปลงทุน มุ่งไปสู่ Net Zero ภายในปี 2593

          ทั้งนี้มองว่า 60% ของการส่งออก จะถูกกระทบจากมาตรการกีดกันด้านสิ่งแวดล้อม อาทิ CBAM จากสหภาพยุโรปที่กระทบต่อภาคการลงทุนและภาคการเงินไทย

          ด้านที่ 3 คือ กระแสจากการเข้ามาแข่งขันของผู้เล่นหน้าใหม่ โดยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาสินเชื่อรายย่อยประมาณ 40% เติบโตมาจากผู้ประกอบการที่ไม่ใช่ธนาคารพาณิชย์(นอนแบงก์) เมื่อเทียบกับธนาคารดั้งเดิมเติบโต 24% และมี 500% เติบโตจากสินเชื่อทั่วโลกที่ปล่อยโดยฟินเทค และบิ๊กฟินเทคมีการเติบโตถึง 4,000%

          อีกทั้งเพื่อรักษาสมดุลระหว่างนวัตกรรมและความเสี่ยง โดยมีแนวทางการดูแลความเสี่ยงในระยะข้างหน้า เช่นอะไรที่เสี่ยงมาก อาจต้องมีการกำกับที่เข้มข้นขึ้น เสี่ยงน้อยอาจมีการผ่อนปรนการกำกับได้

          ขณะที่ อะไรที่มีความไม่แน่นอนไม่ชัดเจน ไม่ทราบผลกระทบวงกว้างแค่ไหน เหล่านี้ ธปท.จะมีการใส่ราวกั้น เพื่อประเมินความเสี่ยง ซึ่งอนาคตอาจยืดหยุ่นหรือถอดราวกั้นได้ หากพบว่ามีความเสี่ยงไม่มาก เช่น สินทรัพย์ดิจิทัลที่ยังต้องมีราวกั้นในขณะนี้

          ธปท.พร้อมปรับนโยบาย

          สำหรับธปท.ในช่วง 80 ปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจไทยและระบบการเงินไทย ธปท.เองเจอการเปลี่ยนแปลง ความท้าทายค่อนข้างมาก เจอวิกฤติมาหลายรอบ ทั้งเงินเฟ้อหลังสงครามโลก วิกฤติต้มยำกุ้ง  หรือโควิด-19  ทำให้ธปท.เองก็ต้องปรับตัว รับกับการเปลี่ยนแปลง ทั้งการกำกับนโยบาย ให้สอดคล้องกับกระแสโลกที่เปลี่ยนไปด้วย

          ทั้งนี้ภายใต้การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้มีอย่างหนึ่งที่ไม่เปลี่ยน คือ พันธกิจธปท.เพื่อดูแลด้านเสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจและการเงินไทย หน้าที่ไม่เปลี่ยนแต่การบรรลุหน้าที่ของธปท. พันธกิจต่างๆต้องสอดคล้องกับการปรับตัวรับกับการเปลี่ยนแปลงตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป

          ”โลกที่เปลี่ยนไปมากใน 5 ปีที่ผ่านมา หลายสิ่งไม่สามารถคาดการณ์ได้ในระยะข้างหน้า หรือกำหนด 1 2 3 ทำได้ยาก และไม่เหมาะกับบริบทที่เจอในปัจจุบัน ดังนั้นการกำหนดแผน 5 ปี แบบอดีตคงไม่ตอบโจทย์ในปัจจุบัน ธปท.จึงมีการออกภูมิทัศน์นี้ เพื่อพยายามสื่อและแชร์มุมมองของเรา และกระแสต่างๆ สิ่งที่ธปท.อยากเห็น ไม่อยากเห็นมีอะไรบ้าง หลักการคือ รักษาสมดุลระหว่างนวัตกรรมกับความเสี่ยง เหล่านี้เพื่อประโยชน์ของส่วนรวม ไม่ได้ส่วนใดส่วนหนึ่งหรือทำเพื่อกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง”

          เปิด 3 Open สู่การปรับภูมิทัศน์

          นางรุ่ง มัลลิกะมาส ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายสถาบันการเงิน ธปท.กล่าวว่า แนวทางการจัดทำแนวทางของภูมิทัศน์ทางการเงินครั้งนี้ จะเปิดรับฟังความคิดเห็นตั้งแต่วันที่ 1-28 ก.พ. 2565 และรวบรวมความคิดเห็นและกำหนด หลักเกณฑ์ออกมาหลังจากนี้

          สำหรับทิศทางในการปรับภูมิทัศน์ใหม่ภาคการเงิน มี 3 ด้านสำคัญ ด้านดิจิทัล ที่ต้องเปิดให้เกิดการพัฒนานวัตกรรม แต่ต้องบริหารความเสี่ยงได้ไม่ผูกขาด ซึ่งมี 3 สิ่งสำคัญ คือ

          1. Open competition การเปิดให้แข่งขัน เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ในสิ่งที่ดีขึ้น นำมาสู่การมีผู้เล่นหน้าใหม่ แต่ขณะเดียวกันต้องสนับสนุนให้ผู้เล่นรายเก่าปรับตัวได้ด้วย

          2. Open infrastructure เปิดให้เข้าถึงโครงสร้างพื้นฐาน 

          3.Open data เปิดให้มีการใช้ประโยชน์จากข้อมูลได้ โดยไม่ทำลายสิทธิส่วนบุคคล

          โดยการเปิดโอกาสให้ภาคการเงินสามารถนำเทคโนโลยีและข้อมูลเพื่อพัฒนานวัตกรรมและบริการทางการเงินที่ตอบโจทย์ผู้ให้บริการ ภายใต้หลักเกณฑ์ 3 ด้านข้างต้น เช่น เพิ่มความยืดหยุ่น ในการทำธุรกิจของสถาบันการเงิน และผู้ให้บริการทางการเงิน เปิดโอกาสให้ผู้ให้บริการกลุ่มใหม่ เข้ามาแข่งขันกับผู้ให้บริการที่มีอยู่ในปัจจุบัน ภายใต้การกำกับตามระดับความเสี่ยง และเท่าเทียมกับผู้เล่นรายอื่นๆ โดยไม่ให้เกิดการผูกขาด

          อนุญาตตั้งแบงก์ไม่มีสาขา

          ทั้งนี้สามารถจัดตั้งธนาคารพาณิชย์ที่ ดำเนินธุรกิจบนช่องทางดิจิทัล (Virtual bank) เพื่อให้ผู้ให้บริการแข่งขันกันพัฒนานวัตกรรมและบริการทางการเงินรูปแบบใหม่ที่ตอบโจทย์ผู้ใช้บริการ ซึ่งมีขอบเขตคือต้องจดทะเบียนจัดตั้งและมีสำนักงานใหญ่หรือบริษัทแม่ในไทย เพื่อให้ธปท.สามารถกำกับได้ ซึ่งสอดคล้องกับใบอนุญาต ในมาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์

          โดยหลังจากธปท.ปิดรับฟังความคิดเห็น ธปท.จะออกร่างหลักเกณฑ์การขออนุญาตจัดตั้ง Virtual bank ภายในครึ่งปีแรก 2565

          นอกจากนี้ ยังมีการยกเลิกเพดานการลงทุนในธุรกิจเทคโนโลยีทางการเงิน (ฟินเทค) ที่ไม่รวมสินทรัพย์ดิจิทัลของบริษัทในกลุ่มธุรกิจการเงินของธนาคารพาณิชย์ ที่กำหนดไว้ที่ไม่เกิน 3% ของเงินกองทุนของธนาคารพาณิชย์ เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถทำธุรกิจ และแข่งขัน และพัฒนาบริการได้มากขึ้น

          ทั้งนี้ยังเปิดช่องและขยายขอบเขตให้ นอนแบงก์ และแบงก์รัฐ สามารถประกอบธุรกิจอื่นๆได้มากขึ้น เช่น ที่เกี่ยวกับอีมันนี่ การทำธุรกรรมซื้อขายและแลกเปลี่ยนเงินตราระหว่างประเทศ รองรับการให้บริการลูกค้ารายย่อยและเอสเอ็มอีได้ดีขึ้น

          จ่อเก็บค่าธรรมเนียมเงินสด

          นอกจากนี้ ธปท.ยังมีการทบทวนโครงสร้างราคาบริการชำระเงิน โดยเฉพาะเงินสด และเช็ค เพื่อให้สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง ซี่งธปท.จะมีการหารือและสรุปโครงสร้างค่าธรรมเนียมกับผู้ที่เกี่ยวข้องให้แล้วเสร็จภายในปี 2565 และกำหนดแผนการปรับค่าธรรมเนียมโดยเฉพาะ การใช้เงินสดและเช็คต่อไป

          รวมถึงกำหนดนโยบายเพื่อลดการใช้เงินสด ด้วยอัตราเร่งเป็น 2 เท่าภายใน 3 ปี และลดการใช้เช็คกระดาษให้เหลือไม่ถึง 50% ของปริมาณการใช้ในปัจจุบัน ภายใน 5 ปี เพื่อเร่งให้ไทยเข้าสู่ Less cash society ซึ่งธปท.จำเป็นต้องขอความเห็นจากประชาชน ก่อนจะมีการพิจารณาด้านเก็บค่าธรรมเนียมต่างๆ ว่าทุกคนรับได้ ปรับตัวได้ การกำหนดโครงสร้างค่าธรรมเนียมก็จะตามมา ไม่ใช่การถูกบังคับ

          ในมิติด้านสิ่งแวดล้อม ธปท.อยากเห็น ภาคการเงินตระหนักถึงความเสี่ยงและโอกาสตรงนี้ โดยต่อไปธปท.จะมีการทำงานร่วมกับแบงก์ เพื่อประเมินความเสี่ยงต่อลูกหนี้ต่อประเทศและพอร์ตสินเชื่ออย่างไร โดยธปท.อยากเห็นการให้สินเชื่อไปสู่ด้านสิ่งแวดล้อมมากขึ้น แต่ไม่ใช่ทำแบบเอื่อยๆ คงไม่ดีกับประเทศ และกำแพงภาษีที่กำลังเกิดขึ้น ขณะเดียวกันก็ไม่ควรทำแบบฉับพลันจนกระทบทำให้คนเข้าถึงสินเชื่อไม่ได้

          สินทรัพย์ดิจิทัลยกระดับนวัตกรรม

          ในด้านสินทรัพย์ดิจิทัล ธปท.ไม่ต้องการเห็นการใช้สินทรัพย์ดิจิทัลเพื่อชำระค่าสินค้าแทนเงินบาท อย่างไรก็ตาม สำหรับบริการและระบบเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัลบางประเภทที่เป็นประโยชน์ในการเพิ่มประสิทธิภาพการชำระเงินและต่อยอดนวัตกรรมทางการเงิน ธปท.จะพิจารณาแนวทางการกำกับที่เหมาะสม เพื่อคุ้มครองผู้ใช้บริการและป้องกันความเสี่ยงต่อเสถียรภาพทางการเงินและระบบชำระเงิน

          สำหรับตัวอย่างของบริการ ที่เกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัลที่จะพิจารณากำกับดูแล อาทิ การออกใช้สินทรัพย์ดิจิทัลที่หนุนหลังด้วยเงินบาท โดยจะพิจารณากำกับดูแลในด้านขอบเขตการประกอบธุรกิจ การสร้างความเชื่อมั่นในสินทรัพย์ดิจทัลที่ออกมา และรักษาความมั่นคงปลอดภัยตามระดับความเสี่ยงของลักษณะบริการ

          ทั้งนี้ การประยุกต์ใช้สินทรัพย์ดิจิทัลสำหรับสถาบันการเงินหรือกลุ่มธุรกิจ ที่ต้องการนำเทคโนโลยีการประมวลผลแบบกระจายศูนย์  เช่น บล็อกเชนเพื่อมาเพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการทางการเงิน ซึ่งหากบริษัทในกลุ่มธนาคารพาณิชย์ ต้องการประกอบธุรกิจที่เกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัล สามารถนำมาหารือ ธปท.ได้เป็นรายกรณี โดยธปท.จะพิจารณาบนพื้นฐานของประโยชน์ และแนวทางการดำเนินงาน การบริหารความเสี่ยงต่อธุรกิจ และสถาบันการเงินที่เหมาะสมต่อไป แต่ต้องไม่เป็น การสนับสนุนในการนำมาชำระค่าสินค้าและบริการ

          ”สิ่งที่ธปท.อยากเห็น คือ ให้สถาบันการเงิน ผู้ให้บริการปรับตัวได้ แม้เดินช้าหรือเซ แต่ลุกขึ้นเร็ว ดีกว่าเข้มแข็งมาก แต่เวลาล้มแล้วลุกไม่ขึ้น ธปท.เองฐานะผู้กำกับต้องยืดหยุ่น เหมือนเวลาเรามีลูก เราต้องกระเตง ต้องมีสายจูง ตามระยะใกล้ไกลตามความเสี่ยง เพื่อรับแรงกระแทกและไปต่อได้”

Reference:

Click icon to remove from or add to favorite list
Click to choose and click "Compare" button