ธปท.เล็งออกมาตรการดูแลค่าเงิน กนง.คงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย0.50%

19 Nov 2020 932 0

          ธปท.เล็งออกมาตรการและทบทวนเครื่องมือดูแล ค่าบาทและเงินทุนเคลื่อนย้าย หลังพบ ค่าบาทแข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง เงินจากต่างประเทศไหลเข้ามาลงทุนในตลาดตราสารทุนและตราสารหนี้จำนวนมาก ขณะ กนง.มีมติเอกฉันท์คงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.50% ต่อปี

          นายทิตนันทิ์ มัลลิกะมาส เลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) แถลงผลการประชุม กนง. วันที่ 18 พฤศจิกายน 2563 ว่า คณะกรรมการฯ กังวลต่อสถานการณ์เงินบาทที่แข็งค่าขึ้นเร็ว ซึ่งกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่เปราะบาง จึงเห็นควรให้ติดตามตลาดอัตราแลกเปลี่ยนและเงินทุนเคลื่อนย้ายอย่างใกล้ชิด รวมทั้งพิจารณาความจำเป็นของการดำเนินมาตรการที่เหมาะสมเพิ่มเติม โดยการดูแลค่าเงินบาทและเงินทุนเคลื่อนย้าย จะเป็นการดูแลภาพรวมทั้งหมด มีทั้งระยะสั้นและระยะยาว

          “ที่ผ่านมา ธปท.ได้เข้าไปดูแลค่าเงินบาทอย่างต่อเนื่อง เพื่อไม่ให้แข็งค่าเร็วเกินไป โดยสังเกตได้จากเงินทุนสำรองระหว่างประเทศเพิ่มขึ้น จากการเฝ้าติดตาม พบว่าสภาพคล่องในตลาดโลกมีเหลือมาก เมื่อภาวะโควิด-19 และเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว ดีขึ้น จะมีเงินทุนไหลเข้ามาลงทุนในตลาดตราสารทุนและตราสารหนี้ในไทยอย่างต่อเนื่อง หากพบความผิดปกติ ธปท. พร้อมที่จะเข้าไปดูแล โดยเครื่องมือการดูแลอัตรา แลกเปลี่ยนยังมีเพียงพอ แต่ต้องใช้ให้ตรงจุดและรวดเร็ว” ผู้ช่วยผู้ว่าการฯกล่าว

          พร้อมกันนี้ บอร์ดมีมติเป็นเอกฉันท์ ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.50% ต่อปี เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และให้เน้นมาตรการช่วยเหลือที่ตรงจุดมากขึ้น ประเมินว่าแม้เศรษฐกิจไทยปรับดีขึ้น แต่มีแนวโน้มฟื้นตัวช้าและยังต้องการแรงสนับสนุนจากอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่อยู่ในระดับต่ำอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี การฟื้นตัวของเศรษฐกิจยังเปราะบางและมีความไม่แน่นอนสูง จึงเห็นควรให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้

          ทั้งนี้  เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 3 ปี 2563 ปรับตัวดีขึ้นกว่าที่คาด อย่างไรก็ดี ยังมีแนวโน้มฟื้นตัวช้าและแตกต่างกันมากระหว่างภาคเศรษฐกิจต่างๆ คาดว่าจะใช้เวลาสองปีก่อนที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจ โดยรวมจะกลับสู่ระดับก่อนการระบาด ส่งผลให้ตลาดแรงงานยังคงเปราะบาง โดยเฉพาะรายได้ของแรงงานที่ยังอยู่ในระดับต่ำ ซึ่งจะกดดันการบริโภคภาคเอกชนโดยเฉพาะกลุ่มผู้มีรายได้น้อยเมื่อปัจจัยสนับ สนุนชั่วคราวเริ่มหมดลง ขณะที่การใช้จ่ายภาครัฐมีแนวโน้มต่ำกว่าที่ประเมินไว้ ด้านระบบการเงินมีเสถียรภาพ แม้ว่าจะมีความเปราะบางขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจและความเสี่ยงต่อฐานะทางการเงินของภาคธุรกิจและครัวเรือน สำหรับอัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มติดลบน้อยลงจากราคาพลังงานที่เพิ่มขึ้น และจะอยู่ใกล้เคียงกับขอบล่างของกรอบเป้าหมายในปี 64

Reference:

Click icon to remove from or add to favorite list
Click to choose and click "Compare" button