ทุ่ม 1.4 แสน ล. กระตุ้นเศรษฐกิจ

01 Jun 2021 624 0

          สุพัฒนพงษ์ เผยคลังชงแพ็กเกจกระตุ้น-พยุงเศรษฐกิจครึ่งปีหลัง วงเงิน 1.4 แสนล้านบาท ให้ ครม.พิจารณา หวังดันจีดีพีปีนี้โต 1.5-2.5% แต่ ผู้ว่าการ ธปท.ยันโควิด-19 ระลอก 3 ทำเศรษฐกิจไทยสะบักสะบอม โอกาสฟื้นตัวสู่ระดับก่อนโควิดลากยาวไปไตรมาสแรกปี 66 จากเดิมคาดไตรมาส 2-3 ปี 65

          นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พลังงาน เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 1 มิ.ย.64 กระทรวงการคลังได้เสนอมาตรการดูแลประชาชนจากผลกระทบของโควิด-19 ระยะที่ 2 ซึ่งชุดมาตระการจะเริ่มใช้ในเดือน ก.ค.-ธ.ค.64 กรอบวงเงิน 140,000 ล้านบาท มั่นใจว่าเม็ดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งจากรัฐบาล และประชาชนจะช่วยให้เศรษฐกิจในปี 64 ขยายตัวในกรอบ 1.5-2.5% ตามที่สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) คาดการณ์ไว้ ส่วนจะขยายตัวได้ถึง 2.5% หรือไม่ยังประเมินยาก แม้รัฐบาลจะประเมินว่าการระบาดระลอก 3 จะควบคุมได้ในเดือน ก.ค.นี้ แต่ต้องระวังจะมีระลอก 4 หรือไม่

          สำหรับมาตรการที่เสนอ มี 4 โครงการ ได้แก่

          1.มาตรการคนละครึ่งระยะที่ 3 วงเงิน 93,000 ล้านบาท ครอบคลุม 31 ล้านคน วงเงิน 3,000 บาทต่อคน โดยผู้ประกอบการขนาดเล็กถึงกลางจะได้ประโยชน์จากการใช้จ่ายของประชาชน    

          2.โครงการยิ่งใช้ยิ่งได้ คาดจะมีผู้เข้าร่วม 4 ล้านคน โดยรัฐสนับสนุนบัตรกำนัลอิเล็กทรอนิกส์ (e-Voucher) ให้แก่ผู้ที่ได้รับสิทธิโครงการสูงสุดไม่เกิน 7,000 บาทต่อคน โดยจะได้ e-Voucher ช่วงเดือน ก.ค.-ก.ย.64 เพื่อใช้จ่ายในเดือน ส.ค.-ธ.ค.64 คาดจะมีการใช้จ่ายคนละ 60,000 บาท ช่วยให้มีเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ 240,000 ล้านบาท ส่วนภาครัฐจะใช้เงินในโครงการนี้ 28,000 บาท

          3.โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ระยะที่ 3 โดยช่วยเหลือเพิ่มเติมเดือนละ 200 บาท ระยะเวลา 6 เดือน ตั้งแต่เดือน ก.ค.-ธ.ค.64 ครอบคลุมประชาชน 13.6 ล้าน วงเงิน 16,400 ล้านบาท      

          และ 4.โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษ รวมทั้งกลุ่มผู้พิการและผู้สูงอายุ 2.5 ล้านคน เดือนละ 200 บาท ระยะเวลา6เดือนใช้งบประมาณ 3,000 ล้านบาท “เศรษฐกิจมีหลายส่วนที่มีสัญะญาณที่ดีขึ้น โดยเฉพาะภาคการส่งออกที่ฟื้นตัวชัดเจนในเดือน เม.ย.มูลค่าส่งออกที่ไม่รวมทองคำขยายตัวได้ถึง 25% ซึ่งการส่งออกถือว่าเป็นกุญแจสำคัญอีกอย่างหนึ่งของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในปีนี้”

          ส่วนการลงทุนภาครัฐและเอกชน ต้องขับเคลื่อนให้ลงทุนมากที่สุด โดยลงทุนภาครัฐไม่น้อยกว่า 70% งบลงทุนเหลื่อมปีไม่น้อยกว่า 85% งบลงทุนรัฐวิสาหกิจไม่น้อยกว่า 70% ส่วนแผนงานและโครงการตามพระราชกำหนดฯ เงินกู้วงเงิน 1 ล้านล้านบาท ต้องให้เบิกจ่ายสะสมณสิ้นปีงบ 64 ไม่น้อยกว่า 80% ของวงเงินกู้สำหรับลงทุนภาคเอกชน ไตรมาส 1 ปีนี้คำขอส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เพิ่มขึ้นถึง 80% ในแง่ของมูลค่าเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่รัฐบาลจะผลักดันเอกชนให้เร่งรัดโดยเร็ว และชักจูงการลงทุนของอุตสาหกรรมที่สำคัญต่อการเติบโตในอนาคต เช่น อุตสาหกรรมทางการแพทย์รถยนต์ไฟฟ้า เป็นต้น

          ด้านนายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอก 3 รวมถึงการจัดหาและการกระจายวัคซีนที่ยังไม่แน่นอน ส่งผลให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยล่าช้าออกไปจากที่ธปท.ประมาณการไว้ก่อนหน้า โดยคาดว่าอาจต้องรอถึงไตรมาสแรกปี 66 เพื่อที่จะกลับมาอยู่ในระดับเดียวกับก่อนโควิด-19 ระบาด จากเดิมคาดจะกลับมาไตรมาส 2 หรือ 3 ปี 65

          ส่วนนางสาวชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธปท.กล่าวว่าเดือน มิ.ย.64 ธปท. เตรียมปรับประมาณการการเติบโตของเศรษฐกิจไทยปีนี้ใหม่ เพราะล่าสุดตัวเลขเศรษฐกิจเดือน เม.ย.64 หากเทียบกับเดือน มี.ค.64 ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ระลอก 3 อย่างชัดเจน คาดว่าจะทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจเดือน พ.ค. ชะลอลงต่อเนื่อง และกระทบการใช้จ่าย การลงทุนและการผลิตรวมถึงด้านแรงงานทำให้ ธปท.ต้องจับตาดูอย่างต่อเนื่อง แม้การส่งออกดีขึ้นต่อเนื่อง และมาตรการเยียวยาของรัฐบาล ช่วยพยุงเศรษฐกิจได้บ้าง

          ขณะที่นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ในฐานะประธานสมาคมธนาคารไทย กล่าวว่า ปีนี้เศรษฐกิจไทยมีโอกาสเติบโตเพียง 1.5% โดยหัวใจของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจขึ้นอยู่กับความรวดเร็วของการฉีดวัคซีนโควิด-19 หากรัฐบาลฉีดให้กับประชาชนได้ในเดือน ส.ค. หรือเดือน ก.ย.64 และในช่วงไตรมาส 4 กระทรวงการคลังใช้มาตรการยิ่งใช้ยิ่งดี ที่เน้นกระตุ้นให้เกิดการใช้จ่ายของนิติบุคคลหรือโครงการคนละครึ่ง ที่ออกมากระตุ้นการใช้จ่ายประชาชนเพิ่มเติม ก็จะช่วยให้เศรษฐกิจปีนี้ขยายตัวเพิ่มขึ้นได้.

Reference:

Click icon to remove from or add to favorite list
Click to choose and click "Compare" button