ทุนยักษ์เร่งพลิก สีลม-พระราม4 ดัน กรุงเทพฯ โกลบอลแลนด์มาร์ค
สรัญญา จันทร์สว่าง
พรไพลิน จุลพันธ์
กรุงเทพธุรกิจ
ย่านการค้าบนถนนพระราม 4 สีลม ต่อเนื่อง ไปถึงสามย่าน ก้าวสู่ทำเลยุทธศาสตร์ที่กำลัง ถูกพลิกโฉมครั้งใหญ่ในรอบทศวรรษ! บรรดาทุนยักษ์ค้าปลีก อสังหาริมทรัพย์ ยึดทำเลงาม! ปักหมุดพัฒนาโครงการระดับหมื่นล้านแสนล้าน โดยมีโปรเจคไฮไลท์ “วันแบงค็อก” ของเจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี สร้างอาณาจักรมิกซ์ยูส 1.2 แสนล้านบาท บนที่ดิน 104 ไร่ (โรงเรียนเตรียมทหารเดิม) อยู่ระหว่างก่อสร้างตามแผน จะเปิดบริการเฟสแรกปี 2566 แล้วเสร็จ ทั้งโครงการในปี 2569 มุ่งเป็นแลนด์มาร์ค ครบวงจรระดับโลกแห่งใหม่ที่เปี่ยมศักยภาพดึงดูดบริษัทชั้นนำ นักท่องเที่ยว และคนไทย ด้วยอาคารสำนักงานเกรดเอ พื้นที่รีเทล โรงแรมระดับลักชัวรี ที่พักอาศัย และพื้นที่ศูนย์กลางสำหรับกิจกรรมทางศิลปะและวัฒนธรรม
นักวิเคราะห์ในธุรกิจค้าปลีก กล่าวว่า อนาคตย่านการค้าพระราม 4 จะก้าวสู่หนึ่งใน แลนด์มาร์คสำคัญของกรุงเทพฯ และประเทศไทย ไม่ต่างจากถนนเศรษฐกิจ “สุขุมวิท” เป็นที่เสมือน เส้นเลือดใหญ่มายาวนาน ต่อจิ๊กซอว์และส่งเสริม ซึ่งกันและกันฉายภาพความเป็น “โกลบอลแลนด์มาร์ค” สู่สายตาชาวโลก ทั้งนักลงทุน นักท่องเที่ยว
“แม้วิกฤติโควิด-19 จะส่งผลกระทบต่อการลงทุนและการดำเนินธุรกิจ แต่มิกซ์ยูสเหล่านี้อยู่ระหว่างก่อสร้าง ตามแผนพัฒนา จะแล้วเสร็จปี 2566 นับเป็นจังหวะดีที่กำลังซื้อ และเศรษฐกิจจะพลิกฟื้นขึ้นมาจากวิกฤติ มีการเดินทางระหว่างประเทศได้น่าจะอยู่ในระดับปกติทีเดียว ส่งผลดีและสร้างความได้เปรียบต่อการเปิดตัวโครงการใหม่ที่จะดึงดูดลูกค้าได้ทั้งชาวไทยและต่างชาติ รวมทั้ง นักลงทุนที่มองเห็นโอกาสในประเทศไทย”
อย่างไรก็ดี ในย่านธุรกิจการค้า “สีลม” ซึ่งปักหมุดเป็นถนนสายเศรษฐกิจใจกลางกรุงเทพฯ มายาวนาน เปรียบเสมือน “วอลล์สตรีท” ของประเทศไทย เป็นที่ตั้งของบริษัททางการเงิน ชั้นนำในประเทศ ขณะนี้ยังเป็นจุดเชื่อมโยง การคมนาคมทุกระนาบ ทั้งรถไฟฟ้าบนดิน ใต้ดิน ปัจจุบันย่านสีลมมีอาคารสำนักงานรวมกว่า 43 แห่ง มีคอนโดมิเนียมทุกระดับ โรงเรียน 23 แห่ง โรงพยาบาล 3 แห่ง โครงการค้าปลีก 3 แห่ง และธุรกิจ “ไนท์ไลฟ์” ที่สร้างสีสันโด่งดัง ทั่วโลก ก่อให้เกิด “กำลังซื้อมหาศาล” ด้วยทราฟฟิกวันธรรมดากว่า 7 แสนคน ส่วนวันหยุดสุดสัปดาห์กว่า 5 แสนคน จากฐานผู้พักอาศัย 2.2 แสนคน และคนทำงานกว่า 3.5 แสนคน
ถนนสีลมจัดได้ว่าไม่มีแลนด์แบงก์ใหม่ หรือ มากพอสำหรับการพัฒนาโครงการใหม่ ๆ หากต้องการลงหลักปักฐานสร้างชื่อบนทำเนียบถนนสายเศรษฐกิจแห่งนี้ต้องมองหาพันธมิตร! โดยกลุ่มเซ็นทรัล ผนึกกลุ่มดุสิตธานี ร่วมกันพัฒนาโครงการ “ดุสิต เซ็นทรัล พาร์ค” มูลค่ากว่า 46,000 ล้านบาท บนที่ดิน 23 ไร่ บริเวณ หัวมุมถนนสีลมและพระราม 4 ตรงข้ามสวนลุมพินี หรือที่ตั้งโรงแรมดุสิตธานีเดิมนั่นเอง
“ดุสิต เซ็นทรัล พาร์ค” ภายใต้การร่วมลงทุนพัฒนาของบริษัท ดุสิตธานี จำกัด (มหาชน) หรือ DTC กับบริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) หรือ CPN มุ่งสู่เป้าหมายการเป็น แลนด์มาร์คแห่งใหม่ของกรุงเทพฯ!!
ขณะนี้อยู่ในระหว่างก่อสร้างงานใต้ดิน กำหนดเปิดบริการเฟสแรกปลายปี 2566 เริ่มจากโรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพฯ ต่อด้วยศูนย์การค้าเซ็นทรัลพาร์ค และอาคารสำนักงานเซ็นทรัล พาร์ค ออฟฟิศเซสในปี 2567 และอาคารที่พักอาศัย ดุสิต เรสซิเดนเซส และ ดุสิต พาร์คไซด์ กลางปี 2568
ล่าสุด บริษัท เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ FPT ธุรกิจในกลุ่ม “ทีซีซี กรุ๊ป” กิจการอสังหาฯของตระกูล “สิริวัฒนภักดี” เข้าลงทุนอาคารห้างสรรพสินค้าโรบินสันเดิม บริเวณหัวมุมถนนสีลมตัดถนนพระราม 4 บนที่ดินให้เช่าจาก “สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์” ขนาด 2 ไร่ 2 งาน 71 ตร.ว. สัญญาเช่า 30 ปี โดยพัฒนามิกซ์ยูส ”สีลมเอจ” (Silom Edge) มูลค่าลงทุน 1,800 ล้านบาท ร่วมปลุกความคึกคักและ พลิกโฉมย่านสีลมให้ล้ำสมัย!
ธนพล ศิริธนชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (Country CEO) บริษัท เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ FPT กล่าวว่า “สีลมเอจ”เป็นการแปลงโฉมอาคารเก่า ดังกล่าวซึ่งเคยเป็นอาคารสำนักงานแห่งแรกของถนนสีลม ในคอนเซปต์ใหม่ “The New Sandbox Community in CBD” พื้นที่โครงการรวม 50,000 ตร.ม. เป็นพื้นที่ให้เช่า 22,000 ตร.ม. เป็นส่วนของอาคารสำนักงาน พันธุ์ใหม่ 12 ชั้นบนสุดด้วยขนาดพื้นที่ 12,000 ตร.ม. มีพื้นที่ค้าปลีก 7 ชั้น รวม 10,000 ตร.ม. ปัจจุบัน สีลมเอจ พัฒนาไปแล้วกว่า 65% พร้อมเปิดให้บริการเดือน ก.ย.2565
“แม้สีลมเอจจะไม่ใช่โครงการขนาดใหญ่ แต่ก็เป็นโครงการขนาดเล็กที่ดีที่สุดบนทำเลที่มีศักยภาพซึ่งกำลังจะมีการพัฒนามิกซ์ยูสขนาดใหญ่ของรายอื่น ยืนยันถึงกำลังซื้อมหาศาล ของย่านสีลม สีลมเอจมีความแตกต่างด้านคอนเซปต์ เป็นพื้นที่แซนด์บ็อกซ์บนทำเลสุดยอดใจกลางเมือง เจาะกลุ่มเป้าหมายหลัก ผู้ประกอบการธุรกิจสตาร์ทอัพและแพลตฟอร์มออนไลน์ที่เติบโตก้าวกระโดดในช่วงที่ผ่านมา” พร้อมให้เหล่า “รุกกี้” (Rookie) ผู้ประกอบการหน้าใหม่ที่มีศักยภาพ แต่ยังขาดประสบการณ์ และต้องการสนามแข่งได้เข้ามา ทดลองเพื่อก้าวสู่การเป็นผู้นำตลาด โครงการ สีลมเอจจึงเปรียบเสมือนเป็น “Rookie Paradise” ของผู้ประกอบการตัวเล็กได้ลองสนาม ในโมเดล “O2O2O” (Online to Offline to Online) เพราะการขายของบนช่องทางออนไลน์อย่างเดียวอาจไม่เพียงพอ จำเป็นต้องมีหน้าร้านรองรับลูกค้าที่ต้องการเห็นและสัมผัสสินค้า เพื่อต่อยอดการขายออนไลน์ต่อไป
ตัวโครงการยังตอบดีมานด์ New Gen ในยุคดิจิทัล สอดรับเทรนด์โลกที่ทุกวันนี้ ไม่มีเส้นแบ่งระหว่างการทำงานกับการใช้ชีวิต! มีการผสานสองเรื่องเข้าด้วยกัน (Work-Life Blend) รวมถึงเทรนด์ “สังคมไร้เงินสด” การใช้ “สกุลเงินดิจิทัล”(คริปโตเคอร์เรนซี) ที่ สีลมเอจจะมีแพลตฟอร์มรองรับเรื่องเหล่านี้ ในอนาคต
Reference: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ