ถอดรหัส สโคป สู่ศิลปินอสังหาไทย! ยึดไลฟ์สไตล์แบรนด์เจาะอินเตอร์ฯพรีเมียม
พรไพลิน จุลพันธ์
กรุงเทพธุรกิจ
เสน่ห์ของการทำธุรกิจ “อสังหาริมทรัพย์” คือการพัฒนาให้สวยงามดุจ “ดาวค้างฟ้า” ประดับเมืองไทย! ทั้งยังเป็นธุรกิจที่ค่อนข้างปลอดภัยและมีความเสี่ยงต่ำหากทำตามสูตร แต่พลิกแพลงในเชิงคอนเซปต์เพื่อจับตลาดอย่างถูกต้อง นี่คือแนวคิดการทำธุรกิจของ ”ยงยุทธ ชัยพรหมประสิทธิ์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สโคป จำกัด ผู้คร่ำหวอดในวงการ อสังหาฯมายาวนาน กระทั่งตัดสินใจเปิดตัว “สโคป” (SCOPE) เมื่อปี 2562 ประลองยุทธ์ ด้วยเพลงกระบี่มุ่งฉีกแบบแผนการพัฒนา ที่อยู่อาศัยในรูปแบบเดิม! พร้อมมุ่งสู่ “ไลฟ์สไตล์ แบรนด์” มัดใจลูกค้า “อินเตอร์เนชั่นแนล พรีเมียม” กลุ่มเป้าหมายหลักแล้วสูตรการพัฒนาอสังหาฯ สไตล์ยงยุทธ ให้ฉีกจากรูปแบบเดิมๆ เป็นอย่างไร? เขาเฉลยว่า บริษัทนี้ตั้งมาจากกำหนดกลุ่มลูกค้า เป้าหมายที่เรา “สโคป” หรือตีขอบเขตไว้ชัดเจน เรามั่วเรื่องนี้ไม่ได้! พอเรามองเห็นลูกค้ากลุ่ม “อินเตอร์เนชันแนล พรีเมียม” ซึ่งให้นิยามว่า เป็น “กลุ่มคนรุ่นใหม่ที่เห็นโลกมามาก”มีความชอบและรสนิยมที่ไม่ได้จำกัดเฉพาะกระแสหลักในประเทศ มองหาที่อยู่อาศัย ที่ได้มาตรฐานระดับอินเตอร์ฯ
ด้วยการนำเสนอเรื่องคุณภาพและ ความแตกต่างให้กับตลาด กล้าทำ กล้าคิดใหม่ กล้านำเสนอ “สิ่งที่แตกต่าง” ในวงการอสังหาฯ ด้วยการระดมความร่วมมือกับ “พันธมิตรมือทอง” ด้านการออกแบบและสร้างแบรนด์จากทั่วทุกมุมโลก เช่น นิวยอร์ก แคลิฟอร์เนีย ลอนดอน โรม อาร์เจนตินา และบราซิล
บนพื้นฐาน 3 ปัจจัยในการพัฒนาอสังหาฯ ที่ต้องลงดีเทลอย่างหนัก ไล่เลียงตั้งแต่ “โลเกชัน ยอดเยี่ยม” ตามด้วย “ดีไซน์ยอดเยี่ยม”จีบดีไซเนอร์ให้ตอบโจทย์การออกแบบของแต่ละโครงการ และ “การให้บริการที่ตอบไลฟ์สไตล์ ของลูกค้า” ถือเป็นจุดละเอียดอ่อนที่สุด บริการ หลังการขายจึงเป็นจุดที่เราให้ความสำคัญอย่างยิ่ง มุ่งยกระดับเป็น Serviced Condominium
”สโคปเสมือนบริษัทพัฒนาอสังหาฯ ที่ตั้งขึ้นมาใหม่ก็จริง แต่ผมกับทีมงานอยากทำให้ทุกโครงการเป็นเหมือนงานศิลปะ เพราะเมื่อเป็นงานศิลปะ จะได้รับการสะสมและดูแลเป็นอย่างดี ส่งผลให้มีมูลค่าเพิ่มตามมา เป้าหมายที่ผมวาดไว้ คืออยากเป็นศิลปินในวงการอสังหาฯ”
แนวคิดเหล่านี้สะท้อนชัดผ่าน 2 โครงการแรก ”สโคป หลังสวน” มูลค่าโครงการ 9,000 ล้านบาท เปิดตัวเมื่อปี 2562 จะแล้วเสร็จในไตรมาส 3 ปี 2565 ปัจจุบันมียอดขายแล้ว 41% ซึ่งถือเป็นยอดขายที่ทำได้ดีทีเดียวในสถานการณ์โควิด-19 ส่วนใหญ่เป็นลูกค้าคนไทย มีลูกค้าชาวต่างชาติประมาณ 10% เป็นเอ็กซ์แพท งานนี้ ยงยุทธ สวมหมวกเป็นพนักงานขายเอง “หมัดฮุค” ที่ใช้ในการสร้างความมั่นใจแก่ลูกค้าในการตัดสินใจซื้อคอนโดฯ ระดับอัลตร้าลักชัวรี ราคายูนิตละ 40-240 ล้านบาทนั้น คือคอนโดฯ นี้ตั้งอยู่บนที่ดิน ฟรีโฮลด์ใน “ย่านเพลินจิต” ที่ได้ชื่อว่าราคาที่ดิน แพงที่สุดในไทย!! เป็นการลงทุนที่คุ้มค่ามาก ที่เหลือลูกค้าเขาไปทำการบ้านเพิ่มเองอยู่แล้ว
ส่วนโครงการที่ 2 “สโคป พร้อมศรี”คอนโด 8 ชั้น ตั้งอยู่ในซอยพร้อมศรี โลเกชัน”ฮิปที่สุด” ในไทย! เชื่อมระหว่างย่านพร้อมพงษ์ (สุขุมวิท 39) กับย่านทองหล่อ (สุขุมวิท 55) มูลค่า โครงการ 1,097 ล้านบาท เปิดตัวเมื่อปี 2564 จะแล้วเสร็จในไตรมาส 3 ปีนี้เช่นกัน ปัจจุบันมียอดขายแล้ว 50% จากคนไทยล้วนๆ เจาะกลุ่มคนรุ่นใหม่อายุน้อยที่ต้องการไลฟ์สไตล์สดใหม่ เหมือนได้ออกไปผจญภัย
”ปี 2565 บริษัทฯตั้งเป้ายอดรับรู้รายได้ จากการโอนทั้งหมดกว่า 5,000 ล้านบาท จากโครงการ สโคป หลังสวน 4,319 ล้านบาท และสโคป พร้อมศรี 681 ล้านบาทจากข้อมูลพบว่าลูกค้าของสโคปในรอบปีที่ผ่านมา มีลูกค้า อายุต่ำกว่า 30 ปี สัดส่วน 23% และอายุ 31-35 ปี สัดส่วน 32% ยิ่งไปกว่านี้เป็นลูกค้ากลุ่มที่ซื้อ คอนโดเป็นครั้งแรกถึง 55% เป็นเรียลดีมานด์ ที่ซื้อเพื่ออยู่อาศัยจริงๆ ไม่ใช่เพื่อเก็งกำไร สะท้อนถึงการพัฒนาโครงการที่แตกต่างและกระชากใจลูกค้า”
บริษัทฯ เตรียมเปิดตัวอีก 2 โครงการใหม่ ได้แก่ “สโคป เดอะ เพนต์เฮาส์” บนถนนสุขุมวิทติดสถานีรถไฟฟ้าทองหล่อ มูลค่าโครงการ 2,720 ล้านบาท เตรียมเปิดตัวใน ปี 2565 จะแล้วเสร็จในปี 2567 โดยเป็นโครงการที่มีมูลค่าเฉลี่ยต่อยูนิตกว่า 140 ล้านบาท และมีเพียง 20 ยูนิตเท่านั้น ได้รับการออกแบบภายในรวมถึงให้คำปรึกษาการออกแบบทั้งหมดโดย โทมัส ยูล-ฮันเซน ดีไซเนอร์ ผู้ออกแบบอาคารระดับโลก
”สโคปตั้งเป้ายอดพรีเซลของปี 2565 จากทั้ง 3 โครงการข้างต้นที่ 3,035 ล้านบาท จาก สโคป หลังสวน 2,102 ล้านบาท สโคป พร้อมศรี 424 ล้านบาท และ สโคป เดอะ เพนต์เฮาส์ 509 ล้านบาท”
ส่วนโครงการที่ 4 “สโคป สุขุมวิท 23”มูลค่าโครงการ 2,650 ล้านบาท เปิดตัวในปี 2567 แล้วเสร็จปี 2568 เมื่อรวมมูลค่าทั้ง 4 โครงการของบริษัทฯ อยู่ที่กว่า 15,000 ล้านบาท!
”สโคป” ปักหมุด Lifestyle Company เต็มตัว! เป็น Lifestyle Brand ที่มากกว่าบริษัทอสังหาริมทรัพย์
Reference: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ