ตลาดอสังหาฯ ปีนี้ยังบูม อานิงส์จีนเปิดปท. คอนโดฯต่ำกว่า 3 ล.ฮอต
แบงก์กสิกรไทย (KBANK) ชี้ ตลาดที่อยู่อาศัยปีนี้ยังบูมรับปัจจัยบวกมากขึ้น จากกิจกรรมเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนเป็นปกติ หนุนรายได้ครัวเรือนให้ฟื้นตัว และการเปิดประเทศของจีน โดยกลุ่มที่มีการฟื้นตัวน่าเป็นประเภทคอนโดมิเนียมที่เชื่อมต่อรถไฟฟ้ากรุงเทพฯ รอบนอก ราคาต่ำกว่า 3 ล้านบาท
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KBANK ระบุว่า ปี 2566 ตลาดที่อยู่อาศัยได้รับปัจจัยบวกมากขึ้น จากกิจกรรมเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนเป็นปกติ หนุนรายได้ครัวเรือนให้ฟื้นตัว และการเปิดประเทศของจีนที่นอกจากจะช่วยหนุนภาคการท่องเที่ยวแล้ว ยังเป็นข่าวดีต่อตลาดที่อยู่อาศัย ทำให้ผู้ประกอบการมีความเชื่อมั่นกลับมาลงทุนมากขึ้น รวมถึงยังได้รับผลบวกจากมาตรการลดค่าธรรมเนียมการโอนกรรมสิทธิ์และการจดจำนองที่อยู่อาศัยไม่เกิน 3 ล้านบาท ช่วยแบ่งเบาภาระรายจ่ายในการซื้อที่อยู่อาศัยของประชาชน
อย่างไรก็ตาม ตลาดยังอยู่ท่ามกลางความไม่แน่นอนหลายประการ ทั้งแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ปัญหาที่เกิดกับบางธนาคารในสหรัฐฯ สงครามรัสเซียและยูเครนที่ยืดเยื้อ นโยบายภาครัฐหลังการเลือกตั้งทั่วไปที่ยังต้องติดตาม และอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อเพื่อการซื้อที่อยู่อาศัยปรับตัวสูงขึ้นและมีแนวโน้มจะปรับขึ้นอีก ส่งผลต่อต้นทุนการซื้อที่อยู่อาศัยที่เพิ่มขึ้น
ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้ทำการสำรวจมุมมองเศรษฐกิจในปัจจุบัน ต่อทิศทางการวางแผนการซื้อที่อยู่อาศัยของคนกรุงเทพฯ ในช่วง 1-2 ปีนี้ โดยแบบสอบถามครอบคลุมถึงพฤติกรรมการเลือกซื้อที่อยู่อาศัย รูปแบบระดับราคา ปัจจัยที่มีผลต่อแผนการซื้อ ความสามารถในการซื้อ รวมถึงผลของการขึ้นดอกเบี้ย โดยกลุ่มตัวอย่างครอบคลุมกลุ่มมนุษย์เงินเดือน และผู้มีอาชีพอิสระ เจ้าของกิจการที่มีรายได้มั่นคง
“ในช่วง 1-2 ปีนี้ กลุ่มตัวอย่างคนกรุงเทพฯ 2 ใน 3 มีความต้องการที่จะซื้อที่อยู่อาศัย โดยกลุ่มคนวัยทำงานอายุระหว่าง 36-40 ปี หรือ Gen Y มีความต้องการซื้อสูง วัตถุประสงค์ในการซื้อส่วนใหญ่ต้องการความเป็นอิสระ มีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง รองลงมา เพื่อการขยับขยายครอบครัว และหาที่อยู่ใกล้ที่ทำงาน หรือสถานศึกษาของบุตรหลาน” ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุ
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุอีกว่า ยังคงมีมุมมองที่ระวังต่อกิจกรรมการซื้อขายที่อยู่อาศัยในปี 2566 คาดว่าการจองซื้อที่อยู่อาศัยใหม่ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล น่าจะอยู่ที่ประมาณ 0.95-1.01 แสนหน่วย หดตัว 2.8% ถึงขยายตัว 3.4% จากปี 2565 และการโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลน่าจะอยู่ที่ประมาณ 1.80-1.88 แสนหน่วย หดตัว 7.7% ถึงหดตัว 3.5% จากปี 2565
โดยกลุ่มที่มีการฟื้นตัวน่าจะเป็นที่อยู่อาศัยประเภทคอนโดมิเนียมที่ตั้งอยู่ในพื้นที่เชื่อมต่อรถไฟฟ้ากรุงเทพฯ รอบนอก ระดับราคาต่ำกว่า 3 ล้านบาท ส่วนหนึ่งเป็นการเปรียบเทียบจากฐานที่ชะลอตัวในช่วงการระบาดของโรคโควิด-19 อย่างไรก็ดี แม้ความต้องการซื้อจะกลับมา แต่เนื่องจากที่อยู่อาศัยรอขายในตลาดที่สะสมสูงทำให้การลงทุนยังคงต้องระมัดระวัง
ด้วยการแข่งขันที่สูง ทำให้การพัฒนาโครงการจะต้องหาความแตกต่างจากคู่แข่ง มีความชัดเจนในกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย การออกแบบที่อยู่อาศัยที่ตอบโจทย์การใช้ชีวิตที่เปลี่ยนไป เช่น การออกแบบที่อยู่อาศัยให้สอดคล้องกับอาชีพขายของออนไลน์ อย่างการออกแบบพื้นที่ใช้สอยให้มีห้องเก็บสินค้า ห้องทำงานและไลฟ์สด การออกแบบที่อยู่อาศัยสอดคล้องไปกับการรักษ์โลกและประหยัดพลังงาน เป็นต้น
ทั้งนี้ จากผลสำรวจสะท้อนว่าความต้องการซื้อที่อยู่อาศัยของคนกรุงเทพฯ ยังมีอยู่สูง กลุ่มตัวอย่างมีความกังวลและพร้อมที่จะปรับเปลี่ยนแผนการซื้อที่อยู่อาศัยตามปัจจัยแวดล้อมที่เกิดขึ้น และเนื่องจากปัจจัยแวดล้อมตลาดที่อยู่อาศัยยังมีความไม่แน่นอนสูง จากความสามารถในการซื้อของครัวเรือนที่ยังฟื้นตัวจำกัดท่ามกลางค่าครองชีพและหนี้ที่สูง รวมถึงมาตรการภาครัฐที่เอื้อน้อยกว่าปีก่อน หลังจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ไม่ต่ออายุมาตรการผ่อนคลายเพดาน LTV เป็น 100% ของสัญญาซื้อที่อยู่อาศัยหลังที่สอง
Reference: หนังสือพิมพ์ข่าวหุ้น