ดุสิตเซ็นทรัลพาร์ค อัดเพิ่มหมื่นล.ชูโปรเจค ซูเปอร์ลักชัวรี ใจกลางกรุง
“ดุสิตธานี-เซ็นทรัลพัฒนา” ผนึกกำลังปรับแผนลงทุนบิ๊กโปรเจคมิกซ์ยูส “ดุสิต เซ็นทรัล พาร์ค” อัดฉีดเพิ่ม “หมื่นล้าน” ดันมูลค่าทะลุ 4.6 หมื่นล้าน ตอบโจทย์วิถี นิวนอร์มอล กางบทเรียนโควิดสร้างมาตรฐานพื้นที่ใหม่ ดึงศักยภาพ “Super Core CBD” เสริมประสิทธิภาพใช้ประโยชน์ที่ดิน ปักหมุดโครงการประวัติศาสตร์ใจกลางเมือง
นางศุภจี สุธรรมพันธุ์ ประธานเจ้าหน้าที่ บริหารกลุ่ม บริษัท ดุสิตธานี จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า การร่วมทุนระหว่างกลุ่มดุสิตธานี และ บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) ในการ พัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์ขนาดใหญ่ในรูปแบบผสมผสาน หรือ มิกซ์ยูส (Mixed-Use Project) ซึ่งประกอบด้วยโครงการศูนย์การค้า อาคารสำนักงาน โรงแรม และที่พักอาศัย ภายใต้ชื่อ “ดุสิต เซ็นทรัล พาร์ค” ล่าสุดกลุ่มดุสิตธานี และ เซ็นทรัลพัฒนา ตัดสินใจร่วมกัน ในการเพิ่มเงินลงทุนโครงการดังกล่าวอีก 9,300 ล้านบาท ทำให้มูลค่าโครงการขยับจาก 36,700 ล้านบาท เป็น 46,000 ล้านบาท โดยกลุ่มดุสิตธานีจะเพิ่มเงินลงทุน ตามสัดส่วนการถือหุ้นอีก 4,335 ล้านบาท จาก 12,915 ล้านบาท เพิ่มเป็น 17,250 ล้านบาท ซึ่งได้เตรียมเงินลงทุนจากส่วนผู้ถือหุ้นและวงเงินจากสถาบันการเงินไว้เรียบร้อยแล้ว โดยเงินทุนที่เพิ่มขึ้นจะนำไปพัฒนาโครงสร้างและพื้นที่โดยรวมของโรงแรม อาคารที่พักอาศัย และโครงสร้างศูนย์การค้า ส่งผลให้พื้นที่ใช้งาน รวมเพิ่มขึ้นเกือบ 1 ใน 3 หรือกว่า 7 หมื่นตร.ม. ซึ่งบริษัทได้ทำการศึกษาอย่างรอบคอบและเชื่อมั่นว่าการเพิ่มเงินลงทุนครั้งนี้จะทำให้โครงการมีผลตอบแทนที่ดีขึ้น
สำหรับการตัดสินใจเพิ่มเงินลงทุน “ดุสิต เซ็นทรัล พาร์ค” มาจาก 3 สาเหตุหลัก ประการแรก ต้องการดึงศักยภาพของสถานที่ตั้งโครงการออกมาให้ได้สูงสุด จากความเป็นทำเลยุทธศาสตร์ในย่าน “Super Core CBD” เป็นจุดตัดของการโครงข่ายคมนาคมทั้งลอยฟ้า บนดิน และใต้ดิน ที่เชื่อมโยงกรุงเทพฯ ย่านเก่า ย่านใหม่ ย่านการค้า และย่านการเงิน เข้าด้วยกัน ทั้งยังอยู่ตรงข้ามสวนสาธารณะขนาดใหญ่ “สวนลุมพินี” ทำให้สถานที่ตั้งโครงการมีความพิเศษ
“การเพิ่มเงินทุนจะทำให้เราสามารถลง รายละเอียดในแต่ละส่วนเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะ การทำรูฟพาร์ค หรือสวนสาธารณะลอยฟ้า ขนาด 7 ไร่ ที่มีความสูงถึง 20 เมตรไล่ระดับ ตั้งแต่ดาดฟ้าชั้น 3 ถึงดาดฟ้าชั้น 7 ของอาคาร ในการสร้างพื้นที่สีเขียว เพื่อเพิ่มคุณค่าของการใช้ชีวิตให้ตอบโจทย์รูปแบบการใช้ชีวิตวิถีใหม่”
ประการที่สอง กลุ่มดุสิตธานีต้องการสร้างจุดเด่นและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของโรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพฯ แห่งใหม่ สานต่อวิสัยทัศน์ในการเป็นสัญลักษณ์ของโรงแรมไทยที่ได้มาตรฐานระดับโลก ด้วยการออกแบบห้องพักขนาดใหญ่ให้มีความเป็นส่วนตัวสูงสุดสำหรับผู้เข้าพัก และทุกห้อง รับวิวสวนลุมพินีได้อย่างเต็มที่
ประการสุดท้าย ความคาดหวังรายได้ที่สูงขึ้นจากการปรับโครงการที่พักอาศัยที่ ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของคนเมือง เป็น 2 แบรนด์ ในระดับลักชัวรีสำหรับแบรนด์ดุสิต เรสซิเดนเซส และระดับไฮเอนด์สำหรับแบรนด์ดุสิต พาร์คไซด์
สำหรับ บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) มีมูลค่าเงินลงทุนเดิม 17,393 ล้านบาท ได้ลงทุน เพิ่มเติมในโครงการดุสิต เซ็นทรัล พาร์ค 3,751 ล้านบาท รวมวงเงิน 21,144 ล้านบาท เพื่อสร้างความแตกต่างและเพิ่มความสามารถในการแข่งขันให้กับโครงการ รวมถึงการใช้ศักยภาพของที่ดินให้เกิดประโยชน์สูงสุด
ทั้งนี้ การพัฒนาเพิ่มเติมในส่วนของศูนย์การค้า มีการปรับรูปแบบและการจัด พื้นที่ค้าปลีกในรูปแบบใหม่เพื่อตอบโจทย์ลูกค้า การปรับเพิ่มความต้องการและ มาตรฐานในการก่อสร้างและความปลอดภัยให้สูงขึ้น คาดแล้วเสร็จไตรมาส 3 ปี 2567 ในส่วนอาคารสำนักงาน ได้เพิ่มรูฟท็อปบาร์ และพื้นที่มีทติ้ง เพื่อเป็นจุดขายใหม่ให้กับ โครงการอาคารสำนักงาน แล้วเสร็จไตรมาสแรก ปี 2567
สำหรับโรงแรม ปรับเพิ่มจำนวนห้องพัก และพื้นที่ก่อสร้าง ออกแบบห้องพักขนาดใหญ่ให้มีความเป็นส่วนตัวสูงสำหรับผู้เข้าพัก ปรับปรุงเพื่อให้ห้องพักทุกห้องสามารถมองเห็นวิวสวนลุมพินี กำหนดแล้วเสร็จไตรมาส 3 ปี 2566 ทางด้านที่พักอาศัย ปรับเพิ่มพื้นที่ก่อสร้าง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของการ ใช้ประโยชน์ที่ดินให้สูงขึ้น พร้อมปรับตำแหน่งของแบรนด์ให้เป็นระดับ “ซูเปอร์ ลักชัวรี” เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้าได้ มากขึ้น แล้วเสร็จไตรมาส 4 ปี 2567
Reference: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ