ดันโปรเจกท์6หมื่นล. สนข.เล็งชงครม.พัฒนาที่3สถานีรถไฟฟ้า

13 Mar 2021 524 0

        นายปัญญา ชูพานิช ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เปิดเผยว่า ทาง สนข.ได้มีการศึกษา โครงการพัฒนาพื้นที่โดยรอบสถานีขนส่งมวลชน (TOD) แล้วเสร็จและกำลังอยู่ระหว่างการเตรียมเอกสารรายละเอียดโครงการฯ รวมถึงจัดทำสื่อประชาสัมพันธ์โครงการฯเพื่อประกอบในการเสนอไปยังกระทรวงคมนาคมภายในเดือนเม.ย. 2564 ก่อนเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาเห็นชอบในหลักการภายในเดือนพ.ค. 2564 เพื่อให้สอดรับกับการเปิดให้บริการเต็มรูปแบบโครงการรถไฟชานเมืองสายสีแดงช่วงบางซื่อ-รังสิต และช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน ในช่วงเดือน พ.ย.นี้

          โดยขณะนี้ สนข. ยังอยู่ระหว่างการร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) TOD เพื่อกำหนดอำนาจหน้าที่ของผู้ที่จะดำเนินการ และภาพรวมของโครงการก่อนส่งต่อ ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว ไปยังหน่วยงานที่จะเข้ามารับผิดชอบตามที่ ครม. มีมติมอบหมาย

          อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่าในการดำเนินการ TOD นั้น เป็นโครงการเพื่อพัฒนาพื้นที่เพื่อประชาชนในพื้นที่ที่มาจากความต้องการของคนในพื้นที่ ส่วนจะเห็นการพัฒนาพื้นที่ TOD ได้เมื่อไหร่นั้นจะต้องรอ พ.ร.บ. TOD มีผลบังคับใช้อย่างเป็นรูปธรรมก่อน

          ด้านรายงานข่าวจาก สนข. ระบุว่าผลการศึกษาโครงการ TOD ของ สนข. ได้มีการคัดเลือกพื้นที่ที่มีศักยภาพในการพัฒนาสร้างเมืองต้นแบบ TOD กรอบวงเงินรวมประมาณ 64,000 ล้านบาทจำนวน 3 สถานีได้แก่

          1.สถานีรถไฟขอนแก่น เป็น TOD ศูนย์ภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยมีแนวคิดในการพัฒนาพื้นที่รอบสถานีให้เป็นศูนย์กลางเมืองขอนแก่นแห่งใหม่ ที่มีการใช้ประโยชน์ที่ดินอย่างผสมผสานมีการเชื่อมโยงกันระหว่างพื้นที่ชุมชนเดิมและชุมชนใหม่ เพิ่มพื้นที่สำหรับกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เชื่อมกับสถานีรถไฟความเร็วสูงได้อย่างมีประสิทธิภาพ

          2.สถานีรถไฟอยุธยา เป็น TOD ศูนย์กลางเมืองภาคกลาง ตัวแทนกลุ่มแนวเส้นทางรถไฟสายเหนือ โดยมีแนวคิดในการพัฒนาพื้นที่รอบสถานีให้สอดคล้องกลมกลืนกัน ระหว่างความเป็นเมืองเก่ากับความทันสมัย เน้นการเชื่อมต่อพื้นที่สถานีความเร็วสูงที่จะเป็นศูนย์กลางเมืองใหม่เข้ากับพื้นที่ชุมชนเมืองเดิมด้วยสะพานทางเดินข้ามแม่น้ำ ท่าเรือข้ามฟาก และระบบขนส่งมวลชนรอง (Feeder) เพิ่มพื้นที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจใหม่ที่เชื่อมต่อกับสถานีรถไฟความเร็วสูงอย่างมีประสิทธิภาพ เชื่อมพื้นที่สาธารณะภายในเมืองด้วยโครงข่ายพื้นที่สีเขียว ทางจักรยาน ทางเท้า และทางยกระดับ รักษาสมดุลของการอนุรักษ์และพัฒนา

          3.สถานีรถไฟพัทยา เป็น TOD ศูนย์ภูมิภาคตะวันออกและพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) มีแนวคิดในการพัฒนาพื้นที่โดยรอบสถานีรถไฟพัทยาให้เป็นศูนย์กลางความเจริญแห่งใหม่ของพัทยา โดยเชื่อมโยงพื้นที่กับชายทะเลพัทยา ซึ่งเป็นศูนย์กลางความเจริญเดิม เพิ่มพื้นที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจใหม่ที่เชื่อมกับสถานีรถไฟความเร็วสูง โดยล่าสุดได้ปรับขนาดของ TOD ลง เพื่อให้เข้ากับสภาพมรดกท้องถิ่น

          นอกจากนี้จากการศึกษายังพบว่ามีพื้นที่ที่มีศักยภาพในการพัฒนาเป็น TOD ทั้งประเทศ ซึ่งไม่นับรวมในเขตกรุงเทพฯ ที่มีความหนาแน่นแตกต่างจากสถานีของภูมิภาคจำนวน 177 สถานี ตามแนวเส้นทางรถไฟทางคู่และรถไฟความเร็วสูง โดยแบ่งการพัฒนาได้เป็น 5 ประเภท ตามศักยภาพของพื้นที่และบทบาทของสถานี ได้แก่ 1.สถานีศูนย์ภูมิภาค 6 แห่ง 2.สถานีศูนย์กลางเมือง 49 แห่ง 3.สถานีศูนย์เมืองใหม่ 20 แห่ง 4.สถานีศูนย์ชุมชน 84 แห่ง และ 5.สถานีศูนย์แบบพิเศษ 18 แห่ง โดยมี 4 ประเภทย่อย ได้แก่ เมืองชายแดน 8 แห่ง เมืองการบิน 2 แห่ง เมืองท่องเที่ยว 6 แห่ง และเมืองการศึกษา 2 แห่ง

Reference:

Click icon to remove from or add to favorite list
Click to choose and click "Compare" button