ซีบีอาร์อี ชี้ 4 ปัจจัยเสี่ยงอสังหาฯ ฟันธงตลาดคนไทยคือหนทางรอด!
สาวิตรี รินวงษ์
กรุงเทพธุรกิจ
เรียลเซ็กเตอร์อย่าง “อสังหาริมทรัพย์” ก่อนโควิดระบาดถือเป็นตลาดที่มีความร้อนแรง และเติบโตต่อเนื่อง เพราะผู้บริโภคต่างต้องการมีที่อยู่อาศัย ทั้งบ้านเดี่ยว คอนโดมิเนียม ส่วนอาคารสำนักงาน (ออฟฟิศ) เกิดเทรนด์ Co-working space เป็นกระแส ค้าปลีกเผชิญโจทย์ใหม่ เมื่อค้าขายออนไลน์ทลาย Brick-and-mortar เพราะผู้บริโภคช้อปหน้าร้านลดลง
ทว่า 2 ปีที่เกิดวิกฤติโควิด-19 ตลาดอสังหาฯ มีการเปลี่ยนแปลงไม่น้อย ทั้งคอนโดมิเนียมเบรกโครงการใหม่ใจกลางกรุงติดต่อกัน 3 ไตรมาส อาคารสำนักงานอัตราการเช่าติดลบในรอบ 22 ปี เป็นต้น
ส่วนแนวโน้มปี 2565 รุ่งรัตน์ วีระภาคย์การุณ กรรมการผู้จัดการ ซีบีอาร์อี ประเทศไทย ให้มุมมองว่า เป็นอีกปีที่นักพัฒนาอสังหาฯ ต้องเจอความความท้าทายผู้ประกอบการจึงต้องปรับตัวและเคลื่อนไหวในเชิงรุกมากขึ้น เตรียมพร้อมรับมือกับสิ่งที่ไม่อาจคาดการณ์ได้ เพราะพฤติกรรมลูกค้าเปลี่ยนแปลง มีการคัดเลือกโครงการอย่างละเอียดถี่ถ้วน ความต้องการซับซ้อนมากขึ้น
ทั้งนี้ นักลงทุนและผู้พัฒนาโครงการจึงต้องนำเสนอสินค้าที่เหมาะสมเข้ามาสู่ตลาดที่มีการพัฒนาไปอย่างต่อเนื่อง แต่การจะปรับตัวให้สอดคล้องสถานการณ์ ต้องรับรู้แนวโน้มหรือเทรนด์ใหม่ๆ ที่กำลังเกิดขึ้น เพื่อนำไปพลิกกลยุทธ์และการดำเนินการให้เหมาะสมกับธุรกิจ
รัฐวัฒน์ คูวิจิตรสุวรรณ หัวหน้าแผนกวิจัยและที่ปรึกษาการพัฒนาโครงการ กล่าวว่า แม้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คาดการณ์เศรษฐกิจไทยปี 2565 จะฟื้นตัว 3.4% แต่ยังมี 4 ปัจจัยสำคัญที่จะส่งผล กระทบต่อธุรกิจอสังหาฯ ได้แก่
1.การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน ที่มีผลต่อการรับมือทั้งภาครัฐและประชาชนชาวไทย
2.การตัดสินใจของภาครัฐในการดำเนินนโยบายด้านการเงิน มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและอื่นๆที่จะเป็นตัวกำหนดความเคลื่อนไหวของตลาด
3.มาตรการการเดินทางระหว่างประเทศ ที่จะ มีผลต่อการเปิดรับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ และการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ที่นักลงทุนต้องมาเยือนประเทศ ที่เป็นฐานทัพธุรกิจจริง หลังจากวิกฤติโควิดทำให้ทุกอย่างชะงัก 2 ปี
4.อำนาจการใช้จ่ายของผู้บริโภค ซึ่ง 2 ปีที่ผู้คนตกงาน รายได้หด จะมีผลต่อฐานะการเงินและการซื้อที่อยู่อาศัย ทำให้การพิจารณาซื้ออสังหาฯใช้เวลานานขึ้น คิดรอบคอบขึ้น
สำหรับเทรนด์อสังหาฯ ที่น่าจับตาในปี 2565 เป็นอีกปีที่ผู้ประกอบการต้องขายที่อยู่อาศัย จับตลาดคนไทยซึ่งเป็นเรียลดีมานด์โดยตลาดบ้านเดี่ยว ได้รับความนิยม จากเดิมเป็นคอนโดมิเนียม ยิ่งกว่านั้นปี 2564 โควิดฉุดให้นักพัฒนาอยู่ในโหมด”ระวัง” เบรกโปรเจคคอนโดฯ ใจกลางกรุงติดต่อกัน 3 ไตรมาส ซึ่งไม่เคยเป็นมาก่อน
ส่วนตลาดออฟฟิศปีก่อนอัตราการเช่า “ติดลบ” ครั้งแรกรอบ 22 ปี ตั้งแต่วิกฤติต้มยำกุ้ง และยังติดลบกันติดต่อกัน 3 ไตรมาส ยอดติดลบสะสม 80,026 ตารางเมตร (ตร.ม.) ปีนี้การจะ อยู่รอดผู้ประกอบการต้องทำให้ออฟฟิศมีคุณภาพ สำนักงานเก่าต้องปรับปรุงให้ทันสมัย ตอบโจทย์ลูกค้าสามารถทำงานไฮบริดได้
ขณะที่โควิด ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคต่ำสุดในปี 2564 กระทบการฟื้นตัวของธุรกิจค้าปลีกต่อเนื่อง ปีนี้ผู้ประกอบการจะพัฒนาโครงการใหม่ หรือลงทุนเพิ่มสาขาต้องระมัดระวัง มีแนวโน้มชะลอลงทุนมากขึ้น การปรับตัวในตลาด แลนด์ลอร์ดต้องมีความยืดหยุ่นให้เช่าพื้นที่ โดยเฉพาะ “ค่าเช่า” จากเดิมเป็นการกำหนดตายตัวมาเป็น “อิงยอดขายแทน” ด้านธุรกิจโรงแรมในสิ้นปี 2565 จะมีห้องพักสร้างเสร็จใหม่ กว่า 7,400 ห้อง ส่งผลให้ปริมาณห้องพักของโรงแรมในกรุงเทพฯ เพิ่มขึ้น 6.7%
ด้าน อาดัม เบลล์ หัวหน้าแผนกพื้นที่อุตสาหกรรมและโลจิสติกส์ กล่าวว่า พื้นที่อุตสาหกรรมและโลจิสติกส์มีการเติบโตจาก ตลาดอีคอมเมิร์ซ โดยผู้เช่าพื้นที่ต้องการพื้นที่ ตอบโจทย์เฉพาะของธุรกิจตนเอง (Built-to-Suit) มากขึ้น ซึ่งเจ้าของพื้นที่ต้องจัดเตรียมสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ เพื่อรองรับความต้องการ ของผู้เช่า รวมถึงการเป็นดาต้าเซ็นเตอร์
Reference: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ