ซอฟต์โลน ชุบชีวิต-อุ้มรายเดิม

16 Apr 2020 827 0

          แบงก์ชี้ เงินซอฟต์โลน ช่วยต่อลมหายใจเอสเอ็มอี เหตุสายป่านสั้น กรุงศรีฯ คาดเงินไม่พอ ความต้องการที่สูงถึง 1.7 ล้านล้าน แบงก์ห่วงวิธีชดเชยความเสี่ยงซับซ้อน ผลักแบงก์เจ้าหนี้รับความเสี่ยงถึง 50-60% เอกชนแหยงสุดท้ายช่วยลูกหนี้รายเดิม กลุ่มใหม่อดเยียวยา

          ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ระบุว่า ยอดเงินช่วยเหลือผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ที่เป็นลูกหนี้รายเดิมของสถาบันการเงินแต่ละแห่งที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กำหนดไว้แล้ว ยังมีเม็ดเงินเตรียมไว้รองรับการปล่อยสินเชื่อใหม่ถึง 9.71 แสนล้านบาท โดยมาจากพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ให้อำนาจธปท.จัดสรรสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan)ให้ธนาคารพาณิชย์วงเงิน 5 แสนล้านบาท และสินเชื่อใหม่ธนาคารรัฐอีก 4.71 แสนล้านบาท

          ทั้งนี้ ร่างพ.ร.ก.ดังกล่าวอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา แต่เบื้องต้นวงเงินรวม 5 แสนล้านบาทจะคิดดอกเบี้ยอัตรา พิเศษ 0.01% เป็นเวลา 2 ปี เพื่อให้ธนาคารพาณิชย์นำไปปล่อยกู้เสริมสภาพคล่องให้ธุรกิจเอสเอ็มอีซึ่งมีสถานะผ่อนชำระปกติไม่เป็นหนี้เอ็นพีแอล ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2562 ที่มีวงเงินสินเชื่อกับธนาคารรายละไม่เกิน 500 ล้านบาท โดยแต่ละรายสามารถขอกู้ได้ไม่เกิน 20% ของยอดหนี้คงค้างของลูกหนี้ดี และคิดดอกเบี้ยพิเศษ 2% ต่อปี โดยไม่คิดดอกเบี้ยใน 6 เดือนแรก โดยรัฐบาลจะชดเชยความเสียหายให้ไม่เกิน 70% ของสินเชื่อที่ปล่อยเพิ่ม สำหรับลูกหนี้ที่มีวงเงินสินเชื่อไม่เกิน 50 ล้านบาท และชดเชยให้ไม่เกิน 60% ของสินเชื่อที่ปล่อยเพิ่ม สำหรับลูกหนี้ที่มีวงเงินสินเชื่อ 50-500 ล้านบาท

          ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีเอ็มบี หรือ TMB Analytics ระบุว่า วงจรการดำเนินธุรกิจ ของเอสเอ็มอีโดยทั่วไปจะมีสภาพคล่องรองรับเหตุการณ์ช็อกได้เฉลี่ย 3 เดือน ดังนั้น มาตรการช่วยเติมสภาพคล่อง โดยให้ซอฟต์โลนทั้ง 3 ระยะที่ออกมาวงเงินทั้งสิ้น 8 แสนล้านบาท คาดว่าจะช่วยยืดเวลาออกไปได้แค่ 2 เดือน ขณะที่ธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการล็อกดาวน์หนักสุดคือ กลุ่มธุรกิจบริการ ธุรกิจโรงแรม ร้านอาหาร บริการท่องเที่ยว สถานบันเทิง รองลงมาเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมที่ระยะเวลาช็อกเฉลี่ย 4 เดือน (มี.ค.-มิ.ย.) คือ อุตสาหกรรมพลังงาน อุตสาหกรรมเหล็ก ยานยนต์และชิ้นส่วน ส่วนกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค ได้รับผลกระทบน้อยสุด

          คาด 5 แสนล้านไม่พอ

          นายสมประวิณ มันประเสริฐ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงานวิจัยและหัวหน้าทีมวิจัยเศรษฐกิจ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ซอฟต์โลน 5 แสนล้านอาจไม่พอกับความต้องการสภาพคล่องของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากโควิด-19 โดยศูนย์วิจัยกรุงศรีฯ ได้ประเมินความเสียหายของผู้ประกอบการรายย่อย 7.5 แสนรายพบว่า ถ้ากิจกรรมทางเศรษฐกิจหยุดชะงักไป 2 เดือน จะมีผู้ประกอบการ 9 หมื่นราย ที่ขาดสภาพคล่องร่วม 1.7 ล้านล้านบาท ซึ่งเป็นเอสเอ็มอีรายเล็กที่ได้รับผลกระทบโดยตรง

          ”ธปท.ออกมาตรการถูกทาง แต่ขนาดยังไม่เพียงพอ แต่เชื่อว่า ธปท.ยังมีเครื่องมือที่จะออกมาเพิ่มเติมได้อีกในระยะต่อไป” นายสมประวิณ กล่าว

          นายจิติพล พฤกษาเมธานันท์ นักวิเคราะห์การเงินและการลงทุน บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ไทยพาณิชย์ฯ กล่าวว่า สิ่งที่ธนาคารเจ้าหนี้กังวลมากกว่าคือ โอกาสเกิดเป็นหนี้เสีย ในภาวะที่ตลาดไม่เอื้อเช่นนี้ จึงจำเป็นต้องปรับลดกฎเกณฑ์การควบคุมบางอย่างลง เพราะแต่ ละธนาคารอาจจะมีประเด็นไม่เหมือนกัน

          ”ที่สำคัญธนาคารไม่สามารถปล่อยซอฟต์โลนแบบ “มั่วๆ” ดังนั้นในทางปฏิบัติ ทางการน่าจะการันตี 100% เพราะสิ่งที่ตลาดกังขามากกว่าคือ เงินต้นเสียหายแน่ (Default) เพราะสภาพตลาดไม่เอื้อต่อการปล่อยกู้”

          วิธีชดเชยซับซ้อน

          แหล่งข่าวจากธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ระบุว่า การปล่อยกู้ซอฟต์โลน นั้น ธนาคารยังมีความเสี่ยงด้านเครดิต ซึ่งหากอนุมัติสูงสุด 20% แม้ทางการจะชดเชยบางส่วน แต่หากซอฟต์โลนเกิดเป็นหนี้เสีย วิธีการคำนวณ การการันตี จะใช้ผลต่างของตัวเลขกันสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ 2 ก้อน คือกันสำรองเอ็นพีแอล ณ วันที่สิ้นสุดโครงการ ลบตัวเลขกันสำรองหนี้เสียสิ้นปี 2562 คูณด้วย 20% หารด้วยวงเงินกู้รวมและคูณสัดส่วนที่ทางการจะชดเชย 60-70%

          ”ธปท.ให้คำนวณจากเงินกันสำรองเอ็นพีแอลในอีก 2 ปีข้างหน้า ที่เป็นวันสิ้นสุดโครงการ คำพูดดูดี แต่เมื่อคำนวณออกมาจริงๆ ทางการชดเชยในสัดส่วนที่กลับข้างกัน เพียง 40% หรือเกือบ 50% ทุกแบงก์ยังต้องรับความเสี่ยงอยู่ 50-60% ขณะเดียวกันการคำนวณชดเชยยังขึ้นอยู่กับหลักประกันด้วย สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ ซอฟต์โลน 5 แสนล้านบาท จะเบิกใช้ได้เต็มที่จริงหรือไม่  เพราะการคำนวณส่วนที่รัฐชดเชยมีความซับซ้อนมาก และมีผลต่อการตัดสินใจปล่อยหรือไม่ปล่อยซอฟต์โลน”

          ท่องเที่ยวขอกันวงเงินเฉพาะ

          นายไชยรัตน์ ไตรรัตนจรัสพร ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) กล่าวว่า ซอฟต์โลน 5 แสนล้านบาทสำหรับเอสเอ็มอี ยังมีช่องโหว่ที่สำคัญ 2 เรื่องคือ 1. การให้กู้ในวงเงิน 20% จากหนี้คงค้างที่ไม่เกิน 500 ล้านบาท เชื่อว่า ธุรกิจที่จะสามารถกู้ได้จะเป็นผู้ประกอบการรายใหญ่ที่มีหนี้เดิมกับสถาบันการเงินนั้นๆ มากกว่าจะถึงเอสเอ็มอี ดังนั้นจึงควรกันวงเงินก้อนนี้ไว้ส่วนหนึ่งให้เอสเอ็มอีในทุกธุรกิจทั้งประเทศสามารถกู้ได้ในวงเงิน 1-5 ล้านบาท

          2.ซอฟต์โลนนี้สงวนไว้สำหรับคนที่มีสินเชื่อกับธนาคารอยู่เดิมแต่ธุรกิจที่ไม่เคยเป็นหนี้มาก่อน ที่ต้องการกู้เงินเพื่อเพิ่มสภาพคล่องในช่วงโควิด จะไม่ครอบคลุมทำให้ต้องไปใช้เงินซอฟต์โลน 1.5 แสนล้านบาทก้อนที่ออกมาก่อนหน้านี้ หรือถ้าเป็นธุรกิจท่องเที่ยวก็มีการกันวงเงินไว้ 1 หมื่นล้านบาท ซึ่งไม่เพียงพออยู่แล้ว และยังเป็นปัญหาอยู่

          ขณะที่แหล่งข่าวสถาบันการเงินกล่าวว่า ปัญหาใหญ่ในทางปฏิบัติขณะนี้คือ ลูกหนี้เอสเอ้มอีรอเงินซอฟต์โลนที่มีดอกเบี้ยต่ำกว่าเงินกู้เดิมหากออกมาช้าจะเกิดปัญหาการไม่ยอมจ่ายเงินกู้เดิมที่เคยกู้ไว้กับสถาบันการเงินแต่ละแห่ง ซึ่งจะทำให้เกิดปัญหา

Reference:

Click icon to remove from or add to favorite list
Click to choose and click "Compare" button